ทางฝนทางคน
ในระหว่างทางกลับจากการไปหาซื้อต้นดาวเรืองแถว ๆ บางใหญ่ บางบัวทอง
เกิดมีฝนเทกระหน่ำลงมาจนแทบมองไม่เห็นทาง ทำให้การตระเวนหาซื้อต้องยุติลง
เนื่องด้วยในแต่ละร้านราคาสูงขึ้นตามกลไกตลาด มีคนนิยมมากก็ดันให้ราคาขึ้นสูง จะหาร้านถูก
ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หรือว่าฟ้าบอกทำเท่าที่ควรเป็นพอดีแล้ว
ต้นดาวเรื่องก็แค่เครื่องประดับสัญลักษณ์ภายนอกที่แสดงถึงความเคารพภักดีต่อพระองค์ท่านในหลวงรัชกาลที่
๙ ไม่ต้องมีมากก็ได้
ขอให้เราเดินบนทางแห่งความดีนี่ต่างหากคือความภักดีที่มิมีวันเสื่อมคลาย
ในวันที่ ๑๓ ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบหนึ่งปีที่พ่อหลวงอันเป็นที่รักของเราเสด็จสู่สวรรคาลัย ตั้งแต่เช้าพสกนิกรต่างออกมาทำบุญ มีพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนาของแต่ละคน เพื่อดวงพระวิญญาณฯ ในช่วงดึก ๆ ฟ้าร้องไห้ขนาดใหญ่ จำได้ว่าตื่นมาด้วยความงัวเงีย เพื่อดูว่ามีน้ำรั่วน้ำไหลเข้าบ้านตรงไหนบ้างหรือเปล่า พอรุ่งเช้าข่าวสารไหลหลั่งดั่งฟ้าฝนเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา หลายที่หลายทางเต็มไปด้วยน้ำฝน ทางกลายเป็นลำธารน้ำอย่างดี รถกลายเป็นเรือ หรือว่า ทุกสรรพสิ่งถึงเวลาก็ต้องกลับคืนสู่สภาพเดิม ใช่หรือไม่ กรุงเทพฯ เราเคยมีลำคลอง ลำน้ำ ใช้เรือสัญจร แต่เราแปลงบ้านสร้างตึกเพื่อพัฒนาให้ก้าวไกล โถมที่จนลำคลองไม่มีให้เห็น พัฒนาเป็นท่อฝั่งดินที่ไม่รู้ว่าจะตันตรงไหนบ้าง เห็นความเดือดร้อนของผู้คนก็ยิ่งคิดถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ เพราะพระองค์ท่านทรงศึกษาวิจัยเรื่องน้ำไว้มากมาย เมื่อเมืองน้ำลำคลองหายพระองค์ท่านก็คิดทำโครงการแก้มลิง ผันน้ำลงไปกักเก็บ เวลามีน้ำหลาก ที่ใดมีความเดือดร้อนพระองค์ท่านจะคิดจะหาทางแก้ไขโดยเร็ว
ย้อนกลับไปท่ามกลางสายฝนระหว่างทางกลับวันนั้น
ต้องจอดรถข้างทางรอฝนซา ครั้นจะลงไปดูต้นไม้อีกก็ลงไปไม่ได้ ครั้นจะเดินทางต่อก็ไม่ไหว
หยุดพักรถคือทางที่ดีที่สุด ทางของคนเราบางที
ก็ต้องพักระหว่างทางบ้างเพื่อจะได้ก้าวเดินหน้าต่อไป ในระหว่างทางทุกข์ยาก
ในระหว่างที่พักอยู่นั้น หากเราได้รับกำลังใจเพียงน้อยนิด
ชีวิตของเราก็มีกำลังมากขึ้น ลุกเดินก้าวต่อไป
ใครที่ให้น้ำเพียงแก้วเดียวแก่ผู้หิวโหย ก็เหมือนให้ชีวิตแก่คนผู้นั้น
ในหนทางของคนเรา การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะสถิตอยู่ในใจเป็นนิรันดร์ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
จะมีสักกี่คนที่ทำได้เช่นนั้น เราผู้ที่ยังเดินอยู่ในเส้นทางที่มีลมหายใจอยู่นี้
ขอแค่เรามีจิตใจเอื้อเกื้อกูลกันเพียงเล็กน้อย
เราก็เป็นผู้สร้างทางแห่งความหวังให้กับผู้คน
ทางแห่งความหวังก็จะเป็นทางแห่งความงดงามตลอดไป พระแบบฉบับของในหลวงรัชกาลที่ ๙
ได้ทำให้เราชาวไทยได้มีหนทางชีวิตที่งดงามขึ้นได้ไม่มากก็น้อย
พระองค์ท่านเริ่มต้นภารกิจแห่งรัชกาลครั้งแรกด้วยการเห็นอกเห็นใจ
ก็ทำให้ปวงประชาที่ตกอยู่ในทางทุกข์ยากได้ลืมความลำบากและลุกขึ้นยืนนำมาซึ่งความผาสุก ตราบจนทุกวันนี้
เสด็จเยี่ยมราษฎรครั้งแรกในรัชกาล... วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ตลาดบ้านโป่ง จ.ราชบุรี ราษฎรได้รับความเดือดร้อนครั้งนี้อย่างมาก หลายคนหมดเนื้อหมดตัวจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่ในขณะที่ชาวตลาดบ้านโป่งกำลังท้อแท้สิ้นหวังกันอยู่นั้น
ในวันที่ ๑๓ กันยายน เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
๙ และสมเด็จพระบรมราชินี ทรงขับรถพระที่นั่งมายังที่เกิดเหตุด้วยพระองค์เอง
พร้อมด้วยสมุหราชองครักษ์ โดยไม่มีหมายกำหนดการ และไม่มีใครได้รู้ล่วงหน้า
ทั้งนี้ทรงมีพระราชประสงค์มิให้เจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังมีภาระช่วยเหลือราษฎร
ต้องวางมือมารับเสด็จ
ทรงขับรถพระที่นั่งออกจากพระที่นั่งอัมพรสถานโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถวายอารักขาก็ไม่ทราบ
ตามมาทันก็ต่อเมื่อทรงแวะเสวยพระกระยาหารที่พระที่นั่งชาลีบรมอาสน์
พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม
รถยนต์พระที่นั่งได้วนรอบบริเวณที่เกิดอัคคีภัย ทรงไต่ถามทุกข์สุขของผู้ประสบอัคคีภัย
นายแม้น อรจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
ซึ่งกำลังดูแลการช่วยเหลือประชาชนอยู่
ได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลถวายรายงานและอัญเชิญเสด็จไปประทับบนที่ว่าการอำเภอบ้านโป่งซึ่งรอดจากไฟ
ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๑ แสนบาท พร้อมให้เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ อ.ส.
นำเสื้อผ้าอาหารและยารักษาโรคไปพระราชทานแก่ผู้ประสบทุกข์ เสด็จกลับเมื่อเวลา
๑๕.๓๐ น.
การเสด็จเยี่ยมตลาดบ้านโป่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี ในขณะที่ราษฎรกำลังทุกข์สาหัสครั้งนี้ ทำให้หัวใจที่ห่อเหี่ยวสิ้นหวังของชาวตลาดบ้านโป่ง กลับมีชีวิตชีวา มีพลังที่จะเผชิญชีวิตกันต่อไป และเป็นเรื่องราวที่เล่าถ่ายทอดให้ลูกหลานได้รับรู้ถึงความประทับใจมาจนทุกวันนี้
การเสด็จเยี่ยมตลาดบ้านโป่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี ในขณะที่ราษฎรกำลังทุกข์สาหัสครั้งนี้ ทำให้หัวใจที่ห่อเหี่ยวสิ้นหวังของชาวตลาดบ้านโป่ง กลับมีชีวิตชีวา มีพลังที่จะเผชิญชีวิตกันต่อไป และเป็นเรื่องราวที่เล่าถ่ายทอดให้ลูกหลานได้รับรู้ถึงความประทับใจมาจนทุกวันนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น