ใต้ความอบอุ่น
สันติสุข สันติสุข จงมีแด่ทุกคนบนแดนแผ่นดิน
หลังจากกลับมาจากรัสเซียเพียงสัปดาห์เดียวก็มีข่าวร้ายและข่าวที่ไม่ก่อให้เกิดสันติสุขเอาเสียเลย
ไม่ว่าจะเป็นข่าวระเบิดในรถไฟใต้ดินที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และข่าวอเมริกายิงจรวดนำวิถีโทมาฮ็อว์คใส่ประเทศซีเรีย
ที่มีประเทศรัสเซียเป็นเหมือนลูกพี่ใหญ่ดูแลอยู่ ไม่ว่าจะผ่านยุครุ่งเรืองเฟื่องฟูมากี่ยุคกี่สมัยคนเราก็ยังฆ่ากันในนามของ
“สันติภาพ” ไม่รู้จักจบจักสิ้น หรือว่า ในหัวใจของเรานั้นมีปีศาจแห่งสงครามแฝงเร้นซ่อนอยู่ด้วยกันทุกคน
แล้วทำไมเราไม่นำพาเอาพระเจ้าแห่งความสงบเข้าทดแทนได้เล่า?
ในใจเราควรจะมีความรักและความเมตตาต่อกันและกัน
มีความอบอุ่นเป็นที่พักพิงให้กับทุกผู้คนที่พบพาน ความอบอุ่นที่จะทำให้ทุกคนมีหัวใจแห่งความเอื้ออาทรต่อกัน
ลดความแข็งกระด้างหยาบให้กลายเป็นความอ่อนโยน งดงาม
เพื่อแต่งแต้มสีสันให้โลกนี้สดใส สดชื่น
นึกย้อนกลับไปในช่วงของการท่องกรุงมอสโคว์ ช่วงบ่ายของวันอาทิตย์วันหนึ่ง กลุ่มของเราได้มีโอกาสมาเดินชมและซื้อของที่ระลึกในตลาดอิสไมโลว่า หรือ จตุจักรแห่งประเทศรัสเซียกัน ตลาดนี้เป็นศูนย์กลางทางการค้าของที่ระลึก และของเก่า ของสะสมขนาดใหญ่แห่งกรุงมอสโคว์ ที่ถือว่ามีราคาถูกที่สุด และยังมีให้เลือกหลากหลาย แม่ค้าพ่อค้าส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด บางร้านพูดภาษไทยเล็กน้อย บอกราคาเราได้บ้าง แม้อากาศที่หนาวเย็นแต่เมื่อได้มาเดินเล่นดูของสวยงามที่เต็มไปด้วยสีสัน และของวันวานเก่า ๆ แบบนี้ทำให้อบอุ่นขึ้นมากเลยทีเดียว บางคนอาจจะถึงร้อนเพราะหมดเงินไปเยอะกับของที่ระลึกที่มีให้เลือกซื้อหา ตลาดนี้เปิดอย่างเต็มรูปแบบในวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีของให้เลือกหาละลานตา ของเก่าสมัยรัสเซียตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์มีมากมาย ระเบิด กระสุน ชุดทหาร มีครบ มีร้านขายกล้องรุ่นเก่าที่สภาพยังดูดี และที่ขาดไม่ได้ที่เป็นของขึ้นชื่อคือตุ๊กตา “มารดาผู้มากมีบุตร หรือแม่ลูกดก”
ตุ๊กตาสาวสีสันสดสวยที่มีลูกเล็ก
ๆ ซ้อนซ่อนอยู่เป็นพรวน เป็นที่มาของชื่อ “แม่ลูกดก” มีชื่อตามภาษารัสเซียอันเป็นบ้านเกิดว่า
“มาตรีออชคา (Matryoshka )”
ซึ่งแผลงมาจากชื่อสตรีภาษารัสเซีย “มาตรีโอนา”
โดยที่การใส่ตุ๊กตาตัวเล็กซ้อนลงไปหลาย ๆ ตัวนั้น สำหรับชาวรัสเซีย
เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และความมีชีวิตยืนยาว
นับเป็นเครื่องหมายอันเป็นมงคล
ตุ๊กตาแม่ลูกดกชุดหนึ่ง
ประกอบด้วยตุ๊กตาไม้หลายตัวเรียงซ้อนกันอยู่ข้างใน แต่ละตัวประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
ส่วนบนและส่วนล่าง นำมาประกบกันได้สนิทตามร่องที่เซาะเอาไว้
ทุกตัวมีโพรงข้างในเพื่อให้อีกตัวและอีกตัวที่เล็กกว่าซ้อนไปเรื่อย ๆ
เว้นแต่ตัวสุดท้าย ซึ่งมีขนาดเล็กสุด จะเป็นตุ๊กตาเต็มตัวและตันเพียงชิ้นเดียว
แม่ลูกดกชุดหนึ่งมีตุ๊กตาซ้อนข้างในกี่ตัวก็ได้ ถ้ามีจำนวนมาก
ตุ๊กตาตัวใหญ่สุดที่อยู่นอกสุด จะต้องมีขนาดใหญ่มากด้วย
และทุกตัวจะมีรูปร่างเหมือนกันหมด คือ คล้ายกระบอก โป่งตรงกลาง ด้านบนโค้งมน
ส่วนฐานเรียบ ไม่มีมือหรือส่วนใดยื่นออกมา ใช้สีวาดเป็นหน้าเป็นตาเป็นตัวทั้งหมด
แต่ละตัวในชุดมีใบหน้าและเสื้อผ้าเหมือนกัน ทั้งเคลือบเงาสวยงาม
มีบางร้านนั่งวาดภาพลงบนตุ๊กตา
เป็นรูปแม่พระ สวยงามมากทีเดียว แล้วคนวาดก็พยายามอธิบาย แต่พวกเราไม่เข้าใจเลย
รู้อย่างเดียวราคาแพงมาก แพงกว่าร้านอื่นที่เป็นแบบสำเร็จรูป เมื่อเห็นตุ๊กตาแม่ลูกดกที่เป็นรูปแม่พระ
ทำให้คิดถึงความรักของแม่ที่มีต่อเรา แม่พระที่เคยรับทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส
วันนี้ก็ยังรับความทุกข์จากพวกเราที่แต่ละคนนำมาวิงวอนขอต่อพระแม่อยู่บ่อยครั้ง แม่พระจึงเป็นแม่ที่มีลูกมากลูกดกที่สุดในโลก
แล้วเราทำไมไม่เป็นส่วนชั้นหนึ่งที่คอยรับช่วงให้ความอบอุ่น
ให้เป็นที่หลบภัยสำหรับคนใกล้ชิด คนใกล้ตัวเราบ้าง เพื่อลดความทุกข์ของพระแม่ลงบ้าง
เราต่างก็สามารถที่จะเป็นคนที่ปกป้องผู้อื่นได้ด้วยกันทั้งนั้น
ลักษณะของตุ๊กตานั้นดู ๆ ไปก็คล้ายกับไข่ที่ตั้งอยู่บนฐาน ในไข่นั้นมีชีวิต เป็นความหมายเดียวกับไข่ปัสกา ในความตายมีการเกิดใหม่ และเช่นเดียวกัน การเกิดก็นำมาซึ่งความตาย เป็นสัจธรรมคู่ชีวิต ไข่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการกลับคืนพระชนมชีพ ซึ่งภายในไข่นั้นมีชีวิตอยู่ ในพระศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกหรือออร์โธด๊อก จะทาไข่ปัสกาด้วยสีแดง ซึ่งแสดงถึงโลหิตของพระคริสต์ ที่หลั่งบนไม้กางเขน และเปลือกแข็งของไข่เป็นสัญลักษณ์หมายถึงพระคูหาที่ฝังพระศพของพระคริสต์ที่ปิดไว้อย่างสนิท เปลือกไข่ที่แตกร้าว เป็นสัญลักษณ์หมายถึงการกลับคืนพระชนมชีพจากความตายในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์
วิถีชีวิตระหว่างทางของเราต่างหากที่จะเป็นสิ่งที่บอกว่า
เราเป็นคนสมบูรณ์หรือยัง เราได้ทำหน้าที่ดูแล เสียสละ ต่อผู้อื่นมากเพียงใด ใช่หรือไม่
สักวันหนึ่ง เราจากคนเล็ก ๆ อยู่ภายในภายใต้ความอบอุ่นของคนอื่น
ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนที่คอยปกป้องคนอื่น
แล้ววันนั้นเรามีความงามและความเข้มแข็งเพียงใด...
***
ตามประวัติ ไข่ปัสกานั้นเริ่มมาจาก จักรพรรดิ Czar Alexander III ของรัสเซีย ได้มอบไข่ Fabergéให้กับมารีย์ ภรรยาของเขา เพื่อเป็นของขวัญวันปัสกา ไข่จะถูกใช้อย่างกว้างขวางว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นของชีวิตใหม่ เช่นเดียวกับชีวิตใหม่ที่โผล่ออกมาจากไข่ เมื่อแม่ไก่ฟักไข่ ชาว Zoroastrians โบราณ
จะทาสีไข่ให้สวยงามเพื่อมอบให้กับกษัตริย์ Nowrooz เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองปีใหม่ของพวกเขา
ซึ่งตรงกับฤดูใบไม้ผลิ ประเพณีการมอบไข่ให้กับกษัตริย์ Nowrooz มีประวัติอย่างน้อย 2,500 ปี ซึ่งปรากฏในงานประติมากรรมบนผนังของ
Persepolis แสดงถึงคนแบกไข่เพื่อมอบให้กับกษัตริย์ Nowrooz
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น