wifi - โครงข่ายปันสุข
ชีวิตยุคใหม่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือการเชื่อมโยงติดต่อกันด้วยระบบสื่อสารสมัยใหม่ ไม่ว่าจะผ่านทางเครื่อข่าย แอปปิเคชั่นใด เวลาไปไหนมาไหนโดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องเดินทางไปต่างบ้านต่างแดน ต่างเปิดเครื่องเสาะหาโครงข่ายไวไฟเพื่อใช้เป็นพาหนะในการส่งสาร ในการสนทนา ในการทำงาน “ไวไฟ” จึงเป็นระบบที่ผู้คนปรารถนามากที่สุด ถือว่าเป็นโครงข่ายแห่งการปันสุขให้กับคนทั้งโลก
หลังจากลงเครื่องที่ไทเป ประเทศไต้หวัน และต้องรออีกกลุ่มหนึ่งที่จะตามมาสมทบในอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า สิ่งที่ทำให้ชีวิตการรอคอยไม่เงียบเหงา คือ ระบบไวไฟฟรีของสนามบิน ได้ส่งข่าว ให้กับคนทางบ้าน ให้คนในครอบครัวได้หมดห่วง และร่วมสุขสันต์ไปกับการเดินทางของชีวิตอีกคำรบหนึ่ง ช่วงนี้เองจึงหยิบไอแพดกระดาษชนวนไฟฟ้า ขึ้นมาบรรเลงบทความ เพราะไม่รู้ว่าตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ต้องอยู่ในไทเปนี้จะมีเวลา จะมีระบบไวไฟฟรีไว้ให้ใช้งาน ที่ไหนบ้างหรือเปล่า ขอบคุณสำหรับทุกที่สาธารณะที่ให้บริการใช้ไวไฟฟรี ที่ช่วยให้คนไกลได้ใกล้ชิด เหมือนที่เคยเคียงข้างกันตลอดมา และหากเรามาทบทวนชีวิตว่า ถ้าการแบ่งปันความสุขแบบให้ฟรีมีให้พบเห็นได้ทั่วไป ความสุขที่มิจำเป็นต้องเก็บไว้เชยชมเพียงผู้เดียว ใช่หรือไม่ สังคมเราย่อมมีแต่สันติ ความสุขยิ่งให้ยิ่งเบ่งบาน ยิ่งงดงาม ยิ่งเพิ่มพูน เหมือนเช่นนิทานเซนเรื่องนี้
อาจารย์เซ็นท่านหนึ่งปลูกดอกเบญจมาศไว้บริเวณลานหลังวัด ปีที่ 3 ของช่วงฤดูใบไม้ร่วง ลานหลังวัดก็กลายเป็นทุ่งดอกเบญจมาศบานเหลืองอร่ามสวยงามเต็มไปหมด กลิ่นของดอกเบญจมาศส่งกลิ่นหอมไปถึงหมู่บ้านรอบเชิงเขา ไม่ว่าใครที่มาทำบุญที่วัด ต่างก็พากันอุทานด้วยความชื่นชม
“โอ้โห ทำไมช่างสวยงามเช่นนี้!”
อยู่มาวันหนึ่ง ก็มีผู้กล้าเอ่ยขอดอกเบญจมาศไปตากแห้งเพื่อนำไปเป็นพันธุ์เพื่อปลูกไว้ในสวยหลังบ้านของตนเอง ท่านอาจารย์เซ็นไม่มีการลังเลที่จะเอ่ยอนุญาต อีกทั้งเป็นผู้เด็ดดอกที่ทั้งโตทั้งสวยให้แก่ชายผู้นั้น แถมยังขุดให้เขาไปหลายต้น
ข่าวท่านอาจารย์เซ็นมอบดอกเบญจมาศให้ชายผู้นั้นถูกเล่าปากต่อปากไปยังญาติโยมทั้งหลาย ผู้คนในหมู่บ้านรายรอบต่างพากันมาขอดอกเบญจมาศจากท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ไม่กล้าปฏิเสธ เพราะทุกคนต่างเป็นคนรู้จักและเป็นโยมอุปฐากวัดกันทั้งนั้น จึงมอบดอกเบญจมาศให้แก่ญาติโยมที่มาขอกันทุกคน ไม่กี่วันต่อมา ดอกเบญจมาศในสวนหลังวัดก็ถูกเด็ดไปจนหมดเกลี้ยง ลานหลังวัดไม่มีดอกเบญจมาศให้เห็นอีกแล้ว
เหล่าเณรน้อยทั้งหลาย เมื่อได้เห็นความว่างเปล่าของอดีตสวนเบญจมาศต่างก็พากันพูดด้วยความเศร้า
“น่าเสียดาย ๆ ลานหลังวัดนี้เดิมทีสวยสะพรั่งไปด้วยดอกเบญจมาศที่หอมชื่นใจ มาบัดนี้ไม่เหลือแม้แต่ดอกเดียวให้ได้เห็น! เสียดาย เสียดาย ! ”
ท่านอาจารย์เห็นท่าทีของเหล่าลูกศิษย์ ก็ได้แต่หัวเราะและก็ได้เอ่ยขึ้นว่า
“เจ้าทั้งหลายพิจารณาดูเถิด3 ปีหลังจากนี้ไป หมู่บ้านรอบภูเขาจะกลายเป็นหมู่บ้านดอกเบญจมาศ มันไม่ดีกว่าวันนี้หรอกหรือ!”
“หมู่บ้านดอกเบญจมาศ!”
เหล่าเณรน้อยต่างก็พูดขึ้นพร้อมกัน แล้วก็ยิ้มตามมโนภาพที่ต่างคนต่างเห็นในอีก3ปีให้หลัง
“เราควรแบ่งปันสิ่งดี ๆ เหล่านี้กับคนอื่น ให้ทุกคนต่างได้รับความสุข ต่อให้วันนี้เราไม่เหลือดอกเบญจมาศแล้ว แต่ในใจก็เป็นสุขมิใช่หรือ? นี่ต่างหากที่เป็นความสุขที่แท้จริง เจ้าทั้งหลายว่าจริงหรือไม่?”
“ใช่ขอรับพระอาจารย์”.....................................ขอบคุณ เรื่อง :นุสนธิ์บุคส์
ในสังคมที่มักสอนให้เราเก็บ กอบ โกย ทุกสิ่งไว้แต่เพียงผู้เดียว มันก็ชื่นชม ชมเชยเฉพาะคนเดียว มีบ้างบางคนที่กลัวว่าเมื่อแบ่งปันออกไปแล้ว อาจจะได้รับการตอบกลับในทางตรงกันข้าม อาจจะถูกกล่าวหาว่าต้องการได้หน้าได้ตา แบ่งปันเพื่อสร้างฐาน สังคมวันนี้อยู่ยาก เพราะพอคิดจะทำอะไร ก็มักมีสองมุม สามด้าน ส่งผลกระทบต่อการกระทำนั้นได้เสมอ หลายคนจึงเลือกที่จะเก็บงำความดีงามไว้เอง สร้างแปลงงามในนามปัจเจกชน คนผู้อื่นอย่าได้มาข้องแวะ
ใช่หรือไม่ หากเราร่วมกันสร้างสังคมโครงข่ายแห่งความสุข และปล่อยออกไปให้มันงอกเงย ให้คนอื่นได้รับรู้ประโยชน์บ้างคงจะดีไม่น้อย วันนี้เรามีโครงข่ายและเครือข่ายของการสื่อสารที่สามารถจะทำให้เราได้พบกับมิตรภาพ ให้พบเจอกับเพื่อนเก่าที่ห่างหาย ได้รับรู้ความเป็นอยู่ของบุคคลอันที่เป็นรักทำไมเราไม่มาสร้าง มาบูรณะโครงข่ายและเครือข่ายความดีงาม ความสุข ให้กระจายออกไปทั่วแดนแผ่นดินเหมือนกับการใช้งานระบบสื่อสารสมัยใหม่เล่า เมื่อนั้นความสุขสันติจะอยู่กับโลกนี้ เป็นไปได้ไหมว่า ในวันข้างหน้า เวลาที่ใครมาพบเจอเรา เวลาที่ใครมาอยู่ในพื้นที่ของเรา เขาเหล่านั้นก็จะได้รับสิ่งดี ๆ กลับไป และนำสิ่งเหล่านั่นไปปลูกฝังลงในจิตใจต่อไป หรือเราไปพบเจอใครที่ปันความสุขให้เรา ก็นำมากระจายให้เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความสุข ความงาม ที่จะไม่มีวันห่างหายจากสังคมของเรา ความดีมีไว้แบ่งปัน เหมือนระบบไวไฟฟรีที่มีให้ใช้งานขอบคุณไวไฟสนามบินไทเป ไต้หวัน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น