ใครทำให้วัยใสหายไป
ได้รับหนังสือเล่มใหญ่จากคุณพ่อโกสเตที่เคารพนับถือ
คุณพ่อเคยเล่าถึงหนังสือเล่มนี้หลายครั้งหลายหน
ปรารถนาจะทำเป็นหนังสือภาษไทยให้คนได้อ่าน หนังสือเล่มนี้ขายดีมากในประเทศสเปน
ต่อมามีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
ผ่านมาหลายปีกว่างานเล่มนี้จะออกมาเป็นรูปเป็นร่างในภาคภาษาไทย
ด้วยการผลักดันของคุณพ่อ ในวันที่สุขภาพของคุณพ่อก็ไม่สมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน
ในวันที่หนังสือไม่ค่อยมีคนอ่านจากรูปเล่ม จะมีสักกี่คนที่จะได้รับรู้เรื่องราวของพระเยซูเจ้าในมุมมองทางประวัติศาสตร์
แม้แต่ตัวผู้เขียนเองเมื่อเห็นความหนาความใหญ่
มีแต่ตัวอักษรของหนังสือเล่มนี้แล้วยังคิดในใจว่า จะอ่านไหวอ่านจบหรือเปล่า
ครั้นเมื่อได้นั่งลงอ่าน ก็อ่านได้เรื่อย ๆ
ไม่สนุกแต่มีมนต์บางอย่างที่ต้องอ่านต่อไปและต่อไป
แม้จะหยุดคั่นด้วยภารกิจบางอย่าง หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “พระเยซูเจ้า
ในประวัติศาสตร์” เขียนโดยคุณพ่อ อันโตนิโอ ปาโกลา แปลเป็นภาษาไทยโดย
เซอร์มารีย์ หลุยส์ พรฤกษ์งาม จัดพิมพ์โดย คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระสงฆ์
ผ่านทางคุณพ่อวรยุทธ กิจบำรุง และสำคัญสุดคือคุณพ่อโกสเต
ผู้ที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้หนังสือเล่มนี้ออกมาให้ได้ ด้วยความสุภาพคุณพ่อยังหวังว่าคนไทยควรจะได้อ่าน...
ในขณะที่อ่านในบทที่ 2 ชาวนาซาเร็ธ ที่กล่าวไว้ว่า “
เช่นเดียวกับเด็ก ๆ ชาวนาซาเร็ธทุกคนพระเยซูเจ้าทรงใช้เวลา 7 หรือ 8
ปีแรกของชีวิตในความดูแลของมารดาและสตรีในเครือญาติของพระองค์ในหมู่บ้านกาลิลี
เด็ก ๆ เป็นกลุ่มที่อ่อนแอ พวกเขาเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากความหิวโหย
การขาดอาหาร และโรคภัยจำนวนเด็กเสียชีวิตมีสูงมาก
นอกจากนี้ผู้ที่เข้าสู่วัยรุ่นก็มักสูญเสียพ่อหรือแม่ไป แน่นอนว่าเด็ก ๆ
แม้แต่เด็กกำพร้าจะได้รับความรัก แต่ชีวิตของพวกเขาต้องประสบความยากลำบากมาก เมื่อเด็กผู้ชายอายุได้
8 ขวบ เขาจะเข้าสู่โลกแห่งอำนาจของบุรุษอย่างไร้รอยต่อ
พวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะแสดงความเข้มแข็ง ได้รับการปลูกฝังความกล้าหาญ
ความก้าวร้าวทางเพศและเล่ห์เหลี่ยม ภายหลังพระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติต่อเด็ก ๆ
ด้วยท่าทีที่ผิดธรรมดา ในสังคมเช่นนี้เป็นเรื่องผิดปกติ ที่บุรุษมีเกียรติคนหนึ่งจะให้ความสนใจเด็ก
ๆ และรับฟังพวกเขา ท่าทีนี้ปรากฏในพระวาจาที่ว่า “จงปล่อยเด็ก
ๆ มาหาเราเถิด อย่าห้ามเขาเลย เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของผู้ที่เหมือนเด็ก
ๆ เหล่านี้ (หน้าที่ 49) ทำให้เราเห็นภาพว่า ทำไมพระองค์จึงเชิดชูเด็ก ๆ
มากถึงเพียงนี้ เพราะความซื่อ
ความสดใสในวัยของพวกเขาสูญเสียไปกับการแย่งชิงอำนาจ จนทำให้หัวใจของเด็ก ๆ
หลุดหายไป ในกระแสกระหายหาอำนาจ
พระองค์ปรารถนาให้ความใสซื่อคืออาณาจักรพระเจ้าในชีวิตของทุกผู้คน
เมื่อเห็นภาพเด็ก ๆ
ในสมัยนั้นที่ต้องสูญเสียความน่ารักสดใสไปกับความทุกข์ยากจากการช่วงชิงอำนาจ
หันกลับมามองเด็ก ๆ ในวันนี้
เด็กหลายคนก็ต้องสูญสิ้นความสดใสแห่งวัยไปกับค่านิยมสมัยใหม่เช่นกัน
ค่านิยมที่เห็นแต่เปลือก จนทำให้เด็กโตเกินวัย โตด้วยความฟุ้งเฟ้อ
โตด้วยความอยากมีอยากเด่นอยากดัง จากบทความเรื่อง “ยิ้มเปลี่ยนโลก” ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่านิยมติดดอกไม้มุราคามิ
ไอเทมสุดฮิตฮอตที่วัยรุ่นยกเป็น "ของมันต้องมี"
(แต่ไม่จำเป็นต้องใช้) ซื้อมาติดกันในราคาที่แสนแพง
กระทั่งมีการสำรวจการแต่งตัวของเด็กวัยรุ่นแถวสยาม ราคาเสื้อผ้าที่ใส่มาเดินเที่ยว
ตั้งแต่หัวจรดเท้า ว่าแต่ละชิ้นเป็นของยี่ห้ออะไรและมีราคาเท่าไรบ้าง ซึ่งเด็ก
ๆ ส่วนใหญ่จะสวมใส่ของแบรนด์เนมมากันทั้งนั้น
ที่มีราคาหลักพันไปจนถึงหลักหมื่น รวมถึงแบรนด์ที่หรูหรา ก็มีใช้กันอย่างเป็นปกติ เสื้อผ้าทั้งตัวร่วมแสน
สูงสุดที่ 4 แสนบาท มีหลายคนตั้งคำถามว่าพวกเขาใช้เงินจากไหนมาซื้อ
จากพ่อแม่ที่ร่ำรวยเลี้ยงลูกด้วยเงินหรือ จากการกู้ยืมเงินอนาคตมาใช้หรือ
หรือว่าพวกเขามีความสามารถทางธุรกิจการค้าขายมากกว่าคนสมัยก่อนจึงมีเงินจับจ่ายใช้สอย
และโตเร็วได้ถึงเพียงนี้
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/561000009961401.JPEG |
วัยใสซื่อวัยสดใส ของเด็กมีอยู่ในช่วงอายุเท่าไร ทางการแพทย์และจิตวิทยาพัฒนาการ
บอกว่าน่าจะอยู่ในช่วง 10-22 ปี
เริ่มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และร่างกายเป็นอย่างมาก
แต่ก่อนหน้านั้นคือวัยที่น่ารัก เป็นวัยที่เราควรจะปลุกฝังความดีงามลงในจิตใจ
ในพฤติกรรมและทัศนคติต่อการดำเนินชีวิตมากที่สุด ถ้าหลุดจากนี้แล้ว จะไม่มีเกราะป้องกันตัวจากสิ่งรอบข้างซึ่งจะเป็นฝ่ายชักจูงไป
เด็กคนไหนที่มั่นคง พื้นฐานครอบครัวแข็งแกร่งจะสามารถรอดพ้นจากกระแสนิยมได้
สงสารเด็กบางคนที่ตกอยู่ในภาวะจำยอม หรือมีบ้างหลายคนยอมตกลงไปในกระแส โดยที่เหล่าบรรดาผู้ใหญ่อย่างเรา
ๆ ท่าน ๆ ผู้ที่ทำร้ายวัยอันน่ารักของเด็ก ๆ ไปอย่างไม่รู้ตัว ที่สุดแล้ว
เราก็ควรที่จะฝึกจิตฝึกใจให้กลับมามีความซื่อใส
พร้อมรับนำวิถีทางแห่งรักเมตตาของพระคริสต์พระอาจารย์ของเราไปดำเนินชีวิตให้เกิดผลแห่งสันติสุขให้ได้...
ปล.หาซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ที่ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระสงฆ์ 122/1
ซอยนาคสุวรรณ ช่องนนทรี ยานนาวา กรุงเทพฯ 10120 โทร. 0-2681-3900 ต่อ 1410 E-mail: thaipriest@cbct.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น