วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กี่แผ่นดิน

กี่แผ่นดิน


จำได้ว่าหลานสาวเคยบอกว่าอยากจะไปดูละครเวที สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ที่เปิดการแสดงตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้จังหวะเวลาลงตัวพร้อมกันสักที กระทั่งเมื่อสองสัปดาห์ก่อนหลานสาวบอกว่ามีผู้ใหญ่ใจดีหาตั๋วให้ได้ หลานสาวจึงได้ไปดูในขณะที่เราติดงานจึงมิอาจจะไปร่วมชมได้ และแล้ว...เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาได้รับโอกาสพิเศษ ให้เข้าไปชมรอบที่ 4 ก่อนที่จะปิดการแสดง (เป็นละครเวทีที่จัดขึ้นเป็นร้อยรอบที่รัชดาลัยเธียเตอร์) นับว่าเป็นละครเวทีที่ประสบความสำเร็จเรื่องหนึ่งของเมืองไทย ด้วยเพราะทั้งการแสดง ฉาก แสง สี เสียง ทำออกมาได้อย่างสวยงามและสมบูรณ์แบบ นักแสดงทั้งรุ่นเด็กรุ่นใหญ่ต่างแสดงและขับร้องบทเพลงสื่ออารมณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงครึ่งจึงมีแต่ความอิ่มเอม 


แน่นอน...ด้วยบทละครเรื่องนี้มาจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ชาติไทย ประพันธ์โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ใช้ตัวละครชื่อ แม่พลอยเป็นตัวดำเนินเรื่อง บอกเล่าถึงวิถีชีวิตชาววังในสมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๗ ประเทศไทยของเราพบกับการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ และวิถีการเป็นอยู่ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สุดก็ว่าได้ ส่งผลกระทบต่อหลายสิ่งหลายอย่าง มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในครอบครัว ขัดแย้งในสังคม เรื่องมาจบในรัชกาลที่ ๘ แต่ในบทละครชุดนี้ได้เพิ่มเติมเหตุการณ์การสูญเสียในหลวงรัชกาลที่ ๙ และการเริ่มต้นใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งสื่อให้เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นศูนย์รวมดวงใจของไทยทั้งชาติไม่ว่าจะยุคไหนสมัยใด
ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายไหลหลั่งมาแบบไม่ทันตั้งตัว หลายครั้งก็นำมาซึ่งความขัดแย้งทางอุดมการณ์และความอยากได้อยากมีของผู้คน บางคนก็รับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ บางคนก็ยึดถือสิ่งที่ตัวเองคิด ตัวเองเป็น จนไม่ได้อยู่กับความเป็นจริง ละครเรื่องนี้มีบทสอนหลายสิ่งหลายอย่างที่เห็นชัดคือ ชีวิตเราย่อมตั้งอยู่บนความใหม่อยู่เสมอ พบกับการเปลี่ยนแปลงทุกวันโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ แม่พลอย ก็ไม่ได้งดงามสดใสไปในทุกเรื่อง  ตรงกันข้ามส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงไปในทางขมขื่น และเจ็บปวดทุกข์ระทมเสียด้วยซ้ำ หลายฉากหลายตอนเรียกน้ำตาและเสียงสะอื้นจากผู้ชม แต่เรื่องราวเหล่านั้นกลับสอนให้เราได้เรียนรู้  เรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริงในความเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ที่จะเข้าใจว่าท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตของเราทุกคนก็ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลง “ไม่มีใครยั่งยืนคู่ฟ้า  ไม่มีคำว่าชั่วนิรันดร์”  คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “การเปลี่ยนแปลง” มักนำมาซึ่งการสูญเสียและความทุกข์ใจ แต่เรื่องราวของ “แม่พลอย” ก็สะท้อนให้เห็นว่าทุกการเปลี่ยนแปลงนั้นมีความงามในตัวมันเองเสมอ



ใช่หรือไม่ พรุ่งนี้ท้องฟ้าก็ไม่เหมือนเดิม สีฟ้ายังไม่เคยซ้ำกันในทุกวัน แม้เราจะตื่นตรงเวลาทุกวัน ในทุกวันมีสีสันของมัน ประจวบกับในยุคสมัยยุคนี้ ความรวดเร็วเป็นนิรันดร์ของการเปลี่ยนแปลง จากระบบอะนาล็อกสู่ระบบดิจิตอล จากปราณีตศิลป์ กลายเป็นสำเร็จรูปสิน(ค้า) แทน จากสังคมที่ลุ่มลึกเป็นสังคมที่หละหลวม จากเห็นส่วนรวมเป็นที่ตั้งกลายเป็นตนเป็นที่รวมศูนย์ ที่เคยแบ่งปันเป็นการแข่งขันและขัดแย้ง แน่ล่ะ... หลายคนมองว่าทำไมในทุกการเปลี่ยนแปลงมักทำให้สิ่งดีงามจางหายจนไม่เหลืออยู่เลยหรือ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ระบบที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ย่อมดีตามสภาพปัจจุบันเสมอ คนต่างหากที่ทำให้ระบบเหล่านั้นใช้การไม่ได้หรือใช้ได้แต่ไม่ดี เพราะแท้จริงแล้วจิตใจคนเรามักอ่อนแอและมีความเห็นแก่ตัว แล้วเราจะทำเช่นไร คำตอบคือ ทำใจ ที่ไม่ได้หมายความว่าทำใจยอมรับ หากแต่ทำใจให้เข้มแข็งเรียนรู้ความจริงที่เกิดขึ้น อยู่กับความจริงให้เป็น ยิ่งเห็นความจริง ยิ่งเห็นความงาม




และไม่ว่าจะกี่แผ่นดิน ย่อมไม่สิ้นซึ่งความรักที่ก่อให้เกิดความงาม วันเวลาเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเมื่อเราอายุมากขึ้น แต่อดีตมักจะฉุดรั้งให้เราลังเล โหยหาวันเวลาเก่า ๆ ให้กลับคืนมา ในความเป็นจริงสิ่งนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างย่อมไม่เหมือนเดิม นอกจากจิตวิญญาณของเราที่มั่นคงในทุกสถานการณ์ต่างหาก ที่จะทำให้เรามีคุณค่าในทุกวันเวลา ปีใหม่ใกล้เข้ามา ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป โลกกว้างขึ้น แผ่นดินใหม่ ๆ มีให้ก้าวเดินไปง่ายขึ้น มีความหลากหลาย สิ่งใหม่ ๆ จึงเข้ามาทายทักเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน วัฒนธรรมจากแผ่นดินถิ่นอื่นไหลเข้ามาจนกลายเป็นวัฒนธรรมเดียวกันเกือบทั้งโลก มาแบบที่เราไม่รู้ตัว และบางคนก็มิอาจจะปรับรับกระแสใหม่ ๆ นี้ได้ จนก่อให้เกิดความทุกข์ถึงขั้นปิดกั้น ชีวิตจึงมิได้พบความงามตามกาลเวลา ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกไม่น้อยที่ฉกฉวยประโยชน์ สร้างชื่ออวดบารมีในการเปลี่ยนแปลง จึงนำความทุกข์มาให้ผู้อื่นด้วยคิดแต่เพียงว่า นี่คือโลกที่สวยงามตามแบบที่ฉันต้องการให้เป็น สิ่งที่ทำลายสังคมมากที่สุดคือต่างคนต่างยึดโยงความคิดเห็นของตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะกี่แผ่นดิน ระบบมันดี คนที่นำมาใช้ต่างหากที่ไม่ดี เราจึงต้องมีชีวิตอยู่บนความจริงเหล่านี้ให้ได้ ชีวิตเรามีทุกข์มีสุข  เราจึงต้องค้นหาความงามตามความเป็นจริง แล้วเมื่อนั้นจิตใจเราจะมั่นคงแข็งแกร่ง พร้อมเสมอสำหรับแผ่นดินสวรรค์

ไม่มีความคิดเห็น: