วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

หน้าที่มีไว้ให้ทำไม่ใช่ให้ท้อ

หน้าที่มีไว้ให้ทำไม่ใช่ให้ท้อ...
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสไปร่วมประชุมเตรียมงาน  “เจริญพุทธะในเสียงเพลง เนื่องในโอกาสถวายพระเกียรติ รำลึก บูชาแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช   แม้ว่าพระองค์จะทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้ว งานนี้ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป ในวันนั้นมีพระเลขาฯได้เล่าเรื่องต่างๆเกี่ยวกับพระจริยวัตรของพระองค์ท่าน มีเรื่องหนึ่งท่านเล่าว่า คนเรามักชอบบ่นว่า “เหนื่อยๆ ยุ่งๆ” พระสังฆราชทรงเคยพูดว่า แล้วที่เหนื่อยนะใครเป็นคนกำหนดหล่ะ ก็เราต้องการเป็นต้องการมี เราล้วนเป็นคนเขียนบทให้เราแสดงทั้งสิ้น หากเราไม่อยากเหนื่อยก็หยุดทำหยุดมีแค่นี้เอง ในฐานะคริสตชนคนที่แปลกที่สุดในที่นั้น ก็อดคิดถึงคำพูดของพระเยซูเจ้าไม่ได้ว่า “เราจะกังวลทำไมถึงวันพรุ่งนี้” และ “ถ้าเหนื่อยนักหยุดพัก เข้ามาพักพิงในพระองค์” แต่ส่วนใหญ่เวลาเราเหนื่อยเรามักจะบ่น จะเกี่ยงให้คนอื่นทำแทน ในเมื่อทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นหน้าที่ที่เรากำหนดขึ้นมาเองก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งนี้ เหนื่อยก็พักบ้าง โดยมิต้องบ่นออกมา มีตัวอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับเรื่องนี้
ณ ป่าใหญ่แห่งหนึ่ง มีครอบครัวกระต่ายครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ในโพรงไม้ใหญ่ใกล้ ๆ กับธารน้ำเล็ก ๆ กระต่ายครอบครัวนี้นับได้ว่าเป็นผู้มีความสำคัญกับป่าไม้แห่งนี้มาก เพราะกระต่ายผู้เป็นพ่อ มีตำแหน่งเป็นถึงที่ปรึกษาด้านสุขภาพให้แก่สิงโตเจ้าป่า ส่วนกระต่ายผู้เป็นแม่ก็ต้องไปประชุมหารือกับกลุ่มแม่บ้านสัตว์ป่าเป็นประจำ ด้วยเหตุนี้ทั้งพ่อและแม่กระต่ายจึงต้องออกไปทำงานนอกบ้านทุกวัน และจำต้องทิ้งให้ลูกน้อยทั้งสอง คือ กระต่ายพี่สาวกับกระต่ายน้องชาย เล่นกันอยู่ในบ้านตามลำพังสองตัว
อยู่มาวันหนึ่ง พ่อกระต่ายสังเกตเห็นว่าบ้านโพรงกระต่ายของตนไม่ค่อยเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่าที่ควร จึงยกเรื่องนี้มาพูดคุยกับแม่กระต่ายก่อนเข้านอนว่า “เธอว่าไหมจ๊ะแม่กระต่าย เดี๋ยวนี้บ้านของเราไม่ค่อยเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนแต่ก่อนเลยนะ การที่เธองานยุ่งมากอย่างนี้ทำให้ฉันนึกอะไรขึ้นมาได้ แลดูลูก ๆ ของพวกเราสิ เขาทั้งสองเติบโตมากแล้ว แต่เรายังไม่เคยสอนให้ลูกเรารู้จักทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นบ้างเลย ฉันว่าน่าจะเป็นการดีนะ หากเราจะสอนให้ลูก ๆ ทำงาน โดยเริ่มจากงานบ้านของเราเอง” พ่อกระต่ายเสนอความเห็น “เป็นความคิดที่วิเศษมาก แต่ลูก ๆ ของเราไม่เคยทำงาน เขาจะทำได้ดีหรือจ๊ะ”
“เขาคงทำได้ไม่ดีนักหรอก และคงจะสร้างความเหนื่อยหน่ายให้แก่เรามากทีเดียวในตอนแรก แต่นั่นยิ่งทำให้เราต้องมอบหมายงานและสอนการทำงานที่ถูกต้องแก่เขา หากไม่เริ่มเสียแต่ตอนนี้ เขาก็จะทำอะไรไม่เป็นเลยเมื่อโตขึ้น ใครจะอยากได้คนทำอะไรไม่เป็นไปร่วมสังคมด้วยหล่ะ จริงไหม” พ่อกระต่ายกล่าว
เช้าวันรุ่งขึ้น แม่กระต่ายจึงเรียกลูกทั้งสองมาพูดคุยในเรื่องดังกล่าว กระต่ายพี่น้องไม่เคยทำงานบ้านทั้งคู่ และรู้ว่าเป็นงานที่เหนื่อยมากทีเดียว อย่างไรก็ตาม กระต่ายทั้งคู่ก็รักและเชื่อฟังพ่อแม่กระต่าย จึงคิดว่าถ้าพวกตนทำงานบ้านก็จะช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้าของพ่อกับแม่ได้  
ดังนั้น ทั้งคู่จึงรับปากแม่กระต่ายว่าจะช่วยทำงานบ้านทุกอย่างแทนแม่ กระต่ายพี่น้องช่วยทำงานที่แม่กระต่ายมอบหมายได้สามวัน ต่างคนต่างก็รู้สึกว่าตนเองทำงานมากกว่าอีกคนหนึ่ง จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้นอย่างรุนแรง ต่างฝ่ายต่างจับผิดกันและกัน จนไม่มีเวลาทำงานบ้าน
บรรยากาศในบ้านเริ่มเศร้าหมอง เพราะมีแต่เสียงเกี่ยงงานกันจากลูกทั้งสอง วันหนึ่ง แม่กระต่ายจึงเรียกลูกกระต่ายเข้ามาพูดคุยในเรื่องนี้ “เราเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เราต้องรักและช่วยเหลือกัน ไม่ใช่แบ่งงานกันทำโดยไม่เหลียวแลคนอื่น นี่คือบ้านของเรา ลูกคือลูกของพ่อแม่ และลูกสองคนเป็นพี่น้องกัน เราทุกคนช่วยกันทำงานเพราะเรารักกัน ไม่ดียิ่งกว่าหรือ”
แม่กระต่ายหันมาพูดกับลูกกระต่ายน้องว่า “ลูกไม่ต้องทำงานหมดทุกอย่าง พี่กระต่ายจะช่วยลูกทำงานทุกอย่าง เพราะพี่รักลูก และไม่อยากให้ลูกทำงานเหนื่อยเกินไป ลูกเองก็จะช่วยพี่เขาเช่นกัน จะไม่มีใครคิดว่า ใครต้องทำงานมากกว่าใคร แต่ลูกต้องคิดว่า จะทำอย่างไรจึงจะช่วยแบ่งเบาภาระของพี่หรือน้อง ไม่ให้เหนื่อยเกินไปมากที่สุด ถ้าลูก ๆ เปลี่ยนวิธีคิดและปฏิบัติได้อย่างนี้ งานของลูกก็จะเสร็จเรียบร้อยดีทั้งสองคน”
กระต่ายพี่น้องมองหน้ากันครู่หนึ่ง แล้วกระต่ายพี่สาวก็พูดขึ้นว่า “ก็ได้จ้ะแม่ ลูกจะลองทำงานโดยคิดแบบนั้นดูก็ได้ เพราะลูกก็ไม่อยากทะเลาะกับน้องนักหรอก” แม่หันไปหาน้องชาย
“ลูกก็เต็มใจที่จะลองดู” กระต่ายน้องชายตอบ “ดีแล้วลูก” แม่กระต่ายกล่าวพลางโอบกอดลูกทั้งสอง “เราจะปฏิบัติตามวิธีใหม่นี้ คือ ให้เราช่วยกันทำงานเพราะความรัก ไม่ใช่เพราะถูกบังคับ ความรักนั้นจำเป็นสำหรับครอบครัวเรามากที่สุด จำไว้เถิดลูกรัก”
ลูกกระต่ายพากันหัวเราะ เป็นเรื่องดีทีเดียวสำหรับครอบครัวกระต่ายที่ได้ยินเด็กทั้งสองหัวเราะอีก หลังจากนั้นกระต่ายพี่น้องก็ปฏิบัติตามความคิดของแม่กระต่าย และรู้สึกว่าวิธีนี้ช่วยให้พวกเขาทำงานได้สำเร็จเรียบร้อยทั้งยังรักษาความสุขในครอบครัวไว้ได้อีกด้วย {ตัดตอนมาจาก  www.manager.co.th}

เราไม่จำเป็นต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อช่วยคนอื่นตลอดเวลา แต่ให้ปฏิบัติหน้าที่ส่วนของตนเองให้ดีที่สุด จากนั้นจึงหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ผู้อื่นด้วยหัวใจรักที่จะช่วย เมื่อเราเลือกที่จะมี จะเป็น ในแบบของเราแล้ว หน้าที่บทบาทและอาชีพที่เราเลือกมาเอง เราต้องสานต่อไปโดยไม่ต้องบ่นว่า “เหนื่อย” โดยไม่ “เกี่ยงงาน” เพียงเท่านี้สังคมที่เราอยู่ก็จะเริ่มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เหนื่อยนักก็พัก แล้วเดินต่อไป อย่ามัวแต่พร่ำบ่น เพราะจะไม่มีอะไรดีขึ้นจากการบ่นว่า “เหนื่อย”  ยิ่งบ่นยิ่งเหนื่อยเปล่าๆ..

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ตำแหน่งแห่งหนบนโลก

ตำแหน่งแห่งหนบนโลก
โลกเรามีผู้คนผ่านมารุ่นแล้วรุ่นเล่า เราก็เพียงผู้ผ่านย่ำซ้ำรอยเท้าบรรพบุรุษที่ผ่านพ้นไป หลายสิ่งรับมาต่อเติม ต่อยอด หลายสิ่งยังเป็นปัจจุบันจนนิรันดร์ ทำให้เราเรียนรู้ เลียนแบบในวิถีทางการดำเนินชีวิต การเรียนรู้และศึกษาชีวิตนั้นมีหลากหลายวิธี สิ่งหนึ่งก็คือ การชมภาพยนตร์ ที่ถือได้ว่าเป็นทั้งความบันเทิงผสมกับการเรียนรู้ไปด้วย และสิ่งนี้กลายเป็นภารกิจประจำสัปดาห์ไปเสียแล้ว เพื่อจะได้หาสิ่งใหม่ๆเพิ่มทักษะในการทำงาน เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มความรู้ใหม่ๆ

ในแต่ละเรื่องที่ได้เข้าไปชมนั้น อย่างน้อยๆมักจะได้คำคม ความคิดและเนื้อหาดีๆในเรื่องราวผ่านมาทางแผ่นฟิล์ม อย่างเช่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่อง Thor : The Dark World (ธอร์ โลกาทมิฬ) เป็นเรื่องต่อจากภาคแรก ว่าด้วยการผจญภัยของ ธอร์ อเวนเจอร์ ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ที่ต่อสู้เพื่อปกป้องโลกและดินแดนทั้ง 9 จากศัตรูลึกลับที่หมายจะครอบครองจักรวาล ธอร์ ผู้ที่ต้องรับตำแหน่งราชาต่อจากบิดา แต่ไม่ค่อยจะสนใจในเรื่องนี้สักเท่าไหร่ มุ่งแต่ช่วยให้ดินแดนในการปกครองของบิดาพบกับความสุขสันติ ต่างจาก โลกิ ผู้น้อง ที่บิดาและมารดานำมาเลี้ยง (จากภาค 1) เมื่อโตขึ้นก็ใฝ่ฝันอยากจะเป็นราชา แต่เขาชอบใช้ความรุนแรง ชอบฆ่าคน ชอบบังคับคนให้ไปรบ จนมีคนต้องตายมากมาย สุดท้ายบิดาทนไม่ไหวกับปัญหาที่โลกิก่อขึ้น จึงจับขังเดี่ยว  การใช้ชื่อว่า โลกิ นี้ ตรงกับภาษาไทยและเหมาะกับบุคลิกในตัวละครอย่างมาก ที่เต็มไปด้วยความโลภอยากเป็นใหญ่ (โลกียะ) หลงอยู่กับการครอบครอง แสวงหาให้ได้มา
ในขณะที่ ธอร์ ต่อสู้เพื่อนำความสงบกลับมาสู่จักรวาลนั้น ชนเผ่าโบราณที่นำโดย มาเลคิธ ผู้เคียดแค้น ได้กลับฟื้นขึ้นมาเพื่อทำให้จักรวาลกลับเข้าสู่ความมืดมิดอีกครั้ง เหมือนว่าความชั่วกำลังครอบครองโลก การใช้สัญลักษณ์ให้ตัวละครร้าย คือ ความมืด และฝ่ายธรรมะ คือ ความงามและแสงสว่าง เปรียบเทียบได้อย่างตรงไปตรงมา การเผชิญหน้ากับความมืด แม้แต่ โอดิน (บิดาผู้เป็นราชา) ในแอสการ์ด ดินแดนศูนย์กลางความสงบ ยังไม่สามารถรับมือได้ สุดท้าย ธอร์ ต้องมุ่งหน้าสู่การเดินทางที่เต็มไปด้วยอันตราย พร้อมโลกิที่รู้ถึงทางลัดเพื่อหนีออกจากศูนย์กลาง โดยไม่ให้บิดาที่สั่งห้ามไว้ได้รับทราบโดยมีข้อแลกเปลี่ยนเป็นเงื่อนไขส่วนตัว
และจุดมุ่งหมายการเดินทางครั้งนี้เพื่อช่วย เจน ฟอสเตอร์ คนรักจากโลกให้พ้นอันตรายด้วย หนังเรื่องนี้เข้มข้นไปด้วยเนื้อหาของการต่อสู้ระหว่างความมืดมนกับความสงบสันติ ในขณะเดียวกันในอาณาจักรที่สงบ แต่ภายในกลับมีการแย่งชิง ลึกลงไปในแต่ละคนต่างมีความขัดแย้งในตัวเอง ธอร์ ผู้สืบตำแหน่งราชา ก็ไม่ปรารถนาในตำแหน่งนั้น โลกิ ผู้ที่ใฝ่สูงตำแหน่งราชา แต่ไม่เคยทำอะไรเป็นประโยชน์เลย จนสุดวาระท้ายได้สละชีวิตเพื่อช่วยพี่ชายตัวเอง  
ในภาพยนตร์เรื่องนี้มีคำคมและให้ข้อคิดดีอยู่ในหลายๆตอน อย่างเช่น แม่ของธอร์ผู้เลี้ยงดูโลกิมาตั้งแต่เล็กและรักเหมือนลูกจริงๆ ได้เข้าไปหาโลกิในคุกแล้วพูดว่า ลูกมองดูแต่คนอื่น แต่ลูกไม่เคยมองดูตัวเองเลย  ใช่หรือไม่ คนที่จะเป็นใหญ่ได้ คนที่จะปกครองคนอื่นได้นั้นต้องเรียนรู้จักตัวเองก่อน ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน เมื่อนั้นเราจึงจะใส่ใจคนอื่นได้ ไม่ใช่วันๆคอยแต่จะจับผิดคนอื่น คอยแต่จะต่อว่านินทาคนอื่นอยู่ร่ำไป โดยที่ตัวเองก็ไม่คิดที่จะทำดีอะไรเลย เป็นคนประเภทว่า อยู่ในความมืดก็เที่ยวต่อว่าความมืด แทนที่จะลุกขึ้นจุดไฟไปต่อเทียนหรือตะเกียง ให้เกิดแสงสว่าง เราเป็นเช่นนี้หรือเปล่า????
หรืออีกตอนหนึ่ง ธอร์กลับมาหาบิดาเพื่อบอกว่าโลกิได้ตายแล้ว ตายเพราะเสียสละช่วยเหลือตน โดยพูดว่า เขาตายอย่างมีเกียรติ แต่ข้าจะพยายามอยู่อย่างมีเกียรติ การตายอย่างมีเกียรตินั้นถือว่ายากแล้วแต่การอยู่อย่างมีเกียรติกลับยากยิ่งกว่า ในโลกยุคปัจจุบันการให้เกียรติกันนั้นมีน้อยลง มีแต่การให้เกลียดกันมีมากขึ้น การจะอยู่อย่างมีเกียรติได้นั้นเราจะต้องฝึกฝนที่จะเป็นคนดี คนดีที่เสียสละเพื่อคนอื่น ไม่ใช่ทำเพื่อให้คนอื่นยกย่องเพื่อหมายจะได้รับเกียรตินั้น และสุดท้าย ธอร์ ได้ปฏิเสธตำแหน่งราชาด้วยคำว่า ข้าอยากเป็นคนดีมากกว่าราชาที่ยิ่งใหญ่


ออกจากโรงหนังวันนั้นแล้ว คำนี้คือสิ่งที่ยังอยู่ในความทรงจำตลอดมา เราไม่จำเป็นเลยที่จะมุ่งแสวงหาตำแหน่งแห่งหน เราควรแสวงหาวิถีทางที่จะเป็นคนดี แสวงหาหนทางเพื่อช่วยเหลือกันและกันมากกว่า ตัวอย่างหนึ่งที่คิดถึงทันที คือ องค์พระเยซูเจ้า ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์แห่งสากลโลก เพราะพระองค์ปฏิเสธที่จะเป็นกษัตริย์บนโลกนี้ ทั้งๆที่ไม่ใช่เรื่องยากในสภาวะครั้งกระโนน พระองค์มีผู้ติดตามมากมาย เป็นที่ชื่นชมของหมู่มวลมหาประชาชนผู้ตกยาก และกำลังต้องการคนที่มาฉุดพวกเขาให้เป็นไท แต่พระองค์กลับเลือกหนทางที่ไม่ยอมให้ผู้คนมาเสียเลือดเนื้อเป็นจำนวนมากโดยการยอมเสียเลือดเนื้อของพระองค์เอง เป็นบทสอนถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่ นี่คือราชาที่ยิ่งใหญ่ ราชาที่ยิ่งใหญ่ย่อมต้องมาจากการเป็นคนดียอดเยี่ยมต่างหาก โลกนี้มีคนจำนวนไม่น้อยปรารถนาอยากจะขึ้นเป็นเจ้าคนนายคน มีตำแหน่งแห่งหน  แต่จะสักกี่คนเล่าที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อรักษาชีวิตผู้อื่น คนยิ่งใหญ่จริงๆไม่จำเป็นต้องเป็นราชาเสมอ แต่ราชาที่ยิ่งใหญ่คือผู้ช่วยปลดปล่อยคนให้รอดพ้นเสมอมา

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สุขอยู่ที่ใด...

สุขอยู่ที่ใด...
ประโยคเด่นในเพลงโฆษณาของร้านอาหารแห่งหนึ่ง ที่ติดหูติดปากของผู้คนมานานพอสมควร ที่มีว่า สุขอยู่ที่ใด และยังคงได้ยินเป็นประจำ หากว่าได้เข้าไปรับประทานอาหารในร้านนี้ ทำให้มานั่งคิดต่อว่า สุขอยู่ที่ร้านนั้นจริงหรือเปล่า!!! ความสุขจากการกินอาจจะเป็นความสุขชั่วคราวอีกชนิดหนึ่ง แต่เมื่ออาหารย่อยหมดแล้ว ความทุกข์ก็ตามมาเยือนอีกคำรบหนึ่ง ความทุกข์ของการไม่มีจะกิน เพียงได้อะไรกินสักเล็กน้อย ความสุขในครั้งนั้นอาจจะมีมากกว่าการไปนั่งกินอย่างเต็มที่ในร้านนั้นก็ได้ ยิ่งเมื่อเห็นความทุกข์ของเพื่อนบ้านเราอย่างประเทศฟิลิปปินส์ที่ถูกพายุกระหน่ำจนมีผู้เสียชีวิตเป็นเรือนหมื่น เมื่อพายุพัดผ่านเอาความเดือดร้อนมาให้ มันไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแต่เพียงสิ่งสร้างอย่างเดียว ความสุขของผู้คนก็จางหายไปด้วย ยิ่งเมื่อมีผู้เสียชีวิตมากมายขนาดนี้ การเก็บร่างของผู้เสียชีวิตต้องใช้เวลา ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร ความเน่าเปื่อยของสิ่งมีชีวิตต่างๆก็จะนำโรคระบาดตามมา นำมาซึ่งการแก่งแย่งชิงอาหารกันอย่างชุลมุนวุ่นวาย 

และเราผู้ที่ยังเลือกกินได้ ยังพอมีความสุขอยู่กับการกิน กับการเลือกรสชาติ ก็อย่าได้นำมายึดถือว่าสุขนั้นจะต้องอยู่กับการกินเสมอไป เพราะว่าในบางครั้งนั้นการมีความสุขในการนั่งรับประทานนั้น สิ่งที่สุขมากกว่าคือการได้นั่งรับประทานอาหารกับคนที่ถูกใจ คนที่ถูกคอ ซึ่งสำคัญกว่ารสชาติอาหาร ความสุขกับการบริโภคสิ่งต่างๆภายนอก สุขกับการมีเงินมีทอง สุขกับการมีชื่อเสียงมีผู้คนรักนับถือ ใช่หรือไม่ ถ้าหลงในสุขเหล่านั้นมากเกินไปมันก็กลายเป็นทุกข์

ในวันที่บ้านเมืองกำลังสับสนว่าจะเดินต่อกันไปอย่างไร??? เราเหมือนจะจมอยู่กับความวุ่นวาย  นั่นเป็นเรื่องของระบบสังคม แต่เราๆท่านๆนั้นมีหน้าที่หลัก ที่จะสร้างชีวิตให้มีความผาสุก เราถูกฝังค่านิยมสมัยใหม่ให้เราไปโยงยึดกับสิ่งภายนอกมามากเกินไปแล้ว โดยคิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะนำความสุขมาให้ แล้วก็ถูกป้อนคำสั่งให้เสาะหา และสะสม ที่แท้จริงแล้วพอเรามีสิ่งเหล่านั้นมากขึ้นความสุขกลับลดหายไปเรื่อยๆ แล้วก็เที่ยวถามหาว่า ความสุขอยู่ที่ใด เหมือนกับหนุ่มสามคนนี้ที่เที่ยวถามหาความสุข
หนุ่ม 3 ราย สีหน้าเต็มไปด้วยความกลัดกลุ้มเนื่องเพราะปัญหาที่แก้ไม่ตก จึงได้ไปขอคำชี้แนะจากอาจารย์เซนคนหนึ่ง เมื่อได้พบก็เอ่ยถามอาจารย์เซนว่า มีหนทางใดที่จะทำให้พวกเรามีความสุขในชีวิต?”
 อาจารย์เซนถามกลับไปว่า  พวกท่านแต่ละคนมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร?”
คนแรกตอบว่า ข้ามีชีวิตอยู่เพราะไม่อยากตาย
คนต่อมาตอบว่า ข้ามีชีวิตอยู่เพื่อมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง ยามแก่เฒ่าแวดล้อมไปด้วยลูกหลาน คงเป็นความสุขยิ่งนัก
คนสุดท้ายตอบว่า ข้ามีชีวิตอยู่เพื่อเป็นที่พึ่งให้กับคนในครอบครัว ตอนนี้ทุกคนต้องพึ่งพาข้า ดังนั้นข้าจึงไม่อาจตาย
เมื่อได้ฟังเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ของทั้งสาม อาจารย์เซนได้แต่กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นพวกท่านคงไม่อาจมีความสุขตลอดกาล เนื่องเพราะพวกท่านคนหนึ่งมีชีวิตอยู่บนความหวาดกลัวความตาย คนหนึ่งเฝ้ารอให้ถึงยามแก่เฒ่า อีกคนหนึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยภาระอันหนักอึ้ง จนต่างก็หลงลืมหลักการและความหมายที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่ เช่นนี้จะมีความสุขได้อย่างไร
จากนั้นอาจารย์เซนจึงเอ่ยถามสามหนุ่มสามมุมต่อไปว่า ในความเห็นของทุกท่าน 'ความสุข'  คืออะไร?”
คนแรกตอบว่า ย่อมเป็นทรัพย์สินเงินทองบันดาลความสุข
คนต่อมาตอบว่า ความรักจึงนำมาซึ่งความสุข
คนสุดท้ายตอบว่า ชื่อเสียงเกียรติยศต่างหากคือความสุข
       อาจารย์เซนกลับตอบว่า นั่นกลับมิใช่ ซ้ำร้ายหากพวกท่านสะสมสิ่งเหล่านี้มากเกินไปกลับยิ่งเพิ่มความทุกข์
ทั้งสามหนุ่มมองหน้ากันด้วยความงุนงง อาจารย์เซนจึงกล่าวต่อไปว่า หากพวกท่านมีทรัพย์สินเงินทอง ความรัก หรือลาภยศสรรเสริญแล้ว ความกังวลว่าจะเสียมันไป ความโศกเศร้าเมื่อสูญเสียไปแล้ว รวมทั้งความปรารถนาอยากได้อยากมีมากกว่าเดิม จะกลายเป็นบ่วงแร้วคอยพันธนาการพวกท่านเอาไว้ กลายเป็นการเพิ่มพูนความทุกข์ แต่หากพวกท่านต้องการความสุข ก็ต้องปรับเปลี่ยนความคิดดังนี้
อันว่าทรัพย์สิน เงินทองเมื่อมีมากจงทำบุญทำทานออกไปจึงจะเป็นสุข ความรักนั้นต้องรู้จักการเสียสละและการให้ จึงจะมีความสุข ส่วนเกียรติยศชื่อเสียงจงนำมาใช้เพื่ออำนวยประโยชน์สุขให้ส่วนรวม เช่นนี้จึงเป็นความสุขโดยแท้”  (นิทานเซน)


วันเวลาผ่านมาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ปีหนึ่งกำลังจะผ่านไป ลองนั่งคิดนั่งทบทวนว่าที่ผ่านมานั้น ระหว่างเงินทองในแบงค์ในตู้นิรภัย กับความสุขในชีวิต อะไรมีการเพิ่มพูนมากกว่ากัน สุขอยู่ที่ใด ไม่ต้องไปร้องถาม แท้จริงแล้วความสุขมันอยู่ที่ใจ ใจที่พร้อมจะออกจากตัวเอง แล้วส่งผ่านไปให้ผู้อื่น ไม่ต้องเที่ยวเสาะหาสุขจากไหน ใจเราต้องนิ่งสงบ ใจที่ต้องมีธรรมะ หยุดหลงทางและหยุดแขวนความสุขกับสิ่งเสพภายนอก นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง 

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ไม่ใช่ชุดที่สวมใส่

ไม่ใช่ชุดที่สวมใส่
ปัญหาหนึ่งของคนยุควัตถุนิยมอย่างเราๆท่านๆ คือ การหาชุดใส่ไปตามงานต่างๆ โดยเฉพาะบรรดาคุณผู้หญิง ที่ต้องเที่ยวตามซื้อตามตัด เพื่อให้เข้ากับงานที่ได้รับเชิญ จนอาจจะกลายเป็นปัญหาระดับชาติไปเลย โดยมีคำว่า “กาลเทศะ” เป็นตัวกำหนด แต่ก็มีไม่น้อยที่ไม่ได้คำนึงถึง “กาลเทศะ” ขอเพียงแค่คิดว่าชุดที่ใส่นี้ต้องดูเลิศหรู ดูสะดุดตา ให้คนมองแล้วเหลียวหลังเป็นอันใช้ได้ ทำไปทำมาเลยกลายเป็นแฟชั่นที่ต้องหาต้องซื้อชุดใหม่ๆใส่ไปในทุกๆงาน จนตู้เสื้อผ้าไม่มีที่เก็บ (แต่ตู้เย็นตู้กับข้าวกลับว่างเปล่า)  และที่แปลกสักหน่อย ตรงที่เวลามาเข้าวัดเข้าวา เรากลับไม่ค่อยคำนึงถึงชุดที่สวมใส่กันเสียเท่าไหร่ คงไม่มีใครว่าหรอก เพราะจริงๆแล้ว พระเจ้าก็คงไม่ได้ดูแค่ชุด แค่เครื่องแต่งกายที่เราสวมใส่ แต่พระองค์ดูที่หัวจิตหัวใจเราต่างหากว่า เชื่อ รัก วางใจในพระองค์ และแสดงออกมา แค่ไหนเพียงใด

เคยคิดเล่นๆเหมือนกันว่า บางครั้งเราก็ไปนำวัฒนธรรมของต่างชาติ ต่างเมืองมาใช้ โดยเอา “กาลเทศะ” ของเขามาใช้กับสิ่งแวดล้อมของเรา กลายเป็นจริตของสังคม ประเทศไทยเมืองร้อน แต่ชุดที่สุภาพ คือ ต้องใส่สูทผูกไทด์ บางครั้งที่จัดงานร้อนแทบเป็นลมก็ยังต้องใส่เพื่อความเรียบร้อย บ่อยไปที่เห็นหลายคนใส่สูทเดินกลางถนนกลางแดด จนเหงื่อไหลไคลย้อยแถมด้วยกลิ่นตัว แต่ก็นั่นแหละเมื่อสังคมส่วนรวมยึดแนวนี้แล้ว จะทำเป็นแหวกแนว เดี๋ยวจะหาว่ามันทำตัวแปลกแยกอีก อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจในแต่ละงานของแต่ละคน สิ่งที่ได้นำมาเขียนเรื่องชุดที่สวมใส่นี้ เพราะจะนำมาเปรียบเทียบว่า คนเราในวันนี้ เราให้ความสำคัญกับเรื่องภายนอกมากจริงๆ เราเสียเวลากับเรื่องเครื่องแต่งกายมากกว่าสิ่งใด เราใช้มาตรฐานวัดคนจากชุดที่สวมใส่ เราดูและคัดสรรที่จะคบกันเพียงเปลือกนอกที่เห็น เราเลือกเสวนากับคนที่ดูดีเพียงเครื่องแต่งกาย เราเคยไหม...ที่จะนั่งคุยกันด้วยความใส่ใจ เรียนรู้หัวใจของกันและกัน 
ใช่หรือไม่ ชุดที่สวมใส่ไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ทั้งหมดว่าคนๆนั้นจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป ก็พอที่จะเห็นอยู่มากมาย หลายคนเป็นโจรในเครื่องแบบ เป็นคนโกงในชุดหรู เป็นคนไม่ซื่อสัตย์ในชุดสวยงาม ชุดที่สวมใส่เป็นเพียงสิ่งหนึ่ง ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แยกแยะสาขาอาชีพ เพื่อให้เกียรติคนในชุดนั้น โลกมีคนและมีความหลากหลาย การใช้ชุด ใช้เครื่องแบบจำแนกแยกแยะ เพื่อให้ง่ายต่อการติดต่อสื่อสารกัน แต่วันนี้เรากลับเอาชุด เอาเครื่องแบบที่สวมใส่มาเป็นเกราะป้องกัน มาเป็นเครื่องมือเพิ่มมูลค่าคน และก็ไปยึดติดกับมัน นำมาเป็นสิ่งสำคัญให้ต้องไขว่คว้าและแสวงหา จนหลงลืมไปว่า แท้จริงแล้ว เราวัดความเป็นคนเป็นมนุษย์จากไหนกัน มีบทกลอนสวยงาม เป็นคำสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่สื่อออกมาได้อย่างชัดเจนว่า เรามนุษย์นั้นสิ่งที่ต้องยึดถือ คือ ใจ สิ่งที่ต้องอยู่คู่ความเป็นคนคือ มโนสำนึก
เป็นมนุษย์
ก่อนจะเป็นอะไรในโลกนี้
ทั้งเลวทรามต่ำดีถึงที่สุด
ก่อนจะสวมหัวโขนละครชุด
คุณต้องเป็นมนุษย์ก่อนอื่นใด
คุณจะต้องรู้จักการเป็นมนุษย์
ไม่ใช่ชุดเครื่องแบบที่สวมใส่
ไม่ใช่ยศตำแหน่งแกร่งฉไกร
หากแต่เป็นหัวใจของคุณเอง
ใจที่มีมโนธรรมสำนึก
ใจที่รับรู้สึกตรึกตรงเผง
ใจที่ไม่ประมาทไม่ขลาดเกรง
ใจที่ไม่วังเวงการเป็นคน
เมื่อนั้นคุณจะเป็นอะไรก็ได้
เป็นผู้น้อยผู้ใหญ่ได้ทุกหน
มโนธรรมสำนึกรู้สึกตน
ต้องตั้งตนให้เป็น คือ เป็นมนุษย์!
(เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์.   พฤ ๑๓/๑๑/๕๑)
ยุคสมัยที่เรายกย่องเชิดชูความร่ำรวย ตำแหน่ง ยศ และชุดที่สวมใส่มากกว่าคุณงามความดีที่พึงกระทำต่อกัน จึงทำให้ใจเราไม่นิ่ง ไม่สงบ มีแต่ความอยากได้ใคร่มีมิมีที่สิ้นสุด และเมื่อยิ่งหายิ่งเหนื่อย ยิ่งวิ่งเข้าใกล้ก็เหมือนยิ่งห่างไกลออกไปเรื่อยๆ ได้ตำแหน่งนี้ ยศนี้ เงินเท่านี้ ก็ไม่เพียงพอ อยากได้และอยากได้อีกอยู่ร่ำไป เป็นเหมือนกับการซื้อเสื้อผ้าแล้วนำมากองอยู่ในตู้ให้เต็มโดยมิเคยหยิบฉวยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ใช้เพียงครั้งเดียวและก็ทิ้งกองไว้ให้เก่าให้ไร้ค่าไปตามกาลเวลา 

ใช่หรือไม่ หากเรามีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ ที่รู้จักผิด รู้จักสำนึก รู้จักอภัย รู้จักขอโทษและรับโทษตามกรอบกติกาที่มี ไม่ว่าเราจะสวมใส่ชุดอะไรผู้ที่พบเห็น ผู้คนที่เกี่ยวข้องย่อมให้ความเคารพนับถือ เราเป็นแบบนี้หรือไม่ วันนี้สังคมเราเลือกที่จะวัดคนเพียงแค่เครื่องแบบแค่เครื่องหมายภายนอก ที่นำมาซึ่งความโลภ ความหลง จนทำให้เราหลงทางเดินกันอย่างมากมาย ถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมาปรับเปลี่ยน ปลุกจิตสำนัก สร้างมโนธรรม ให้รู้จักผิด ถูก ด้วยจิตใจ โดยอาศัยพระจิตเจ้า ฟังเสียงภายในให้เป็น แล้วเดินตามเสียงนั้น เราจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เราร่วมเดินทางไปพร้อมๆกันในวันพระเจ้าเช่นนี้ แล้ววันนั้นเราจะมีอาภรณ์ที่งดงามสวมใส่กลับไปหาพระบิดาเจ้าของเรา

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ไร้ค่าแต่ล้ำค่า

ไร้ค่าแต่ล้ำค่า
บ่อยครั้งในชีวิตของเรามักเจอะเจอกับเรื่องที่แปลกๆ และตรงข้ามกับสิ่งที่เราคิดไว้ก่อนเสมอๆ วันที่เราล้างรถเสร็จใหม่ๆสีแวววาวดูเหมือนรถใหม่ สะอาดสะอ้าน ขับออกมายังไม่ทันไร เจอฝนตกหนัก รถเปียกเปรอะไปทั้งคัน การล้างรถวันนั้นดูช่างไร้ค่า หรือ ซักผ้า ตากไว้เต็มราว คิดว่าวันนี้แดดออกดี ตากไว้ไม่นานผ้าคงแห้ง แต่พอยามเย็นหลังเลิกงานหมายมั่นว่าจะกลับบ้านเก็บผ้าที่ซักตากไว้คงแห้งเรียบร้อย แต่แล้วฝนก็ตกลงมาดั่งนรกชังหรือสวรรค์แกล้ง ต้องกลับไปเก็บผ้าเปียกฝน ตากพัดลม แถมบางครั้งต้องนำมาซักใหม่อีกรอบ ดูจะเป็นการสูญเสียเวลาจริงๆ หรือว่าตั้งใจที่จะไปกินอาหารร้านอร่อยในร้านขาประจำ พอไปถึงร้านปิด หน้าร้านมีใบปิดว่าหยุดหนึ่งวัน ความตั้งใจดูเหมือนไร้ค่าไปเลย หรือบางครั้ง นั่งขับรถแอร์เย็นๆอยู่ดีๆ แอร์เกิดเสียกลางทาง บนทางด่วนที่มีรถติดอยู่เต็มถนน ทำไมต้องมาเสียตอนนี้ด้วย แต่...อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นโชคดีที่รถยังวิ่งได้และวิ่งไปจนถึงร้านเติมน้ำยาแอร์ นี่...ใช่การไร้ค่าหรือเปล่า การพบเจอเรื่องที่ไม่แน่นอน ย่อมวนเวียนมาในวิถีทางในโลกนี้ได้เสมอ เพียงแต่ว่าเราได้อะไรจากเรื่องที่คิดว่าไร้ค่านั้นบ้าง ในบางครั้งสิ่งที่ได้เรียนรู้กลับล้ำค่าในความไร้ค่านั้น
พูดถึงเรื่อง ล้ำค่า อะไรเล่า ล้ำค่า สำหรับเรา หลายคนคงคิดถึงทรัพย์สมบัติ ในโลกที่ทุกคนใช้มาตรฐานทางเศรษฐกิจวัดค่าความเป็นคน เราทุกคนจึงต้องดิ้นรนวุ่นวายกับการหาเงินหาทรัพย์สมบัติ หาตำแหน่ง หาความโลภเอาไว้ครอบครอง เพียงเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าเราล้ำค่าราคาคน ความดีงามทางคุณธรรมไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้คุณค่าของคนอีกต่อไป ในภาวะโลกที่ถูกหลอมรวมด้วยทุน ด้วยการจับจ่าย ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ความสุขของคนเริ่มลดน้อยถอยลงไป ความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น แต่ใจไร้สุขในทุกเวลา มีเพียงความเหงากับเครื่องเล่นสมัยใหม่ข้างกายที่เป็นเพื่อน
ไม่มีเงินมาก เท่าเขา...ก็ไม่ได้หมายความว่าเรา จน
ไม่สวยหล่อ เท่าเขา...ไม่ได้หมายความว่าเรา ขี้เหร่
ไม่ได้เก่งฉลาด เท่าเขา...ก็ไม่ได้หมายความว่าเรา โง่
ไม่ได้มี ในสิ่งที่เขามี...ก็ไม่ได้หมายความว่าเรา ขาด
ถ้าไม่ ทุกข์ร้อน ไม่ กังวล ไม่ อิจฉา
นั่นแสดงว่า...เรา ได้สิ่งที่ล้ำค่ามาครอบครองแล้ว
(ข้อความส่งผ่านมาทางเฟสบุ๊ค)

ภาพ : อินเตอร์เน็ต
นอกจากนี้สิ่งล้ำค่าที่เรามีเหมือนๆกัน นั่นคือ เวลาและชีวิต เวลาเป็นสิ่งเดียวที่พระเจ้าให้ทุกคนมีเท่ากัน  ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ก็ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนจะใช้เวลาอย่างไร ใครจะใช้เวลาที่ผ่านไปอย่างมีค่าและคุ้มค่ากว่ากัน ใช่หรือไม่ ในความเป็นจริงแล้ว เราควรใช้เวลาของชีวิตกับสิ่งเหล่านี้ คือ
1. ใช้เพื่อให้พบความสุขหรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือพบความสงบนั่นเอง
2. ใช้เพื่อสร้างประโยชน์และสิ่งดีๆให้กับชีวิต
3. ใช้เพื่อให้คนรอบข้างและสังคมมีความสุข
เราให้อะไรกับใจเรา ใจเราก็ให้สิ่งนั้นกับเรา เราให้อะไรกับชีวิตเรา ชีวิตก็จะให้สิ่งนั้นคืนกลับแก่เรา
สิ่ง ล้ำค่า ที่สุดในชีวิตของคนเป็นพ่อเป็นแม่คือ ลูกพ่อแม่ต่างก็ไม่ต้องการเห็นลูกของตัวเองตกระกำลำบาก อยากให้ลูกประสบความสำเร็จ มีความสุข ปรารถนาให้ลูกเดินในทางที่ตัวเองอยากเห็น อยากให้เป็น (แต่ไม่รู้ว่าลูกอยากด้วยหรือไม่) บางคนสร้างเส้นทางให้ลูกเดินมากเกินไป จนลูกรับไม่ได้ต้องเตลิดออกไปนอกลู่นอกทาง พ่อแม่หลายคนที่ตัวเองเคยลำบากมาก่อน ก็ไม่ต้องการเห็นลูกลำบากเหมือนตัวเอง มักจะชดเชยชีวิตที่เคยลำบากของตัวเองมาให้ลูก แต่ชดเชยแบบผิดๆ ประเคนให้ทุกอย่างที่ลูกต้องการ จนทำให้ลูกเสียผู้เสียคนไป สุดท้ายแก้ไขอะไรไม่ได้ ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง ลาภ ยศ ชื่อเสียงเพียงใด ก็มิได้มีความสุขดั่งที่หวังไว้ สิ่งที่ ล้ำค่าสำหรับเราก็จะกลายเป็นสิ่งที่ ไร้ค่า ของสังคม
สิ่งหนึ่งที่ตระหนักไว้คือ เราต้องทำหน้าที่สร้างคุณค่าในตัวลูกของเรา โดยให้เขาสามารถดูแลตัวเองได้ และสามารถนำเอาคุณค่าในตัวลูกไปสร้างสิ่งมีค่าด้วยตัวเขาเองให้ได้ และสุดท้ายก็ต้องสอนลูกเราให้เขาไปดูแลลูกของเขาด้วยวิธีการเดียวกัน เพื่อให้มั่นใจว่าคนในรุ่นต่อๆไปยังคงคุณค่าในตัวเองมากกว่ามีคุณค่าเพราะทรัพย์นอกกายที่ไม่จีรังยั่งยืน
ภาพ : อินเตอร์เน็ต

ทุกคนมีสิ่ง ล้ำค่า อยู่ในตัวนั่นคือ ใจ ที่ไม่ติดยึดโยงกับสิ่งใด สิ่งที่ไร้ค่าในสายตามนุษย์ หากใช้ใจดูใช้ใจส่อง เราจะมองเห็นแสงแห่งธรรมนำชีวิตเรา ใช่หรือไม่ คนยากจน คนทุกข์โศกเศร้า คนอ่อนโยน คนยุติธรรม คนที่มีใจเมตตา ใจบริสุทธิ์ คนที่รักสันติ ไม่ยอมต่อสู้กับใคร ไม่เบียดเบียนไม่ปัดแข้งขาใคร มักจะถูกค่านิยมสมัยใหม่มองว่าเป็นคนไร้ค่า เป็นคนที่ไม่เหมาะที่จะเป็นผู้นำที่จะพาสังคมสู่ความสำเร็จ แต่...เป็นเช่นนั้นหรือไม่ หากเรามองด้วยหัวใจ และมองตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า ใครที่มีหัวใจแบบคนเหล่านั้นต่างหากที่มีความสุขแท้ เพราะพวกเขาจะเป็นผู้นำพาเราไปสู่สวรรค์ บ้านของพระเจ้า แล้ววันนี้เราเป็นคน ล้ำค่า ในยุคสมัยนิยม แต่ ไร้ค่า ในความดีงามหรือเปล่า หรือ เราเป็นสิ่งที่ล้ำค่าทั้งในยุคนี้และในสายตาของพระเจ้าด้วย เราเลือกที่จะเป็นได้ ใช่หรือไม่...