วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557

บทสนทนาว่าด้วยความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์

บทสนทนาว่าด้วยความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์
ศาสตราจารย์ : เธอเป็นชาวคริสต์ใช่มั้ย อัลเบิร์ต     นักศึกษา : ใช่ครับ 
ศาสตราจารย์ : แล้วเธอเชื่อใน พระเจ้ารึเปล่า       นักศึกษา :  แน่นอนครับ 
ศาสตราจารย์ : พระเจ้าเป็นผู้ดีงามใช่หรือไม่           นักศึกษา : แน่สิครับ 
ศาสตราจารย์ : พระเจ้าทรงอำนาจที่สุดใช่มั้ย           นักศึกษา : ครับ 
ศาสตราจารย์ : น้องชายของอาจารย์เสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็ง ทั้งที่เขาวิงวอนขอให้พระเจ้าช่วยรักษาเขา มนุษย์เราล้วนพยายามช่วยเหลือผู้อื่นที่ป่วยไข้ แต่พระองค์ท่านกลับไม่ช่วยอะไร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วพระเจ้าจะเป็นผู้ดีงามได้อย่างไรล่ะ?      (นักศึกษาเงียบ...) 
ศาสตราจารย์ : ตอบไม่ได้ใช่มั้ยล่ะ? งั้นใครคือผู้สร้างความชั่วร้ายขึ้นมา?    (นักศึกษาไม่ตอบอะไรออกมา...) 
ศาสตราจารย์ : ความป่วยไข้ ไร้มนุษยธรรม ความชิงชัง ความน่ารังเกียจ โลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่เลวร้ายเหล่านี้ใช่มั้ย         นักศึกษา :  ใช่ครับ 
ศาสตราจารย์ : งั้นใครสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา?    (นักศึกษาไม่มีคำตอบให้) 
ศาสตราจารย์ : ในทางวิทยาศาสตร์นั้น คนเรามีประสาทสัมผัสทั้ง 5 เอาไว้สังเกตและเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ไหนลองบอกอาจารย์สิว่า เธอเคยเห็นพระเจ้ารึเปล่า  
นักศึกษา : ไม่เคยครับ 
ศาสตราจารย์ : เธอเคยได้สัมผัสของพระเจ้าด้วยประสาททั้ง 5 รึเปล่า    
นักศึกษา : ก็ไม่เคยครับ 
ศาสตราจารย์ : แล้วเธอยังจะเชื่อในพระองค์ท่านอีกงั้นรึ   
นักศึกษา : ใช่ เพียงเพราะผมมีความเชื่อ 
ศาสตราจารย์ : ช่าย... ความเชื่อนี่แหละที่เป็นตัวปัญหาของวิทยาศาสตร์       
นักศึกษา : อาจารย์ครับ โลกนี้มีความร้อนอยู่มั้ย     ศาสตราจารย์ :  มีสิ 
นักศึกษา : แล้วโลกนี้มีความเย็นอยู่มั้ย           ศาสตราจารย์ : แน่นอน 
นักศึกษา : ผิดครับ ความเย็นไม่มีอยู่จริง.....  (ห้องเรียนถึงกับเงียบสงัดเมื่ออาจารย์โดนนักศึกษาคนนี้ดักเข้าให้) 

