หยุดเพื่อก้าวต่อไป
ในระหว่างทางขับรถไปทำภารกิจที่หัวหิน ขณะที่ต้องผ่านวังไกลกังวล
ได้พูดกับทุกคนในรถว่า “พวกเรากำลังจะผ่านบ้านพ่อ” โดยไม่ต้องกล่าวอะไรต่อ ทุกคนต่างยกมือไหว้กราบสวัสดีพ่อหลวงผู้สถิตในดวงใจเราทุกคน
เพียงผ่านประตูรั้ววังความรู้สึกว่าคิดถึงพระองค์ท่านก็พลันบังเกิดขึ้นอย่างมากมาย
พระองค์ผู้ที่เราคนไทยทั้งประเทศกำลังเศร้าอาลัยต่อการจากไปแบบไม่มีวันหวนคืนกลับมาจนมาถึงวันครบหนึ่งปี
มีเรื่องราวมากมายที่ทิ้งความทรงจำอันงดงามไว้ให้เราได้เรียนรู้ ให้เราได้มีกำลังใจในการก้าวต่อไปในวันข้างหน้า
ด้วยการช่วยกันสร้างความดีต่อสังคม ต่อผู้อื่น
การจากลาของใครคนใดคนหนึ่งมีค่าควรจดจำนั่นเป็นผลมาจากการกระทำตอนที่มีลมหายใจอยู่
เมื่อมาถึงที่หมายมีเวลามายืนริมหาดมองดูผู้คนผ่านไปผ่านมา เราไม่ใคร่จะสนใจใยดีนักว่าคนเหล่านั้นเป็นใครมาจากไหน
เราเหมือนต่างคนต่างผ่านกันเลยไป ความเป็นพี่น้องคนไทยน้อยลงไปทุกที เราต่างคนต่างอยู่
ต่างคนต่างเก็บเกี่ยวและกอบโกย ต่างคนต่างไม่ใส่ใจกันแม้กระทั่งคนในสถานที่เดียวกัน
ยังต่างคนต่างอวดเบ่ง ต่างคนต่างดูแคลนหยามหยันกัน อาจจะด้วยฐานะ
ด้วยตำแหน่งที่ใหญ่กว่า จนอดคิดไม่ได้ว่า พระองค์ท่านผู้ที่เป็นเจ้าแผ่นดิน บ่อยครั้งท่านมิได้อวดใหญ่อวดโต
รู้จักที่จะเคารพต่อผู้อื่นตลอดมา ดังมีผู้ทำงานใกล้ชิดได้เล่าไว้ในหลาย ๆ เรื่อง
25 พ.ย. 2535 ดึกคืนนั้นในหลวง ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง Jeep Wagoneerด้วยพระองค์เองไปยังลำพะยัง บ้านกุดตอแก่น
เพื่อวางแผนจะสร้างอ่างเก็บน้ำไว้กักเก็บน้ำให้ชาวบ้าน
ทรงขับไปยังพื้นที่ที่เต็มไปด้วยถนนขรุขระสุดๆ เป็นทางเกวียน ชายป่าละเมาะ
รถกระเด้งกระดอน พอถึงก็เสด็จพระดำเนินต่อ ท่ามกลางความมืดไปในทุ่งนาตะปุ่มตะปุ่ม
โดยมีไฟฉายของมัคคุเทศน์ส่องนำทางเท่านั้น พอถึงสระบัวของชาวบ้าน
มีรั้วลวดหนามกั้นอยู่ เส้นทางต้องผ่านที่นี่เข้าไป ในหลวงทรงห้ามไม่ให้ตัดลวดหนาม
โดยทรงให้เจ้าหน้าที่ถ่างลวดหนาม แล้วพระดำเนินมุดรั้วลวดหนามเข้าไป
“
ความรู้สึกของผม (อธิบดีกรมชลประทานที่ตามเสด็จ) ขณะนั้นบอกไม่ถูก นึกรำพึงในใจว่า
จะมีพระเจ้าแผ่นดินหรือประมุขของประเทศไหนหนอในโลกนี้
ที่จะทรงตรากตรำพระวรกายดั้นด้นจนถึงขั้นทรงมุดรั้วลวดหนาม
เพื่อเสด็จไปทรงหาน้ำให้ราษฎร ยิ่งกว่านั้นพระองค์ท่านทรงหันกลับมามีพระราชดำรัสเตือนว่า....”
“อธิบดีอย่าลืมซ่อมรั้วให้เขานะ”
คืนนั้นขณะที่คนไทยกำลังดูละคร หรือหลับไปแล้ว แต่ ณ บ้านกุดตอแก่น
ชายชราวัย 65 กำลังทำงานหนักเพื่อหาหนทางช่วยเหลือลูก ๆ (เรื่องราวของพณฯท่านสวัสดิ์
วัฒนายากร องคมนตรีและอธิบดีกรมชลประทานสมัยนั้น ~จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะองคมนตรี)
และด้วยความที่เริ่มจะคุ้นเคยกับคุณลุงสีผู้มีอาชีพขายอาหารริมชายหาด
ที่เมื่อไปครั้งใดเป็นต้องถามทุกข์สุขต่อกันและกัน และมักได้รับบริการที่ดี
ลุงมิได้กระทำการแบบนี้ต่อคนใดคนหนึ่ง
แต่ต่อทุกคนที่เข้ามาสั่งหรือเพียงผ่านหน้าร้านลุง
หลายครั้งนั่งดูลุงต้อนรับแขกทั้งคนไทยและคนต่างชาติแบบมีสัมมาคารวะ แบบเป็นกันเอง
ทั้ง ๆ ที่อายุลุงไม่ได้มากขนาดแก่หง่อม แต่ทุกคนเรียกว่า “ลุง”ได้เต็มปากเต็มคำก็เพราะความเอาใจใส่ต่อผู้คนดั่งผู้ใหญ่ใจดี
บางทีคนเราก็วัดกันที่อายุไม่ได้ เราให้คุณค่าคนที่การกระทำมากกว่า
เคยคุยกับลุงว่าดูอายุไม่เยอะเรียกพี่ได้มั๊ย ลุงสีหัวเราะแล้วบอกว่า “คนแถวนี้เขาเรียกกันแบบนี้” นี่เป็นความน่ารักแบบไทย
ๆ การเรียกขานตัวเองเพื่อให้ดูเหมือนว่าเป็นญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น
เหมือนเวลาพระองค์ท่านออกเยี่ยมประชาชน พระองค์ท่านมักจะให้ความเคารพและแสดงความใกล้ชิดอย่างสนิทใจต่อทุกคนที่เสด็จเยี่ยม
วันหนึ่งพระองค์ท่านเสด็จฯ
เยี่ยมเยียนพสกนิกรของท่านตามปกติที่ต่างจังหวัด ก็มีชาวบ้านมาต้อนรับในหลวงมากมาย
ซึ่งพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาตามลาดพระบาทหลวง
ทีนี้ที่แถวหน้าก็มีหญิงชราแก่คนหนึ่งได้ก้มลงกราบแทบพระบาทแล้วก็เอามือของแกมาจับพระหัตถ์ของในหลวง
แล้วหญิงชราท่านนั้นก็พูดว่า ยายดีใจเหลือเกินที่ได้เจอในหลวง
แล้วก็พูดกับในหลวงว่ายายอย่างโน้น ยายอย่างนี้ อีกตั้งมากมาย แต่ในหลวงก็ทรงเฉย ๆ
มิได้มีพระราชกระแสตอบว่ากระไร
ทีนี้พวกข้าราชบริพารก็มองหน้ากันใหญ่
กลัวว่าพระองค์จะทรงพอพระราชหฤทัยหรือไม่ แต่พอพวกเราได้ยินพระองค์รับสั่งตอบกับหญิงชราคนนั้น
ก็ทำให้เราถึงกับกลั้นหัวเราะไว้ไม่ไหว เพราะพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า “เรียกว่ายายได้อย่างไร อายุอ่อนกว่าแม่ฉันตั้งเยอะ
ต้องเรียกน้าซิ ถึงจะถูก !”
ใช่หรือไม่ แม้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงแห่งการสูญเสีย
และช่วงที่จะมีพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลายคนไม่อยากจะให้ถึงเวลาช่วงนั้น
หลายคนอยากจะให้ผ่านพ้นไปโดยไม่มีพิธีในวันนั้นเกิดขึ้น เราหยุดเวลาไม่ได้
แต่เราหยุดพักจิตพักใจได้
และนำบทเรียนของพระองค์ท่านนำมาเลียนแบบแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม
เพื่อเราจะก้าวหน้าเดินต่อไปตามรอยพระองค์ท่าน…
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น