วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552

มั่วนิ่ม

มั่วนิ่ม

ถนนสาทรหน้าวัดของเราได้รับการปรับปรุงให้เป็นถนนที่สวยงามและราบเรียบมากยิ่งขึ้น ถ้าสังเกตเห็นในตอนที่กำลังทำการปรับปรุงพื้นผิวถนนใหม่ๆ และตอนที่ยังไม่มีการตีเส้นแบ่งช่องทางการเดินรถ จะเห็นว่าผู้ขับขี่ต่างก็ขับรถกันแบบมั่วๆซั่วๆไร้ความเป็นระเบียบ ใครอยากจะออกไปทางไหนก็ไป เบียดแย่งกัน ทั้งๆที่ถนนเส้นนี้รถราติดเป็นนิจอยู่แล้ว พอมีการปรับปรุงผิวถนน ไม่มีเส้นแบ่งช่องทางชัดเจน รถราก็สะเปะสะปะ ติดหนึบหนักกว่าเดิม แต่โชคดีที่เขาเร่งวันเร่งคืน เพื่อฟื้นผิวถนนให้กลับมามีสภาพที่ดีกว่าเดิม และพอมีการตีเส้น ขีดแบ่งช่องทาง รถราต่างๆก็เข้ากรอบ เข้าเลนไม่ต้องเบียดแย่งแข่งขันวุ่นวาย

ใช่หรือไม่ บางครั้งการมีกรอบ มีเส้นแบ่ง มีกฎเกณฑ์กติการ่วมกันก็ทำให้สังคมโดยรวมมีระเบียบ และทำให้เราเคารพกันและกันมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้มีกระแสหนึ่งที่กำลังมาแรง เรียกว่า กระแสมั่วนิ่ม ต่างคนต่างถูก ต่างคนต่างมีแนวความคิดเป็นของตัวเอง การสนใจผู้อื่นก็น้อยลง และที่ร้ายไปกว่านั้น เราก็มักแอบอ้างการกระทำของคนอื่นที่ผิดกรอบนอกเกณฑ์ว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญประจำสังคม จนมีคำพูดว่า ใครก็ทำกัน เราจะทำบ้างไม่ได้เชียวหรือ บังเอิญได้อ่านเจอบทความบทหนึ่งทางอินเตอร์เน็ท เป็นเรื่องทำนองนี้ เรามาลองดูว่าถ้าสังคมปลูกฝัง สังคมสอนเด็กให้อยู่ในกระแสมั่วนิ่ม ทำๆตามกันไปแบบนี้สังคมไทยจะเป็นเช่นไร ลูกหลานเราจะเป็นอย่างไรในอนาคตอันใกล้นี้

เมื่อชัยอายุ 6 ขวบ ขณะที่นั่งรถไปกับพ่อ ถูกตำรวจจับเพราะขับรถเร็วเกินกำหนดพ่อแอบยื่นเงิน 500 บาท ให้ตำรวจและได้รับอนุญาตปล่อยตัวไปพ่อหันมาพูดกับชัยว่า ไม่เป็นไรลูกเงินแค่นี้ซื้อเวลา ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ

เมื่อชัยอายุ 8 ขวบ ป้าพาไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าเป็นเงิน 75 บาท
เมื่อป้าไปชำระเงิน ยื่นธนบัตรร้อยบาทให้พนักงาน ได้รับเงินทอน 55 บาท
เพราะลูกค้ามากและเข้าใจว่าธนบัตร 50 บาท คือ 20 บาท ป้ารับเงินทอนและใส่กระเป๋าทันที แทนที่จะบอกพนักงานว่าทอนเงินผิด เมื่อออกจากร้านป้าก็พูดกับชัยว่า ไม่เป็นไรหลานความผิดของเขาเอง ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ

เมื่อชัยอายุ 9 ขวบ ครูให้การบ้านปลูกต้นหอมแดงในกระบะ 2 สัปดาห์
แล้วนำไปส่งที่โรงเรียน แม่ลืมซื้อหัวหอมแดงมาให้ชัย เมื่อครบกำหนดวันส่งแม่ให้พ่อไปซื้อต้นหอมแดงที่ตลาดและฝังลงในกระบะ ให้ชัยนำไปส่งครูและพูดว่า ไม่เป็นไรลูก ครูไม่รู้หรอกมีส่งก็ดีแล้ว ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ

เมื่อชัยอายุ 12 ขวบ ชัยทำแว่นตาใหม่ราคาแพงของลุงแตก ลุงจึงนำใบเสร็จไปอ้างกับบริษัทเครดิตที่ลุงใช้บริการอยู่ว่าแว่นตาถูกขโมย ได้รับเงินชดใช้มา 15,000 บาท เต็มราคาที่ซื้อมา ลุงพูดกับชัยอย่างภาคภูมิใจว่า ไม่เป็นไรหรอกหลาน สิทธ์ของเรา ใครใครเขาก็ทำกันทั้งนั้นแหละ

เมื่อชัยอายุ 15 ปี ได้เป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน ครูฝึกได้สอนวิธีกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามให้บาดเจ็บโดยไม่ผิด ถือว่าอยู่ในเกม ครูฝึกบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก ได้เปรียบไว้ก่อนเป็นดี ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ

เมื่อชัยอายุ 16 ปี ได้ไปทำงานระหว่างปิดเทอมที่แผนกซูปเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อแห่งหนึ่ง หัวหน้าแผนกให้ชัยจัดกระเช้าผลไม้ โดยแนะนำให้จัดวางผลที่ไม่สวยจวนจะเน่าอยู่ก้นตะกร้า คัดผลสวย ใบโตสีสด จัดวางอยู่ส่วนบน หัวหน้าแผนกสอนว่า ไม่เป็นไรหรอกผู้ซื้อไม่ได้ใช้เอง แต่นำไปฝากคนอื่น ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ

เมื่อชัยอายุ 18 ปี ได้สมัครสอบเพื่อเข้าขอรับทุนของมหาวิทยาลัยปรากฏผลทราบเป็นการภายในว่ามาเป็นอันดับ 2 เมื่อพ่อรู้เข้าจึงไปพูดกับกรรมการซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน ในที่สุดชัยก็ได้รับทุน พ่อพูดกับชัยว่า ไม่เป็นไรลูกเป็นโอกาสของเรา ใครใครถ้ามีโอกาสเขาทำกันทั้งนั้นแหละ

เมื่อชัยอายุ 19 ปี เพื่อนเอาข้อสอบปลายปีที่ขโมยมาขายกับชัยเป็นเงิน 1,500
บาท ชัยลังเลใจและตัดสินใจซื้อในที่สุด เพราะเพื่อนพูดว่า ไม่เป็นไรหรอกชัย
เกรดมีผลกับอนาคตนะ ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ

เมื่อชัยอายุ 24 ปี ชัยถูกจับข้อหายักยอกเงินบริษัท 700,000 บาท และต้องติดคุก พ่อกับแม่ไปเยี่ยมและตัดพ้อต่อว่า ทำไมลูกทำอย่างนี้กับพ่อแม่ ที่บ้านเราไม่ได้สอนให้ลูกเป็นคนขี้โกงเลยนะ (จาก แนวคิดจาก It' s ok , son , everybody does it . By Jack … Griffin ผู้เรียบเรียง

และวันนี้เราออกจากวัดเห็นเส้นแบ่งช่องทางถนน ก็อย่าขับไปกินเลน เกินช่องทางที่เขากำหนด ลองฝึกฝนวินัยเล็กๆน้อยๆ และทำในสิ่งที่ถูก อาจจะตรงข้ามกับสิ่งที่ใครใครเขาก็ทำกัน ให้ลูกหลานได้เห็นบ้าง จะได้ช่วยกันลดกระแสมั่วนิ่มที่กัดกินสังคมไทยเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน...

ไม่มีความคิดเห็น: