วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

ชัยชนะกลางเปลวแดด


ชัยชนะกลางเปลวแดดและ
กำลังใจในวันที่เหนื่อยหน่าย
            เหมือนตกอยู่ในสภาวะถูกย่างด้วยแดดกลางเมืองหลวง จนออกอาการเหนื่อยหน่าย กับการเคลื่อนไหว เคลื่อนย้ายไปไหนมาไหน แต่ด้วยความจำเป็นของวิถีชีวิตที่ต้องออกไปซื้อกิน พบปะผู้คน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องจำใจเดินฝ่าไอแดด..
อากาศที่ร้อนเหลือของช่วงนี้ที่ทำให้หลายคนบ่นว่า มันร้อนได้ใจจริงๆ ร้อนจนกระทั่งผ้าที่ตากไว้ยังไหม้ !!! ร้อนๆแบบนี้ทำให้ไม่อยากจะก้าวขาออกจากร่มเงาที่พักพิง ไม่อยากจะออกไปเดินท่ามกลางเปลวแดดที่แผดเผาดังไฟ ร้อนจนกระทั่งนั่งคิดเรื่องที่จะขีดเขียนไม่ออก คิดไปคิดมาก็เขียนเรื่องร้อนๆนี่แหละ..
อากาศร้อนมากๆทุกคนคงไม่ชอบ แต่ก็แปลก...แสงแดดยามเช้าและยามเย็น ทุกคนมักจะชื่นชม ทั้งๆที่แสงแดดที่แผดร้อนนี้ก็มาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน เราไม่ชอบเพราะแสงมันแรงไป ก่อให้เกิดความแสบร้อนระคายผิว ไม่สบายตัวพาหัวใจหงุดหงิด จิตคิดร้ายก็ปรากฏขึ้น ส่วนที่เราชอบแสงแห่งวันใหม่และแสงอ้อยอิ่งของยามเย็นเพราะมีแต่ความอบอุ่น คนเราก็เช่นกัน ต่างก็เป็นแหล่งกำเนิดของแสงแห่งตน หากแสงของเรามันร้อนแรงเกินไป ก็จะทำให้คนอื่นต้องทุกข์ทน คนแบบนี้ก็ย่อมมีคนที่ไม่ชอบและไม่เป็นที่ปรารถนา แต่ถ้าเราเป็นคนที่อบอุ่น ย่อมเป็นที่เฝ้ามองหมายและปรารถนาจะคบหาสมาคมด้วย นี่แหละเป็นทุกข์ที่เหมือนๆกันของคนเรา ซึ่งในบางครั้งเราก็ไม่รู้ตัวว่า ในสภาวะนั้นเราเป็นแสงแบบไหน เมื่อเราไม่รู้ตัว แต่เรากลับไปรู้ว่าคนอื่นเขาพูดถึงเราอย่างไร คราวนี้แหละความทุกข์ก้อนโตก็วิ่งเข้าใส่ ทำให้เกิดความไม่เป็นสุข ความโกรธ เกลียด เคียดแค้น ชิงชัง ประดังมา จนทำให้แต่ละวันเป็นเวลาที่เหนื่อยหน่ายอย่างที่สุด
สังเกตไหมในวันที่เหนื่อยๆ เหมือนตกอยู่ในสภาวการณ์ที่แบกรับตลอดเวลา  มีแต่แรงบีบรัด ความท้อแท้ก็ค่อยๆผุดขึ้น เครียดๆและล่องลอย ไร้ตัวตน  ไม่มีคนเหลือบแล  ความคิดที่จะออกแสวงหากำลังใจก็เกิดขึ้น แต่เมื่อมองไปไร้คนสนใจ คิดอยู่คนเดียว เลี้ยวลดคดเคี้ยวกลับมายังตัวตน ทำให้ความร้อนแรงในอารมณ์เริ่มพลุ่งพล่าน วนเวียนอยู่กับความคิดเดิม อยู่กับตัวตน หาได้เหลือบมองไปยังสภาวะรอบข้าง
ใช่หรือไม่ ในวันที่เราทุกข์ร้อน หรือร้อนจนแทบจะบ้า ในโลกนี้อาจมีชายคนหนึ่งกับใช้ชีวิตกลางเปลวแดด ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือเดินเข็นผลไม้ขาย ถีบสามล้อรอรับคนโดยสาร ยังมีอีกหลายคนนั่งอยู่หลังพวงมาลัยรถ ในช่วงที่รถติดกลางแดดโดยที่รถไม่ขยับเขยื้อนเลย อาจจะมีบางคนแบกหามอิฐ หิน ปูน ทราย เพื่อสร้างตึกราม คฤหาสน์ใหญ่โต กำลังหลั่งไหลออกมาพร้อมกับเหงื่อที่ชุ่มอยู่บนเสื้อ ด้วยแรงจากสองขาและสองแขน ที่พาชีวิตเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาโอกาส ต้องสร้างขึ้นด้วยแรงกาย โอกาสที่ยังไม่แน่นอนว่าจะได้เจอ หนึ่งลมหายใจในเปลวแดด ที่น่าจะลำบากและสาหัสกว่าเราเป็นไหนๆ
เราผู้เสพติดความเย็นแต่มักใจร้อน ไม่ค่อยอดทนอดกลั้น วิ่งหาความสบายด้วยเครื่องอำนวยสมัยใหม่ แทนที่ผู้คนเยี่ยงนี้จะมีความสุข ไร้ทุกข์ แต่หาไม่เลย มนุษย์ผู้เสพสุขกับเครื่องอำนวยทั้งหลายทั้งปวง กลับกลายเป็นคนที่เหนื่อยหน่ายง่าย และยังคงเที่ยวแสวงหากำลังใจที่ไม่รู้จักพออยู่ตลอดเวลา เหมือนเด็กน้อยที่ต้องให้พ่อแม่ตามใจอยู่เนืองนิตย์ ไม่กล้าเดินออกแดดแล้วจะรู้ว่าจะอยู่กับแดดได้อย่างไร เราจะแอบหลบซ่อนอยู่ในร่มเงาตลอดชีวิตหรือ บางทีการที่จะได้ชื่นชมแสงแรกแสงสุดท้ายที่สวยงาม ก็ต้องยอมพร้อมใจที่จะทนอยู่กับแสงที่มืดหรือแสงที่ร้อนแรงเสียก่อน

เราเดินทางผ่านช่วงเวลามหาพรต ผ่านสัปดาห์มหามรมาน ผ่านพิธีกรรมมากมาย เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง เราได้นำสิ่งเหล่านั้นมาเสริมเพิ่มเติมพลังชีวิตเราให้ก้าวหน้าเดินทางต่อไปมากน้อยแค่ไหน หรือเราคงปล่อยผ่านไปอีกปีหนึ่ง เฉกเช่นเดียวกับการบ่นว่าอากาศร้อนขึ้นทุกๆวัน แต่เราไม่ได้ทำอะไรให้โลกนี้เย็นเลย หรือไม่เคยที่จะเรียนรู้อยู่กับแสงแดดอย่างผู้มีปรีชาญาณ เมื่อเราไม่สร้างพลัง กำลังใจก็หมดง่าย ความเหน็ดเหนื่อยก็จะกลายเป็นเงาติดตามตัวเราตลอดไป
สิ่งที่เราต้องนำมาทบทวนเสมอๆ นั่นคือ ในสภาวะที่ร้อนรุ่มกลุ้มใจ กำลังใจในยามเหน็ดเหนื่อยย่อมเป็นสิ่งจำเป็น มีสิ่งหนึ่งซึ่งเราอาจจะมองข้ามไป สิ่งที่ให้กำลังใจเราได้เสมอนั่นคือ กางเขน ที่ตรึงแขวนองค์พระเยซูเจ้า ใช่หรือไม่...นั่นคือ ชัยชนะท่ามกลางเปลวแดดตอนสามโมงเย็น เราลองคิดพิจารณากลับไปตอนที่พระองค์กำลังแบกกางเขนเพื่อไปยังเนินเขานั้น คงเป็นเวลาเที่ยงๆ อากาศที่ร้อนบนภูเขา รองเท้าคงจะไม่มีให้สวมใส่ ไม้กางเขนที่กดทับ ทั้งแบกทั้งเดิน ทั้งล้มแล้วลุกถูกกระชากลากถูนับครั้งไม่ถ้วน แต่พระองค์ต้องผ่านจุดนั้นไปให้ได้ ต้องก้าวข้ามผ่านทางทุกข์ ในขณะนั้นเล่า อะไรคือกำลังใจให้พระองค์อดทนก้าวไป ใช่เพื่อเราหรือไม่ และเมื่อพ้นผ่าน ความสุขย่อมเกิดขึ้น ความสุขบนกางเขนคือการกางแขนให้เราทุกคนเข้าไปเสวยสุขกับพระองค์นั่นเอง
ปัสกาที่แท้จริงมีให้เห็นในชีวิตที่ทุกข์ทนของเรา เราก้าวข้ามผ่านมันพ้นไหม เมื่อผ่านแล้วได้กลับกลายเป็นความอบอุ่นให้ใครบ้าง หรือเราไม่กล้าพอที่จะออกมาเผชิญความเป็นจริง กลัวจะก้าวไม่ผ่านความทุกข์นั้น เลยนั่งอมทุกข์จมทุกข์อย่างไม่มีวันฟื้นคืนมาได้ เราพยายามมองพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนนั้น นั่นคือ กำลังใจให้เราในวันเหน็ดเหนื่อย แล้วเราจะได้รู้ว่าความยินดี ความสุข ของการก้าวข้ามผ่านทุกข์นั้นงดงามเพียงใด สุขสันต์วันปัสกาครับ...

วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556

ควันขาวในความมืด


ควันขาวในความมืด
ดูเหมือนว่าการที่เรามีพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ พระสันตะปาปา ฟรังซิส นั้นได้ทำให้คนทั้งโลกหยุดยืนตะลึงงันไปพักหนึ่ง เพราะเป็นสิ่งที่เหนือการคาดเดา เหนือคำวิเคราะห์วิจารณ์อย่างสุดขั้ว พลิกความคาดหวังของคนเป็นจำนวนมากที่ถูกกระแสชักนำ และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันพระองค์ก็ได้เข้าไปอยู่ในใจของคนทั่วทั้งโลก เนื่องด้วยการปฏิบัติตัวอย่างในความสมถะ ความเรียบง่าย ความสุภาพถ่อมตน และการเข้าถึงใกล้ชิดประชาชน โดยยึดมั่นในหลักการที่พระองค์ทรงปฏิบัติมาทั้งชีวิต ที่ไร้การเสแสร้งแกล้งทำ ความจริงใจของพระองค์ที่แสดงถึงความรักของพระเจ้ากำลังแผ่ออกไปให้ทั่วโลกให้เห็นเป็นประจักษ์พยาน อดที่จะคิดถึงคืนนั้นไม่ได้ เวลาที่วาติกันกำลังมืดลง ผู้คนรอคอยคำตอบจากปล่องควันเริ่มหนาตา ไม่นานนัก กลุ่มควันสีขาวก็พวยพุ่งออกมา ตัดกับความมืดดำ เป็นการตัดกันแบบคนละขั้วคนละฝ่ายอย่างชัดเจน ใช่หรือไม่ มันเหมือนเป็นสัญญาณบางอย่างบ่งบอกว่า ท่ามกลางความมืดมนของยุคสมัย มีแต่ความขาวสะอาดบริสุทธิ์เท่านั้นที่จะทำให้เกิดความหวังและความงดงามได้ แล้วพระสันตะปาปา ฟรังซิส ผู้ที่เป็นควันขาวที่ฉายแสงเด่นท่ามกลางความมืดมน พระองค์ได้มาแล้ว อยู่ตรงนี้ เวลานี้ อย่างพอเหมาะพอดี..
ในโลกที่เรากำลังหลงใหลกับทุนนิยม ทุกอย่างถูกทดแทนด้วยเงินทอง ทำให้วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนแปลงไป เกิดความโลภและความเห็นแก่ตัวระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง นำไปสู่การแข่งขันชนิดที่ไม่เห็นหัวกันและกัน จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง เป็นจุดที่ตีบตัน ปัญหาทุกอย่างประดังเข้าใส่จนหาทางแก้กันไม่ได้ อย่างเช่นในกลุ่มของยูโรโซนที่กำลังพบกับวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ จนทำให้  ฮาฟีซ ผู้บริหารของดอยซ์ แบงค์ ออกมาพูดระหว่างขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่นครฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี โดยระบุว่า วิกฤตด้านหนี้สินและภาวะไม่สมดุลด้านงบประมาณ ตลอดจน ปัญหาเสถียรภาพของภาคธนาคารที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในกลุ่มยูโรโซนถือเป็นหายนะครั้งใหญ่ ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก และดูเหมือนมีเพียง พระเยซูคริสตเจ้า เท่านั้นที่สามารถช่วยปกป้องกลุ่มยูโรโซนจากหายนะดังกล่าวได้ บางคนอาจจะมองว่าที่เขาพูดนั้นเกินจริงไปหรือเปล่า!!! หรือไม่ก็พูดไปเพื่อเสียดสี แท้จริงแล้วเขาไม่ได้พูดประชดประชันใคร แต่มีความหมายเป็นนัยสำคัญมากกว่า นั่นคือ ต้องใช้ศาสนาเท่านั้นที่จะเยียวยาปัญหาเศรษฐกิจได้ ทำให้คิดถึงแนวการดำเนินชีวิตของพระสันตะปาปา ที่พระองค์ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย บนความพอเพียงและนำส่วนที่เกินความจำเป็นไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ ถ้าหากเราไม่กลับมายึดหลักธรรมในศาสนา สังคมโลกก็จะไปไม่รอด ทุนนิยม เงินตรานิยาม ก็ไม่สามารถกอบกู้จิตใจผู้คนที่หลงไปกับทรัพย์สมบัติที่เสาะหา สะสมได้เลย
ใช่หรือไม่ ในขณะที่เราสะสม ในขณะที่เราโลภกอบโกยเข้าเก็บไว้คนเดียว เราก็จะทำให้เกิดผู้ยากไร้มากขึ้น ปัญหาก็จะมีมากและเข้ามาเกี่ยวข้องกับเราอย่างมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ แต่หากว่าวันนี้เราทำให้เกิดสมบัติมากขึ้นตามความสามารถของเราและเราได้แบ่งปันส่วนที่มากไปนั้นให้กับผู้ยากไร้ปัญหาก็จะลดน้อยลง โลกนี้มีผู้ยากไร้เพื่อให้เราได้เพิ่มพูนความดี มิใช่มีผู้ยากไร้เพื่อทำให้เราดูร่ำรวยขึ้นเสียเมื่อไร การแบ่งปันจึงเป็นเรื่องสำคัญในการปกป้องกัน การสมถะหรือความพอเพียงหาใช่การต้องมีเงินทองให้น้อยเสียเมื่อไร แต่อยู่ที่ใช้เท่าที่จำเป็น แล้วให้ผู้อื่นใช้ในส่วนที่เกินความจำเป็นต่างหาก
และผลสืบเนื่องในโลกยุคใหม่ที่ผู้คนต่างครอบครองข่าวสาร เพียงเพื่อให้ดูว่ามีความรู้สูงกว่าผู้อื่น จนกลายเป็นวัฒนธรรม คนบ้ารู้ และใช้ความรู้มาปกป้องตัวเอง มาสร้างฐานยึดมั่นถือมั่น ฟังใครไม่เป็นและพร้อมที่จะโกรธ เกลียดชังคนที่ไม่ยอมรับฟังเรา ปัญหาความขัดแย้งจึงมีขึ้นเรื่อยๆ สังคมนับถือค่านิยมว่าคนที่ไม่เคยอภัยให้ใครคือคนที่เยี่ยมยอดในปฐพี ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับหลักคำสอนที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสสอนไว้ ในวันที่สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงถวายมิสซาเช้าวันอาทิตย์ที่วัดซานตา อันนา ในวาติกัน พระสันตะปาปาทรงเทศน์ โดยมีใจความว่า ถ้าเราทำตัวเหมือนพวกฟาริสีที่อยู่ต่อหน้าพระแท่น และพูดว่า ขอโมทนาคุณพระเจ้าที่ไม่ทำให้ข้าพระองค์เป็นเหมือนคนอื่นๆ เฉพาะอย่างยิ่งพวกที่อยู่หน้าประตูพระวิหาร ถ้าเราคิดแบบนี้ เราก็ไม่รู้ถึงพระหฤทัยของพระเจ้าอย่างแน่นอน และเราก็จะไม่มีวันค้นพบความชื่นชมยินดี รวมถึงสัมผัสถึงพระเมตตาของพระองค์ ... พี่น้องที่รัก เราต้องวอนขอพระหรรษทานจากพระเจ้า และอย่าเหนื่อยกับการขออภัยโทษจากพระเจ้า สำหรับพระเจ้าแล้ว พระองค์ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยที่จะให้อภัยพวกเราเลย (Pope Report) ... พระเจ้าไม่เคยเหนื่อยที่จะให้อภัยเราแล้วเราใยต้องเหนื่อยเหน็ดกับการยกโทษให้ผู้อื่นเล่า
ในควันสีขาวของวันนั้นแสงสว่างเล็กๆกำลังจะเปิดโลกมืดแห่งยุคสมัยใหม่แล้ว เราต้องร่วมใจกันภาวนาสำหรับพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ เพื่อพระองค์จะได้นำพระเยซูคริสต์ผู้นั่งบนหลังลาอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวท่ามกลางความโห่ร้องยินดี มาสู่หัวใจของคนทั่วโลก และคนทั้งหลายก็จะรู้ว่าหากปราศจากพระองค์ผู้ที่ยอมรับความผิดแต่เพียงผู้เดียวนี้โลกก็ไม่อาจจะพ้นวิกฤตไปได้ ขอบคุณพระเจ้า องค์พระจิตเจ้าผู้ทรงส่งผู้นำที่ถูกที่ถูกวันเวลามาสู่ยุคใหม่อย่างเหมาะสม และมิได้เป็นไปตามน้ำใจมนุษย์แต่เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ ดูเหมือนว่าพระองค์กำลังให้บทสอนที่พิสูจน์ผ่านชีวิตจริงของสมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส นี้เอง แล้วเราจะไม่ออกก้าวเดินไปพร้อมๆกับพระองค์ พร้อมกับพระศาสนจักรหรือ...

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

เสน่ห์ของคริสต์


เสน่ห์ของคริสต์
หลังจากตำแหน่งพระสันตะปาปาว่างลง บรรดาพระคาร์ดินัลจากทั่วโลกได้เดินทางเพื่อร่วมประชุมกันเพื่อรับทราบถึงแนวทางต่างๆในพระศาสนจักร ร่วมกันกำหนดกรอบวันเลือกตั้ง ซึ่งในครั้งนี้ได้กำหนดให้มีขึ้น ในวันอังคารที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ขั้นตอนการเลือกตั้งจะประกอบด้วยพิธีกรรมต่างๆมากมาย จารีตเก่าๆ ธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดมาอย่างยาวนานถูกนำมาใช้ ในขณะที่โลกยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมากมาย จนกลายเป็นเสน่ห์ให้น่าติดตามและค้นหาความจริง เป็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ดูเหมือนว่าของเก่าๆนั้นเป็นสิ่งที่งดงาม สิ่งเหล่านั้นของเราชาวคริสต์มีคุณค่าในสายตาของโลกยุคปัจจุบันเสมอๆนั่นเอง ท่ามกลางการคาดเดา การวิเคราะห์กันไปตามประสาโลกแห่งข่าวสารที่ไหลทะลักและถูกส่งผ่านอย่างรวดเร็ว ราวกับว่าเราได้ร่วมอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ มีอีกหลายล้านคนเพิ่งจะเห็น เพิ่งรู้เป็นประจักษ์แก่สายตาเป็นครั้งแรกในชีวิต จึงอดที่จะตื่นเต้นในช่วงเหตุการณ์นี้ไม่ได้
การเลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ เริ่มต้นขึ้นด้วยพิธีมิสซาเพื่อจุดประสงค์ในการเลือกพระสันตะปาปา วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2013 เวลา16.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ภายในมหาวิหารนักบุญเปโตร วาติกัน โดย พระคาร์ดินัล อันเจโล่ โซดาโน่ หัวหน้าคณะพระคาร์ดินัล เป็นประธานในพิธีมิสซา พระคาร์ดินัลโซดาโน่ เริ่มต้นบทเทศน์ด้วยการกล่าวขอบพระคุณพระสันตะปาปากิตติคุณ เบเนดิกต์ ที่ 16 สำหรับสิ่งที่พระองค์ได้ทุ่มเทให้พระศาสนจักรเสมอมา หลังจากจบการขอบคุณนี้ เสียงปรบมือได้ดังก้องมหาวิหาร
พระคาร์ดินัลโซดาโน่ ได้เรียกร้องความเป็นหนึ่งเดียวกันในหมู่พระคาร์ดินัล เพื่อจะได้ร่วมกันประกาศพระวรสารและรับใช้สังคมโลก พระคริสตเจ้าทรงตั้งอัครสาวก 12 คน หนึ่งในนั้นคือนักบุญเปโตร ผู้ทรงเป็นเสาหลักที่เด่นชัดของพระศาสนจักร พวกเราแต่ละคนก็ถูกเรียกมาเพื่อทำงานร่วมกับนักบุญเปโตร ด้วยการเป็นศูนย์กลางของเอกภาพแห่งพระศาสนจักร ความรักเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของพันธกิจพระศาสนจักรและเป็นสิ่งที่แยกออกจากพระศาสนจักรไม่ได้ด้วย กระนั้น ความรักต้องไม่ไปลดหรือจำกัดความเป็นหนึ่งเดียวกันในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ดังนั้นขอให้เราภาวนาเพื่อพระสันตะปาปาองค์ใหม่จะได้สานต่องานของพระศาสนจักรไปได้ตลอดและด้วยดีด้วยเทอญ การเลือกพระสันตะปาปาที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้คือ กิจการของพระบรรดาพระคาร์ดินัลทั้ง 115 องค์ คือ บุคคลที่จะตอบรับพระประสงค์ของพระเจ้า และส่งผ่านมาถึงพวกเราทุกคน
เวลา 22.10 น. ตามเวลาประเทศไทย คณะพระคาร์ดินัลที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ได้ออกจากหอพักซางตา มาร์ธา มายังวัดน้อยเปาลีน และจะแห่เข้าวัดน้อยซิสตินเพื่อเริ่มดำเนินการเลือกตั้งพระสันตะปาปา และได้ทำพิธีสาบานต่อหน้าพระคัมภีร์ทีละองค์ เพื่อเก็บผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นความลับตลอดชีวิตและทันทีที่นายจารีตประจำสันตะสำนักกล่าวถ้อยคำว่า “Extra Omnes” (คนอื่น ๆ ทั้งหมดออกไปได้) เจ้าหน้าที่และผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนก็ทยอยเดินออกจากวัดน้อยซิสติน หลังจากนั้น นายจารีตก็เดินมาปิดประตู เป็นการดำเนินการเลือกพระสันตะปาปาครั้งที่ 1
ประชาชนมารอสัญญาณควันหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตรเป็นจำนวนมาก ในเวลาประมาณ 01.42 น. การลงคะแนนครั้งแรกจบลงไปเรียบร้อยแล้ว ผลปรากฏว่า เรายังไม่มีพระสันตะปาปา โดยเป็น ควันสีดำ ออกมาจากวัดน้อยซิสติน การรอคอยด้วยการสวดภาวนาของคาทอลิกทั่วโลกเพื่อร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรก็ยังดำเนินต่อไป จนกระทั่งในเวลา ประมาณ 01.00 น. ของวันพฤหัสฯที่ 14 มีนาคม 2556 ควันสีขาว ปรากฏออกมาจากปล่องควันหลังคาวัดน้อยซิสติน นั่นคือ เราได้พระสันตะปาปาแล้ว พระคาร์ดินัล ฮอร์เก้ เบร์โจโญ่ ประมุขอัครสังฆมณฑลบัวโนสไอเรส อาร์เจนติน่า ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 266 ของพระศาสนจักร โดยใช้ชื่อ ฟรานซิส” ท่านเป็นนักบวช "เยสุอิต" อายุ 76 ปี ท่านเป็นคนที่ทำงานเพื่อความยุติธรรมในสังคมมาตลอด ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ยากไร้ นอกจากนี้ สมัยเป็นพระคาร์ดินัล ท่านปฏิเสธการมีรถประจำตำแหน่ง แต่เลือกนั่งรถเมล์และไม่มีแม่ครัวแต่เลือกทำอาหารเองด้วย 
การเฝ้ารอคอยควันจากปล่องบนหลังคาโบสถ์ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ยุ่งยากมากในสายตาของคนยุคสมัยใหม่ ที่คุ้นชินกับการเห็นผลคะแนนผ่านทางสื่อแบบเรียลไทม์ ลุ้นหน้าจอ มีตัวเลขชี้วัดให้เห็น มีโพลล์ชี้นำ ไม่ต้องมาลุ้นกลุ่มควันว่าเมื่อไหร่จะออกมาเป็นสีขาว ดูจะเป็นเรื่องล้าสมัย แต่นี่เป็นเสน่ห์ของเราชาวคริสต์ที่แฝงเร้นไปด้วยการนำพาของพระจิต ที่เกิดขึ้นท่ามกลางพิธีกรรมเหล่านั้น เราจะได้ผู้นำจิตวิญญาณคนใหม่อย่างงดงามและสมบูรณ์ยิ่งโดยมิได้เป็นไปตามค่านิยม ความนิยมของใคร ใช่หรือไม่ ในช่วงเวลานี้ ธรรมประเพณีแบบเก่าๆ การอดทนรอผลจากปล่องควัน กลับทำให้คนทั้งโลกหยุดและหันมามองพระศาสนจักรคาทอลิกของเรา ที่จะไม่มีวันตาย พระศาสนจักรที่เต็มไปด้วยคุณค่า พระศาสนจักรที่ต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วม พระศาสนจักรที่กำลังจะเดินไปกับโลกยุคปัจจุบัน โดยไม่ต้องตกเป็นของโลก ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการแบบโลกที่ใช้กันทั่วไป แล้วเราผู้เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายศักดิ์สิทธิ์นี้ เราได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งมากน้อยเพียงใด หรือ...เราเพียงเฝ้ารอผลออกมา และเริ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างนั้นหรือไม่ เราต้องไม่เป็นเยี่ยงนั้น!!! นี่คือ แผนการณ์ของพระเจ้า และเป็นเสน่ห์ของเราชาวคริสต์ที่สืบทอดมาและจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป...

วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

หากเราไม่ช่วยกัน


หากเราไม่ช่วยกัน
ในยุคสื่อสารครองโลก สังคมเครือข่ายครองวิถีชีวิตผู้คน สังคมออนไลน์คือลมหายใจที่มิมีวันสิ้น ทุกนาทีเสพติดสัมผัสปลายนิ้ว ไม่มีเวลาเว้นวรรคพักใจแม้กระทั่งในวัดในวา ต้องหยิบ ต้องเปิด ต้องดู ต้องแสดงความคิดเห็น กลัวตกข่าวกลัวตกเทรนด์หรือกลัวถูกนินทาออนไลน์ ทุกคนกำลังถูกกลืนกินให้กลายเป็นนักวิจารณ์ นักวิพากษ์ ที่สามารถใส่ความเห็นได้ทุกเรื่องแม้กระทั่งในเรื่องที่ตัวเองไม่รู้เรื่องเลย การสื่อสารที่ทันสมัยกลายเป็นเครื่องมือรองรับจริตของผู้คน ผู้หลงใหลในความเป็นตัวตนของตัวเองจนล้ำหน้าเกินผู้อื่น คำหยาบคาย การแสดงความคิดด้วยอารมณ์สะใจ การเขียนที่ใส่ไปในอากาศที่ไร้ความรับผิดชอบจึงเกิดขึ้นมากมาย ที่ร้ายไปกว่านั้น ที่มีบ้างบางคนเสพติดการอ่านความเห็นแรงๆของคนอื่น แอบสะใจแต่ไม่แสดงออก หรือไม่ ก็เป็นประเภทยกถ้อยคำคมมากรีดเชือดเฉือนเพื่อนๆคนรอบข้าง ตีวัวกระทบคราดก็มีให้เห็นกันดาษดื่น
ยิ่งในช่วงนี้พระศาสนจักรคาทอลิกของเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน จากการที่สมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณ เบเนดิกต์ที่ 16 สละตำแหน่ง จึงมีผลทำให้ต้องมีการสรรหาผู้นำวิญญาณ ผู้ที่สืบสานตำแหน่งแห่งพระคริสต์คนใหม่ ทำให้เกิดข่าวคราวหลากหลายทะลักทลายออกมา จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง วิเคราะห์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา มีการคาดการณ์คาดเกร็งเล็งว่าน่าจะเป็นคนนั้นคนนี้ โดยที่ละเลยถึงกระบวนการเลือกนั้น ที่มิใช่เป็นการเลือกตามวิถีทางหลักการเลือกผู้นำประเทศทั่วๆไป แต่เปี่ยมล้นไปด้วยความศรัทธาและการดลบันดาลขององค์พระจิตเจ้า แน่ล่ะ...พูดแบบนี้คนที่มิใช่คริสตชนย่อมไม่เข้าใจ เพราะยากต่อจริตคนที่ชอบอะไรที่ง่ายๆ จำเป็นที่เราต้องอธิบายให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าใจว่า ความศรัทธานั้นมิอาจจะใช้คำตอบแบบหลักการทฤษฎีใดๆในโลกมาบอกกล่าว กว่าจะได้มาซึ่งบุคคลผู้สานงานพระคริสต์นั้น ต้องอาศัยการสวดภาวนา การร่วมเป็นหนึ่งกับพระเจ้า เป็นหนึ่งเดียวในหมู่คณะพระคาร์ดินัลทั่วโลก แล้วด้วยแรงศรัทธาพลังภาวนา จะส่งผ่านไปยังบรรดาพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิ์ในกระบวนการเลือกตั้ง (อายุไม่เกิน 80 ปี) จะนำมาซึ่งผู้ที่พระเจ้าเลือกสรร ขณะเดียวกันคริสตชนคนทั่วไป ก็ต้องร่วมเป็นหนึ่งด้วยการสวดภาวนาเพื่อการครั้งนี้ด้วย เพื่อเราจะได้เดินไปกับพระศาสนจักร เพราะเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรนี้
ใช่ในฐานะปัจเจก เราติดตามข่าว ติดตามสถานการณ์ แต่เราต้องไม่คล้อยตามและถูกจูงด้วยคำคาดการณ์ของคนไม่กี่คน ที่อาจจะมองเพียงสายตาและความเชี่ยวชาญตามประสามนุษย์ สิ่งที่สำคัญเราไม่ควรใช้จริตคิดไปเองไปประเมินผลแล้วใช้อารมณ์วิจารณ์งานของพระในครั้งนี้ อ่านข่าวติดตามข่าวได้ แต่อย่าติดกับดักทำให้เราสูญเสียศรัทธาที่ไว้วางใจในพระเจ้า และจะเป็นการดีมิใช่น้อยที่เราจะใช้ช่วงเวลานี้อธิบายความให้กับผู้คนเพื่อให้ทราบถึงแผนการงานสานศาสนาคริสต์ ภายใต้ร่มของพระศาสนจักรสากล 
วิธีการเลือกตั้งพระสันตะปาปานั้นมี 3 แบบคือ
1. เลือกโดยอาศัยแรงดลใจจากพระจิตเจ้า วิธีนี้ คือ ในวันแรกของการประชุม บรรดาพระคาร์ดินัลเลือกคนหนึ่งคนใด แล้วประกาศให้คนนั้นเป็นพระสันตะปาปาเลย โดยไม่ต้องมีการลงคะแนนเสียง แต่ถือเอาเสียงส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ วิธีนี้เรียกว่า Viva Voce
2.เลือกโดยอาศัยหลักการประนีประนอมกัน วิธีนี้เมื่อคะแนนมาถึงจุดที่เท่ากันจึงต้องใช้การเจรจาประนีประนอม และบรรดาพระคาร์ดินัลจะให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาก่อนหน้าแล้วจะมี 3 คน 5 คน หรือ 7 คน ก็แล้วแต่ เป็นตัวแทนเลือกพระสันตะปาปาในนามของคณะกรรมการนี้ถือเป็นเด็ดขาดที่ประชุมต้องยอมรับ
3.เลือกโดยอาศัยหลักการลงคะแนนลับ  วิธีนี้คือ วิธีที่ใช้มากที่สุดในประวัติการเลือกตั้ง พระสันตะปาปา และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ผู้ที่จะได้รับเลือกนั้นจะต้องได้ คะแนน 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด หากจำนวนสมาชิกไม่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ใน 3 ก็จะให้เพิ่มคะแนนเข้าไปอีกหนึ่งเพื่อให้ครบตามจำนวน และเมื่อการลงคะแนนแต่ละครั้งผ่านไป จะมีการเผากระดาษคะแนนทุกๆ สองครั้ง
เมื่อเลือกพระสันตะปาปาได้แล้ว พระคาร์ดินัลอาวุโสจะถามความสมัครใจว่าจะรับตำแหน่งพระสันตะปาปาหรือไม่ ถ้ารับก็ถือว่ากระบวนการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง ถ้าไม่รับก็จะมีการเลือกกันใหม่ ถ้าผู้ได้รับเลือกยอมรับตำแหน่งก็จะมีการถามว่า พระองค์จะใช้ชื่ออะไร จากนั้นก็จะประกาศให้ประชาชนทราบว่าเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ได้แล้ว
ก่อนและหลังในทุกขั้นตอนของการเลือกพระสันตะปาปานั้น บรรดาพระคาร์ดินัลจะร่วมกันถวายมิสซา ทำวจนะพิธีกรรม และสวดภาวนาของความสว่างจากองค์พระจิตเจ้าเสมอ เพื่อให้การเลือกสรรนั้นมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ในสายตาของคนทั่วไปอาจจะมองว่าไม่เห็นจะต้องยุ่งยาก แค่เปิดรับสมัครผู้ที่พร้อม และก็หาเสียง ประกาศนโยบาย ลงคะแนนเสียง ใครได้มากกว่าก็ได้รับเลือก แต่สำหรับผู้นำจิตวิญญาณของเรานั้น เราเชื่อว่า ผู้ที่ได้รับต้องผ่านกระบวนผ่านทางแห่งความเชื่อ และความศรัทธาร่วมกันของทุกคนในพระศาสนจักร อาจจะใช้เวลานานหรือไม่นาน ไม่ใช่ข้อจำกัด
หากว่าเราไม่ช่วยกันบอกเล่าปล่อยให้กระแสข่าวที่ไหลออกมาตามคำวิจารณ์ในสื่อที่ครองโลกแบบวันนี้ แล้วเราจะมีสิ่งใดที่ยึดโยงความเชื่อความศรัทธาของเราไว้ได้ ในขณะเดียวกันในช่วงเวลามหาพรตเช่นนี้ เราลอง ลด ละ น้ำใจของตัวเองด้วยการหยุดวิจารณ์ หยุดพูด หยุดบ่น ในเครือข่ายออนไลน์ลงบ้าง ให้เวลากับร่างกายและจิตใจได้สัมพันธ์กัน  เพื่อร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันเดินไปพร้อมกับพระศาสนจักร 

วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

เรา…ผู้ไม่ไร้ค่า


เราผู้ไม่ไร้ค่า
การเดินทางในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ดูเหมือนจะยากลำบากและใช้เวลานานมากขึ้น เพราะจำนวนรถที่เพิ่มหรือเปล่า เพราะมีการสร้างรถไฟลอยฟ้า ที่ทำให้ต้องลดช่องการจราจรลงหรือเปล่า เพราะคนเมืองหลวงขับรถแบบเห็นแก่ตัวกันเกินไปหรือไม่ หรือเป็นเพราะถนนสองข้างทางถูกจับจองเป็นที่จอดกันหมด??? ... คำถามเกิดขึ้นมากมายเมื่อต้องติดหนึบอยู่บนรถ ผ่านไปครึ่งชั่วโมง ก็ยังไม่มีการคืบหน้าไปไหน ตัดสินใจเปลี่ยนระบบการเดินทาง ด้วยการโดยสารทางเรือ คงเร็วและเย็นคลายร้อนได้ 
เรือด่วนเจ้าพระยาพาเราไปสู่ยังเป้าหมาย แม้ว่าจะมีความวุ่นวายของการจราจรทางน้ำอยู่บ้าง แต่จำนวนเรือไม่ได้มากมาย ย้อนให้นึกถึงสมัยที่ผู้คนยังใช้ลำน้ำในการเดินทาง เรือลำน้อยใหญ่วิ่งไปมา สองฝากฝั่งบ้านเรือนเรียงราย แต่บัดนี้ สายน้ำถูกลดค่าลง ผู้คนมุ่งสร้างถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่องผุดขึ้นตามทางข้างถนนและทางสายรถไฟฟ้าผ่าน ผู้คนจึงเห็นค่าของสายน้ำน้อยลง แต่มันยังคงมีค่าเสมอสำหรับผู้ที่ต้องการสัญจรไปให้ถึงเป้าหมายโดยเร็ว
เมื่อพูดถึง ค่า ของสิ่งสร้าง ไม่มีอะไรในโลกล้าที่ไร้ค่าเลย ที่ไร้ค่านั่นเป็นเพราะเราไม่ได้ใช้ค่าของมันให้คุ้มค่า หรือเรามองผ่านคุณค่าของสิ่งเหล่านั้นไป หลายคนมักบ่นว่าเป็นคน ไร้ค่า จริงหรือ หากมองกันจริงๆทุกคนมีค่า เพียงแต่ว่าได้นำค่าออกมาเพื่อทำให้เกิดผลมากน้อยเพียงใด มีข้อความดีๆที่เกี่ยวกับการไร้ค่า อ่านแล้วนำมาพิจารณาดูทำให้เราพบคุณค่าในตัวเรามากขึ้น 
มีหนังสือดี ๆ แต่อยู่ในตู้ไม่ได้เปิดอ่าน       ก็ไร้ค่า
มีสมุดปากกาดี ๆ แต่ไม่มีความคิด ไม่รู้จักเขียน    ก็ไร้ค่า
มีความรู้ดี ๆ แต่ไม่บอกไม่สอน    ก็ไร้ค่า
มีบทเพลงไพเราะ ๆ โดนใจ แต่ไม่มีใครฟัง          ก็ไร้ค่า
มีข้อคิดเตือนใจดี ๆ แต่ไม่นำไปใช้               ก็ไร้ค่า
มีเงินมาก  เป็นเศรษฐี  มหาเศรษฐี  แต่ไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักพอ    ก็ไร้ค่า
มีเตียงนอนนุ่มๆ แต่นอนไม่หลับ    ก็ไร้ค่า
มีโทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ   แต่ไม่รู้จักพูดคุย        ก็ไร้ค่า
มีรถยนต์ยี่ห้อดีๆ ดังๆ   แต่ไม่มีน้ำมัน ไม่มีคนขับ  ก็ไร้ค่า
มีเสื้อผ้าสวย ๆ สวมแต่งกาย    แต่ลืมแต่งใจ    ก็ไร้ค่า
มีพ่อ มีแม่ อยู่ด้วย แต่ไม่รู้จักกตัญญู     ก็ไร้ค่า
มีครู อาจารย์ให้ความรู้ แต่ไม่รู้จักเคารพ นบน้อม    ก็ไร้ค่า
มีมิตร มีเพื่อนที่ดี แต่ไม่รู้จักรักษามิตรภาพ      ก็ไร้ค่า
มีคนรัก คนรู้ใจที่ดี แต่ไม่รู้จักเอาใจใส่ดูแล   ก็ไร้ค่า
นั่งรำพึงกลางสายน้ำไปเรื่อยๆจนถึงท่าที่หมาย แต่จุดหมายเราต้องข้ามฝากไปอีกฝั่งหนึ่ง ต้องต่อเรือข้ามฝาก ที่ทั้งลำมีเพียงเราคนเดียว แต่เรือก็มาส่ง ใช่หรือไม่ บางทีบางครั้ง ชีวิตเราได้รับค่าอย่างคาดไม่ถึงเพราะว่าเราเป็นคนมีค่าเสมอ ฉะนั้นแล้วอย่าประเมินค่าในตัวเราต่ำไปหรือสูงไปนัก เราต้องรู้จักใช้คุณค่าของเราให้เกิดประโยชน์ตามจังหวะก้าวย่างของชีวิต รู้จักที่จะน้อมรับทุกข์ - สุข รู้จักที่จะอยู่อย่างมีเกียรติด้วยการให้เกียรติกันและกัน จะได้ผลที่บังเกิดผล อย่าได้เป็นผลที่ไร้ค่าและเป็นพิษต่อสภาพแวดล้อมเลย
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนมากคือ สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ทรงสละตำแหน่ง เพราะเล็งเห็นว่าคุณค่าของพระองค์เหมาะกับการเป็นกองหนุนให้พระศาสนจักรด้วยการสวดภาวนา ดีกว่าการที่จะอยู่ในตำแหน่งที่อาจจะปฏิบัติภารกิจได้ไม่เต็มกำลัง พระองค์ทรงกล่าวไว้ตอนหนึ่งในการเข้าเฝ้าทั่วไปครั้งสุดท้ายในสมณสมัยของพระองค์ท่ามกลางสัตบุรุษที่มาร่วมให้กำลังใจกว่า 150,000 คน ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร วาติกัน  27 ก.พ. 2013 ว่า
เกือบ 8 ปีที่แล้ว ในวันที่ 19 เม.ย.(2005) พ่อตอบรับทำหน้าที่พระสันตะปาปา ตอนนั้น พ่อถามตัวเองหลายครั้งว่า พระเจ้าข้า พระองค์ต้องการจะบอกอะไรกับลูก มันเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนามากๆที่พระองค์วางไว้บนบ่าของลูก แต่ถ้าพระองค์ทรงต้องการ ลูกจะเหวี่ยงอวน(ชาวประมง)ออกไป ลูกมั่นใจว่า พระองค์จะทรงนำทางลูกและพระเจ้าก็ทรงนำทางพ่อจริงๆ พระองค์อยู่เคียงข้างพ่อ ในทุกๆวัน พ่อสามารถรู้สึกถึงการประทับอยู่ของพระเจ้า”            (Pope Report)
            การใกล้ชิดกับพระเจ้า สนทนากับพระองค์ จะทำให้เรารู้ว่าคุณค่าของเราอยู่ตรงไหน บางครั้งการที่เราไว้ใจตัวเองมากไป จนทำให้หลงตัวเอง คิดไปเองว่าตัวเองมีคุณค่าอย่างมากมาย แต่พอเอาเข้าจริง ทำไปทำมา ทำอะไรหลายอย่างกลับกลายเป็นการทำแบบ ไร้ค่า เพราะความที่เราไม่นอบน้อมพร้อมรับฟังเสียงภายใน สิ่งที่เราทำลงไปมันเป็นเพียงเปลือกที่เปลือยเปล่า ใช่หรือไม่ หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต ที่นำมาซึ่งอารมณ์แห่งการ ไร้ค่า นั้น เราล้วนเป็นคนทำโดยไม่คิดให้ลึกซึ้ง ทำโดยไม่รอบคอบไตร่ตรอง ฉะนั้นช่วงเวลาแห่งมหาพรตนี้ เป็นช่วงที่เราจะได้ไตร่ตรอง มองย้อนกลับไปในวิถีชีวิตที่ล่วงผ่าน เราไร้ค่าจริงหรือ สิ่งนั้นมาจากความไร้สาระในชีวิตใช่หรือไม่ ยังไม่สาย!!! พระเจ้าให้เวลากับเราเสมอที่จะเริ่มต้นให้ค่า เพิ่มค่า ให้กับชีวิตที่พระเจ้าประทานมานี้ อย่างรู้ค่าอย่างคุ้มค่าเสียที...