วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561

ในแดนดินถิ่นอื่น

ในแดนดินถิ่นอื่น
มีความตั้งใจและเคยได้พูดคุยกับเพื่อนรุ่นน้องกับรุ่นพี่ว่า หากมีโอกาสเราทั้งสามคนจะร่วมกันเดินทางตามรอยในเส้นทางการแพร่ธรรมของนักบุญเปาโล โดยมีประเทศตุรกีเป็นหนึ่งในนั้น แต่จนแล้วจนรอดด้วยภาระหน้าที่ของแต่ละคน จัดสรรเวลาไม่ตรงกันเสียที (สักวันหนึ่งเราจะทำเรื่องนี้ให้เป็นจริงจงได้) และด้วยจังหวะส่วนตัวที่พอเหมาะพอดีมีคนชวนให้ร่วมกับคณะทัวร์ท่องเที่ยวไปยังตุรกี จึงตกลงจะร่วมไปด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการสำรวจครั้งแรก


แล้วก็มาถึงเมืองอิสตันบูลในยามเช้าตรู่ คณะจึงได้แวะรับประทานอาหารเช้าล้างหน้าล้างตาในโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองแห่งนี้ หลายคนเข้าใจว่า อิสตันบูลคือเมืองหลวงของตุรกี แต่ความจริงแล้ว เมืองหลวงของตุรกีคือ “อังคารา”หรือกาลาเทีย กรุงอิสตันบูลเดิมชื่อคอนสแตนติโนเบิล (Constantinople) เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล ปัจจุบันเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศตุรกี ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบบอสฟอรัสทำให้อิสตันบูลเป็นเมืองสำคัญเพียงเมืองเดียวในโลก ที่ตั้งอยู่ในสองทวีปคือทวีปยุโรป (ฝั่ง Thrace ของบอสฟอรัส) และฝั่งทวีปเอเชีย (ฝั่งอนาโตเรีย) จึงมีสถาปัตยกรรมอันงดงามผสมผสาน และเป็นเมืองแห่งการขนส่งคมนาคมที่สำคัญ จึงไม่แปลกอะไรเลย !!! ที่นี่รถติดไม่แพ้กรุงเทพมหานครของเรา


จุดหมายแรกที่ชมคือ “มัสยิดสีน้ำเงิน” (BLUE MOSQUE) สถานที่ซึ่งพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 เสด็จเยือนเมื่อปี 2006 เนื่องจากสีฟ้าของกระเบื้องอิซนิคล้ายดอกไม้ต่าง ๆ บนกำแพงชั้นใน ถือว่าเป็นมัสยิดใหญ่ที่สุดในตุรกี แต่ช่วงนี้ปิดปรับปรุง จึงไม่มีโอกาสชมความสวยข้างในได้แต่เพียงยืนชมความงามภายนอกเท่านั้น จากนั้นก็ข้ามถนนมายังพระราชวังทอปกาปีเป็นที่ประทับของบรรดาสุลต่านนานกว่า 3 ศตวรรษ ภายในมีห้องท้องพระโรง มีครัวขนาดใหญ่สำหรับคนกว่าสี่พันคนที่เป็นข้าราชบริพารในสมัยนั้น มีการจัดสวนที่สวยงาม ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ที่สำคัญในนี้มีไม้เท้าของโมเสสที่ยกขึ้นทำให้ทะเลแยกเพื่อนำชนอิสราเอลออกจากประเทศอียิปต์ ศาสนาอิสลามกับคริสต์นั้นมาจากต้นกำเนิดเดียวกัน เป็นพี่น้องร่วมท้องพ่อแม่เดียวกัน ที่ต่างก็แยกย้ายไปมีครอบครัวเป็นของตัวเอง เราจึงมีความเชื่อมโยงสายสัมพันธ์เดียวกันมาตั้งแต่นมนาน หลายครั้งหลายหนคนเราก็ลืมรากเหง้าตรงนี้ รบราเข่นฆ่ากันเพียงเพื่อให้สิ่งที่เรานับถือมีชัยชนะ ลองคิดดูคนที่เป็นพ่อแม่จะเศร้าใจเพียงใดที่เห็นลูกหลานทะเลาะกันเพียงเพื่อแย่งชิงให้พ่อแม่เป็นของตัวเองฝ่ายเดียว


จากนั้นวกกับมาฝั่งตรงข้ามมัสยิดสีน้ำเงินมายืนเข้าแถวรอนานทีเดียวเพราะมีคนมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก ที่นี่คือ วิหารฮายา โซเฟีย” (บางคนเรียก “วิหารเซนต์ โซเฟีย” ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่ผิด!) นี่คืออดีตวิหารซึ่งเป็นศูนย์กลางของพระศาสนจักรออโธด็อกซ์แห่งคอนสแตนติโนเปิ้ล และยังเคยเป็นโบสถ์คริสต์ที่ใหญ่สุดในโลกด้วย ความมหัศจรรย์ของวิหารนี้คือสร้างในสมัยอาณาจักรไบเซนไทน์ ตั้งแต่ ค.ศ. 360 นับตั้งแต่นั้นจนถึง ค.ศ. 1453 วิหารนี้เป็นของคริสต์คาทอลิกและคริสต์ออโธด็อกซ์ กระทั่ง ค.ศ.1453 พวกอ็อตโตมานเข้ายึดอาณาจักรไบเซนไทน์ จึงได้เปลี่ยนวิหารนี้ให้เป็นมัสยิดของมุสลิม อ็อตโตมานไม่ได้ทำลายโครงสร้างของโบสถ์นี้ พวกเขาแค่ทำลายรูปโมซาอิคล้ำค่า รูปพระเยซูกษัตริย์แห่งสากลจักรวาล ด้วยการโบกปูนทับ แต่พอ “มุสตาฟา อตาเติร์ก” เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐตุรกีในค.ศ. 1931 เขาได้ออกคำสั่งให้กระเทาะปูนเหล่านั้นออก ปัจจุบัน วิหารแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ศาสนสัมพันธ์ระหว่างคริสต์และอิสลาม ภายในนั้น มีทั้งรูปพระเยซู แม่พระ นักบุญต่าง ๆ ร่วมกับภาษาอาหรับที่มีชื่อของพระอัลเลาะห์และท่านศาสดามุฮัมมัดชื่อ “โซเฟีย” หลายคนคิดว่าองค์อุปถัมภ์ของวิหารต้องเป็นนักบุญโซเฟียแน่ ๆ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น ชื่อ “ฮายา โซเฟีย” เป็นภาษากรีก แปลว่า “ปรีชาญาณศักดิ์สิทธิ์”  ต่างหาก


จากนั้นก็เดินมายังจัตุรัสสุลต่านอะห์เมต หรือ ฮิปโปโดรม (Hippodrome) สนามแข่งม้าของชาวโรมัน เขาว่ากันว่าตรงนี้เคยเป็นศูนย์กลางของเมืองเก่า เพื่อใช้แสดงกิจกรรมต่าง ๆ ปัจจุบันเหลือเพียงพื้นที่ลานกว้าง มีเสาโอเบลิสก์  3 ต้น ที่สร้างในอียิปต์แต่ถูกนำมาไว้ในอิสตันบูล ครึ่งวันแรกกับการเดินท่องชมเมืองเก่า กับสภาพร่างกายที่เหนื่อยล้ากับการนั่งเครื่องบินยาวกว่าสิบชั่วโมง เล่นเอาหลายคนเริ่มโรยรา เมื่อเสร็จสิ้นอาหารมื้อเที่ยงเราก็เริ่มมีเรี่ยวแรง ที่จะนั่งรถต่อไปยังเมืองชานัคคาเล่ อีกราว ๆ 3 ชั่วโมง เพื่อให้ทั้งรถบัสและคณะพวกเราขึ้นเรือเฟอร์รี่ข้ามไปแวะชมม้าเมืองทรอย หนึ่งในตำนานอันเลื่องลือที่โฮเมอร์ได้ประพันธ์ไว้ในมหากาพย์

ในแดนดินถิ่นอื่นเราเห็นอะไรมากมาย ดินแดนแถบนี้มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ ตั้งคำถามก่อนที่วันรุ่งขึ้น ที่จะเข้าสู่เมืองที่ท่านนักบุญเปาโลและสาวกมาตั้งชุมชนความเชื่อว่า พวกท่านเดินทางยาวนานแสนนาน อดทนต่อสภาพอากาศและต้องหลบหลีกการไล่ล่าได้อย่างไรกัน เพราะความเชื่อหมดหัวใจ เพราะศรัทธาอย่างสุดใจ จึงมิอาจมีอันใดหยุดยั้งการประกาศและยืนยันความรักต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ แล้วเรามีหัวใจแห่งความเชื่อความศรัทธาเพียงเท่าใดหนอ....

ไม่มีความคิดเห็น: