ในเก่ามีใหม่
ในใหม่มีเก่า
ระหว่างที่กำลังครุ่นคิดออกแบบปกบทเพลงฉลองครบ 60
ปีวัดเซนต์หลุยส์อยู่นั้น คุณพ่อชาญชัย
พ่อเจ้าวัดได้จุดประกายว่าน่าจะใช้ภาพมุมเดียวกันของภาพสมัยเมื่อ 60
ปีที่แล้วกับภาพสมัยใหม่ จึงเกิดความคิดที่จะนำรูปเก่าขาวดำเข้าไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือที่เป็นอุปกรณ์บันทึกภาพสมัยใหม่โดยมีพื้นภาพสีของสมัยใหม่
ส่วนด้านหน้าใช้ภาพเก่าเป็นพื้น แล้วนำภาพสมัยใหม่มาใส่ในกรอบรูป
ให้เหมือนในสมัยหนึ่งเวลาที่เราจะระลึกถึงใคร เหตุการณ์ใด
เราก็มักจะนำรูปถ่ายเก่าที่เก็บใส่อัลบั้มออกมาดู ภาพทุกภาพที่เราถ่ายเก็บไว้ล้วนมีความหมายในวันเวลาที่ผ่านไปด้วยกันทั้งนั้น
การกระทำทุกอย่างก็เช่นกันล้วนมีความหมายทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้างด้วย
นี่จึงเป็นความทรงจำที่เราเป็นผู้สร้าง เป็นผู้ร่วมก่อ
เป็นผู้ร่วมมือไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ในการฉลองครบ 60 ปี ของวัดเซนต์หลุยส์ เรามิได้มาฉลองความเก่าแก่
แต่เรามาฉลองความสดใสในความเชื่อที่เติบโตขึ้น
เรามาร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวในความรักที่ถูกยึดโยงด้วยความศรัทธา
แม้ว่าวันเวลาจะเปลี่ยนไป วินาทีที่ผ่านไปจะกลายเป็นอดีต
ก็ไม่ได้ทำให้วิหารในตัวตนของเราสั่นคลอนลง แน่ล่ะ
ยุคสมัยใหม่แม้จะมีอะไรที่สะดวกสบายง่ายขึ้น
จนทำให้คุณค่าของความทรงจำในสิ่งรอบข้างห่างหายไป
ภาพที่บันทึกผ่านมือถือถ่ายเป็นร้อยเป็นพันภายในวันหนึ่ง ๆ
จนไม่อาจจะเลือกเก็บไว้ได้ รอจนหน่วยความจำเต็มและก็ลบทิ้งไป
อย่างมากก็อัพขึ้นเก็บไว้ใน social media เมื่อครบปีภาพเหล่านั้นก็จะถูกระบบย้อนมาเตือนความทรงจำเราเอง
ถึงแม้เทคโนโลยีเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนแปลง
แต่เนื้อหาและความทรงจำของเราต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นมิมีวันเปลี่ยนแปลงได้
ในชีวิตจริงของเราหลายคน เรามักหลงลืมความเก่า ซ้ำร้ายมีบ้างบางคนดูแคลน
มองว่าเป็นความล้าหลัง หากนั่งพินิจพิจารณากันอย่างจริง ๆ จัง ๆ
เราผู้อยู่ในวันนี้ที่ถือว่าเป็นสมัยใหม่ เป็นคนยุคใหม่ เราต่างก็เก็บเกี่ยว
เติบโตมาจากความเก่าที่เป็นรากลึกที่ชอนไชลงในดิน
เพื่อหล่อเลี้ยงให้ต้นได้เติบโตมิใช่หรือ สิ่งที่ใหม่ในวันนี้ พรุ่งนี้ก็กลับกลายเป็นของเก่า
บางสิ่งบางอย่างจึงไม่ควรที่จะไปยึดโยงดูถูกดูแคลนความเก่าความใหม่
เพราะในสิ่งเก่าก็มักมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นในนั้นได้เสมอ มีหลายสิ่งในโลกใบนี้ที่ไม่มีการยึดโยงความเก่าใหม่ตามกาลเวลา
นั่นคือ ความรัก ความเมตตา ความดี การเสียสละ ในทุกสมัยสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ขับเคลื่อนสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุกตลอดมา
วัดเซนต์หลุยส์ในวันที่เริ่มต้นนั้นมาจากความลำบากและการมองการณ์ไกล
ความทุ่มเทเสียสละของบรรดามิชชันนารี
ในสมัยหนึ่งชุมชนไทยอาศัยแม่น้ำลำคลองเป็นที่ก่อร่างสร้างเมือง
วัดวาอารามทั้งหลายมักตั้งอยู่ริมน้ำ แต่เมื่อยุคสมัยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง
ถนนหนทางเริ่มเกิดขึ้น การสัญจรไปมาต้องใช้รถ จากคลองสาธรก็กลายเป็นถนนสาทร
เพื่อรองรับกับการเจริญเติบโต
พวกท่านจึงคิดว่าในสถานที่แห่งนี้แหละจะเป็นร่มไม้ใหญ่ให้กับผู้คนในวันข้างหน้าด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวในการซื้อที่
และการสร้างวัดที่สวยงามที่เห็นเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ พวกท่านทำทุกอย่างให้ออกมาในนามของความรักที่มีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า
ยิ่งได้อ่านเรื่องราวเก่าๆที่พวกท่านได้บันทึกไว้ ก็ได้รับบทเรียนใหม่ ๆ
เพื่อเพิ่มพูนความเชื่อให้มากยิ่งขึ้น
“ข้าพเจ้าหวังว่า
กิจการเหล่านี้คงจะได้ดำเนินไปในไม่ช้า เหตุว่าข้าพเจ้ามอบการก่อสร้างไว้ในพระหัตถ์ของพระและในมือของพวกท่านด้วย
ท่านคงจะไม่ปล่อยให้งานชิ้นนี้ดำเนินไปตามยถากรรม
ท่านคงไม่สามารถลงทุนอะไรที่จะดีไปกว่า การลงทุนอิฐสักก้อนหรือหลาย ๆ ก้อนก็ได้
เพื่อนำไปก่อสร้างพระวิหารของพระเป็นเจ้า มีผู้กล่าวไว้ว่า “ความจำของก้อนอิฐก้อนหิน
ถาวรยิ่งกว่าความจำของมนุษย์” ที่ว่าก้อนอิฐพูดได้นั้น พูดได้จริง
ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก้อนอิฐที่นำมาอุทิศถวายให้แด่พระเป็นเจ้า...
ประวัติศาสตร์ของโลกเรา และประวัติส่วนตัวของแต่ละคน
ล้วนเป็นเรื่องราวของการก่อร่างสร้างตัว จะว่ากันไปแล้ว
เราทุกคนก็เปรียบเสมือนก้อนอิฐทรงชีวิต
ที่มุ่งหน้าตรงไปยังพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกัน
อิฐหินทุกก้อนยึดติดอยู่กับพระองค์โดยอาศัยการสักการะนมัสการนั่นเอง” (บางส่วนในสารของพระสังฆราช หลุยส์ โชแรง :
โอกาสเริ่มการก่อสร้างวัดเซนต์หลุยส์ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1955)
ก้อนอิฐแม้จะเก่าก็ขัดเกลาทำความสะอาดให้ใหม่ได้
หลายครั้งในวัดแห่งนี้ที่ทำให้เรากลับกลายเป็นคนใหม่ เป็นคนดีขึ้น เข้มแข็งขึ้น
เติบโตมากขึ้น วัดหลังนี้มีความร่มเย็นมีความสงบ
แม้จะอยู่กลางเมืองในถนนที่วุ่นวายสายหนึ่ง ใช่หรือไม่ หากชีวิตเรามีความแข็งแรง
มีความมุ่งมั่นยึดความดีเป็นหลักปฏิบัติ ต่อให้สิ่งแวดล้อมรอบข้างจะวุ่นวายเพียงใดใจเราก็สงบเยือกเย็น
และมีสันติสุขได้เสมอ สิ่งที่สำคัญขึ้นไปอีกใครที่พบเห็นพบเจอก็จะพบสันติสุขด้วย
ขอให้วันเวลาที่ผ่านไป ผ่านเข้ามา จะได้เป็นการเริ่มต้นของวันใหม่ ๆ
ที่งดงามมาจากรากเหง้าของวันเก่าเสมอไป...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น