วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เรียน (เลียน) คำสอนพ่อ

เรียน (เลียน) คำสอนพ่อ
บทที่ ๑
          เกริ่นนำ... ในช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าของเหล่าปวงชนชาวไทยที่หัวใจเสาหลักบ้านเมืองลาลับกลับไปสู่ฟากฟ้ายังสรวงสวรรค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คงจะไม่มีกระจิตกระใจเขียนถึงเรื่องราวอื่นใดได้ นอกจากเรื่องของพระองค์ท่าน จึงขออัญเชิญพระบรมราโชวาทตามที่ต่าง ๆ เพื่อนำพาชีวิตเราให้พบกับความสุขสันติในยุคปัจจุบัน ในคอลัมน์นี้จึงขอนำเสนอคำสอน ๙ ข้อ ๙ บท เพื่อนำมาไตร่ตรองร่วมกัน เป็นเข็มทิศให้ชีวิตเราก้าวเดินต่อไปในภาวะแห่งอาลัยนี้
ความเพียร
              “การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่สำคัญที่สุด คือความอดทน คือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันครึทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่า ทำให้ดีไม่ครึ ต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตนเอง” (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๖)

          ในทุกวันนี้เรามักเห็นผู้คนเบื่อง่าย เหนื่อยหน่าย และก็พร่ำบ่น ในทุกเรื่องทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนเป็นมนุษย์ยุคที่ความอดทนน้อย มักจะกล่าวโทษสิ่งอื่นไปทั้งหมด ยกเว้นตัวเอง เราไม่ค่อยที่จะเพียรพยายามที่จะก้าวผ่านปัญหาอุปสรรคด้วยความอดทน ร้อนก็บ่น ฝนก็เบื่อ เมื่อหนาวก็หดหู่ ไม่รู้จะต้องทำอย่างไรกับชีวิต รอคอยโอกาสในอากาศวิ่งเข้ามาหา อาจจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่มักจะเข้าใจว่า ความเพียรกับความหวังความปรารถนาเป็นเรื่องเดียวกัน ใช่หรือไม่การตั้งความหวัง ความปรารถนาอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเพียรเลย ถ้าเป็นเพียงหวังและฝันไปแบบลอย ๆ เพราะความเพียรต้องลงมือปฏิบัติ ความเพียรที่แท้จริง คือ เครื่องมือสร้างความสำเร็จอย่างแท้จริงตามความฝันและความปรารถนา ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมพ่ายแพ้แก่ความเพียรพยายามที่สม่ำเสมอ เพราะไม่มีสิ่งไหน จะต้านทานความเอาจริงของคนเราได้ ต้องหมั่นถามตัวเองว่า เราสู้จริงหรือเปล่า

          ความเพียร ต้องฝักใฝ่ ทุ่มเท และบากบั่นฟันฝ่า เพื่อเป้าหมายระยะยาว ความเพียร คือ ความทรหดอดทน ความเพียร คือ การมุ่งมั่นไปข้างหน้า วันแล้ว วันเล่า ไม่เพียงแค่สัปดาห์ ไม่เพียงแค่เดือน แต่เป็นปี ๆ และทำมันอย่างหนัก เพื่อให้อนาคตที่ฝันกลายเป็นจริง ความเพียร คือ การใช้ชีวิตแบบวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งระยะสั้น ความเพียรต้องใช้หัวใจที่เข้มแข็ง ไม่มัวแต่ท้อแท้ เมื่อทำงาน ก็เพื่อสร้างงานไม่ใช่สร้างเรื่อง เพื่อสร้างอนาคตไม่ใช่ทำแบบไร้อนาคต เราจะต้องทำด้วยความเพียร มีความพยายามอย่างสม่ำเสมอ ทำโดยไม่หักโหม ค่อย ๆ ทยอยทำ เพราะเมื่อเราเพียรพยายามอย่างแท้จริงแล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดจะตอบแทนเราคืนมาได้ นอกไปเสียจากความสำเร็จ

วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ลานกว้างในใจเรา

ลานกว้างในใจเรา
ละครเรื่อง “นาคี” กำลังเป็นที่ถูกอกถูกใจของหลาย ๆ คน มีการพูดถึงกันอยู่ในเกือบทุกวงสนทนา จึงอดไม่ได้ขอลองดูบ้าง ในวันที่ได้นั่งดูได้มีการกล่าวถึง “จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์” พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นหนังสือเล่มนี้ในชั้นวางพอดิบพอดี จำไม่ได้ว่าซื้ออ่านมาตั้งแต่ปีไหน!!! ตอนนี้หนังสือเล่มนี้ออกจะสีเหลือง ๆ จึงได้นำมาอ่านใหม่อีกรอบ

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นยุคที่รุ่งเรืองด้านการค้าและการต่างประเทศ  มีการส่งคณะราชทูตเพื่อเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ ทรงส่งราชทูตออก พระวิสูตรสุนทร หรือ โกษาปาน ไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และคณะทูตชุดนี้ ก็กลับมาพร้อมกับซิมง เดอ ลาลูแบร์ การเข้ามาของลาลูแบร์ในกรุงศรีอยุธยานั้นเพียง 3 เดือนกับอีก 6 วันในฐานะราชทูตไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าการเขียนหนังสือขนาดหนากว่า 600 หน้า (จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม ฉบับแปลไทยโดยสันต์ โกมลบุตร) เพราะเนื้อหาของหนังสือได้รวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ตั้งแต่สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต การบริโภค เครื่องแต่งกาย อาหารการกิน ภาษา และรวมถึงภาพวาดต่าง ๆ และอื่น ๆ
มีสิ่งหนึ่งที่ในบันทึกนี้เขียนถึงบ่อยครั้ง นั่นคือความเรียบง่ายของคนในสมัยอยุธยา การสร้างบ้านเรือนที่มักจะสร้างเรือนในพื้นที่กว้าง ๆ และตั้งอยู่ให้ห่างกันพอสมควร ทั้งนี้ในจดหมายเหตุได้กล่าวไว้ว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องภายในครอบครัวแพร่งพรายให้คนอื่นได้ยิน และลานกว้างนั้นบ่งบอกถึงความมีน้ำใจที่มีไว้ใช้ต้อนรับแขก มานั่งคุย นั่งเล่นร้องรำทำเพลง นั่งทานข้าว หุงหาอาหารด้วยกัน คนสมัยนั้นจะกินอยู่แบบง่าย ๆ กินข้าวกับปลาและผักต่าง ๆ ไม่ชอบที่จะนำเนื้อสัตว์อื่นมาทำเป็นอาหาร ในสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากร ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ทำให้ผู้คนไม่ต้องดิ้นรนแข่งขันกันทำมาหากิน ต่างก็มีน้ำใจอาทรต่อกัน และต่อคนต่างถิ่นด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อคณะมิชชันนารีเข้ามาถึงดินแดนแถบนี้ ได้รับพระราชทานที่ดิน เพื่อให้ก่อตั้งวัด โรงเรียน และชุมชน (วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา) ผู้คนในสมัยนั้นมิได้เห็นโลกกว้างแต่กลับมีจิตใจที่กว้างยิ่งนัก


เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยน ระบบการปกครอง การสื่อสารมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนมีมากขึ้น กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ในเมืองอุตสาหกรรม ไม่สามารถจะอยู่ได้ด้วยการกินอยู่แบบง่าย ๆ ชีวิตต้องประกอบไปด้วยความหลากหลายมากขึ้น เรื่องในครอบครัวกลายเป็นเรื่องสาธารณะเอามาบอกกล่าวเล่าขานในโลกออนไลน์ให้ผู้คนกล่าวขวัญถึงแบบไม่ต้องปกปิด หรือระมัดระวังกันอีกต่อไป ความมีน้ำใจหดหายท่ามกลางโลกที่กว้างขึ้น วิถีสมัยใหม่มิได้ทำให้เราเห็นใจกันและกันแต่กลับรำคาญที่จะช่วยเหลือกัน “เราถูกทำให้เคยชินไปกับวัฒนธรรมไม่สนใจคนอื่น เราจำเป็นต้องวอนขอพระหรรษทานสำหรับการสร้างวัฒนธรรมแห่งการพบหน้ากันขึ้นมาอีกครั้ง การพบหน้าและพูดคุยกันจะช่วยฟื้นฟูศักดิ์ศรีการเป็นลูกของพระเจ้าให้กลับมาอีกครั้ง” (สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส) นี่คือการสร้างลานกว้างให้เกิดขึ้นในใจของเรา

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ตัวตนคนจริง

ตัวตนคนจริง
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ ได้มีห้วงเวลาที่อาศัยอยู่ร่วมกันบนท้องถนนมากที่สุด เป็นเทศกาลแห่งการถูกเท ฝนกระหน่ำหลายชั่วโมง น้ำท่วม ถนนกลายเป็นคลองเพื่อให้เม็ดฝนรวมพลังก่อเป็นมวลน้ำได้ไหลผ่าน เราจึงจำต้องรอกันอยู่ในรถ เรือเท่านั้นถึงจะกลมกลืนกับน้องน้ำ นำความทุกข์ความเครียดมาสู่มหาชนในมหานครแห่งนี้ หลายคนก็บ่นถามหาว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรบางคนถึงขั้นอวดอ้างทางแก้ไขปัญหาโดยหลงลืมว่าแท้จริงแล้ววิกฤตการณ์นี้เกิดขึ้นจากเหตุใดกันแน่!!! ใช่หรือไม่ วิกฤตต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม การทำลายทรัพยากร ปัญหาความเครียด ความทุกข์ ล้วนมีรากเหง้ามาจากวิกฤตการณ์ทางจิตวิญญาณ หรือพูดอีกแง่หนึ่งคือ มีสาเหตุมาจากปัญหา “ตัวตน”
ภาพ : https://encrypted-tbn3.gstatic.com
ปัญหาตัวตนเป็นปัญหาสำคัญของคนยุคนี้ มีความไม่พอใจในตัวตน คนส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ถูกทำให้รู้สึกไม่พอใจในตัวตนของตน จึงอยากจะมีตัวตนใหม่ ประจวบเหมาะกับสื่อสมัยใหม่ที่กลายเป็นสนามให้ผู้คนมีพื้นที่แสดงตัวตน แต่อีกมุมหนึ่งหากไม่รู้จักกาลเทศะที่ควรที่เหมาะสม ก็จะกลายเป็นการแสดงตัวตน ที่ไร้ตัวตนอย่างแท้จริง เราจึงเห็นความคิด เห็นทัศนะอคติมากมายล่องลอยอยู่ในโลกออนไลน์ และเพื่อความโดดเด่นของตนจึงจำเป็นต้องหาวัตถุปัจจัยภายนอกมาเสริมเติมแต่ง จนกลายเป็นความหลงใหลไปกับเปลือก หลงลืมคุณค่าที่แท้จริงของเราคืออะไร ชีวิตภายใน ความสงบถูกละเลย ลืมเลือนจนจืดจางห่างหายไปหมดสิ้น สิ่งที่แสดงออกมาจึงเป็นเพียงเพื่อเรียกร้องการยอมรับ หาใช่สาระที่แท้จริงของชีวิตไม่
แน่ละ..มนุษย์เราเปาะบางเกินกว่าที่จะอยู่เพียงลำพังได้ ต้องอาศัยการยอมรับจากคนรอบข้าง เพื่อสร้างความมั่นใจ มีความรู้สึกดีกับตัวเอง แต่...ในบางครั้ง กับบางคนต้องการมี ตัวตนและเป็นที่ยอมรับ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วตัวตนของเขาเป็นเพียงคนธรรมดา ๆ จึงจำเป็นต้องสร้าง ตัวตนอีกแบบหนึ่งขึ้นมา จนในบางครั้งเขาเหล่านั้นอาจไม่แน่ใจว่าสิ่งใดคือ ตัวตนที่แท้จริงของเขา คนเหล่านี้หลงลืมรากฐาน ลืมว่าพระพรของแต่ละคนย่อมมีแตกต่าง เพื่อสร้างความสวยงามให้กับโลก และที่สุดหลงลืมที่จะขอบคุณในความเป็นตัวเอง ทำตัวเสมือนคนที่วิ่งหนีเงาตัวเอง วิ่งนี้เท่าไรก็มิอาจจะจากกันได้ ยอมรับในสิ่งที่มี ขอบคุณในสิ่งที่เป็น
ภาพ : http://www.bloggang.com
/data/praewkwun/picture/1190012573.jpg
ลองกลับมามองย้อนแล้วฉุดรั้งตัวตนที่แท้จริงของเราให้กลับคืนมา “เป็นเราแบบที่เราเป็น” อย่าให้ความเชื่อใหม่ๆ กระแสนิยมใหม่ๆ ทำให้ตัวตนที่แท้จริงของเราหายไป ให้จิตวิญญาณเดิมของเราเป็นฐาน แล้วสร้างยอดขึ้นไปอย่างมั่นคงด้วยศรัทธา คนเรานั่นหน่ะไม่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้โดยการเป็นแบบคนอื่น คนทุกคนมีความเป็นตัวเองอยู่แล้ว พัฒนาตัวเองในระดับจิตวิญญาณ และไม่ต้องไปใส่ใจกับตัวตนระดับความคิดและการกระทำมากนัก เพราะความเชื่อและจิตวิญญาณจะนำพาเราไปเองอาจจะไม่เห็นผลในระยะสั้น เพราะตัวตนที่แท้จริงและมั่นคงต้องมาจากการสร้างฐานด้วยกาลเวลาและความคงเส้นคงวา เคารพในการกระทำ ซื่อสัตย์ในภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

การสร้างตัวตนใหม่ เพื่อเรียกร้องความสนใจ ด้วยวัตถุปัจจัยภายนอกนั้นหาได้ยั่งยืนไม่ เป็นเพียงภาพลักษณ์ ไม่คงทนและล้าสมัยง่าย  วัตถุและสิ่งประดับภายนอกจึงไม่สามารถให้ความพึงพอใจได้อย่างแท้จริง เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวตนได้อย่างแท้จริงด้วยการแสดงออกให้คนเห็น หากต้องอาศัยการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ “ตัวตนอันแท้จริง” มาจากการฝึกฝนให้มีความสามารถและคุณธรรม ที่สำคัญก็คือการแก้ปัญหาตัวตนที่ได้ผลอย่างแท้จริงมิได้อยู่ที่การแสวงหาตัวตนใหม่ที่ดีกว่าเดิม หากอยู่ที่การก้าวพ้นจากเรื่องของตัวตน สละตัวตนโดยตระหนักเสมอว่าเราก็เพียงสิ่งเล็ก ๆ ที่มีตัวตนบนโลกนี้ชั่วคราว ตัวตนที่ไม่หลงลืมตนนั้นคือวิถีแห่งคนจริง