วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2560

หลากหลายที่ลงตัว

หลากหลายที่ลงตัว


ฝนลงเม็ดแต่เช้าในวันที่ต้องเดินทางไปร่วมพิธีปลงศพพระคุณเจ้า ยอด พิมพิสาร พระคุณเจ้าเป็นผู้ใหญ่ใจดี อารมณ์ดีเสมอ ยิ้มเก่งหัวเราะอย่างเบิกบาน และมักมีเรื่องเล่าเฮฮา มีเมตตาต่อทุกผู้คน ในช่วงเวลาที่ได้พบท่าน ได้ทำงานร่วมกับท่าน จึงมีแต่ความสุขเสมอ ไม่แปลกใจเลยที่วันนั้นเราพบผู้คนมากมายเดินทางไปพร้อมกัน เพื่อร่วมอาลัยต่อท่านเป็นครั้งสุดท้าย ในวันนั้นอากาศที่อุดรธานี ค่อนข้างเย็นสบาย คล้าย ๆ กับว่าท่านได้แผ่เมตตามาให้ทุกผู้คนที่มาร่วมอาลัย เป็นความเมตตาอีกครั้งหนึ่ง ที่จะทำให้เราได้จดจำนำมาเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบันหลายคนคงเคยได้รับความเมตตาจากพระคุณเจ้ามาบ้างไม่มากก็น้อย แต่คงมีบ้างที่ลืมเลือนเพราะเห็นหลายคนจับจองที่นั่งในวัดด้วยการเอาสิ่งของวางไว้บนเก้าอี้ และในขณะเดียวกันหลายคนยอมขยับเขยื้อนเบียดเสียดเพียงเพื่อให้อีกคนได้มีที่นั่งในวัด คนเราย่อมมีความหลากหลาย เมตตาต่อกันต่างหากที่จะนำความเป็นหนึ่งเดียวกันมาสู่สังคม


ทุกอย่างผ่านไปด้วยความเรียบร้อย แต่ในช่วงที่กำลังจะเดินทางกลับ ฝนตกลงมาอย่างหนัก สนามบินเจิ่งนองไปด้วยน้ำ และตามคาดมีเสียงประกาศว่าเครื่องบินดีเลย์ทุกสายการบิน ใช่หรือไม่ ความสมบูรณ์ของสรรพสิ่งนั้นไม่มีแม้แต่สภาพอากาศ ในฤดูหนาวกลับมีฝนตก ในฤดูฝนกลับร้อนแดดแผดเผา ผ่านไปไม่นานเมื่อฝนเบาบาง การบินเริ่มกลับมาทำงานได้ตามปกติ แม้จะได้กลับล่าช้า แต่ก็ได้กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย ในความไม่สมบูรณ์ต่างมีเหตุรองรับ  ในขณะเดียวกันทุกสิ่งในโลกก็ไม่มีใคร อะไร สมบูรณ์ไปเสียทุกอย่าง เรามาทบทวนชีวิตของเราเพื่อเรียนรู้ผ่านวันเวลาไปด้วยกัน ในบทความที่นำมาแบ่งปันนี้


ผมลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าสมมุติคนเราเกิดมาโดยที่ “สมบูรณ์แบบ” เก่ง ดีพร้อมทุกอย่าง ก็คงไม่จำเป็นต้องยอมหรือขอร้องจากใคร แต่เมื่อมี “ข้อบกพร่อง” หรือ “ข้อผิดพลาด” ใจเราก็สามารถลงไปอยู่ในจุดที่อยู่ใต้คนอื่นได้ และทุกอย่างก็ดูเป็นสิ่งที่น่าขอบคุณไปหมด ผมขอแบ่งประเภทจิตใจของคนเราเป็น 3 แบบ
แบบแรกคือ “คนที่คิดว่าตนถูกต้องเสมอ” คนประเภทนี้ทำทุกอย่างตามที่ตัวเองอยากทำ ไม่ฟังเสียงคนอื่น คิดว่าแบบที่ตัวเองคิดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดแล้ว เพราะเขาไม่รู้เลยว่า ตัวเองบกพร่องหรือขาดแคลนขนาดไหน จึงได้แต่ทำตามแบบที่ตัวเองอยากทำเท่านั้น ซึ่งถือเป็นคนที่โชคร้ายมากๆ บางครั้งถึงแม้ว่าจะผิดพลาด แต่ก็ไม่ยอมรับในความผิดพลาดของตัวเอง เพราะฉะนั้น คนแบบนี้จึงเป็นคนที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้
แบบที่สองคือ “คนที่คนอื่นบอกให้ทำ จึงลงมือทำอย่างเสียไม่ได้” คนแบบนี้ไม่ได้รู้สึกว่า ความคิดของตัวเองมีความผิดพลาดอะไร แต่ก็แค่ทำอะไรไหลไปตามบรรยากาศ เพราะว่าไม่อยากขัดกับคนอื่นเท่านั้นเอง
และแบบที่สามคือ “คนที่คิดว่าตนอาจเป็นฝ่ายผิดก็ได้” คนแบบนี้แม้จะมีความคิดเห็นของตัวเอง แต่ลองยอมทิ้งความคิดของตัวเอง แล้วรับความคิดเห็นของคนอื่นดู ซึ่งคนประเภทนี้สามารถได้รับการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะแม้ว่าตัวเองจะถูกต้อง แต่ก็รู้สึกว่าสิ่งที่คนอื่นทำนั้นอาจจะดีที่สุดก็ได้ บางครั้งก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ตรงกับความคิดของตัวเอง แต่ถ้าคนอื่นต้องการแบบนี้เขาก็ยอมที่จะทำตาม
ผมเชื่อว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์เรามาให้มีความอ่อนแอ มีข้อบกพร่อง และไม่สามารถสร้างความสุขขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจำเป็นต้องรับปัจจัยจากภายนอกเข้ามาเติมเต็ม เช่น ตอนที่คนเรารู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอจะอยากขอความช่วยเหลือ หรือเมื่อเห็นความบกพร่องของตัวเอง ก็เริ่มอยากได้รับการเปลี่ยนแปลง และหาโอกาสได้เข้าไปใกล้ชิดคนอื่น
พูดง่ายๆ คือเริ่มเรียนรู้ ยอมรับในคุณค่าคนอื่น หากคนเราไม่เคยผิดพลาด ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ก็จะมีแต่ “จิตใจที่เชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก” คนมากมายคิดอยากจะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ อยากมีเงิน มีความสามารถเหนือคนอื่น ตั้งแต่ตอนนั้นเราจะเริ่มโชคร้ายครับ เพราะนอกจากเราจะฟังคนอื่นไม่ได้แล้ว เราก็จะเริ่มดูถูกคนอื่นได้ง่ายๆ ด้วย ฉะนั้นการที่มีเพื่อนฝูง คนรอบข้าง หรือครอบครัวอยู่กับเรานั้น จึงเป็นสิ่งที่มีความหมายและน่าขอบคุณ :Cr: คิม ฮัก เชิล ประธานที่ปรึกษาอาวุโส มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (ไอวายเอฟ) เกาหลีใต้ ประจำประเทศไทย (คอลัมน์ มองเปลี่ยนมุม/เดลินิวส์ออนไลน์)

ขอบคุณวันเวลา ขอบคุณพระคุณเจ้า ยอด พิมพิสาร และทุกผู้คนที่ผ่านพบ ที่คบหา สนทนา มีเมตตาต่อกัน ขอบคุณความไม่สมบูรณ์ของตัวเองและผู้คนรอบข้าง ที่ทำให้รู้ว่าความสวยงามย่อมเกิดจากความหลากหลายที่ลงตัว ความหลากหลายที่เกิดจากการเรียนรู้ ปีใหม่ วันใหม่ ปีไหน วันไหน หากเราไม่เรียนรู้ หากเราไม่น้อมรับปรับตัว และยึดมั่นในความดี ก็คงไม่มีวันที่เราจะเห็นความงาม.. สวัสดีปีใหม่ครับ

วันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เกิดนี้มีเพื่ออะไร

เกิดนี้มีเพื่ออะไร
คริสต์มาสเวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง ลมหนาวพัดมาเยือนอีกครั้งหนึ่ง แม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ แต่ก็ทำให้คนเมืองหลวงเมืองร้อนได้เปลี่ยนบรรยากาศ ได้ซึมซับรับลมหนาวที่แวะมาเยี่ยมเยียน นี่คือ สัญญาณแห่งกาลเวลาที่มาตักเตือน ที่มาบอกกล่าวเราว่า เวลาของเราใกล้เข้ามาทุกที ๆ แล้วสิ่งที่เราได้กระทำในวันเวลาที่ผันผ่านมานั้นได้ก่อเกิดประโยชน์อันใดบ้าง ได้ให้อะไรกับใครผู้ใด? หรือมีแต่ทำร้ายจิตใจกันจนกลายเป็นนิสัยไปแล้ว และหรือพากันคิดว่าสิ่งที่ทำไปนั้นดีที่สุด (จริงหรือ) โดยไม่เคยจะฟังน้อมรับคำตักเตือนจากมโนธรรม จากจิตสำนึกตน จากคนอื่นบ้าง แก่นกลางความสำคัญของคริสต์มาสอยู่ที่การให้ ไม่ใช่ไถ่ถามหาการให้จากผู้อื่น หากไม่เคยคิดที่จะให้ผู้อื่นก็อย่าเรียกร้องจากผู้อื่น เพราะจะยิ่งทำให้สังคมคนรอบข้างมีแต่ความหนาวใจเย็นจิต คริสต์มาสจึงควรเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในชีวิตจริงของเรา ในทุกฤดูกาล ในทุกวันเวลา เพราะการเกิดมาของเราทุกคนเพื่อเติมเต็ม เพื่อให้โลกนี้สมบูรณ์


แต่...ใช่หรือไม่ หลายคนคิดไปว่าตัวเองเกิดมาเป็นศูนย์กลางจักรวาล จนมีอาการหยิ่งผยอง สนองเพียงเพื่อตัวเองได้เด่น ดัง ให้คนทั้งโลกโจษจัน เป็นสิ่งน่าขบขันของคนคิดเยี่ยงนี้ที่หลงทาง หลงตัวเอง คนแบบนี้นับวันยิ่งทียิ่งมีมากขึ้น เราในฐานะที่มีพระคริสต์ผู้ถ่อมองค์ลงมา จากสูงสุดสู่ต่ำสุดเพียงเพื่อช่วยทุกคน เป็นต้นธารธรรม ความรัก ความเมตตา การให้จึงต้องเป็นเอกลักษณ์คงอยู่คู่ชีวิตเราคริสตชนตราบสิ้นลมหายใจไม่ใช่ปล่อยชีวิตไปตามกระแส และไม่แยแสต่อคนรอบข้าง และผู้ร่วมงานกับเรา อย่าให้ความสำคัญกับเงินทอง จนลืมมองคนรอบกาย อย่าหลงในตำแหน่งจนไม่นำพาเสียงเตือนแห่งความสุขใจ อย่ามัวเมากับเปลือกที่ฉาบฉวย เพราะนั่นคือมายาที่เสื่อมสลาย
วันเวลาผ่านไปทุกวัน ตอบได้ไหมว่า จะหยุดหาเงินเมื่อใด... เท่าไหร่คุณถึงจะบอกว่า พอแล้ว...ร้อย พัน หมื่น ล้าน สิบล้าน... พอรึยังไม่ทราบ? ต่อให้คุณมีไร่นานับพันไร่ คุณก็กินข้าวได้แค่วันละสามจาน แม้นมีคฤหาสน์นับพันหลัง คุณก็ต้องการพื้นที่หลับนอนยามค่ำคืน เพียงแปดตารางเมตรดังนั้น..ตราบใดที่คุณยังมีข้าวปลาอาหารกินอย่างเพียงพอ มีเงินพอใช้สอยได้ทุกวันเพียงเท่านี้ก็ดีเหลือหลายแล้ว 



อายุเท่านี้แล้ว คุณควรอยู่อย่างเป็นสุข ทุกบ้านต่างก็มีปัญหาของตนเอง อย่ามัวไปคิดเปรียบเทียบ แก่งแย่งแข่งดีกัน ไม่ว่าชื่อเสียง ฐานะในสังคม หรือความก้าวหน้าของเด็กๆ ฯลฯ สิ่งที่ควรจะแข่งกัน ทำกันจริง ๆ นั้นคือ แข่งกันมีความสุข แข่งกันมีสุขภาพดีและอายุยืนนาน ส่วนอะไร ที่เราเปลี่ยนมันไม่ได้ ก็อย่าไปฝังอกฝังใจให้ป่วยการ และทำลายสุขภาพตัวเองเลย ทุกวันวานที่ผ่านไป คุณจะสูญเสียไป ๑ วัน แต่ถ้ามันผ่านไปอย่างเป็นสุข วันนั้นคือกำไรชัด ๆ เลย จิตใจที่ดี จะช่วยรักษาโรคภัยได้ ถ้าจิตใจเป็นสุข โรคก็จะหายเร็วขึ้น (ส่วนหนึ่งบทความ “เฉลียงชีวิต” เปลว สีเงิน)



นอกจากนี้เราในฐานะศิษย์พระคริสต์ เราจะอยู่ในโลกร่วมกับทุกคนอย่างมีคุณค่าอย่างไร? สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องรู้จักให้ ต้องมีเมตตากิจต่อคนอื่น เหมือนอย่างพระประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ที่มอบแนวทางกับเราในเรื่องการช่วยเหลือผู้ยากไร้ และทางวาติกันได้นำแนวคิดนี้มาจัดเป็นถ้ำหน้าพระมหาวิหารนักบุญเปโตรเพื่อสอนให้เราเห็นแก่นการบังเกิดมาขององค์กุมารน้อย พระองค์ปรารถนาให้เราทำคริสต์มาสครั้งนี้อย่างมีคุณค่า ซึ่งประกอบด้วยรูปปั้นการให้เสื้อผ้านุ่งห่มแก่ผู้ยากไร้ รูปปั้นการเยี่ยมเยียนผู้ป่วย รูปปั้นการเยี่ยมเยียนผู้ต้องขัง และการช่วยฝังศพคนยากไร้

ใช่หรือไม่ในยุคปัจจุบัน คนเราขาดน้ำจิตน้ำใจต่อกัน เราจึงไม่พบความสุขในชีวิตเท่าที่ควร เรามีเสื้อผ้าเต็มตู้แต่เราก็ใส่อยู่ไม่กี่ชุด เรามีรองเท้าไม่รู้กี่คู่ต่อกี่คู่ก็ใส่ได้ครั้งละสองข้าง ก็ลองลดจำนวนเสื้อผ้าที่ดี ๆ ที่เราไม่ค่อยสนใจจะนำมาสวมใส่ให้กับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ดูบ้าง รองเท้าที่มีกระเป๋าที่เก็บ ของที่ตั้งไว้นานปีไม่เคยได้ใช้ แบ่งปันให้กับผู้ที่ใช้ได้ จะเป็นการใช้ทรัพยากรโลกอย่างมีประโยชน์ยิ่ง

เรามีเวลามากขึ้นแต่เราก็ปล่อยไปอย่างไร้ค่า ใช้ไปกับเรื่องกิเลส แทนที่เราจะให้เวลากับผู้อื่นบ้าง เรากลับมุ่งเพียงเพื่อตัวเอง โรคที่กำลังเป็นกันมากในวันนี้คือโรคซึมเศร้า เหงาในจิต ชีวิตโดดเดี่ยว ไร้เพื่อนแท้ ชีวิตถูกกักขังอยู่ในเรือนจำเสมือนจริง มีทุกอย่างที่ขาดคือความสุข จึงจำเป็นที่เราต้องออกจากตัวเองมาพบพูดคุยกัน ให้กำลังใจกัน รับฟังแบ่งปันทุกข์สุขแก่กัน นี่ก็เป็นการเยี่ยมเยียนผู้ป่วยและผู้ต้องขังยุคดิจิตอลครองเมืองได้อย่างแท้จริง ความเมตตาที่สังคมสมัยใหม่ต้องการมากที่สุด คือ การไม่ซ้ำเติมกัน ในวันที่ใครพลาดใครพลั้งไม่ได้ จะถูกถล่มให้จมหายตายจากกันไปข้าง การฝังผู้อื่นแบบนี้ไม่ได้ทำให้โลกน่าอยู่ เราจำเป็นต้องให้อภัย และลดการกดขี่ เพราะการให้อภัยจะเป็นการช่วยให้ผู้คนจากลาโลกนี้ไปได้อย่างสงบสุข คริสต์มาสครั้งนี้ เราต้องหาคำตอบให้กับชีวิตเราว่า เกิดมาเพื่ออะไร? แล้วสิ่งนั้นเราทำผ่านมาได้มากน้อยเพียงใด อย่าปล่อยให้คริสต์มาสปีนี้ผ่านไปเพียงเพื่อรอคริสต์มาสในปีถัดไป เพราะเราไม่รู้ว่าจะอยู่ได้ถึงหรือไม่ สุขสันต์วันพระคริสตสมภพครับ

วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กี่แผ่นดิน

กี่แผ่นดิน


จำได้ว่าหลานสาวเคยบอกว่าอยากจะไปดูละครเวที สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ที่เปิดการแสดงตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้จังหวะเวลาลงตัวพร้อมกันสักที กระทั่งเมื่อสองสัปดาห์ก่อนหลานสาวบอกว่ามีผู้ใหญ่ใจดีหาตั๋วให้ได้ หลานสาวจึงได้ไปดูในขณะที่เราติดงานจึงมิอาจจะไปร่วมชมได้ และแล้ว...เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาได้รับโอกาสพิเศษ ให้เข้าไปชมรอบที่ 4 ก่อนที่จะปิดการแสดง (เป็นละครเวทีที่จัดขึ้นเป็นร้อยรอบที่รัชดาลัยเธียเตอร์) นับว่าเป็นละครเวทีที่ประสบความสำเร็จเรื่องหนึ่งของเมืองไทย ด้วยเพราะทั้งการแสดง ฉาก แสง สี เสียง ทำออกมาได้อย่างสวยงามและสมบูรณ์แบบ นักแสดงทั้งรุ่นเด็กรุ่นใหญ่ต่างแสดงและขับร้องบทเพลงสื่ออารมณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงครึ่งจึงมีแต่ความอิ่มเอม 


แน่นอน...ด้วยบทละครเรื่องนี้มาจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ชาติไทย ประพันธ์โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ใช้ตัวละครชื่อ แม่พลอยเป็นตัวดำเนินเรื่อง บอกเล่าถึงวิถีชีวิตชาววังในสมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๗ ประเทศไทยของเราพบกับการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ และวิถีการเป็นอยู่ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สุดก็ว่าได้ ส่งผลกระทบต่อหลายสิ่งหลายอย่าง มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในครอบครัว ขัดแย้งในสังคม เรื่องมาจบในรัชกาลที่ ๘ แต่ในบทละครชุดนี้ได้เพิ่มเติมเหตุการณ์การสูญเสียในหลวงรัชกาลที่ ๙ และการเริ่มต้นใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งสื่อให้เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นศูนย์รวมดวงใจของไทยทั้งชาติไม่ว่าจะยุคไหนสมัยใด
ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายไหลหลั่งมาแบบไม่ทันตั้งตัว หลายครั้งก็นำมาซึ่งความขัดแย้งทางอุดมการณ์และความอยากได้อยากมีของผู้คน บางคนก็รับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ บางคนก็ยึดถือสิ่งที่ตัวเองคิด ตัวเองเป็น จนไม่ได้อยู่กับความเป็นจริง ละครเรื่องนี้มีบทสอนหลายสิ่งหลายอย่างที่เห็นชัดคือ ชีวิตเราย่อมตั้งอยู่บนความใหม่อยู่เสมอ พบกับการเปลี่ยนแปลงทุกวันโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ แม่พลอย ก็ไม่ได้งดงามสดใสไปในทุกเรื่อง  ตรงกันข้ามส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงไปในทางขมขื่น และเจ็บปวดทุกข์ระทมเสียด้วยซ้ำ หลายฉากหลายตอนเรียกน้ำตาและเสียงสะอื้นจากผู้ชม แต่เรื่องราวเหล่านั้นกลับสอนให้เราได้เรียนรู้  เรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริงในความเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ที่จะเข้าใจว่าท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตของเราทุกคนก็ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลง “ไม่มีใครยั่งยืนคู่ฟ้า  ไม่มีคำว่าชั่วนิรันดร์”  คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “การเปลี่ยนแปลง” มักนำมาซึ่งการสูญเสียและความทุกข์ใจ แต่เรื่องราวของ “แม่พลอย” ก็สะท้อนให้เห็นว่าทุกการเปลี่ยนแปลงนั้นมีความงามในตัวมันเองเสมอ



ใช่หรือไม่ พรุ่งนี้ท้องฟ้าก็ไม่เหมือนเดิม สีฟ้ายังไม่เคยซ้ำกันในทุกวัน แม้เราจะตื่นตรงเวลาทุกวัน ในทุกวันมีสีสันของมัน ประจวบกับในยุคสมัยยุคนี้ ความรวดเร็วเป็นนิรันดร์ของการเปลี่ยนแปลง จากระบบอะนาล็อกสู่ระบบดิจิตอล จากปราณีตศิลป์ กลายเป็นสำเร็จรูปสิน(ค้า) แทน จากสังคมที่ลุ่มลึกเป็นสังคมที่หละหลวม จากเห็นส่วนรวมเป็นที่ตั้งกลายเป็นตนเป็นที่รวมศูนย์ ที่เคยแบ่งปันเป็นการแข่งขันและขัดแย้ง แน่ล่ะ... หลายคนมองว่าทำไมในทุกการเปลี่ยนแปลงมักทำให้สิ่งดีงามจางหายจนไม่เหลืออยู่เลยหรือ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ระบบที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ย่อมดีตามสภาพปัจจุบันเสมอ คนต่างหากที่ทำให้ระบบเหล่านั้นใช้การไม่ได้หรือใช้ได้แต่ไม่ดี เพราะแท้จริงแล้วจิตใจคนเรามักอ่อนแอและมีความเห็นแก่ตัว แล้วเราจะทำเช่นไร คำตอบคือ ทำใจ ที่ไม่ได้หมายความว่าทำใจยอมรับ หากแต่ทำใจให้เข้มแข็งเรียนรู้ความจริงที่เกิดขึ้น อยู่กับความจริงให้เป็น ยิ่งเห็นความจริง ยิ่งเห็นความงาม




และไม่ว่าจะกี่แผ่นดิน ย่อมไม่สิ้นซึ่งความรักที่ก่อให้เกิดความงาม วันเวลาเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเมื่อเราอายุมากขึ้น แต่อดีตมักจะฉุดรั้งให้เราลังเล โหยหาวันเวลาเก่า ๆ ให้กลับคืนมา ในความเป็นจริงสิ่งนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างย่อมไม่เหมือนเดิม นอกจากจิตวิญญาณของเราที่มั่นคงในทุกสถานการณ์ต่างหาก ที่จะทำให้เรามีคุณค่าในทุกวันเวลา ปีใหม่ใกล้เข้ามา ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป โลกกว้างขึ้น แผ่นดินใหม่ ๆ มีให้ก้าวเดินไปง่ายขึ้น มีความหลากหลาย สิ่งใหม่ ๆ จึงเข้ามาทายทักเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน วัฒนธรรมจากแผ่นดินถิ่นอื่นไหลเข้ามาจนกลายเป็นวัฒนธรรมเดียวกันเกือบทั้งโลก มาแบบที่เราไม่รู้ตัว และบางคนก็มิอาจจะปรับรับกระแสใหม่ ๆ นี้ได้ จนก่อให้เกิดความทุกข์ถึงขั้นปิดกั้น ชีวิตจึงมิได้พบความงามตามกาลเวลา ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกไม่น้อยที่ฉกฉวยประโยชน์ สร้างชื่ออวดบารมีในการเปลี่ยนแปลง จึงนำความทุกข์มาให้ผู้อื่นด้วยคิดแต่เพียงว่า นี่คือโลกที่สวยงามตามแบบที่ฉันต้องการให้เป็น สิ่งที่ทำลายสังคมมากที่สุดคือต่างคนต่างยึดโยงความคิดเห็นของตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะกี่แผ่นดิน ระบบมันดี คนที่นำมาใช้ต่างหากที่ไม่ดี เราจึงต้องมีชีวิตอยู่บนความจริงเหล่านี้ให้ได้ ชีวิตเรามีทุกข์มีสุข  เราจึงต้องค้นหาความงามตามความเป็นจริง แล้วเมื่อนั้นจิตใจเราจะมั่นคงแข็งแกร่ง พร้อมเสมอสำหรับแผ่นดินสวรรค์

วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560

จันทร์เต็มใจ

จันทร์เต็มใจ


ค่ำคืนของวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง ส่องสว่างกระจ่างใสที่สุด เป็นวันที่โลกและดวงจันทร์เคลื่อนมาอยู่ใกล้กัน เราจึงเห็นดวงจันทร์ดวงใหญ่และสว่างมาก นับว่าเป็นความโชคดีอย่างยิ่งที่คืนนั้นมีภารกิจอยู่ในต่างที่ต่างถิ่น แถวจังหวัดนครปฐมและราชบุรี มีเวลาออกมาที่โล่งแจ้งแหงนหน้าสบตากับจันทร์เจ้า ที่ตรงนี้ความสว่างจากหลอดไฟฟ้าตามอาคารก็ไม่มากมายเท่าในเมืองหลวง ไหนจะตึกสูงรบกวนและบดบังแสงธรรมชาติ เป็นอุปสรรคต่อการสบตากับดวงจันทร์ฉาย จึงได้ถือโอกาสมายืนกลางแจ้งอาบแสงจันทร์กับมิตรสหาย มีเวลาแบ่งปันความทุกข์สุขในมิตรภาพระหว่างกัน ในที่มืดจึงกระจ่าง คืนที่แสงจันทร์อิ่มเอมเช่นนี้ ก็คงมีอีกหลายชีวิตที่ต้องทุกข์ลำเค็ญ อีกหลายครอบครัวคงจมอยู่ในความมืด รอคอยความหวังถึงวันพรุ่งนี้ แม้กระทั่งหมู่มิตรที่เรารู้จักก็อาจจะยังต้องการแสงนวลชวนให้สุขอยู่บ้าง



สังคมวันนี้มักกดดันให้เราต่างคนต่างอยู่ ต่างหมู่ต่างเหล่า เราเขาไม่เข้ากัน เราจึงยึดถือประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง ไม่ค่อยจะสนใจกัน ทุกข์ใครทุกข์มัน แม้กระทั่งการวอนขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรายังวิงวอนเพื่อตัวเองมากกว่า เช่นนี้แล้วชีวิตที่เกิดมาจะหาประโยชน์อันใดได้เล่า???? ในขณะที่แหงนหน้ามองขึ้นบนฟ้าหาจันทร์นั้น ใจก็หวนถึงบทวอนจันทร์ของคนสมัยก่อนที่ว่าไว้
จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า     ขอข้าวขอแกง
  ขอแหวนทองแดง        ผูกมือน้องข้า
  ขอช้างขอม้าให้น้องข้าขี่ ขอเก้าอี้ให้น้องข้านั่ง
  ขอเตียงตั่งให้น้องข้านอน ขอละครให้น้องข้าดู
  ขอยายชูเลี้ยงน้องข้าเถิด ขอยายเกิดเลี้ยงตัวข้าเอง
ใช่หรือไม่ เราต้องวอนขอเพื่อผู้อื่นให้มากกว่าตัวเอง แต่คนสมัยนี้มักจะวอนขอเพื่อตัวเอง อยากได้ อยากมี อยากเป็น เพื่อสนองตัวตน โดยไม่ได้คำนึงถึงผู้อื่นกันเลย แม้กระทั่งในวันนี้ที่เรามีพร้อม มีความเก่ง มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น เราก็ไม่ได้นำสิ่งเหล่านี้มาก่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ซ้ำร้ายหากเกิดขาด เกิดทุกข์ เราก็มักกล่าวโทษผู้อื่นไม่เว้นแม้กระทั่งโทษดินโทษฟ้า โทษพระเจ้า ยกเว้นโทษตัวเอง

ในประเทศจีนเมื่อหลายร้อยปีก่อน ชายตาบอดคนหนึ่งไปเยี่ยมเพื่อนที่บ้าน หลังจากพูดคุยกันจนค่ำเขาก็ขอตัวกลับบ้าน เพื่อนจึงยื่นโคมให้ชายตาบอด ชายตาบอดแปลกใจ บอกว่าเขาไม่จำเป็นต้องใช้มันเพราะตาบอด เพื่อนตอบว่า “ถึงคุณตาบอดก็จริง แต่คนอื่นยังตาดี ถ้าคุณถือโคมนี้เอาไว้ เขาก็จะไม่มาเดินชนคุณ” ชายตาบอดจึงรับไป แต่ระหว่างทางปรากฏว่ามีคนมาเดินชนคนตาบอดจนล้ม เขาโกรธมาก ต่อว่าคนที่เดินมาชน ว่า “ตาบอดหรือไง ไม่เห็นหรือว่าฉันถือโคมอยู่” ชายผู้นั้นก็ขอโทษขอโพย และกล่าวว่า “สงสัยโคมที่คุณถือมันดับไปนานแล้ว” เรื่องก็จบเท่านี้ เป็นนิทานสั้นๆ แต่ก็สอนใจได้ดีทีเดียว
นิทานเรื่องนี้สอนเราว่า อย่านึกถึงประโยชน์ของตนเพียงอย่างเดียว ให้นึกถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย ขณะเดียวกันเวลามีปัญหาอะไรก็อย่ามัวโทษคนอื่นอย่างเดียว ให้ย้อนกลับมาดูตัวเองด้วย ชายตาบอดไม่จำเป็นต้องใช้โคมก็จริง แต่มันเป็นประโยชน์ช่วยให้คนอื่นมองเห็นทาง จะได้ไม่เดินชนชายตาบอด บางสิ่งบางอย่างอาจไม่จำเป็นสำหรับเรา แต่มันอาจเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น อย่างคนบางคนอาจจะอยู่กับความอึกทึกครึกโครมได้ แต่ก็ไม่ควรไปสร้างความอึกทึกให้กับใคร คนอื่นเขาอาจจะต้องการความสงบก็ได้ อันนี้เป็นคุณธรรมพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคม คือรู้จักเผื่อแผ่ถึงคนอื่น หรือมองในมุมของคนอื่นบ้าง แต่ขณะเดียวกันเวลามีปัญหา เราก็อย่ามองไปที่คนอื่นอย่างเดียว ให้ย้อนกลับมามองที่ตัวเองด้วย เพราะสาเหตุอาจเกิดที่ตัวเราเองก็ได้ อย่างชายตาบอด โทษคนที่มาเดินชนเขา แต่ที่จริงเป็นเพราะโคมของเขามันดับไปนานแล้วต่างหาก
นิทานเรื่องนี้บอกให้เราเห็นถึงนิสัยใจคอของคนส่วนใหญ่ คือเห็นแต่ความผิดของคนอื่น แต่ไม่เห็นความผิดพลาดของตัวเอง ขณะเดียวกันก็เห็นแต่ประโยชน์ของตัวเอง ลืมนึกถึงประโยชน์ของผู้อื่น ตรงข้ามกับคนดีมีธรรมะ เขาจะไม่ได้มองเพียงแค่ประโยชน์ของตัว แต่จะคำนึงถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย ส่วนเวลามีปัญหาก็จะไม่มัวโทษคนอื่นอย่างเดียว แต่จะย้อนกลับมาดูตัวเองด้วย นี้เป็นคุณธรรมพื้นฐานของคนดี จะว่าไปแล้วการคำนึงถึงประโยชน์ของคนอื่นนั้น ก็ส่งผลดีต่อตัวเราเองด้วย (ส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง เห็นนอก เห็นใน โดยพระไพศาล วิสาโล)


เวลาใกล้สิ้นปีอีกครั้งหนึ่งกำลังจะมาถึง ดวงจันทร์มีขึ้นมีลงมีมืดมิดมีสว่าง แต่ไม่เคยจะละทิ้งหน้าที่เพื่อผู้อื่น เต็มใจในการให้ความงามในยามมืดมิดเสมอ ในเวลาเช่นนี้สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงบ่อย ๆ ทบทวนวันเวลาที่ผ่านมา เราได้เติมเต็มให้กับผู้อื่นมากน้อยเพียงใด เป็นผู้ให้หรือเป็นผู้รับมากว่ากัน เป็นผู้เห็นใจเต็มใจเพื่อคนรอบข้าง หรือเป็นเพียงคนที่คอยเรียกร้องแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีความสุขใดเทียบเท่ากับความสุขของผู้ที่เต็มใจให้ หากไม่เชื่อก็ลองทำดู...

วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เที่ยวแรก

เที่ยวแรก


เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ต้องมาสนามบินดอนเมือง แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนทุกครั้งที่มา เหตุเพราะว่า การมาครั้งนี้มิได้มาเพื่อเดินทางไปที่ไหน แต่เป็นการมาเพื่อส่งน้องชายไปร่วมต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสที่ประเทศพม่า หรือเมียนมาร์ ซึ่งมีการนัดหมายกับกลุ่มคณะผู้ร่วมเดินทางในตอนเช้ามืด และเนื่องจากเป็นครั้งแรก ๆ ที่น้องคนนี้ต้องเดินทางออกนอกประเทศเพียงลำพังด้วยเครื่องบิน เป็นกังวลว่าจะทำอะไรไม่ถูกจึงอาสามาส่ง โดยบอกว่าจะไม่ขับรถไปเพราะอาจจะมีความลำบากในการหาที่จอด และจะทำให้ไม่สามารถช่วยดูแลแนะนำเรื่องการเช็คอินและการพบกับคณะที่ร่วมเดินทางไปในงานนี้ได้ จึงตกลงกันว่าจะไปแท็กซี่ตอนตีสามครึ่ง ซึ่งเวลานัดหมายคือตีสี่ครึ่ง เมื่อจัดการให้น้องได้ตั๋วได้พบกับคณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็กลับ ดูเวลาก็เกือบ ๆ จะตีห้า เช็คเวลารถเมล์พิเศษจากสนามบินเปิดบริการ 7 โมงเช้า รถไฟฟ้าเที่ยวแรกตีห้าสิบห้า เลยตัดสินใจเดินออกมารอรถเมล์หน้าสนามบิน (ถิ่นคุ้นเคย เพราะเคยอาศัยอยู่แถวนี้มาก่อนจึงรู้ทางดี)


ถนนค่อนข้างโล่งทีเดียว สักพักมีรถเมล์สาย 29 วิ่งมา สายนี้จะผ่านสถานีรถไฟฟ้าที่สวนจตุจักร คิดคำนวณเวลาแล้วน่าจะไปถึงพอดีเที่ยวแรกของรถไฟฟ้า ในขณะที่ขึ้นไปนั้นก็คิดว่านี่เป็นเที่ยวแรกของรถเมล์คงไม่ค่อยมีผู้โดยสารสักเท่าไร!!! แต่ที่ไหนได้ เต็มคัน ถึงกับต้องยืนเบียดเลยทีเดียว สังเกตเห็นผู้คนที่นั่งอยู่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ บางคนมีถุงข้าวปลาอาหารติดมือมาด้วย ความคิดผุดขึ้นหลายอย่าง ประเทศเรายังมีคนที่ต้องดิ้นรนหากินตั้งแต่เช้าแบบนี้อีกมากมาย แต่ละคนพยายามที่จะออกจากบ้านแต่เช้าเพื่อหลีกหนีรถติด ใช่หรือไม่ เราคงโชคดีกว่าคนอื่นอีกหลายต่อหลายคน แม้จะไม่ร่ำรวยล้นฟ้าแต่ก็ไม่เป็นหนี้เป็นสินใคร มีชีวิตที่อยู่ได้สบาย ๆ ไม่เดือดร้อน คนที่ได้นั่งก็นั่งหลับกันเกือบทุกคน ในเวลาปกติแบบนี้เราคงนอนหลับสบายอยู่บนเตียง ในห้องแอร์เย็น ๆ นี่หรือวิถีคนเมืองที่ต้องเริ่มต้นก่อนตะวันและจบลงตรงที่บ้านโดยมิได้เห็นการร่ำลาของแสงแห่งวันเลย
ใช้เวลาไม่นานก็มาถึงสถานีรถไฟฟ้า BTS จตุจักร สถานีเพิ่งเปิด ประตูเหล็กเปิดอยู่ด้านเดียว ทีแรกคิดว่ายังไม่ได้เปิดให้บริการ เมื่อขึ้นมาถึงขบวนรถเที่ยวแรกจอดรออยู่ เริ่มมีผู้คนนั่งเกือบจะเต็มขบวน แม้เราไม่ได้เป็นคนแรกที่มาถึงแต่ก็ร่วมอยู่ในขบวนของเที่ยวแรก จากนั้นก็มาต่อรถอีกขบวนที่สยามเพื่อมาต่อรถเมล์ BRT เพื่อกลับบ้าน เป็นการเดินทางที่ใช้รถสาธารณะคุ้มค่าจริง ๆ มาถึงสถานีช่องนนทรีก่อน 6 โมงเช้า ก็เพิ่งรู้ว่าบริการรถ BRT นี้เที่ยวแรกเริ่ม 6 โมงเช้า ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว รออีกประมาณสิบนาที จึงได้เข้าสถานีและได้ขึ้นรถ มีผู้โดยสารเพียง 3-4 คน เนื่องจากตรงนี้ไปถึงบ้านถือว่าเป็นขาออกเมืองจึงไม่ค่อยมีผู้โดยสาร มาถึงสถานีใกล้บ้านเหลือเพียง 2 คน เช้านี้จึงถือว่าเราเริ่มต้นชีวิตด้วยในเที่ยวแรกของการเดินทาง

แล้วในถนนชีวิตเรา เที่ยวแรกของเราเป็นเช่นไร เราต่างก็อยากเป็นที่หนึ่ง เป็นคนแรกในทุก ๆ เรื่องเสมอ แล้วเราก็ภาคภูมิที่ได้เป็นคนแรก ๆ ถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ก็มีหลายคนหวังเที่ยวแรกเพื่อหลีกหนีความยากลำบาก  ไม่ได้หวังไกลไปให้ถึง ไปให้ทันเป็นอันเพียงพอ หรือ บางคนเที่ยวแรกคือกิจวัตรประจำวันที่ไม่มีทางเลือก ใช่หรือไม่ ในชีวิตจริงเราแต่ละคนต่างก็เคยเป็นคนเที่ยวแรกด้วยกันทั้งนั้น เที่ยวแรกของเราอาจจะเต็มไปด้วยความสุขความร่าเริงบันเทิงใจ เที่ยวแรกของอีกหลายล้านคนอาจจะเต็มไปด้วยความทุกข์ยาก แต่อย่าลืมว่าเที่ยวแรกนั้นจะนำไปสู่เที่ยวต่อ ๆ ไปเสมอ ถ้ามีความสุขก็จงเก็บนำความสุขให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน และหากเที่ยวแรกมีความยากลำบากก็จงพยายาม สร้างความหวัง บนหนทางข้างหน้า เพื่อสักวันหนึ่งเที่ยวแรกแห่งความสุขจะบังเกิดขึ้นในไม่ช้า สิ่งสำคัญอื่นหมด เที่ยวแรกของเราได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใดบ้าง???อย่าเป็นเที่ยวแรกที่เบียดบังเอาเปรียบผู้อื่น



สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส เสด็จเยือนประเทศเมียนมาร์เป็นครั้งแรกของพระองค์ สำนักข่าวต่างก็จับจ้องและพยายามโยงเข้าสู่ประเด็นทางการเมือง จนกระทั่งติดตามดูว่าพระองค์จะตรัสคำว่า โรฮินจา หรือไม่ นี่ก็ช่างห่างไกลกับความเป็นจริงและไม่เข้าใจถึงพระภารกิจแห่งรักที่พระองค์ทรงกระทำ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเคยตรัสว่า อย่าหาวิธีการให้เขามานับถือศาสนาของเรา ตรงกันข้าม เราต้องช่วยให้ผู้อื่นเจริญชีวิตที่ดี ให้ความรักของพระเจ้าผ่านทางตัวเราไปสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ยากไร้ และได้แสดงสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้นำในรัฐสภาเมียนมาร์ตอนหนึ่งว่า สมบัติอันล้ำค่าที่สุดของเมียนมาร์ คือ ประชาชนของตน และพวกเขาได้รับความทุกข์ทรมานจากความขัดแย้ง  และการสู้รบที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน สร้างความแตกแยกจนหยั่งรากลึก ศาสนาจึงมีส่วนสำคัญที่จะฟื้นฟูสันติภาพและรักษาบาดแผลเหล่านี้ ความแตกต่างทางศาสนา ไม่จำเป็นต้องเป็นต้นเหตุของการแบ่งแยกและความไม่ไว้วางใจกัน แต่ต้องเป็นพลังแห่งความสามัคคี และการให้อภัยกัน



นี่เป็นเที่ยวแรกที่สันติภาพได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นเที่ยวแรกที่งดงามและน่าจดจำ เที่ยวแรกเพื่อผู้อื่นย่อมมีคุณค่ามากกว่าเที่ยวแรกที่แย่งชิงมาเพื่อตัวเอง.