วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2567

ก้าวข้ามอดีต

 

ก้าวข้ามอดีต

>>> พยายามก้าวข้ามผ่านอดีตแล้วมีชีวิตที่งดงามในปัจจุบัน คือปัสกาที่แท้จริง <<<

นับเวลาถอยหลังเรื่อย ๆ กับวันเวลาที่เพิ่มขึ้น มีอดีตให้จดจำ มีผิดพลาด พลั้งเผลอ อยากมีอยากเยอะอยากยิ่งใหญ่ บางเรื่องราวสร้างทุกข์สุดใจ และมักย้อนมาทำร้ายจิตใจเราอยู่เนืองนิจ พยายามพิชิตปิดประตูความทรงจำอันนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีเพียงหัวใจและอดทนข่มความรู้สึกอยู่กับปัจจุบันให้ได้ ทำเวลาขณะนี้ให้ดีที่สุด คิดเสมอว่าวันนี้คือวันที่ดีที่สุดไม่ว่าจะเกิดอะไร ใช่หรือไม่...ทุกคนต่างก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกทำวันนี้ให้ดีที่สุดได้ ส่วนเรื่องของเมื่อวานให้มันจบลงเมื่อวาน พยายามทำความเข้าใจและยอมรับว่ามีความทรงจำบางอย่างกำลังรบกวนความสุขในปัจจุบันของเราอยู่ การยอมรับกับความทุกข์นับเป็นจุดเริ่มต้นกับความสุขในปัจจุบัน ซึ่งการยอมรับไม่ใช่การจำนนต่ออดีต ซึ่งต้องให้เวลา


ไม่มีชีวิตใครในโลกนี้สมบูรณ์ที่สุด เราทุกคนบนโลกนี้ต่างต้องเผชิญกับเรื่องดีและเรื่องร้ายเหมือน ๆ กัน ต่างกันเพียงแค่ว่า ใครจะใช้ใจเยี่ยงไรรับมือกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น อุปสรรคคือบทพิสูจน์ เมื่อเอาชนะได้ ถือว่ายกระดับหัวจิตหัวใจให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคใด เงยหน้าขึ้น แบกรับมันก้าวเดินต่อไป เรื่องราวในอดีต อาจจะทำให้ความสงบกลายเป็นตระหนก ส่งผลให้เรามีความคิดอคติตามสัญชาตญาณได้ง่าย ทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียดชัง ความแค้นเกิดขึ้นอีกครั้งและอีกครั้งอย่างไม่มีวันหมดสิ้น นี่อาจจะเป็นกางเขนอันใหญ่ที่เราแบกไปเพื่อผ่านหุบเหวที่กว้างใหญ่ในวันข้างหน้า

เป็นสัจจะคู่ผู้คนที่ว่า “เรื่องแย่ โชคร้าย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน” แต่ก็ยังมีบ้างบางคนที่กำลังตกอยู่กับความทุกข์ในอดีต และซ้ำเติมความทุกข์ตนเองว่า “โง่งี่เง่าไม่เอาไหน ไม่สู้และโชคร้าย” โดยอาจจะหลงลืมไปไม่ว่าใครก็สามารถเจอกับเรื่องร้ายด้วยกันได้ทั้งนั้น

เวลาของเราในโลกนี้สั้นนัก อย่าเสียเวลากับเรื่องราว กับผู้คนหรือสิ่งของที่ไร้ค่า อย่าปล่อยให้เสียงของคนอื่นมีพลังมากกว่าเสียงของหัวใจตัวเอง อย่าให้ใครขโมยความสุขของเราไป แม้ในช่วงที่ชีวิตกำลังเผชิญอยู่กับความมืดมิด แต่ปลายทางของค่ำคืนคือแสงสว่างของรุ่งอรุณ เมื่อใดที่เผชิญกับความท้าทาย จงมุ่งมั่นและพยายาม เพราะทุกจุดเริ่มต้นของความพยายาม ย่อมมีผลตอบแทนเป็นรางวัลรออยู่เสมอ

อย่ากังวลหรือกล่าวโทษว่าเวลาไม่เพียงพอ แท้จริงชีวิตคนเรามีเพียง “ให้และรับ” เมื่อใดที่เป็นผู้ให้ จงให้ด้วยความเต็มใจ เมื่อใดที่เป็นผู้รับ จงรับด้วยความเต็มใจ ในวันนี้อาจจะมีเพียงคำว่า “ขอบคุณ” เป็นแสงสว่างอันนั้นที่จะให้พลังในรุ่งอรุณ เป็นเหมือนชีวิตใหม่ที่ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

ให้เวลากับคนที่เรารักและรักเราให้มากขึ้น คนข้างกายคนในครอบครัวคือหัวใจของการก้าวผ่าน ซึ่งมีค่ามากกว่าเพื่อนกินนับร้อยพัน ไม่มีใครรู้วันเวลาข้างหน้าได้อย่างถูกต้องแม้แต่หมอดู ความยิ่งใหญ่และความมหัศจรรย์ในชีวิต บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับให้เวลาและจังหวะในพระพรของพระเจ้าเป็นผู้นำพา ที่สำคัญอย่าหลงลืมศรัทธาในพระเจ้าที่สถิตในตัวเรา

อย่าท้อแท้กับอดีต ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน อย่าคาดหวังกับความสมบูรณ์ ลุกขึ้นมาทำให้ดีกว่าเก่าก็พอ! ไม่จำเป็นที่จะต้องจบเรื่องราวทุกเรื่องด้วยความสมบูรณ์แบบ ทำความเข้าใจตนเอง ไม่ใช่เพื่อการแก้ไขอดีตให้คลี่คลายหายไป แต่เพื่อให้จิตวิญญาณเราเข้มแข็งเพื่อก้าวผ่านความทุกข์และเดินต่อกับปัจจุบันอย่างมีความหวัง ความรัก และสันติสุขจวบจนวันสุดท้ายจะมาถึง....

วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567

ผลสอบของกาลเวลา

 

ผลสอบของกาลเวลา

>>> อย่าก้มหน้ากับตำราจนหลงลืมวันเวลาปิดเทอม <<<

ช่วงนี้เด็ก ๆ นักเรียนคงจะสอบเสร็จ ปิดเทอมกันแล้ว ยังคงจดจำอารมณ์หลังสอบได้ดี เรามักจะโล่ง สมองปลอดโปร่ง เมื่อย่างเท้าออกจากห้องสอบแล้วมีความมั่นใจว่าทำสอบได้ ส่วนผลการสอบจะออกมาเช่นไรก็ว่ากันอีกที บางคนขยัน เรียนเก่งก็ไม่น่ากังวลใจอะไร บางคนไม่เก่งแต่ขยันเรียนหนังสือ พากเพียรเขียนอ่าน ผลสอบจะเป็นรางวัลตอบแทนในความทุ่มเท หากทำไม่ได้ สอบไม่ผ่าน พลาดพลั้งไปก็ยังมีโอกาสให้แก้ไขแก้ตัวในเทอมใหม่ หรือชีวิตเราก็เป็นเช่นนั้น

หันกลับมามองในชีวิตจริง เราคงยังต้องผ่านการทดสอบนานาประการในทุกวันเวลา หลายครั้งที่เราเจอเรื่องหนัก ๆ ก็มักจะรู้สึกว่า ทำไมพระเจ้าส่งบททดสอบมาให้เรามากมายขนาดนี้ เพื่อคาดหวังสิ่งใดจากเรา??? บางครั้งมาแบบไม่ทันตั้งตัว ไม่รู้ว่าวันนี้จะมีการสอบอะไร  นับนิ้วดูมีเกินครึ่งหนึ่งของชีวิตที่ต้องจำใจยอมรับกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

เอาเข้าจริงถ้าเราเรียนรู้ และเข้าใจในชีวิตว่า ทุกบททดสอบที่เข้ามานั้น มียากง่ายสลับกันเหมือนกับตอนเรากำลังนั่งทำข้อสอบ ก็มีเพียงแค่รู้กับไม่รู้เท่านั้น ถ้าข้อไหนทำไม่ได้ ก็เว้นข้ามไปก่อน มีเวลากลับมาคิดทบทวนใหม่ หากหมดเวลาก็ปล่อยผ่านไป และหาวิธีแก้โจทย์ปัญหาในภายหลัง ในแต่ละวัน ถ้าเรานำข้อสอบที่เราทำไม่ได้ไปหาคำตอบ เพื่อให้รู้ เพื่อทำความเข้าใจ นำไปสอบซ่อม ใช่หรือไม่ ในชีวิตจริงเราอาจจะไม่สนใจกับคะแนนสอบ แต่เราต้องเรียนรู้เพื่อเราจะได้ก้าวข้ามผ่านกาลเวลาไปได้อย่างไม่ทุกข์ใจนัก นี่คือ “ข้อสอบชีวิต” เมื่อทุกอย่างผ่านพ้นไป เราก็แค่ดื่มด่ำไปกับช่วงเวลาปิดเทอมอย่างเต็มที่ รอบททดสอบใหม่อีกครั้ง การเติบโตจะมาพร้อมกับความเข้าใจ ไม่ใช่การจำใจต้องทำ เราพร้อมกันหรือยังที่จะก้าวผ่านบททดสอบของกาลเวลาอย่างมีคุณค่าไปด้วยกัน ...

วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2567

วิถีสาธารณะ

 

วิถีสาธารณะ

>>> ไฟฟ้าดับ น้ำไม่ไหล ไม่ว้าวุ่นเท่าระบบสื่อสารสมัยใหม่ล่ม <<<

เมื่อค่ำคืนวันอังคารที่ผ่านมา กำลังเช็คความเคลื่อนไหวของเพจวัดเซนต์หลุยส์ ในฐานะผู้ดูแลระบบ ยังไม่ทันจะเสร็จสิ้นภารกิจ เฟสบุ๊คก็เด้งออกจากระบบ แจ้งว่าหมดอายุ พยายามเข้าระบบใหม่แต่ก็เข้าไม่ได้ ทำอยู่หลายครั้งจึงรีบเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อแก้ไข เพราะทำง่ายกว่าผ่านทางมือถือ เกรงว่าเดี๋ยวเช้ามาจะออนไลน์มิสซาเช้าไม่ได้ สักพักก็ได้รับแจ้งว่าระบบล่มทั้งโลก ว้าวุ่นกันเลยทีเดียว เช้ามาทุกอย่างก็คืนสู่สภาพปกติ

ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีการสื่อสารแบบนี้ ค่ำคืนเราทำอะไรกันบ้าง เหมือนกับนั่งเครื่องย้อนเวลารำลึก เมื่อหลายสิบปีก่อน ทุกค่ำคืนคนในระแวดบ้านจะมาคุย มาเล่านั่นเล่านี่ เรื่องราวตื่นเต้นบ้าง ข่าวคราวของคนอื่นบ้าง คุยกันสนุกสนาน บางครั้งผู้ใหญ่ก็จะแกล้งเล่าเรื่องผีสางนางไม้ให้เด็ก ๆ กลัว ครั้นเมื่อเวลาผ่านไปมีทีวีขาวดำ บ้านใครที่ซื้อไว้ก็จะกลายเป็นศูนย์กลางชุมชน มาเฝ้าดูข่าว ดูละคร พอวันเวลาผ่านไปแต่ละบ้านเริ่มมีทีวีสีเป็นของตัวเองบ้านใครบ้านมัน จากชุมชนกลายเป็นเหลือเฉพาะคนในครอบครัวที่มาเสพความบันเทิงร่วมกัน จวบจนเมื่อระบบสื่อสารสมัยใหม่เข้ามา ทีวีก็หมดความหมาย ต่างคนต่างมีต่างดูต่างเสพในสิ่งที่ตัวเองชอบและก็ติดมันจนโงหัวไม่ขึ้น ออกท่องวิถีสาธารณะในโลกออนไลน์ โลกจริงเพียงแค่อยู่อาศัยหายใจร่วมกันในบ้าน ในห้องเท่านั้น  


วิถีชีวิตชุมชนแบบเก่าถูกแทนที่ด้วยสังคมชุมชนออนไลน์
จากชาวบ้านก็กลายเป็นชาวเน็ต จากคนเสพสื่อก็กลายเป็นคนส่งสื่อให้คนอื่นเสพบ้าง วิถีชีวิตดูจะกว้างขึ้น แต่ความลึกในสายสัมพันธ์กลับตื้นเขินและแคบลง มีการสื่อสารพูดคุยกันน้อยลง การเล่าเรื่องราวอย่างสนุกสนานหายไป มีแต่เรื่องของคนดัง มีแต่เรื่องข่าวซุบซิบนินทาสาธารณะ และการสอดรู้สอดเห็น คำวิจารณ์การก่นด่าเต็มอากาศ การจะช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากก็เกิดการระแวงว่าจะถูกหลอก ถูกโกง เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน เที่ยวเสพส่องชีวิตคนอื่นไม่มีเวลาไตร่ตรองส่องส่ายชีวิตภายในตัวเอง ข่าวร้ายรายวัน หนึ่งวันพันเรื่องให้ต้องวุ่นให้ต้องตามกระแสกันอย่างไม่หยุดหย่อน วิถีสาธารณะดูแล้วช่างเหน็ดเหนื่อย หากแต่เราหันมาทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อผู้อื่นกันบ้างก็น่าจะดีงามกว่าวิถีชีวิตส่วนตัวที่แอบแฝงเอาเปรียบสาธารณะชน ในวันระบบล่ม เราจึงได้มีเวลาคุยกับตัวเองบ้าง ไตร่ตรองชีวิตจิตก่อนหลับตานอนบ้างก็ดีเหมือนกัน ....

วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2567

แบกไปทำไม

 

แบกไปทำไม

>>> “คนแบกทุกข์เก็บทุกเรื่องมาครุ่นคิด แต่คนเปี่ยมสุขให้อภัยทุกเรื่องก่อนเข้านอน” <<<

มีเรื่องมาเล่าให้ฟัง พระเจ้ายื่นสัมภาระคนละสองชิ้นให้สามคน  พวกเขามีหน้าที่เดินไปบนถนนที่มีชื่อว่า “ชีวิต”  จุดหมายปลายทางที่ชื่อว่า “ความสุข” คนแรกเดินด้วยความยากลำบาก  เขารู้สึกว่าสัมภาระนี่หนักเหลือเกิน จนแทบจะก้าวไม่ออก เหงื่อไหลไคลย้อย เต็มไปด้วยความลำบากทุกข์ระทมตลอดทางที่เดิน คนที่สองเดินด้วยสีหน้าเป็นสุข เพียงแต่ว่าเดินค่อนข้างช้า  แต่ละย่างก้าวก็เหนื่อยพอประมาณ ส่วนคนที่สามนั้นเดินไปร้องเพลงไป  มีความสุขอย่างล้นเหลือ และก็เดินได้เร็วมาก ไม่นานนักก็ถึงที่หมายอย่างสบาย

พระเจ้ารออยู่ที่จุดหมายปลายทาง คนแรกบ่นอย่างหงุดหงิด ข้องใจมากว่าทำไมคนอื่นจึงสามารถเดินทางด้วยความสุข ในขณะที่ตัวเขาเองเดินด้วยความทุกข์ระทม สงสัยว่าสัมภาระของตนหนักกว่าของคนอื่น พระเจ้าชี้แจงว่า “สัมภาระของทุกคนหนักเท่ากัน ชิ้นหนึ่งบรรจุ “ความทุกข์” อีกชิ้นบรรจุ “ความสุข แต่เจ้าแบกเอาชิ้นของความทุกข์ไว้ด้านหน้า เอาชิ้นความสุขไว้ด้านหลัง  เจ้าจึงเห็นแต่ความทุกข์ตลอดทาง ไม่เคยเห็นความสุข จึงต้องเดินทางด้วยความเศร้าและเหนื่อยล้า”

แล้วก็หันไปยังคนที่สอง “เจ้ากลับทำตรงกันข้ามกับคนแรก แบกเอาชิ้นความสุขไว้ด้านหน้า เอาชิ้นความทุกข์ไว้ด้านหลัง เจ้าจึงเห็นแต่ความสุข ทำให้เจ้าสามารถเดินทางด้วยความสุขสดชื่นตลอดทาง” แล้วพระเจ้าก็ชี้ไปที่คนสุดท้าย “เจ้าก็ทำเหมือนคนที่สอง แต่เจ้ายังรู้จักเจาะรูไว้ที่ชิ้นแห่ง ความทุกข์รูหนึ่ง  จนทำให้ความทุกข์ไหลออกตลอดทาง  สัมภาระชิ้นแห่งความทุกข์จึงมีน้ำหนักเบาลงเรื่อย ๆ  เจ้าจึงสามารถเดินทางด้วย “ความสุข”  และยังเดินได้เร็วกว่าคนอื่น”

พระเจ้ายื่น “ความทุกข์” และ “ความสุข” ไว้ให้กับเราทุกคน และยังได้ยื่นเครื่องมือให้เราอีกชิ้นหนึ่ง เพื่อตัดเจาะสัมภาระชิ้นแห่งความทุกข์ให้ขาด  เครื่องมือนี้มีชื่อว่า “อภัย” นั่นเอง