วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เพราะรัก จึงภักดี

เพราะรัก จึงภักดี
เย็นวันจันทร์
ด้วยความคุ้นเคยของคนคุ้นชินที่มักแวะเวียนไปจับจ่ายดอกไม้ที่ปากคลองตลาด ในวันนี้ ณ ที่ตรงนี้ไม่เหมือนเดิม ถนนถูกปิด ปกคลุมไปด้วยดอกไม้ที่สวยงาม ชุมชนและพ่อค้าแม่ขายดอกไม้ต่างร่วมใจภักดิ์ ช่วยกันทำให้บริเวณนี้กลายเป็นสวนสวย ดอกไม้เพื่อพ่อถูกเนรมิตขึ้นอย่างงดงาม ในเย็นวันนั้นผู้คนต่างหลั่งไหลมาเยี่ยมชม จนแทบไม่มีช่องว่างทางเดิน คนจัดงานจึงต้องจัดการเพื่อให้ทุกคนเข้าชมได้อย่างทั่วถึง ด้วยการปล่อยทีละชุดประมาณชุดละ 50 คน ที่เหลือก็ยืนรอ แม้จะร้อนและแออัด แต่ด้วยคำพูดที่ผู้ดูแลจัดการแถวได้พูดถึงความรักที่เรามีต่อพ่อหลวง ทำให้ทุกคนมีใจเป็นหนึ่ง เกิดพลังรักสามัคคี ถ้อยทีถ้อยอาศัย จนทำให้การรอนั้นไม่ได้ใช้เวลานานนัก เมื่อทุกคนอยู่ในระเบียบไม่เอาเปรียบกัน ก็เกิดความราบรื่น เนื่องเพราะเรารักพ่อหลวง เราจึงรักทุกคนที่เป็นลูกพ่อเหมือนเรา


เย็นวันอังคาร
สายฝนกระหน่ำใส่เมืองหลวงอีกรอบ ในวันที่มีประชาชนจากทั่วสารทิศมาจับจองที่ว่างใกล้กับท้องสนามหลวง ยอมตากแดดตากฝน สู้อดทนเพื่อร่วมชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ อย่างใกล้ชิด และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรพ่อหลวงผู้สถิตในใจไทยนิรันดร์ จิตอาสา เจ้าหน้าที่ ต่างเต็มใจที่จะคอยอำนวยความสะดวก เห็นปวงชนคนไทยไม่ท้อถอย อดทนรอเพื่อน้อมเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว ยิ่งเห็นเลยว่าไม่มีคนชาติไหนในโลกที่รักกษัตริย์ถึงเพียงนี้ เพราะพระองค์ท่านรักคนไทย เราคนไทยจึงรักและอาลัยต่อพระองค์ท่านอย่างสุดจิตสุดใจ


เช้าวันพุธ 
วันที่ต้องส่งต้นฉบับ ตื่นเช้ามาอ่านข่าวสาร เห็นบรรยากาศเช้านี้ที่ผู้คนมุ่งหน้าสู่บริเวณพื้นที่พระราชพิธี ท้องสนามหลวง ทยอยเข้าจุดคัดกรองบริเวณต่าง ๆ ได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านมากขึ้น เรื่องหนึ่งที่ได้อ่านเจอในเพจของคุณวินทร์ เลียววาริณ ยิ่งทำให้เราคิดถึงและรักในหลวง รัชกาลที่ ๙ สุดจิตสุดใจ ทุกพระราชกรณียกิจ พระองค์มีความรักอยู่ในทุกกรณีที่ทรงกระทำจริง ๆ 
ทางขึ้นดอยเป็นดินสีแดง เป็นหลุมเป็นบ่อ โคลนหนาเฉอะแฉะ รถคืบคลานขึ้นไปอย่างเชื่องช้า กระนั้นพระองค์ก็เสด็จมาถึงจนได้
เขากับชาวบ้านรอรับเสด็จด้วยใจยินดี เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง ได้พระราชทานแกะ ไก่ แพะ ให้เขานำไปแจกจ่ายชาวบ้านเขาสืบเชื้อสายเผ่าลาหู่ ปักหลักบนดอยนี้มาตั้งแต่จำความได้  บรรพบุรุษของเขาอพยพมาจากทิเบตตอนใต้ มาอยู่ที่ภาคเหนือนานกว่าศตวรรษแล้ว เขากราบทูลรายงานว่า ชาวบ้านบนดอยยังคงทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น มองไม่เห็นว่าจะแก้ปัญหายาเสพติดนี้ได้อย่างไร พระองค์ทรงสดับตรับฟังเงียบ ๆ 
สองปีต่อมา พระองค์เสด็จกลับมาอีกครั้ง คราวนี้สิ่งที่ทรงติดมาด้วยคือกล้าไม้ มันคือชาพันธุ์อัสสัม หน้าที่ของเขาคือปลูกและขยายพันธุ์ส่งต่อให้ชาวบ้านปลูกแทนฝิ่น เขานำชาลงดิน มันเป็นชาต้นแรกที่ได้ฝังรากฝากชีวิตในผืนแผ่นดินนี้ และพวกเขาก็จะฝากชีวิตกับมัน 
ภาพ  http://www.chiangmainews.co.th/page/wp-content/uploads/2016/11/p-115-1.jpg
วันเดือนปีเคลื่อนผ่าน ไร่ฝิ่นแปลงเป็นไร่ชาเขียวขจีทั่วหุบเขา ต่อมาก็ขยายเป็นพื้นที่ปลูกผลไม้เมืองหนาว หลังจากปลูกชาและพืชเมืองหนาวแล้ว พบปัญหาการจำหน่าย พระองค์ก็ทรงมอบเงินทุนให้เขาเปิดร้านค้าชาวเขา เป็นศูนย์กลางรับผลผลิตของชาวบ้านมาจำหน่าย ตรัสกับเขาว่า “อย่าทอดทิ้งชาวบ้าน” พระองค์ไม่เคยทอดทิ้งพวกเรา... เขาคิด ฉันจะทอดทิ้งชาวบ้านได้อย่างไร : คุณตาจะฟะ ดอยปู่หมื่น ราษฎรในรัชกาลที่ 9 ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 11 พฤศจิกายน 2559
(วินทร์ เลียววาริณราษฎรในรัชกาลที่ 9)

ภาพ https://www.thairath.co.th/media/CiHZjUdJ5HPNXJ92GP7JM7OSC87VTbERS6.jpg

วันพฤหัสฯ วันที่ยังมาไม่ถึงและไม่อยากให้มาถึง
เป็นวันที่บทความนี้ส่งไปแล้ว วันนี้คงเป็นวันเศร้าๆ เหงาหงอยที่สุดของประเทศไทย ไม่อยากให้มีวันพฤหัสฯ ที่ 26 ตุลาคม 2560 เป็นวันที่อยากจะขอข้ามผ่าน นี่เป็นความรู้สึกของเราทุกคน ใช่หรือไม่ วันเวลาเป็นมาเช่นนี้ และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป มีพบมีจาก มีรู้จักมีบอกลาหากหัวใจเต็มด้วยรัก ความภักดีก็ไม่มีเสื่อมคลาย จากวันนี้ไปเราต้องร่วมกันเดินหน้า ทำหน้าที่ของคนผู้หนี่งซึ่งมีความรักเป็นธงนำหน้า มอบรักเมตตาให้กัน จดจำพระองค์ท่านด้วยการทำตามสิ่งที่พระองค์ท่านมอบหมายพระแบบฉบับไว้เป็นปลายทางหมายหมุดของการดำเนินชีวิตให้เรา ภักดีต่อพระองค์ท่านก็อย่าลืมที่จะรักเมตตาอาทรต่อกันตลอดไป แล้วพระองค์ท่านจะสถิตอยู่กับเราเป็นนิรันดร...

ไม่มีความคิดเห็น: