วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เรียน (เลียน) คำสอนพ่อ ๕

เรียน (เลียน) คำสอนพ่อ ๕

บทที่ ๕ อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ


“ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม” (พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๖)

ในทุกวันนี้เราต่างเห็นสิ่งต่าง ๆ มีความรวดเร็ว ทันใจทันทีทันใด เกิดขึ้นในแทบทุกวินาที จึงพลอยทำให้การดำเนินชีวิตของเราต้องเร่งรีบติดตามไปด้วย เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ในความรวดเร็วเร่งรีบนี้ก็มักมีความรวบรัดตัดความเข้ามาผสมโรงสื่อสมัยใหม่ที่นำสารส่งผ่านมีมากมายกลายเป็นตัวเร่งให้คนรับข่าวสารมิมีเวลาพินิจพิเคราะห์ให้รอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อหรือเลือกรับในสิ่งที่เป็นความจริง ในความเร่งรีบนำมาซึ่งอารมณ์ที่รุ่มร้อนของผู้คน ใช้อารมณ์เหนือเหตุผลในการตัดสิน จะเห็นว่าโรคโมโหร้ายมีมากขึ้น และกำลังฝังลึกลงในนิสัยของผู้คนในยุคที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ใจผู้คนแข็งกระด้าง มักชอบที่จะเอาชนะคะคาน ชอบหยามเหยียดเบียดเบียนผู้อื่น อันเป็นที่มาของความเห็นแก่ตัว หัวจิตหัวใจดั่งถูกไฟแห่งความขุ่นเคืองเผาไหม้ หาเรื่องอยู่มิเว้นวาย เมื่อจิตใจผู้คนเป็นเช่นนี้จึงหาความสุขสันติในสังคมไม่ได้ ซ้ำร้ายยังพยายามหาตัวช่วยที่เป็นปัจจัยภายนอก หมดเวลาไปกับการวิ่งวุ่นดิ้นรนขวนขวาย สุดท้ายเหนื่อยเปล่า ร่างอ่อนล้าใจอ่อนแอ และหยาบกระด้าง หากถามว่าอะไรเล่าคือความสำคัญกับชีวิตคนเรา ต่างก็ตอบว่า สุขภาพ ครอบครัว และ ความรัก เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เราให้เวลากับสิ่งเหล่านี้มากที่สุดหรือยัง???
บางทีที่เราทำเป็นเข้มแข็ง กร้าวแกร่งนั้น ก็เพียงเพื่อกลบลบปมแห่งความอ่อนแอข้างในของเรา ตรงกันข้ามหากเรามีความอ่อนโยนภายในเรามักมีความกล้าหาญที่จะเผชิญต่อปัญหาและหาทางแก้ไขอย่างสุขุมรอบคอบ ความอ่อนโยนจึงเป็นคุณสมบัติภายใน เป็นเรื่องของท่าทีหรือทัศนคติของผู้ที่มีความตระหนักรู้ว่าตนเองนั้นไม่ใช่เป็นคนดี ไม่ได้พร้อมไปเสียทุกอย่าง ย่อมมีข้อบกพร่องที่ต้องได้รับการแก้ไข และยินดีที่จะน้อมรับข้อติติงน้อมรับคำสอนจากพ่อแม่ ครู อาจารย์ หรือจากผู้หวังดีที่เราเคารพนับถือ และพร้อมที่ปรับปรุงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ในบางช่วงเวลาเราก็มักมีความหยิ่ง ไม่ชอบที่จะให้ใครพูดถึงความบกพร่องของตน ใช่หรือไม่ ถ้ามีใครสักคนหนึ่งมาพูดถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเราทันทีทันใดของขึ้นหน้าดำหน้าแดง ต่อมโมโหทำงานเต็มสูบ แสดงความไม่พอใจถึงแม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม เพราะเราทุกคนมีสัญชาตญาณของการปกป้องตนเองอยู่แล้วบ่อยครั้งที่เรามีคำพูดคำจาที่รุนแรง ทำเสียงดังเข้าขู่ ท่าทางขึงขังเข้าข่มเหล่านี้ล้วนไม่ใช่ความอ่อนโยนทำไปเพียงเพื่อปกปิดความผิดพลาดและมีรากฐานมาจากความกลัวเมื่อเรากลัวก็พยายามทำให้คนอื่นหวาดกลัวมากกว่าตัวเอง ยิ่งทำบ่อยครั้งเข้า จิตใจเราจึงขาดความอ่อนโยนแสดงกริยาไม่อ่อนน้อมออกมา เราทุกคนย่อมมีช่วงจังหวะเวลาแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้นไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่จะช่วยเราให้รู้สำนึกรู้สึกตัวเราอย่างรวดเร็ว คือการฝึกฝนให้จิตใจมีสัมผัสแห่งความอ่อนโยนเสมอเมื่อรู้ตัวว่าผิดก็ต้องให้อภัยต่อตัวเองเราต้องปกปักรักษาจิตใจให้งดงาม หาใช่ปกป้องตัวเองให้ดูขาวตลอดกาล

ภาพ : http://www.churchofjoy.net
สัมผัสอันอ่อนโยนนั้น หมายถึง การเห็นความทุกข์ยากลำบาก และไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น ความอ่อนโยนเกิดขึ้นจากการใส่ใจและการใส่ใจนั้นต้องอาศัยเวลา คนที่มีเวลาใส่ใจกับสิ่งต่าง ๆ และผู้คนรอบข้างสนใจในรายละเอียด ซึมซับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หลายคนมองข้าม จึงเป็นคนอ่อนโยนการให้เวลาใส่ใจและทำความเข้าใจคนอื่นทำให้คนเราอ่อนโยนขึ้น การได้เรียนรู้ความรู้สึกลึก ๆ ที่ละเอียดอ่อนของคนอื่นก็ช่วยขัดเกลาความรู้สึกของเราให้ละเอียดขึ้นเช่นกัน ความอ่อนโยนและความรักอย่างจริงใจต่อสิ่งต่าง ๆ นำมาซึ่งความงดงามของทุกสรรพสิ่ง
ในทุกวันนี้ เราพยายามดำเนินชีวิตคล้อยตามกระแสของสังคมจนไม่มีเวลาให้กับสิ่งต่าง ๆรอบตัว ลองทำชีวิตให้ช้าลงบ้างในบางช่วงเวลาเราก็จะเห็นความงดงามของสิ่งที่มีอยู่ตรงหน้าเรา เปิดใจและกล้าปฏิเสธความเชื่อหรือกระแสสังคมบ้าง รู้จักจับจังหวะชีวิต จริงใจกับชีวิต เสียสละบ้าง ยอมรับผิดแม้จะต้องเสียหน้าและถูกหยามหยันบ้าง เพื่อรักษาความดีงามตราบใดที่เรายังไม่จริงใจกับตัวเอง เราก็ยังไม่สามารถมีชีวิตที่ละเอียดอ่อนได้ และไม่มีทางสัมผัสความอ่อนโยนที่แท้จริงถ้าอยากจะให้ชีวิตเป็นสุขและได้เห็นความงดงามของโลกนี้ก็อย่าทำให้ใจแข็งกระด้าง ดื้อดึง ดันทุรัง แต่จงมีจิตใจอ่อนโยน พร้อมรับฟัง พร้อมเรียนรู้ พร้อมแก้ไขปรับปรุงชีวิตตลอดเวลา

คนที่สุภาพอ่อนโยนก็เป็นสุข เพราะเขาทั้งหลายจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดกมัทธิว 5:5 

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เรียน(เลียน)คำสอนพ่อ ๔

เรียน(เลียน)คำสอนพ่อ ๔
บทที่ ๔ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้


“คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วย เมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้” (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๑)

ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมโลกที่พบเจอทั้งภัยธรรมชาติ สงครามไล่ล่าอาณาดินแดนเพื่อครอบครองทรัพยากรแหล่งพลังงาน การชุมนุมประท้วงต่อต้านผู้นำ การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ดูเหมือนว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมาจากความเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัวของคนเพียงไม่กี่คน ที่ส่งผลต่อคนหมู่มาก ในสังคมโลกที่ตกอยู่ในกระแสของการบริโภคเป็นใหญ่ บูชาวัตถุเป็นเอก ชีวิตของคนเป็นสิ่งสุดท้าย มองไม่เห็นความหมายในคุณค่าของกันและกัน มีแต่กอบโกยเก็บเกี่ยว พอไม่ได้ดังใจก็เรียกร้องต้องการที่จะเป็นฝ่ายได้ถ่ายเดียว เพราะเราไม่ได้เรียนรู้ที่จะรับและให้แก่กันและกัน เรามีแต่คอยที่จะคิดว่าทำอะไรต่อมิอะไรแล้วจะ“ขาดทุนหรือได้กำไร” หรือเปล่าเพียงเท่านี้ การ“รับและให้” ถูกแปรรูปอยู่ในระบบทุนนิยม แทนที่จะเป็นธรรมนิยม นี่จึงเป็นความถดถอยของสังคมโลกที่พร้อมจะกลายเป็นสงครามโลกได้ทุกเมื่อ
ในความเป็นจริงของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์” นั้นเกิดมาพร้อมกับการรับและการให้ เราได้รับความรักจากพ่อแม่ จากคนในครอบครัว คนรอบ ๆ ข้าง เราทุกคนเคยเป็นคนน่ารักที่ทุกสายตาทุกการพบเห็นต่างเอ็นดูมาด้วยกันทั้งนั้น สิ่งนี้คือการเริ่มต้นของการได้รับ ในขณะเดียวกันในวินาทีนั้นเราก็เป็นผู้ให้ ให้ความน่ารัก ให้รอยยิ้มความอิ่มเอมใจหลายต่อหลายคน เป็นการรับและให้อย่างบริสุทธิ์ อย่างไม่มีอะไรปรุงแต่ง ทั้งรับและให้นี้เกิดมาจากสิ่งเดียวนั่นคือ “ความรัก” เป็นเพราะความรัก ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่นิ่มนวล แม้จะสัมผัสได้แต่ก็ยากที่จะหาคำมาอธิบายพรรณนา ความรักอาจจะเป็นความรู้สึกที่ดี และมันก็คงจะดียิ่งกว่าถ้าหากความรักถูกนำมาแปรให้กลายเป็นรูปธรรม เป็นคำพูด เป็นการกระทำ เป็นการให้ หรืออะไรบางอย่างที่มองเห็นผลผลิต
ยิ่งเราเติบโตขึ้นท่ามกลางการได้รับความรักจากครอบครัว จากคนรอบกายเราก็ยิ่งพร้อมจะเป็นผู้ให้ความรักนี้ต่อคนอื่น การให้สุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ความสุขของผู้รับคือ ความยินดีที่ได้รับสิ่งที่มอบให้ ในขณะที่ผู้ให้คือ ความสุขใจที่ได้ช่วยเหลือและแบ่งเบาความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การให้ที่ปราศจากเงื่อนไข เป็นการให้ที่ทำให้ทั้งผู้ให้และผู้รับมีความสุข ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ให้ด้วยความเต็มใจ และเปี่ยมไปด้วยเมตตาเอื้ออาทร ไม่รู้สึกเสียดายหรืออาลัยอาวรณ์ในสิ่งที่ให้ไปนั้น และการได้รับสิ่งตอบแทนกลับคืนมานั้น เป็นเพียงผลพลอยได้จากการให้ การให้เป็นการยกระดับฝ่ายจิตวิญญาณ  ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนทั้งหลายดังที่พ่อหลวงในดวงใจของเราได้ทรงกระทำไว้เป็นต้นธารธรรมทาน
ภาพ : http://truemetamorphosis.com
สิ่งที่เราให้ออกไปคือสิ่งที่เราได้กลับมา  ถ้าให้สิ่งที่ดี  ก็จะได้รับสิ่งที่ดีกลับคืนมา  ยิ่งให้มาก  ก็ยิ่งได้รับมากหรือได้กลับคืนมาเป็นสิบเท่า ถ้าให้อยู่เรื่อย ๆ ก็จะมีเรื่องดีงามบังเกิดอยู่ร่ำไป  ยิ่งให้ก็ยิ่งได้รับ  และหนึ่งในกฎของการมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จก็คือ  การที่ให้โดยปราศจากความเห็นแก่ตัวแล้วเราก็จะได้รับผลตอบแทนที่แท้จริง  พยายามคิดถึงเรื่องการให้แทนที่จะคิดแต่เรื่องการรับ เราจะรู้สึกปลอดโปร่งและมีความสบายใจ  ให้ในสิ่งที่มีคุณค่าแก่ผู้ที่รู้จักคุณค่าหรือผู้ที่สมควรได้รับ

หลายคนใช้ชีวิตขวนขวาย อุทิศเวลาเพื่อการงาน โดยหวังเพียงเพื่อตัวเอง เพื่อความสุขที่ตนปรารถนา รู้จักเพียงแค่การฉกฉวย แก่งแย่ง หรือแบมือรับ คนเหล่านี้เมื่อถึงเวลาที่ต้องสูญเสียบ้างคงอาจจะรู้สึกหนักหนาเอาการ แต่ถ้ารู้จักให้ถึงต้องเสียก็พอทำใจที่จะรับได้ คุณค่าของการให้คือการที่ต้องต่อสู้กับอารมณ์ข้างในไม่ให้โลภ ไม่ใช่มุ่งแต่อยากได้ใคร่มีจนหูตาลาย การให้ไม่ได้เป็นการสูญเสีย เป็นเพียงการแบ่งปัน เป็นการแลกเปลี่ยน เป็นการรับในเชิงคืนกลับ เพราะผู้ให้คือผู้ที่ได้รับความรักจากคนที่ถูกให้ อย่าอยู่เพียงเพื่อมองตัวเอง ลองเหลียวแลผู้คนรอบข้าง แล้วเราจะรู้ว่าสังคมน่าเวทนาในขั้นวิกฤติค่านิยมที่ผิด ๆ ครอบงำร้ายกว่าถูกโจมตีด้วยสงครามเสียอีก คนที่รู้จักให้และมีคุณธรรมอยู่ในใจเท่านั้นที่จะพาสันติสุขคืนสู่สังคม การให้มิได้เป็นเพียงคุณค่า แต่เป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ ที่ต้องเสียสละ ทุ่มเท ด้วยหัวจิตหัวใจ และการให้ที่สูงสุดคือการให้ชีวิตตนเพื่อชีวิตของคนอื่น ใช่หรือไม่ 70 ปีแห่งพระภารกิจแห่งการให้ด้วยชีวิตของพ่อหลวงที่ทำให้คนไทยทั้งปวงหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในวันนี้ เป็นผลผลิตของพระองค์ท่านอย่างเป็นรูปธรรม เราเป็นหนึ่งในนั้น....

วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เรียน (เลียน) คำสอนพ่อ ๓

เรียน (เลียน) คำสอนพ่อ ๓
บทที่ ๓ ความรู้ตน
“เด็ก ๆ ทำอะไรต้องหัดให้รู้ตัว การรู้ตัวอยู่เสมอจะทำให้เป็นคนมีระเบียบ และคนที่มีระเบียบดีแล้ว จะสามารถเล่าเรียนและทำการงานต่าง ๆ ได้โดยถูกต้องรวดเร็ว จะเป็นคนที่จะสร้างความสำเร็จและความเจริญให้แก่ตนเองและส่วนรวมในอนาคตได้อย่างแน่นอน” (พระบรมราโชวาท พระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ประจำปี ๒๕๒๑)


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายครั้งหลายหนที่เปิดโทรทัศน์ ได้รับชมรายการพิเศษที่นำภาพยนตร์เกี่ยวกับพ่อหลวงผู้คืนสู่ฟากฟ้า ที่ทำให้ปวงประชาอยู่ดีมีสุข จนทำให้น้ำตาคลอหน่วยโดยไม่รู้ตัว ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยพบเคยเห็นกับตา แต่ภาพทรงจำเหล่านั้น นำมาซึ่งความคิดถึงในความดีงามของพระองค์มากมาย จนถึงกับหลั่งน้ำตามาแบบไม่รู้ตัว ใช่หรือไม่ บางสิ่งบางอย่างในชีวิตมักเกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว ทั้งในแง่ดีงามและในด้านเสื่อมทราม
ถึงตรงนี้แล้วทำให้ต้องนำคำพ่อสอนในเรื่อง “ความรู้ตน” มาไตร่ตรองกับชีวิตจริงของเราในปัจจุบัน ที่มากมีสิ่งต่าง ๆ เอื้อให้เรามักทำอะไรลงไปแบบไม่รู้ตัว ด้วยความเห็นแก่ตัว การรู้ตนรู้ตัวนั้นต้องได้รับการฝึกฝนฝึกหัดจึงจะเกิดขึ้น ส่วนความเห็นแก่ตัวนั้นจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ มีแต่เราต้องหัดต้องคอยกำราบปราบให้มันสงบสุข เพื่อให้ชีวิตเราเจริญวัฒนายิ่งขึ้น
การรู้จักตนคือ การเข้าใจความรู้สึกของตนเองและจุดมุ่งหมายของชีวิตทั้งระยะสั้นและระยะยาว รู้จักจุดเด่นจุดด้อยของตนเองอย่างไม่ลำเอียงเข้าข้างตนเอง มีความเข้าใจตนเองในระดับหนึ่ง การรู้จักฐานะที่ตนเองเป็นอยู่ การประพฤติตนให้เหมาะสมกับฐานะของตน การปฏิบัติหน้าที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่ก้าวล่วงสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่น เป็นการเคารพในศักดิ์ศรีของตัวเอง สิ่งเหล่านี้เมื่อได้รับการฝึกฝนบ่อย ๆ ก็จะทำให้ใจเราเปิดกว้างยอมรับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
การรู้จักตนเองยังรวมไปถึงการรับรู้และรู้จักความสามารถของตัวเราเองด้วย รู้ว่าเราเป็นคนอย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เก่งอะไร ไม่เก่งอะไร เมื่อรู้ตัวก็จะไม่โอ้อวด โชว์เก่งเหนือผู้อื่น และที่สำคัญเราต้องรู้อารมณ์ของตนเอง การรู้จักตนทำให้เราเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้นและสามารถระงับความโกรธได้ ในการที่ได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดของคนอื่น มีจิตใจที่รู้จักให้อภัยเมื่อได้รับการขอโทษอย่างจริงใจ รู้จักระงับความโกรธไม่ให้เตลิดระเบิดใส่ผู้อื่น
ใช่หรือไม่ จากเหตุการณ์ที่โด่งดังในเรื่องการไม่ยอมลดราวาศอก เห็นสิ่งของ(รถมินิ)สำคัญกว่าชีวิตคน บูชาวัตถุจนหลงลืมตัว ปล่อยให้ไฟแห่งความโมโหครอบงำ จนนำชีวิตเดินไปสู่ไฟที่กลับมาเผาไหม้ตัวเอง หลายคนที่ปล่อยให้ชีวิตไปผูกพันกับปัจจัย รู้และรักแต่สิ่งภายนอก จนลืมที่จะเรียนรู้ภายในตัวเอง หลงคิดว่าโลกนี้คือพื้นที่ของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่โลกนี้ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ยิ่งในยุคปัจจุบันเรามีกระจกวิเศษที่คอยจะสะท้อนให้เราเห็นภาพตัวเองในวันที่เราหลุดจากความเป็นตัวเองจนควบคุมตัวเองไม่ได้ เราจึงถูกสื่อสมัยใหม่มาควบคุมแทน นี่เป็นการปรับสมดุลย์เพื่อไม่ให้คนเราถลำลึกมากไปกว่านี้ บางทีสื่อสมัยใหม่ก็มีประโยชน์ที่ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักแบบต้องเจ็บช้ำเสียด้วย



ผู้ที่รู้จักตนเองฝึกใจตนให้มีความมุ่งมั่นแต่ยืดหยุ่นได้ เรียนรู้เข้าใจและเข้าถึงตนเอง จึงเข้าใจผู้อื่นและเข้าใจโลก คนที่รู้จักตนเองไม่ใช้ชีวิตแบบเห็นแก่ตน และไม่เอาแต่ใจตัวเองจนเดือดร้อนตนเองและคนรอบข้าง การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมของคนหมู่มากนั้น ย่อมมีความแตกต่างของแต่ละปัจเจกเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่รู้จักตนเองมักจะให้ความสำคัญและให้คุณค่ากับตนเองและผู้อื่น
ผู้เข้าใจตนเองจะทบทวนตนเอง หาทางทุกวิธีที่จะเรียนรู้ความชอบ ความถนัด บุคลิก พฤติกรรมของตนโดยให้เวลาในการใช้เวลาอยู่กับตนเอง ฟังเสียงภายใน มโนสำนึกวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ เพื่อสำรวจตน การรู้จักตนเองต้องใช้ความกล้าตัดสินใจ กล้าเลือก กล้าเรียนรู้ กล้าทำในสิ่งที่บางครั้งเป็นการเปลี่ยนแปลง มีความแตกต่างแต่ถูกต้องและรอบคอบที่สุดเมื่อรู้ตนย่อมต้องรู้เข้าใจผู้อื่นด้วย

การเข้าใจผู้อื่น คือความสามารถรับรู้อารมณ์ผู้อื่น เข้าใจถึงมุมมองทัศนคติของผู้อื่น เป็นความรู้สึกแบบ เอาใจเขามาใส่ใจเรานี่จึงจะทำให้เราก้าวไปสู่ความสำเร็จอีกระดับหนึ่งซึ่งไม่มีอะไรมาวัดค่าได้ นอกจากความอิ่มเอมเปรมปรีดิ์ หากเรารักและคิดถึงพ่อหลวงของเรา เพียงนำคำสอนง่าย ๆ เหล่านี้ไปฝึกปฏิบัติ ความผาสุกของคนในชาติก็จะบังเกิดขึ้น แล้วเราจะก้มกราบกันได้อย่างงดงาม

วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เรียน (เลียน) คำสอนพ่อ ๒

เรียน (เลียน) คำสอนพ่อ ๒

บทที่ ๒ ความพอดี
“ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้น จะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ
เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับสูงขึ้น ตามต่อกันไปเป็นลำดับ ผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน” (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๐)



ตลอดเกือบหนึ่งเดือนที่เราคนไทยต่างตกอยู่ในภาวะแห่งการสูญเสีย ต่างก็เศร้าโศกในการจากไปของพ่อหลวง แต่เพราะด้วยกิจการดีที่พระองค์ท่านได้ทรงทำไว้นั้นกำลังเจริญงอกงามออกดอกผล คนในชาติแปรงความสูญเสียเป็นเสียสละ มอบน้ำจิตน้ำใจใฝ่ดีต่อกัน การให้มากมายจนท่วมท้องสนามหลวง เป็นประวัติการณ์ที่คนให้มากกว่าคนรับ จนถึงกลับต้องบอกกล่าวเน้นย้ำคำสอนพ่อในเรื่องความพอดี ความพอเพียง คำสอนนี้จึงเกิดผลทันทีอย่างไม่มีการเกี่ยงงอน แอบหวังลึก ๆ ว่าเราเลียนแบบพระองค์ เรียนคำสอนพระองค์ท่าน ให้กลายเป็นรากฐานของคนไทยนับจากวันนี้จนตลอดไป สังคมเราจะน่าอยู่แม้ในวันที่ไม่มีพ่อคอยสอนแล้ว
พูดถึงความพอดีเรามักจะคิดถึงการดำเนินชีวิตทางด้านเรื่องการเงิน ๆ ทอง ๆ การสร้างความร่ำรวยมาเป็นอันดับแรก และสิ่งที่นึกถึงควบคู่กันไปนั่นก็คือ “ความทะเยอทะยาน” ซึ่งเราทุกคนมีเหมือนกันหมด จะต่างกันก็คงเพียงแค่ใครจะมากใครจะน้อยกว่ากัน เป็นความทะเยอทะยานที่อยากจะนำพาชีวิตไปสู่จุดที่สูงสุด ดีที่สุด จนบางครั้งก็กลายเป็นกิเลสที่ทำให้คนเราอยากได้อยากมีเมื่อได้แล้ว มีแล้ว ก็อยากได้ อยากมีอีก ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีความพอดีในชีวิต ไม่สมบูรณ์แบบสำหรับชีวิตเสียที แทนที่ความทะเยอทะยานจะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนให้ชีวิตเดินทางไปถึงเป้าหมาย นำพาเราไปสู่ความสำเร็จของชีวิต กลับกลายเป็นสิ่งที่คอยทิ่มแทงชีวิตให้ทุกข์ทรมาน ให้เจ็บปวด ต้องดิ้นรนแสวงหาอยู่ร่ำไป
หากเราไม่ยึดติดอยู่กับความสะดวกสบายมากนัก ใช้ชีวิตธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่สามารถมีความสุขในชีวิตได้ มีชีวิตที่เรียบง่าย กินอาหารแต่ละมื้อได้อย่างอิ่มหนำ มีห้วงเวลาที่ได้อยู่ ได้ท่องเที่ยวเกี่ยวก้อยกับคนที่เรารัก ได้ทำอะไรดี ๆ สังสรรค์กับครอบครัว ทำให้คนในครอบครัวมีความสุข และไม่ต้องใช้ชีวิตด้วยการเร่งรัด รีบร้อน วัน ๆ มีแต่เหนื่อยกับเฉื่อยเท่านั้น
อีกหนึ่งความพอดีในขั้นของชีวิตภายใน หลายคนก็ไม่รู้จักความพอดี  จึงมักทำอะไรที่ขาด ๆ เกิน ๆ หาตรงกลางไม่ได้ ทำดีก็เกินเหตุ จะพูดคุยตักเตือนก็มากไปจนน่ารำคาญ เอาเรื่องบางเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นธุระมาเป็นธุระ แล้วก็ทิ้งในเรื่องสำคัญ ๆ ไป ไม่เคยแยกแยะว่าตรงไหนคือระดับของความเหมาะสม ซึ่งหมายถึงเหมาะสมสำหรับตัวเองและเหมาะสมสำหรับผู้อื่นด้วย ความไม่พอดีลักษณะนี้คือการไม่รู้จักกาลเทศะ ความพอดีแบบนี้เป็นการขัดเกลามนุษย์ ให้รู้จักความเหมาะความควร


คนเราจะเสาะหาความพอดีพบและดำเนินชีวิตด้วยความพอดีได้นั้น ต้องมีความอ่อนน้อมและความรอบคอบ ความอ่อนน้อมทำให้ไม่ลำพอง ไม่โอ้อวด ไม่ถือโทสะเพื่อเอาชนะคะคาน อวดเบ่ง หรืออวดเก่ง หรือจ้องแต่จะแข่งขันกันอย่างบ้าคลั่ง ส่วนความรอบคอบนั้นจะรู้ได้ว่าจะไม่ทำอะไร ที่มากล้นเกินไป รู้ที่รู้ทางรู้กาลเวลา ไม่ถือเอาใจของตัวเองเป็นสำคัญ

ไม่ว่าจะทำอะไร ความพอดีเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ความพอดีคือ ไม่มาก ไม่น้อยไม่วุ่นวาย ใช่หรือไม่ การยกฐานะจากยากจนให้มั่งมีนั้นทำได้ไม่ง่าย บางคนตลอดชีวิตนี้อาจจะทำไม่สำเร็จ แต่การยกระดับใจให้มั่งมีนั้นทำได้ทุกคน เมื่อมีความมุ่งมั่นจะทำจริง คนรู้จักพอไม่ใช่คนเกียจคร้าน และคนเกียจคร้านก็ไม่ใช่คนรู้จักพอ ความพอดีมีอยู่ในความวางใจพระเจ้าทุกกรณีนั่นเอง...