ตัวแปร
ในวันที่ร่วมส่งดวงวิญญาณของคุณแม่เพื่อนคนหนึ่ง
ซึ่งนานมากแล้วที่ไม่ได้พบเจอกัน
เพื่อนได้กล่าวขอบคุณในงานและได้เล่าเรื่องราวของแม่ผู้เป็นต้นแบบในชีวิต ที่ต้องสู้ทนความยากลำบากมาอย่างหนักหน่วงเพื่อเลี้ยงลูก
ๆ ยันถึงเลี้ยงหลาน ๆ เพื่อให้ทุกคนเติบโตอย่างสมบูรณ์
คิดไปถึงแม่ของตัวเองและผู้เป็นแม่ของทุกคน ที่มักมีหัวใจแกร่งและยิ่งใหญ่
หลังพิธีผ่านไปอย่างเรียบร้อย
ถือโอกาสได้นั่งคุยเพื่อปลอบประโลมใจกันในวันที่เพื่อนสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักยิ่ง
เพื่อนบอกว่าเสียใจมากที่ก่อนหน้านี้มีความขัดข้องหมองใจกับแม่มาระยะหนึ่ง
แต่ยังโชคดีที่มีการปรับความเข้าใจกันได้ ถึงยังงั้นเพื่อนก็ยังมิวายเศร้าใจที่ขาดความเข้าใจผู้เป็นแม่ในบางขณะ
เพราะรับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของแม่ไม่ได้
จึงได้แบ่งปันจากประสบการณ์ตรงของลูกคนหนึ่งที่ต้องรับรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนไปของแม่ผู้ที่เข้าสู่วัยชรา
คุณหมอคนที่พาแม่มาพบบ่อย ๆ เคยบอกว่า การรักษาโรคของผู้สูงอายุที่ดีที่สุดคือการรักษาลูกหลานควบคู่ไปด้วย
เพื่อจะได้รู้ว่าควรอยู่กับพ่อแม่ที่สูงวัยและมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างไร?
เพราะตัวแปรสำคัญเลยคือความเข้าใจ ใส่ใจ ปล่อยวางใจบ้าง
ในชีวิตคนเรามีตัวแปรมากมาย แต่ละคนผ่านชีวิตมาไม่เหมือนกัน
พ่อแม่ของหลายคนต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูลูกหลาย ๆ คน สภาพร่างกาย สมอง
ความคิดถูกใช้ไปอย่างเกินขีดกำหนด พอถึงช่วงหนึ่งจึงล้า จึงเสื่อมไป ทำให้เกิดโรค หน้าที่ของเราที่ต้องดูแลพ่อแม่เราต้องปรับตัวให้ได้
ยอมรับความเปลี่ยนแปลงและอารมณ์เปลี่ยนไป พยายามอยู่กับปัญหาอย่างมีความสุข
จากที่เคยเครียดกับอาการของแม่ที่เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ
วันนี้เรากลับมองเห็นสิ่งที่แม่แสดงออกที่ผิดแผกไปกลายเป็นเรื่องเบาบาง
และดูเป็นความน่ารักน่าเอ็นดู ตัวแปรที่แม่เปลี่ยนไปมันคือ
ความรักที่แม่มอบให้เราเสมอ ที่เหลืออยู่คือเราต้องแปรสิ่งเหล่านี้ให้กลายเป็นความรักสืบต่อไป
ใช่หรือไม่ในชีวิตของแต่ละคนนั้น มีความยากลำบากซึ่งเป็นตัวแปรของชีวิตต่างกัน
บางคนเกิดจากตัวแปรที่สร้างขึ้นเอง จากความโลภ โกรธ หลง
บางคนมีตัวแปรจากสิ่งแวดล้อม จากคนแวดวงเดียวกันที่บาดหมางกัน บางคนอาจจะกล่าวโทษตัวแปรเป็นเรื่องโชคชะตาและเวรกรรมแต่ปางไหนนั่น
ก็สุดแล้วแต่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะนำตัวแปรนั้นมาเปลี่ยนแปลงมาเป็นแรงผลักดัน
พลิกฟื้นพื้นที่แห้งแล้งให้เป็นพื้นที่เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทั้งฝ่ายร่างกายและจิตใจได้
ดังตัวอย่างของคนเล็ก ๆ ในสังคมเล็ก ๆ ที่ลุกขึ้นยืนได้อย่างสง่าด้วยการเอาชนะตัวแปรที่เกิดขึ้น
ฮากิ ฮารุโทโมะ เปิดร้านอาหารฝรั่งเศสในจังหวัดฟุกุชิม่า
และมีลูกค้าแน่นตลอดทุกวัน ทว่า วันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011
สถานการณ์ทุกอย่างพลิกผัน เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในเขตโทโฮกุ
ร้านอาหารฝรั่งเศสชื่อดังที่เคยมีลูกค้าแน่นเต็มเกือบทุกโต๊ะกลับว่างเปล่า
เมื่อผ่านไปสามเดือน เชฟ“ฮากิ” ต้องเผชิญกับสภาพวันที่ไม่มีใครมาทานที่ร้านเลย
หรืออย่างมาก ก็มีแขกเพียงแค่วันละโต๊ะเท่านั้น ตัวเขาเองอยู่ในสภาพหมดหวัง
และเตรียมใจปิดร้านในไม่ช้า
วันหนึ่ง ขณะที่ไปหาวัตถุดิบในฟาร์มท้องถิ่น เกษตรกรคนหนึ่งได้เล่าให้เขาฟังว่า
“ขายผักไม่ได้เลย แย่จัง” (ลูกค้ากลัวเรื่องกัมมันตภาพรังสี ทั้ง ๆ ที่ผักคุณภาพดี
ปลอดภัย) ฮากิจึงคิดว่า ถ้าอย่างนั้น เขาจะช่วยซื้อผักของเกษตรกรมาทำอาหาร ไหน
ๆ ก็ใกล้จะปิดร้านอาหารอยู่แล้ว ลองช่วยคนดีกว่า เขาจึงจำกัดลูกค้าเหลือเพียงวันละโต๊ะเท่านั้น
และทุ่มเทใช้ฝีมือปรุงอาหารให้ดีที่สุด บริการให้ประทับใจที่สุด
ไอเดีย “ลูกค้าวันละโต๊ะ” กลับทำให้ลูกค้ารู้สึกพิเศษ และทุกคนประทับใจในการให้บริการ
พร้อมทั้งบอกปากต่อปาก เชฟ“ฮากิ” ยังมุ่งมั่นนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาปรุงและถ่ายทอดวิธีการทำ จนในที่สุด ปี
ค.ศ. 2014 เขาได้รับรางวัลจากกระทรวงเกษตรในฐานะ Master Chef และได้เป็นตัวแทนของจังหวัดฟุกุชิม่าในการเดินทางไปถ่ายทอดเสน่ห์ของวัตถุดิบจังหวัดอีกด้วย
ทุกวันนี้ เขามีความสุขกับการได้ช่วยเหลือผู้ผลิตและสังคมด้วยอาหาร
บางคนมีมากแต่ยากที่จะมีความสุข
บางคนมีน้อยกลับมากล้นด้วยความอิ่มเอม
เพราะความยากลำบากคือบทเรียน บทสอน
เป็นตัวแปรให้ชีวิตเห็นคุณค่ากับทุกสิ่งที่ผ่านมา หลายสิ่งหลายอย่างที่ผ่านเข้ามาบนเส้นทางชีวิตของเรา
หากเรารู้จักเลือก คัด กลั่นกรอง เพื่อการมีอยู่ของเราเกิดผล
และก่อให้เกิดความดีงาม อย่าเอาตัวแปรมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาและการกระทำดี
แต่จงใช้ตัวแปรเหล่านั้นเป็นตัวช่วยให้เราก้าวหน้าเดินสู่หนทางธรรม สู่หนทางสันติ
และต้องไม่ลืมว่า หากเราพร้อมที่จะเป็นพื้นดินดีแล้ว
ก็ต้องส่งความดีงามนั้นสู่สังคมโดยรอบตัวด้วย
บนพื้นดินวัดเซนต์หลุยส์ในวัยก้าวย่างสู่ปี 60
แผ่นดินแห่งนี้เคยผ่านตัวแปรมานักต่อนัก แต่ยังคงยืนยงและยืนยันถึงความเชื่อต่อองค์พระคริสตเจ้า
และเกิดดอกออกผลอย่างมากมาย เราก็เป็นผลหนึ่งในนั้น
แล้วเราจะไม่ดำรงผลแห่งความงามนี้ต่อไปหรือ!!!.....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น