นักศึกษา : อาจารย์ครับ เราสามารถมีความร้อนเท่าใดก็ได้ ยิ่งร้อน โคตรร้อน ร้อนสุดๆ ร้อนจนสูญสลาย หรือจะมีความร้อนเล็กน้อย จนกระทั่งไม่มีความร้อนเลย แต่เราไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความเย็นอยู่ครับ เราสามารถสร้างสภาวะติดลบ 458 องศาฟาเรนไฮต์ที่ไร้ซึ่งความร้อนอยู่เลยได้ แต่เราไม่สามารถลบไปได้มากกว่านั้น ความเย็นไม่มีอยู่จริงครับ มันก็แค่คำที่เราใช้เรียกภาวะที่มีความร้อนน้อย เราไม่สามารถวัดค่าความเย็นได้ ความร้อนเป็นพลังงานครับ แต่ความเย็นไม่ใช่สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความร้อนหรอกครับ มันก็แค่การปราศจากความร้อนเท่านั้นเอง 
(เสียงหมุดเล่มหนึ่งตกลงท่ามกลางความเงียบงันของห้องเรียนรวม) 
นักศึกษา : แล้วความมืดล่ะครับอาจารย์? ความมืดมีอยู่จริงมั้ย  
ศาสตราจารย์ :  จริงสิ ถ้าไม่มีความมืด แล้วจะเกิดกลางคืนได้อย่างไร
นักศึกษา : ผิดอีกครับ ความมืดก็คือภาวะที่ปราศจากบางสิ่งบางอย่าง เราสามารถหรี่แสง ทำแสงปกติ ทำแสงจ้า ทำแสงสว่างวาบ แต่ถ้าไม่มีแสงอยู่เลย ก็จะไม่มีสิ่งใด และเราก็เรียกมันว่าความมืดไม่ใช่เหรอครับ? ความมืดน่ะไม่มีอยู่ในความเป็นจริง เพราะหากมันมีอยู่จริงแล้ว เราก็ต้องสร้างภาวะที่มืดมิดขึ้นไปเรื่อยๆ ได้สิครับ
ศาสตราจารย์ : ประเด็นของเธอคืออะไรกันแน่            นักศึกษา :  อาจารย์ครับ ประเด็นของผมคือแนวคิดในสมมติฐานของอาจารย์บกพร่อง 
ศาสตราจารย์ : บกพร่อง? ไหนลองว่ามาสิ       นักศึกษา :  อาจารย์คิดอยู่บนแนวคิดคู่ขนาน อาจารย์อภิปรายว่าเมื่อมีชีวิตแล้วก็ย่อมมีความตาย มีพระเจ้าที่ดีและพระเจ้าที่ร้าย อาจารย์มีมโนคติสำหรับพระเจ้าในฐานะสิ่งที่มีขอบเขตจำกัดตายตัว สิ่งที่เราสามารถวัดได้ อาจารย์ครับ วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายความคิดได้ด้วยซ้ำ มันมีกระแสไฟฟ้าและอำนาจแม่เหล็ก แต่เราก็ไม่เคยเห็นมัน เราแทบไม่เข้าใจมันเลยด้วยซ้ำ การมองว่าความตายคือด้านตรงข้ามของการมีชีวิต ก็คือการมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าความตายไม่สามารถดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศได้ครับ ความตายไม่ใช่ด้านตรงข้ามของการมีชีวิต ก็แค่ภาวะปราศจากชีวิตเท่านั้น ตอนนี้บอกผมหน่อยสิครับอาจารย์ คุณสอนพวกผมว่ามนุษย์วิวัฒนาการมาจากลิงใช่มั้ย
ศาสตราจารย์ : ถ้าเธอกำลังพูดถึงในแง่วิวัฒนาการตามธรรมชาติ มันก็ใช่แน่นอน ฉันสอนแบบนั้น         นักศึกษา : อาจารย์เคยเห็นวิวัฒนาการที่ว่านั้น กับตาตัวเองรึเปล่าครับ
(ศาสตราจารย์ส่ายหน้าด้วยรอยยิ้ม เขาเริ่มรู้ตัวว่ากระแสการสนทนาจะไปในทิศทางใด) 
นักศึกษา : ทั้งที่ไม่มีใครเคยเห็นขั้นตอนการวิวัฒนาการ และพิสูจน์ไม่ได้ด้วยซ้ำว่าขั้นตอนเหล่านี้มันยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ หรือไม่  (ความเงียบเข้าปกคลุมห้องเรียนอีกครั้ง แล้วอาจารย์ก็จ้องมองไปยังนักศึกษาคนนั้น ด้วยสีหน้าที่ไม่อาจเข้าใจความนึกคิดได้) 
ศาสตราจารย์ : อาจารย์ว่า ก็คงต้องทำให้พวกเขาเชื่อถือให้ได้ล่ะ   
นักศึกษา : ใช่แล้วครับ.... ถูกต้องแล้ว! สิ่งที่เชื่อมระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ก็คือความเชื่อ และนั่นก็คือสิ่งที่ทำให้ทุกชีวิต ดำเนินต่อไปได้ 
นักศึกษาคนนั้นชื่อเต็มๆ ว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

คงได้รับสิ่งดีๆ จากหลักคิดของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังของโลก ที่เชื่อในพระเจ้าอย่างสุดจิตสุดใจ วิทยาศาสตร์เป็นเพียงความรู้แขนงหนึ่งซึ่งไม่อาจจะเปรียบกับความยิ่งใหญ่ขององค์พระผู้สร้างได้เลย

วันเสาร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2557

เราเป็นใครในครั้งนั้น

เราเป็นใครในครั้งนั้น
ในเส้นทางสู่ปัสกา ชัยชนะเหนือความตายของพระเยซูเจ้านั้น มีผู้คนมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ หลายคนจงใจทำร้ายทำลายพระองค์ หลายคนมิได้มีเจตนา บางคนทำไปเพราะหน้าที่ บางคนทำไปเพราะสัญชาตญาณ บางคนแค่เพียงผ่านมาพบเห็น บางคนมีอารมณ์ร่วมสาธารณะ ในรอบปีหนึ่งๆที่ผ่านมาแล้วผ่านไป หากมองย้อนกลับไปเราก็คงเหมือนใครหลายๆคนที่ได้ร่วมในเส้นทางแห่งความตาย แห่งความทุกข์ของบุคคลอื่น

ปิลาโต : ผู้ตัดสินประหารชีวิตพระเยซูเจ้า โดยมอบให้พวกชาวยิวไปจัดการตรึงกางเขนกันเอง หลังจากตัดสินแล้ว เป็นความเชี่ยวทางการเมืองอีกชนิดหนึ่ง ที่เอาใจฝูงชนผู้กำลังบ้าคลั่งทำตามคำยุยง แล้วหาทางออกพ้นผิดด้วยการโยนภาระมัดมือคนอื่นแทนตนเอง ใช่หรือไม่ บ่อยครั้งเราก็มักเป็นเช่นปิลาโตที่ตัดสินผู้อื่นด้วยความรู้สึก เพื่อปกป้องตัวเอง ตัดสินแล้วก็ไม่สนใจถึงความถูก - ผิด ไม่รับผิดชอบในคำตัดสิน และโยนให้คนอื่นรับผิดชอบต่อแบบหน้าตาเฉย คนเราทุกคนมีสัญชาตญาณในการป้องกันตัวเองอยู่แล้ว จึงมักไม่ยอมให้ตัวเองต้องเป็นคนผิดหรือเมื่อทำผิดก็พยายามหาเหตุหาผลมาลบล้าง และทางที่ดีที่สุดนั่นคือ การชิงความได้เปรียบด้วยการรีบตัดสินคนอื่นก่อนที่จะถูกคนอื่นตัดสิน
บรรดาสมณะ : ผู้อิจฉาพระเยซูเจ้า จึงจ้องจับผิด จ้องที่จะทำร้ายชื่อเสียงพระองค์ในทุกรูปแบบ จนกระทั่งทำให้ตายไปข้างหนึ่ง ความเจ็บปวดของโลกมนุษย์เรานั้น ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความอิจฉาตาร้อน เห็นคนอื่นดีกว่าตนไม่ได้ เมื่ออิจฉาแล้วไฟที่รุ่มร้อนก็จะลุกโชกโชนเผาไหม้กลายเป็นความเกลียดชัง ใครเล่าเกิดมาไม่เคยอิจฉา แต่มีคนไม่น้อยที่ปล่อยให้ความอิจฉาเป็นเครื่องนำพาไปสู่ความโหดร้าย หากเราใช้ความใจเย็นราดรดไฟเพลิงแห่งความอิจฉา ความแก่งแย่งแข่งขันก็จะน้อยลง เรายังเป็นเช่นพวกสมณะในครั้งนั้นในวันนี้อยู่หรือเปล่า
ฝูงชน : ผู้ไหลตามกระแส กลุ่มคนที่ตะโกนให้ตรึงกางเขนพระเยซูเจ้า คงมีไม่น้อย คือคนที่ไปแห่แหนต้อนรับพระองค์ในวันที่พระองค์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม คนเราถ้าได้รวมกลุ่มกัน มีความเชื่อความศรัทธาคล้ายๆกัน ย่อมง่ายมากที่จะถูกโน้มนำให้ทำตามๆกันไป พอได้ยินใครพูดอะไรนิดอะไรหน่อยก็พลอยคล้อยเชื่อตามไป และก็กลายเป็นหนึ่งที่ถูกนำไปแอบอ้างเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายผู้นำเสมอๆ ในยุคที่เรามีโลกกว้าง กระแสธารแห่งข่าวสารที่ใหญ่โต มีเครื่องมือชั้นเลิศที่จะเข้าถึงข้อมูล แต่เรามักจะถูกกระแสแรกรับจู่โจมโหมให้เชื่อและทำตามก่อนเสมอๆ เมื่อเชื่อและก็พร้อมทำตามใครว่าอะไรก็ว่าด้วย มีไม่น้อยที่เราเป็นเหยื่อแห่งการตัดสินลงโทษคนอื่นโดยมิได้รับข้อมูลตามความจริงมาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เพราะอารมณ์ในกระแสแรงกว่าเหตุผลทางคุณธรรม
คนใจงามหลายคน : ในระหว่างทางกางเขนที่ต้องทนแบกรับ พระเยซูเจ้าได้พบเจอหลายคนที่แทบไม่ได้มักคุ้นกันมาก่อน แต่มีน้ำใจ มีความสงสาร ให้ความบรรเทา ช่วยแบกกางเขน และร่วมเดินเคียงข้างเป็นกำลังใจอย่างเงียบๆ เราคงเคยได้รับสิ่งเหล่านี้มาบ้าง และในบางครั้งเราก็อาจจะเป็นคนทำอย่างนั้นให้ใครมาบ้างตามเส้นทางการดำเนินชีวิต มันเป็นความรู้สึกสุขที่เราได้ทำให้ใครบางคนได้บรรเทาทุกข์ลงบ้าง ไม่จำเป็นต้องมาคุ้นเคย มาสนิทเป็นเพื่อนมิตรสหายกัน การช่วยเหลือเล็กๆน้อยๆอาจจะสร้างรอยสุขได้มากกว่าคนสนิทที่ทำรอยทุกข์เล็กๆให้เกิดขึ้นเป็นไหนๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว แต่ในตัวเราแต่ละคนนั้นมีซอกเล็กๆแห่งความเมตตาอยู่เสมอ นำออกมาใช้บ้าง เพื่อลบรอยความเห็นแก่ตัวให้หดหายไปบ้าง
แทบเชิงกางเขนเหลือเพียงไม่กี่คนที่อยู่กับพระองค์ โยเซฟ ชาวอริมาเทีย : ผู้ที่ชื่นชอบพระองค์แต่แสดงออกมาไม่ได้ อันเนื่องเพราะหน้าที่การงานที่ไม่เอื้ออำนวย ได้ช่วยเหลือจัดการเรื่องหลุมฝังศพให้พระองค์อย่างเรียบร้อย ในชีวิตจริงของคนเรามักเจอคนหลากหลายประเภท เพื่อนฝูง เพื่อนกิน เพื่อนเที่ยวนั้นมีเยอะ พอเอาเข้าจริง เจอทุกข์จริง เจ็บตัวจริง เพื่อนฝูงก็คงเหลือไม่มาก ในมุมกลับกันเราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์กับใครบ้างเล่า และถึงแม้มิได้สนิทถึงขั้นเป็นเพื่อน เราเคยทำอะไรให้กับคนที่เราชื่นชอบบ้างไหม เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นก็ได้ ทำอย่างเงียบๆช่วยจัดการความทุกข์ให้กับผู้อื่นโดยมิต้องโอ้อวด เราผ่านสิ่งเหล่านี้มาบ้างหรือยัง
ในรุ่งเช้า ทหารยาม : ผู้ที่ยืนเฝ้าหน้าอุโมงค์หลุมศพพระเยซูเจ้า ที่ยืนอยู่ดีๆหลุมศพเปิดออกเอง แผ่นหินใหญ่ขนาดนั้นจะเคลื่อนได้ง่ายๆคงเป็นไปไม่ได้ เห็นแล้วถึงกับตกใจวิ่งหนี ในชีวิตจริงเราบางครั้งมีอัศจรรย์เกิดขึ้นมากมายอย่างที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว แทนที่จะดีใจ ขอบคุณที่ได้พบเห็น เรากลับหันหลังให้ มีบ้างบางครั้งถึงกับหนีหายไป เรามักจะสวดอ้อนวอนขออัศจรรย์ ให้เห็นจะๆไป พระเจ้าอาจจะบอกกับเรามาว่า “เราทำให้แล้วไง ทำไมท่านมองไม่เห็นล่ะ”  อัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากคำพูดน่ารักๆของลูกๆหลานๆ อัศจรรย์ของวันเวลาที่แสงแห่งวันเกิดขึ้นเสมอๆ และอื่นๆอีกมากมายในนามความงดงาม
มารีย์วิ่งนำหน้าเปโตร : มาที่หลุมฝังพระศพ เปโตรผู้ปฏิเสธพระเยซูเจ้า สำนึกผิดมาเฝ้ารอพระองค์พร้อมกับเหล่าอัครสาวกและคนใกล้ชิดพระเยซูเจ้า เมื่อรู้ว่าพระองค์กลับคืนชีพจริงเปโตรถึงกับเข่าอ่อน วิ่งแทบไม่ไหว คนที่เราปฏิเสธ คือ พระเจ้าจริงๆ เราอยู่กับพระองค์ตลอดแต่กลับไม่เชื่อ ชีวิตเรามักเป็นเช่นนั้น อยู่กับสิ่งที่มีแต่กลับไปหวังสิ่งที่ไม่มี บางครั้งเราก็ไม่กล้าที่จะขอโทษ เพราะรู้สึกผิดมากเกินกว่าจะให้อภัย เราจึงไม่กล้าก้าวออกไป เราจึงจมอยู่กับอดีตที่ผิดมหันต์ของเรา แต่พระเจ้าให้อภัยเราเสมอ

เส้นทางชีวิตเรามักเป็นอะไรได้หลากหลาย วันนี้เราอาจจะเป็นคนอย่างนั้น เป็นคนเช่นนี้ สิ่งที่เราต้องก้าวข้ามผ่านให้ได้ คือ การผ่านจากการทำผิดซ้ำๆซากๆ ก้าวผ่านจากความเป็นคนเก่า เพื่อเราจะได้กลายเป็นคนใหม่ที่ดีขึ้นเสมอๆ สุขสันต์วันปัสกาแด่ทุกๆท่านครับ

วันเสาร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2557

ตัดเพื่อต่อ

ตัดเพื่อต่อ
ตัดต่อ เป็นคำที่คนในแวดวงทำงานด้านสื่อบันเทิงมักรู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นขบวนการผลิตขั้นสำคัญก่อนที่จะนำผลงานออกสู่สาธารณชน การตัดต่อ ถือเป็นศิลปะการเล่าเรื่องที่ทำให้คนดูหรือผู้รับสารเข้าใจและมีส่วนร่วมกับงานชิ้นนั้นไปด้วย ในการประกวดประกาศรางวัลที่เกี่ยวกับรายการบันเทิงทั้งระดับโลก และระดับประเทศ จะต้องมีการให้รางวัลการตัดต่อหรือลำดับภาพยอดเยี่ยมเสมอๆ และผู้ทำงานด้านนี้มักไม่ค่อยมีใครรู้จัก เพราะจะทำงานอยู่เบื้องหลังมากกว่า ถึงแม้ว่าการแสดง เนื้อหา แสงสี จะดีสวยงามแค่ไหน หากคนที่นำมาประกอบ มาลำดับเรื่อง ไม่เข้าใจ ไม่ใส่ใจ ไม่คำนึงถึงความต่อเนื่อง ภาพยนตร์หรือรายการนั้นก็จะไม่สามารถเข้าไปอยู่ในใจของผู้คนได้ การตัดต่อ ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ ใช้เวลานาน บางงานเพียงแค่ 30 วินาที ต้องทำงานกันเป็นวันๆหรือหลายๆวันเลยก็มี ฉะนั้นแล้วคนที่ทำงานด้านนี้อย่างจริงจังต้องมีทั้งความรู้ ด้านการผลิตรายการและมีศิลปะ รวมทั้งเรื่องของจรรยาบรรณอยู่ด้วย
ภาพ : อินเตอร์เน็ต
แต่เมื่อมาถึงยุคสมัยที่เทคโนโลยีเอื้ออำนวย ขนาดบนมือถือก็ยังสามารถใช้ตัดต่อได้ ใช้สร้างภาพยนตร์สั้นๆได้อย่างสบายๆ เป็นยุคที่ความรู้สามารถเสาะหาง่าย แต่เมื่อหาได้มาง่ายๆ ความรู้ที่ใช้กัน จึงเป็นความรู้แบบตื้นเขิน และใช้เป็นเกราะกำบัง ใช้เพื่อข่มขวัญผู้อื่น ใช้ความรู้พื้นๆนั้นมาเบ่งมาโอ้อวดกัน หาได้รู้แบบลงลึก เจาะลึกลงไปในแขนงนั้นๆไม่ คนยุคนี้มีไม่น้อยที่มีความรู้มากมายแต่ไม่เคยรู้ลึกรู้จริงสักเรื่อง นี่แหละคนยุคเทคโนโลยีครองเมือง เมื่อผสมผสานกับการตลาดที่เอาใจผู้บริโภค บริษัทผู้คิดค้นจึงเอาเปลือกของโปรแกรมหรือเรียกว่าเอาขั้นตอน ผิวๆ มาใส่ไว้ในสมาร์ทโฟน ในแท็บเล็ต มีแค่เครื่องๆเดียวสามารถผลิตรายการทั้งรายการได้ ซึ่งถ้าเป็นคนที่มีความรู้ทางด้านนี้มาก่อน ก็สามารถนำมาใช้เพื่อเสริมการทำงาน ลดขั้นตอน ย่นระยะเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
แต่ในยุคที่เราอยู่บนความฉาบฉวย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงจึงถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการประหัตประหารผู้อื่น ผู้ที่คิดต่าง มีการสร้างเรื่องราว แอบถ่าย แอบหลุดลอด ให้มาอยู่ในสังคมเครือข่าย ยิ่งเป็นด้านมืด ด้านบกพร่องของคนอื่น ยิ่งเป็นเหมือนการเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นมากไปอีกหลายเท่าตัว เราจึงเห็นเรื่องราวที่รวมๆเรียกว่า คลิป clip (คลิป ตามความหมายแล้ว คือ ช็อตแต่ละช็อต ที่ถ่ายทำโดยมิได้มีการตัดต่อ)  อยู่บนโลกไซเบอร์มากมาย ซึ่งจริงๆล้วนถูกนำไปตัดต่อ ร้อยเรียงแบบจงใจ แต่พยายามทำให้ดูแบบไม่จงใจ ฉะนั้นสังคมที่เต็มไปด้วยการตัดต่อลวงโลกไร้ศิลปะไร้จรรยาบรรณ เช่นนี้ จึงเป็นการ “ตัดตายมากกว่า ตัดต่อ
อีกลักษณะหนึ่งที่เราเห็นเป็นข่าวมากมาย คือ การตัดต่อภาพถ่าย จริงๆควรใช้คำว่า ตัดแต่ง จึงจะเข้ากับความหมายมากกว่า เป็นการนำหลายๆภาพมาตัดแต่งเอาส่วนนี้ของภาพนี้ เอาส่วนนั้นของภาพนั้นมาใส่เพื่อให้เกิดภาพใหม่ที่สื่อความหมายต่างไปจากเดิม สิ่งนี้กลายเป็นเครื่องมือที่นำมาทำร้ายคนอย่างมากในสังคมอุดมความขัดแย้ง คนเห็นก็เชื่อไว้ก่อน เพราะคนเราใช้สายตาตัดสินมากกว่าการใช้หัวใจอยู่แล้วเป็นทุนเดิม 
ย้อนกลับสักเมื่อราว 20 กว่าปีก่อน  คอมพิวเตอร์เพิ่งจะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกด้านรวมทั้งงานกราฟฟิคทางงานสื่อด้วย  การตัดแต่งภาพในแต่ละภาพผู้สร้างสรรค์งานจะใช้เวลานานมาก นาน...เพราะความเร็วของระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ไม่ได้รวดเร็วเหมือนปัจจุบัน นาน...เพราะพยายามทำให้ภาพออกมาเสมือนจริงมากที่สุด ให้ใช้แสงเงา ความสมดุลของภาพ ขนาดและองค์ประกอบ ต้องถูกสัดถูกส่วน เพื่อให้เกิดภาพที่สมเหตุสมผล เกิดมิติมากที่สุด ด้วยความนานนี้เองทำให้มีเวลาพินิจพิจารณาได้อย่างถี่ถ้วน มีส่วนเกินเพียงแค่ขีดเล็กๆ ก็ต้องกำจัดให้ออกไป ยิ่งใช้เวลายิ่งเพิ่มความสุขุมรอบคอบ การคัดเลือกคัดสรรภาพมาประกอบ ก็ต้องไม่ละเลยความสมจริง ไม่ต้องแต่งเติมอะไรให้มากเกินไปนักเดี๋ยวจะสูญเสียความเป็นจริง และภาพที่ทำนั้น ต้องไม่เป็นภาพที่ใช้เพื่อการกลั่นแกล้งใคร 
ภาพ : อินเตอร์เน็ต
เมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน ความรวดเร็วมีมากขึ้น ความละเลยต่อความจริงยิ่งมากกว่าหลายเท่าตัว เราจึงเห็นภาพต่างๆที่สวยงามเกินจริง สร้างเทียมขึ้นมาใหม่ เรียกว่านำไปตัดต่อใหม่จนแทบจำของเดิมไม่ได้ อยากจะเพิ่มจำนวนผู้คนในท้องถนนให้มากแค่ไหนก็ทำได้ อยากจะให้ภาพที่ปรากฏออกไปว่ามีผู้คนให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ ในบริการของเรามากแค่ไหนก็ทำได้ อยากจะทำร้ายทำลายชื่อเสียงใคร แค่ตัดต่อภาพเชื่อได้เลยอย่าง 50% ของคนที่ได้เห็นภาพจะเชื่อในทันที นี่เป็นพิษสงของการตัดต่อภาพในยุคใหม่ ยุคที่มีเครื่องมือที่มั่นคงแข็งแรงแต่จิตใจอ่อนไหวอ่อนแอเหลือเกิน
ภาพ : อินเตอร์เน็ต


เมื่อเห็นภาพที่นำมาตัดแต่งให้มีคนจำนวนมากมายบนท้องถนนแล้ว ก็อดนึกถึงวันเวลาที่พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มไม่ได้ ที่มีผู้คนมากมายออกมาแห่แหนมาต้อนรับพระองค์ ถ้าเป็นสมัยเราคงมีคนนำภาพมาโพสต์ขึ้นเฟสบุ๊คแน่นอน หรือไม่อาจจะมีคนที่หวังดีนำไปตัดแต่งให้เห็นฝูงชนสุดลูกหูลูกตาที่มาต้อนรับพระองค์ เป็นการช่วยให้พระองค์เป็น แกนนำ ประชานชนอย่างสมบูรณ์แบบ แต่พระเยซูเจ้าคงไม่ต้องการคนจำนวนมากมายเช่นนั้น เพราะทรงทราบว่าอีกไม่กี่วัน ก็จะไม่มีใครอยู่เคียงข้างกับพระองค์แล้ว บนกางเขนนั้นพระองค์ต้องการจะสอนเราให้รู้จักตัดต่อทางด้านจิตวิญญาณเพื่อเพิ่มคุณค่าให้ตัวเรา ให้กับสังคม ให้กับโลกนี้ เราต้องเรียนรู้การ ตัด ตัวเอง เพื่อ ต่อ ยอดให้เกิดสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่มีคุณค่า นี่จึงเป็นการตัดต่อที่เราควรจะศึกษา เป็นศิลปะการดำเนินชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง

วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2557

โลก โรค โลภ

โลก โรค โลภ
ในช่วงนี้อากาศเริ่มร้อนขึ้นมากเรื่อยๆ ต้องอาศัยหลบหลีกซุกตัวอยู่แต่ในสถานที่ที่มีร่มเงา มีแอร์เย็นๆ  เมื่อร่างกายเจอสภาพเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว ทำให้ปรับตัวไม่ทัน เจอไข้หวัดเล่นงานจนงอมพระราม คงเป็นเพราะเราประมาทในการใช้ร่างกายเกินไป คิดว่าตัวเองแข็งแรงดี เกิดโลภในการใช้ร่างกายโดยไม่ระมัดระวัง คิดจะออกแดดก็ลุยเปลวแดดไป ไม่คิดหากำบัง พอเวลาคิดจะหลบร้อนก็รีบพึ่งเย็น หาที่ที่เย็นฉ่ำจิต โดยไม่ได้คิดเลยว่าในสภาพภูมิอากาศในเมืองใหญ่เช่นนี้ เต็มไปด้วยมลภาวะพิษ เชื้อโรคยึดครอง อาการภูมิแพ้เมืองหลวงจึงกำเริบได้ไม่ยากนัก 
ภาพ : อินเตอร์เน็ต

ในโลกที่เต็มไปด้วยการพัฒนาในทุกๆทาง รวมทั้งทางการแพทย์อย่างทุกวันนี้ โรคร้ายต่างๆที่สมัยก่อนใครเป็นต้องตายสถานเดียว ก็สามารถรักษาให้หายได้ แต่ที่แปลก คือ โลกเรากลับมีโรคภัยใหม่ๆเกิดขึ้นได้เสมอๆ  ซึ่งคงเป็นผลเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือเรียกกันว่า ภาวะโลกร้อน!! ไม่ได้นำพามาแต่ความร้อนเท่านั้น แต่ยังนำภัยอันตรายมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะอันตรายจากโรคร้ายที่มีต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ เพราะสภาพอากาศที่ร้อน จะทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ สามารถฟักตัวและเติบโตได้ดี นอกจากจะมีโรคแปลกๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้ว เชื้อโรคอาจมีการกลายพันธุ์ โรคที่เคยหายไปจากเมืองไทยจะเกิดขึ้นใหม่อีกนับสิบชนิด การติดเชื้อโรคและการระบาดของโรคต่างๆ จะขยายวงกว้างและรุนแรงมากขึ้น  
แม้ว่าเรามีการพัฒนาทางด้านสาธารณะสุขได้ก้าวหน้าขึ้น จนทำให้คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น แต่เราไม่อาจจะทำให้โลกนี้หมดสิ้นจากโรคภัยไข้เจ็บได้เลย
สรุปรวม กลุ่มคนแต่ละช่วงวัยต่างก็มีสมรรถภาพร่างกายและภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันออกไปกับโรคภัยไข้เจ็บโดยสรุปดังนี้..
คนกลุ่มนี้อายุจะอยู่ราว 50-66 ปี ถือว่าอยู่ในวัยผู้สูงอายุ ดังนั้น คนกลุ่มนี้มักเจอ 4 โรคยอดฮิต คือ ความดันโลหิตสูง มะเร็ง หลอดเลือดสมอง (stroke) และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (หัวใจขาดเลือด)
กลุ่มคนต่อมาเป็นกลุ่มวัยฉกรรจ์ที่กำลังอยู่ในช่วงการทำงาน อายุราวๆ 34-47 ปี จึงมักเสี่ยงกับการเป็น โรคเบาหวาน ปวดหลัง และโรคกระเพาะ  โรคออฟฟิศซินโดรม (OfficeSyndrome)
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ทั้งจากค่านิยมที่แตกต่างจากรุ่นปู่ย่าตายายกับรุ่นพ่อแม่ ขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็ก้าวไปพร้อมๆกับเทคโนโลยีที่เจริญรุดหน้า ทั้งคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และไอที แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ด้วยความสับสนและซับซ้อนที่คนกลุ่มนี้ต้องได้รับ จึงมักงงๆกับตัวเอง ชอบตั้งคำถามแปลกๆ คนกลุ่มนี้จะเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบมีเงื่อนไข และไม่อยู่ในกรอบ ชอบการสื่อสารแบบไม่เผชิญหน้า ขณะเดียวกันก็ชอบความชัดเจนในเป้าหมาย คนกลุ่มนี้อยู่ในวัยที่สดใสที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การทำงาน อายุราวๆ 20-33 ปี มักจะเป็น ไมเกรน กรดไหลย้อน และกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
กลุ่มคนอายุน้อยที่สุดในปัจจุบัน เป็นผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน ในรุ่นนี้จะเป็นช่วงที่คนเกิดใหม่น้อยลง ขณะเดียวกันก็จะเติบโตขึ้นท่ามกลางการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้นเช่นกัน คนในกลุ่มล่าสุดนี้ พบว่ามักมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น ภูมิแพ้ที่ผิวหนัง และไข้หวัด
นอกจากนี้ยังมีโรคที่มาจากเชื้อไวรัสสารพัดชนิด โรคภัยไข้เจ็บดูเหมือนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตของเรา มองในอีกด้านหนึ่ง การที่มีโรคภัยและการเกิดโรคขึ้นมาใหม่ ในสังคมโลกนี้ ก็เพื่อย้ำเตือนให้เรามนุษย์ไม่หลงระเริงไปกับชีวิตมากนัก ให้คำนึงถึงความอนิจจังของสังขาร ไม่หลงลืมพระเจ้า ใช่หรือไม่ ยามเราเจ็บป่วย เรามักต้องการใกล้ชิดกับพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆที่นับถือมากขึ้น นี่เป็นการสร้างความสมดุลให้มนุษย์เราไม่หลุดโลกกันเกินไป
 โรคนี้มิได้เกิดขึ้นเพื่อความตาย แต่เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า เพราะโรคนี้ พระบุตรของพระเจ้าจะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ คำสอนของพระเยซูเจ้าที่ทำให้เรามองโรคร้ายอย่างมนุษย์ที่เตรียมพร้อมเสมอ
ภาพ : อินเตอร์เน็ต
แต่มีโรคหนึ่งที่กำลังระบาดและทำให้คนเราถอยห่างจากจิตวิญญาณที่แท้จริง ถอยห่างออกจากพระเจ้า นั่นคือ โรคโลภ
โลภที่จะครอบครองทุกสรรพสิ่งไว้กับตัวเอง เห็นทุกสิ่งเป็นของเราเพียงคนเดียว และก็เที่ยวระราน รุกล้ำ ยึดครองด้วยอำนาจ ด้วยกำลัง โดยไม่สนใจแบ่งปัน เผื่อแผ่ให้แก่ผู้ใดทั้งสิ้น โรคโลภแบบนี้ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง
โลภที่จะเก็บความรู้ไว้เพื่ออวดรู้ โลกที่มุ่งเน้นยกย่องความเก่ง ความพิเศษ คนเราจึงสะสมความรู้เพื่อตัวเอง มีความรู้ท่วมท้นแต่ไม่มีความดีงามในจิตใจก็เท่านั้น เป็นบัณฑิตมหาบัณฑิตในคราบมหาโจร ความรู้นั้นก็ไร้ค่า ยิ่งรู้เรากลับต้องรักและเมตตาต่อผู้อื่นมากขึ้น ความรู้จึงเป็นปัญญาที่งดงาม

โลภที่ใช้เวลาเพื่อปัจจัยเสพสุขความสะดวก โดยมิพักสนใจต่อสิ่งที่เรียกว่าจิตวิญญาณ มองผ่านความงดงามในวันเวลา มิได้หยุดพักทักทายชื่นชมความดีของคนรอบๆข้าง มุ่งไปข้างหน้า มุ่งไปเพื่อจะได้นอนบนเตียงคนไข้ รอคนมาเยี่ยมเยียน นั่นแหละจึงจะระลึกถึงสิ่งเยี่ยวยาทางจิตวิญญาณ หรือ....เราจะปล่อยให้โรคร้ายนี้ทำร้ายความเป็นคน เป็นลูกพระของเรา