วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2560

ศรัทธาที่กลับมา

ศรัทธาที่กลับมา
มอสโคว์ รัสเซีย คือจุดหมายปลายทางของการท่องโลกกว้างในครั้งนี้ สิ่งที่ดึงดูดความสนใจมากกว่าสิ่งอื่นใดในการเยี่ยมชม คือ ศาสนสถานของ “นิกายออร์ธอดอกซ์” ที่มีความงดงามยิ่งนักและยังเป็นการได้แสวงบุญ แม้จะต่างนิกาย แต่ความเชื่อในพระเป็นเจ้านั้นถือว่าเป็นหนึ่งเดียวกับคาทอลิกเรา มีข้อความเชื่อเหมือนกัน ต่างกันเพียงพิธีกรรม ที่ถือแบบดั้งเดิม 
คำว่า นิกายออร์ธอดอกซ์มีความหมายว่าการถือปฏิบัติหลักธรรมที่เที่ยงตรงหรือหลักธรรมที่ถูกต้อง เป็นฝ่ายที่ถือเคร่งครัดถูกต้อง ตามประวัติศาสตร์เมื่อจักรวรรดิโรมันถูกแบ่งแยกออกเป็นสองอาณาจักร ฝ่ายโรมันตะวันตกมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรม (วาติกัน) ซึ่งมีภาษาละตินเป็นภาษากลาง ฝ่ายโรมันตะวันออก มีศูนย์กลางอยู่ที่คอนแสตนติโนเปิล (Constantinople) ใช้ภาษากรีกเป็นภาษากลาง อาณาจักรทั้งสองนี้เป็นคู่แข่งกันในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง การปกครอง ศิลปวัฒนธรรมประเพณี โดยเฉพาะด้านศาสนา แม้จะมีรากเหง้ามาจากแหล่งเดียวกัน แต่ความคิดเห็นในหลักการบางอย่างนั้นไม่ตรงกันจึงเป็นเหตุให้เกิดนิกายออร์ธอดอกซ์นี้ 

ในยุคต้นได้รับอิทธิพลคำสอนมาจากการเผยแพร่ศาสนาของนักบุญเปาโล  ปัจจุบันนี้ นิกายออร์ธอด็อกซ์มีอิสระภาพในด้านความเชื่อและการปกครองตนเอง โดยไม่ต้องขึ้นต่อวาติกันของโรม มีปาตริอาร์ค ( Patriarch ) เป็นประมุข แต่ก็มีออร์ธอด็อกซ์อีกหลายกลุ่มที่ยังขึ้นต่อวาติกันเรียกว่า “ออร์ธอด็อกซ์คาทอลิก” (ในพิธีสำคัญ ๆ เราจะเห็นพระสังฆราชของออร์ธอดอกซ์มาร่วมเสมอ) พวกนี้มีพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นแบบตะวันออก แต่ระบบการปกครองอยู่ภายใต้การชี้นำของสมเด็จพระสันตะปาปา ประเทศที่นับถือนิกายออร์ธอด็อกซ์ส่วนมากเป็นพวกยุโรปตะวันออก เช่น โรมาเนีย ฮังการี บูลกาเรีย โปแลนด์ ยูโกสลาเวีย และสำหรับรัสเซีย นั้นแยกออกมาเป็นเอกเทศ
หลังจากที่รัสเซียประสบปัญหาในการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเกี่ยวกับระบบการปกครอง ในสมัยก่อนศาสนากับการปกครองดูจะแยกขาดกันไม่ออก ผู้ปกครองมักจะให้ความสำคัญกับศาสนารวมถึงผู้นำทางศาสนาด้วย แต่เมื่อระบบสังคมนิยมเกิดขึ้นในรัสเซีย ศาสนาถูกระงับ วัดโบสถ์ถูกปิดตายไม่มีผู้นำใดทั้งสิ้น ทุกผู้คนต้องเท่าเทียมกัน ทำงาน กินอยู่แบบเดียวกันไม่มีการยึดเหนี่ยวในความศรัทธา เพียงเพื่อหวังให้ทุกคนมีใจมุ่งสู่เป็นเอกภาพแบบที่พวกผู้นำเป็นคนคิดวางแผน และทุกคนต้องทำตาม ซึ่งเป็นการเน้นที่รูปแบบภายนอก เรื่องจิตใจถูกละเลยเมินเฉย หวังจะใช้ความเท่าเทียมเพื่อผูกใจแทน ในความเท่าเทียมกันนั้นก่อให้เกิดความยากจนยากไร้และขาดชีวิตจิตใจ จิตวิญญาณของผู้คนแล้งแค้นแต่ "ศรัทธา" ยังคงเป็นสิ่งที่แฝงลึกอยู่ในใจผู้คนมาอย่างยาวนาน ศรัทธาในศาสนาเป็นเสมือนเข็มทิศกำหนดทิศทางของทุกเรื่อง แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ นักบินอวกาศ ก็ยังคงเข้าวัดสวดภานาเพื่อความสำเร็จในการค้นพบ 
ใช่หรือไม่....หากขาดศรัทธา ชีวิตเราก็จะเปลือยเปล่า ปล่อยว่างเว้นวันเวลาหมดไปกับการทำอะไรก็ไม่รู้ที่ตัวเองไม่รัก ทั้งไม่มีความสุขที่จะอยู่กับมันอีกต่างหาก ชีวิตไร้จุดยึดเหนี่ยว เคล้งคว้าง หมดหนทางเมื่อต้องพบเจอปัญหาที่หนักหน่วง
หากขาดศรัทธาเราก็มองไม่เห็นว่าเวลาแต่ละวันที่ไหลผ่านไปนั้นจะนำไปสู่ผลลัพธ์อะไรมาสู่ชีวิต คนที่ไม่มีศรัทธาต่ออะไรเลยก็ไม่ต่างอะไรกับกอสวะที่ลอยคว้างไปกับน้ำ ไม่รู้ว่าจะพบกับอะไรระหว่างทาง ไม่รู้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร ไร้เป้าหมาย ไร้ทิศทาง แล้วแต่กระแสจะพาไป มีแต่ร่างกายแต่ไร้จิตใจขาดจิตวิญญาณชีวิตเช่นนี้ นับว่าเป็นชีวิตที่สูญเปล่าโดยแท้

