หากมีปรีชาญาณการโฆษณาก็ไม่จำเป็น
หลายครั้งที่ขับรถออกจากวัดในเวลากลางคืน
แล้วต้องติดอยู่บนถนนสาทร แสงไฟจากป้ายโฆษณาช่างสว่างแรงแทงเข้าตาจนพล่ามัว ช่างเจิดจ้าเกินคำว่าพอดิบพอดีเสียจริง
ๆ ป้ายโฆษณาสมัยนี้ มีแสงสีที่สวยงาม
แต่ความงามนั้นถูกทำลายลงด้วยการใช้แสงที่จ้าและแรงเกินไป แทนที่คนจะจดจำสินค้า
กลับสร้างแรงขัดเคือง วิวัฒนาการของป้ายโฆษณาก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
จนกระทั่งกลายเป็นระบบ มีบริษัทเข้ามาประมูลเพื่อเช่าพื้นที่ เพื่อเช่าเสา
เช่ากำแพง แถมบริษัทขนส่งมวลชนใหญ่ ๆ ยังเปิดให้เช่าพื้นที่ข้างพาหนะ เมืองไทยเราเต็มไปด้วยการโฆษณา
ติดป้ายกันแบบฟุ่มเฟือย ทุกตึกต้องติดจอใหญ่ เพื่อฉายโฆษณา ตามเสาไฟฟ้า
ตามกำแพง แทบไม่มีที่ว่างเว้น แม้กระทั่งถังขยะหน้าบ้านก็ยังมีคนเอาป้ายโฆษณาหมูกระทะมาติด
จะเยอะไปไหน
พูดถึงสื่อต่าง ๆ ที่เราเสพ
ต้องมีโฆษณาขั้น รายการโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร
ล้วนได้กำไรจากการขายโฆษณากันทั้งนั้น และบริษัทที่ซื้อโฆษณาบางทีก็เป็นตัวกำกับ กำหนดเนื้อหา
รูปแบบไปเสียเอง ทำให้ขาดการสร้างสรรค์ และเมื่อรูปแบบของตัวสื่อเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบใหม่
โฆษณาก็ยังตามมา ใครช่องไหน หรือบุคคลใดเป็นที่โด่งดัง ได้รับความนิยม
ก็จะมีบริษัทต่าง ๆ มาเสนอมาสนับสนุน เพราะเห็นว่านี่เป็นช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย
ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไป ยังไงๆ การโฆษณาชวนเชื่อก็ไม่มีวันหมดไป
ชีวิตนี้เต็มไปด้วยโฆษณา
ทำให้คิดถึงบทเพลงท่อนหนึ่งของคุณมาโนช พุฒตาล ที่ว่า“.... โฆษณา โฆษณา หันไปทางไหนก็เจอแต่โฆษณา
โฆษณา โฆษณา พวกเราบ้าโฆษณา กันไปทั้งบาง ...”
ใช่หรือไม่ ชีวิตของคนดีที่เต็มเปี่ยมไปด้วยปรีชาญาณ ไม่จำเป็นต้องโฆษณา
เพียงแค่กระทำความดี และยึดมั่น มุ่งมั่นที่จะทำดีตลอดไป แล้วความดีงามจะเป็นตัวประกาศให้ผู้อื่นได้รับรู้ เฉกเช่น ความเชื่อที่มั่นคงของชุมชนวัดเซนต์หลุยส์
ผ่านมา 60 ปี ก็เป็นการประกาศถึงความรักของพระเป็นเจ้าได้เป็นอย่างดี
โดยมิต้องเสียเงินเสียเวลาไปโฆษณา...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น