แดนดินถิ่นลี้ภัย
ในบางช่วงชีวิต
บางสิ่งบางอย่างถูกจับวางให้พอเหมาะพอสมกับวันเวลา
หลังจากฉลองปัสกาได้มีโอกาสเดินทางมายังตุรกี ดินแดนที่หลบภัยของเหล่าสาวกและแม่พระ
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์
บรรดาอัครสาวกมีความเข้มแข็งขึ้น
มีการตั้งชุมชนกลุ่มคริสตชนจนทำให้ถูกพวกโรมันไล่ล่าตามราวี นักบุญเปาโลกลับใจจากนักไล่ล่า
กลายเป็นผู้ถูกตามล่า ท่านนักบุญมีพื้นเพเป็นคนเมืองทาร์ซัส
เมืองหนึ่งในตุรกีปัจจุบัน จึงทำให้ท่านคุ้นเคยพื้นที่
และนี่จึงเป็นดินแดนที่ท่านใช้หลบหลีก ซ่อนกาย และจัดตั้งชุมชนไว้มากมาย
แน่นอนยังมีผู้ที่ต้องหนีการไล่ล่าอีกหลายคน นักบุญจอห์นคือหนึ่งในนั้น และด้วยพันธกิจที่ได้รับมอบหมายให้เป็นลูก
ดูแลพระนางมารีย์ให้ปลอดภัยที่สุด ท่านนักบุญจึงมุ่งตรงมายังดินแดนแถบนี้
วันที่สองของการเดินทางในถิ่นตุรกี
มีโอกาสมายืน มาเยือนในเมืองเอเฟซุสของจริง หลังจากที่เคยได้ยิน “จดหมายจากนักบุญเปาโลถึงชาวเอเฟซัส” เอเฟซุสเป็นหนึ่งในเมืองโบราณที่มีความสำคัญทางคริสตศาสนา
เมืองนี้เคยเป็นที่อยู่ของชาวโยนก จากกรีกอพยพเข้ามาสร้างเมือง ซึ่งรุ่งเรืองขึ้นในศตวรรษที่
6 ก่อนพระเยซูเจ้าบังเกิด
ต่อมาถูกรุกรานเข้ายึดครองโดยชาวเปอร์เซียและกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช ภายหลังเมื่อโรมันเข้ามาครอบครองมีการสร้างเมืองขึ้นมาใหม่
และก็ได้สถาปนาเมืองนี้เป็นเมืองหลวงเขตการปกครองแถบเอเชียรองจากกรุงโรม คริสตชนที่นี่ในยุคแรก
ๆ มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก แต่ก็เปิดเผยตัวเองไม่ได้ ใช้สัญลักษณ์บอกต่อกัน
ถ้าเปิดเผยตัวเองว่าเป็นคริสตชน จะถูกฆ่าทันที นอกจากนี้ ภายในเมืองเอเฟซุส ยังมีสถานที่ที่เป็นวัดของคริสตชนยุคแรกเริ่มด้วย
โดยมีหินสมัยศตวรรษที่ 1-3 ตั้งตรงกลางเพื่อเป็นพระแท่นถวายมิสซา
ได้เห็นซากปรักหักพังของเมืองที่ยิ่งใหญ่
ได้ฟังถึงต้นกำเนิดการปกครองแบบโรมันที่มีระบบรัฐสภาต้นแบบการปกครองส่วนใหญ่ของโลกนี้แล้ว
ใช่เลย…ไม่มีอะไรที่ยืนยงคงมั่นตลอดกาลจริง ๆ ทำให้ในใจต้องอ่อนโน้มถ่อมตนลง
หาไม่แล้วเราก็คงเหลือเพียงซากร่างที่ไร้ความหมาย เมืองที่เคยรุ่งเรือง
เมืองที่คิดว่ายิ่งใหญ่มีระบบระเบียบอย่างดี มีอารยะที่เฟื่องฟู
ก็มิอาจจะสู้ความชิงดีชิงเด่นของผู้คนได้ในทุกยุคทุกสมัยก็เป็นดังเช่นนี้ เดินทางจากเมืองโบราณท่ามกลางสายฝนโปรยปรายลงมา
เหมือนกับว่าเรามาที่นี่เพื่อให้เห็นความยิ่งใหญ่ด้วยใจที่อ่อนน้อมลง
ในวันต่อมาเรายังวนเวียนอยู่แถว ๆ เอเฟซุส
ด้วยการมาเยือนบ้านแม่พระที่บ้านหลังนี้ นักบุญจอห์น อัครสาวก
ได้พาแม่พระหลบภัยจากการเบียดเบียนของพวกโรมันที่กรุงเยรูซาเล็มและหนีมาพักที่นี่
บ้านนี้สร้างด้วยหินทั้งหลัง ระยะทางจากเยรูซาเล็มมาเอเฟซุสค่อนข้างไกลพอสมควร
คาดว่า แม่พระและนักบุญจอห์นน่าจะเดินทางมาด้วยเรือและเดินเท้าขึ้นเขามาสร้างบ้านหลังนี้
ในขณะที่ยืนรอแถวเพื่อเข้าไปในบ้าน
(เข้าไปครั้งละไม่กี่คน) มีโอกาสได้อธิบายบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของแม่พระและความกล้าหาญของผู้หญิงคนหนึ่งให้กับผู้ร่วมคณะที่เกือบ
90 % มิใช่คริสตชนได้เข้าใจ หลายคนเชื่อว่าแม่พระเสด็จขึ้นสวรรค์ ณ บ้านหลังนี้
แต่ก่อนเดินทางมา ได้รับข้อมูลแบบเจาะลึกจากน้องที่เขียนบทความใน
Pope Report ว่า นักบุญจอห์นพาแม่พระมาหลบภัยที่บ้านหลังนี้ช่วงสั้น
ๆ จากนั้น ก็กลับไปอาศัยอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม และแม่พระได้เสด็จขึ้นสวรรค์ที่เยรูซาเล็ม
สถานที่ที่แม่พระเสด็จขึ้นสวรรค์ตั้งอยู่บนภูเขามะกอก นอกตัวเมืองเยรูซาเล็ม
ปัจจุบันสถานที่นี้เป็นโบสถ์อยู่ภายใต้การดูแลของพระศาสนจักรกรีกออโธด็อกซ์แห่งเยรูซาเล็ม
(มีการขุดหลุมศพเพื่อพิสูจน์ ปรากฏว่าเป็นหลุมเปล่า )
บ้านนี้เป็นสถานที่ที่รัฐบาลตุรกีให้ความเคารพเป็นอย่างมาก หากใครได้มาเยือนจะพบว่า มีทหารถือปืนตรวจอยู่ตลอด ไกด์ท้องถิ่นบอกว่า “นี่เป็นบ้านของแม่พระมารีอา
(เขาให้เกียรติมากถึงกับใช้คำว่า MOTHER MARY) มารดาของพระเยซูซึ่งเป็นหนึ่งในศาสดาของอิสลาม ดังนั้น
ชาวมุสลิมให้เกียรติท่านทั้งสองมากๆ
บ้านแม่พระมารีอาเปรียบได้กับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
พวกเราให้ความเคารพด้วยการจัดการรักษาความปลอดภัยอย่างสมเกียรติ” ชาวมุสลิมมาแสวงบุญที่บ้านแม่พระเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันที่เราไปตรงกับวันอาทิตย์พอดีจึงมีผู้คนมากมาย
รถติดเป็นแถวยาว
ที่นี่ยังมีน้ำดื่มที่มาจากแหล่งน้ำโบราณจากศตวรรษที่
1 ให้ดื่มและอาบ ผู้ป่วยหลายคนหายป่วยจากโรคร้ายหลังจากมาดื่มน้ำที่นี่
หลักฐานที่ปรากฏคือไม้เท้าและรถเข็นที่วางไว้ เพื่อเป็นหลักฐานให้เรามีความเชื่อ
นอกจากนี้ พระสันตะปาปา 4 พระองค์เคยเสด็จมาเยือนบ้านหลังนี้ คือ สมเด็จพระสันตะปาปา
เลโอ ที่ 13 (ค.ศ.1986) สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ( ค.ศ.1967),
สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 (วันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ.1979 )และสมเด็จพระสันตะปาปา
เบเนดิกต์ ที่ 16 (วันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ.2006)
ใช่หรือไม่ ในโลกนี้มีที่หลบภัยได้มากมาย
แต่ใจคนเรานี่แหละมักไม่ปลอดภัย แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ใจของเราเป็นที่ปลอดภัย
เป็นที่หลบภัยของผู้อื่น เฉกเช่นแม่พระที่เคยหนีภัยมาหลบอยู่ที่แห่งนี้
แต่บัดนี้พระแม่คือที่หลบภัยของชาวเราทั้งหลายที่เข้ามาพึ่งท่านในทุกวันเวลา...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น