เช่นนี้แล้วหลังจากการล่มสลายหายไปของระบบสังคมนิยมในรัสเซีย วันนี้จึงเหมือนเป็นการเปิดมิติใหม่ในการปกครอง ศาสนากลับมาฟื้นฟูขึ้นในจิตใจผู้คนอีกครั้ง ศาสนสถานถูกเปิดกว้างผู้คนหลั่งไหลมาร่วมพิธีกรรมเคารพต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า ต่อแม่พระและต่อนักบุญ อย่างมากมาย ความสวยงามวิจิตรของศาสนสถานได้รับการปรับปรุงเสริมแต่งให้สวยสดงดงาม เมื่อความศรัทธากลับมาพาหัวใจของผู้คนให้พบสันติสุขมากขึ้น ใครจะกล้าแย้งเล่าว่าศาสนาไม่ใช่สิ่งสำคัญ แม้จะไม่ใช่สิ่งจำเป็น อย่างที่เห็นในรัสเซีย หลังจากที่ถูกบังคับให้เลิกนับถือศาสนา แต่ศรัทธายังคงมีอยู่ในหัวใจ ยิ่งกดดันยิ่งเพิ่มพูน ในกรุงมอสโคว์ เมืองกำลังกลับสู่การพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน เราจึงเห็นหลายต่อหลายคนมานั่งสวดมนต์ มาขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมีคนมาร่วมพิธีกรรมที่ดูแล้วเคร่งขรึมมากมายล้นวัด ใช่หรือไม่ศรัทธานั้นทำให้จิตใจผู้คนมีเมตตา และมีความรัก ความสงบสันติ
แต่วันนี้ในสังคมเราที่ไม่มีการบีบบังคับใด ๆ มากนัก แต่เรากลับขาดความศรัทธา โดยอ้างเหตุผลมากมาย เช่น เลิกศรัทธาในศาสนาเพราะบุคคล เพราะเบื่อหน่ายพิธีกรรม และมีความคิดว่ามีพระอยู่ในใจไม่จำเป็นต้องเข้าวัดเข้าวามาร่วมพิธีกรรม ก็เป็นเหตุผลของคนที่ปกป้องตัวเองด้วยข้ออ้าง บางคนก็บอกว่าไม่ศรัทธาในศาสนาแต่ก็สามารถเป็นคนดีได้ คำว่า เป็นคนดีนั้นมีความหมายแค่ไหน? ถ้าเราศรัทธาในความดี ความดีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมากน้อยเพียงใด?



ในขณะที่เข้าไปร่วมฟังคนรัสเซียสวดมนต์ ร้องเพลง อย่างไพเราะในวัด มองเห็นภาพวาดของพระเป็นเจ้า อัครเทวดา แม่พระ นักบุญทั้งหลาย ก็ตั้งคำถามต่อตัวเองว่า “ในวันนี้ศรัทธาของเราที่มีต่อพระ ต่อความดีมีมากน้อยขนาดไหน?” ศรัทธาที่เรามีไม่ว่าจะมากจะน้อยสักเพียงใด เราจงรักษาไว้อย่าให้ศรัทธาเสื่อมลง ทำศรัทธาวันนี้ให้งอกงามเต็มที่เท่าที่เราทำได้ ศรัทธาในพระเจ้าเท่ากับศรัทธาในความดี อย่าปล่อยให้ศรัทธาถูกบดบัง เราอาจจะไม่มีวันเวลาที่จะให้ศรัทธาเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งก็ได้ 

ไม่มีความคิดเห็น: