เรียน (เลียน)
คำสอนพ่อ ๕
บทที่ ๕ อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ
“ในวงสังคมนั้นเล่า
ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง
มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม” (พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๖)
ในทุกวันนี้เราต่างเห็นสิ่งต่าง
ๆ มีความรวดเร็ว ทันใจทันทีทันใด เกิดขึ้นในแทบทุกวินาที
จึงพลอยทำให้การดำเนินชีวิตของเราต้องเร่งรีบติดตามไปด้วย
เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ในความรวดเร็วเร่งรีบนี้ก็มักมีความรวบรัดตัดความเข้ามาผสมโรงสื่อสมัยใหม่ที่นำสารส่งผ่านมีมากมายกลายเป็นตัวเร่งให้คนรับข่าวสารมิมีเวลาพินิจพิเคราะห์ให้รอบคอบ
ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อหรือเลือกรับในสิ่งที่เป็นความจริง
ในความเร่งรีบนำมาซึ่งอารมณ์ที่รุ่มร้อนของผู้คน ใช้อารมณ์เหนือเหตุผลในการตัดสิน
จะเห็นว่าโรคโมโหร้ายมีมากขึ้น และกำลังฝังลึกลงในนิสัยของผู้คนในยุคที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน
ใจผู้คนแข็งกระด้าง มักชอบที่จะเอาชนะคะคาน ชอบหยามเหยียดเบียดเบียนผู้อื่น
อันเป็นที่มาของความเห็นแก่ตัว หัวจิตหัวใจดั่งถูกไฟแห่งความขุ่นเคืองเผาไหม้
หาเรื่องอยู่มิเว้นวาย เมื่อจิตใจผู้คนเป็นเช่นนี้จึงหาความสุขสันติในสังคมไม่ได้
ซ้ำร้ายยังพยายามหาตัวช่วยที่เป็นปัจจัยภายนอก
หมดเวลาไปกับการวิ่งวุ่นดิ้นรนขวนขวาย สุดท้ายเหนื่อยเปล่า ร่างอ่อนล้าใจอ่อนแอ
และหยาบกระด้าง หากถามว่าอะไรเล่าคือความสำคัญกับชีวิตคนเรา ต่างก็ตอบว่า
สุขภาพ ครอบครัว และ ความรัก เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เราให้เวลากับสิ่งเหล่านี้มากที่สุดหรือยัง???
บางทีที่เราทำเป็นเข้มแข็ง
กร้าวแกร่งนั้น ก็เพียงเพื่อกลบลบปมแห่งความอ่อนแอข้างในของเรา ตรงกันข้ามหากเรามีความอ่อนโยนภายในเรามักมีความกล้าหาญที่จะเผชิญต่อปัญหาและหาทางแก้ไขอย่างสุขุมรอบคอบ
ความอ่อนโยนจึงเป็นคุณสมบัติภายใน เป็นเรื่องของท่าทีหรือทัศนคติของผู้ที่มีความตระหนักรู้ว่าตนเองนั้นไม่ใช่เป็นคนดี
ไม่ได้พร้อมไปเสียทุกอย่าง ย่อมมีข้อบกพร่องที่ต้องได้รับการแก้ไข และยินดีที่จะน้อมรับข้อติติงน้อมรับคำสอนจากพ่อแม่
ครู อาจารย์ หรือจากผู้หวังดีที่เราเคารพนับถือ และพร้อมที่ปรับปรุงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ในบางช่วงเวลาเราก็มักมีความหยิ่ง
ไม่ชอบที่จะให้ใครพูดถึงความบกพร่องของตน ใช่หรือไม่ ถ้ามีใครสักคนหนึ่งมาพูดถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเราทันทีทันใดของขึ้นหน้าดำหน้าแดง
ต่อมโมโหทำงานเต็มสูบ แสดงความไม่พอใจถึงแม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม
เพราะเราทุกคนมีสัญชาตญาณของการปกป้องตนเองอยู่แล้วบ่อยครั้งที่เรามีคำพูดคำจาที่รุนแรง
ทำเสียงดังเข้าขู่ ท่าทางขึงขังเข้าข่มเหล่านี้ล้วนไม่ใช่ความอ่อนโยนทำไปเพียงเพื่อปกปิดความผิดพลาดและมีรากฐานมาจากความกลัวเมื่อเรากลัวก็พยายามทำให้คนอื่นหวาดกลัวมากกว่าตัวเอง
ยิ่งทำบ่อยครั้งเข้า จิตใจเราจึงขาดความอ่อนโยนแสดงกริยาไม่อ่อนน้อมออกมา
เราทุกคนย่อมมีช่วงจังหวะเวลาแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้นไม่มากก็น้อย
แต่สิ่งที่จะช่วยเราให้รู้สำนึกรู้สึกตัวเราอย่างรวดเร็ว คือการฝึกฝนให้จิตใจมีสัมผัสแห่งความอ่อนโยนเสมอเมื่อรู้ตัวว่าผิดก็ต้องให้อภัยต่อตัวเองเราต้องปกปักรักษาจิตใจให้งดงาม
หาใช่ปกป้องตัวเองให้ดูขาวตลอดกาล
ภาพ : http://www.churchofjoy.net |
สัมผัสอันอ่อนโยนนั้น
หมายถึง การเห็นความทุกข์ยากลำบาก และไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น ความอ่อนโยนเกิดขึ้นจากการใส่ใจและการใส่ใจนั้นต้องอาศัยเวลา
คนที่มีเวลาใส่ใจกับสิ่งต่าง ๆ และผู้คนรอบข้างสนใจในรายละเอียด ซึมซับสิ่งเล็ก ๆ
น้อย ๆ ที่หลายคนมองข้าม จึงเป็นคนอ่อนโยนการให้เวลาใส่ใจและทำความเข้าใจคนอื่นทำให้คนเราอ่อนโยนขึ้น
การได้เรียนรู้ความรู้สึกลึก ๆ
ที่ละเอียดอ่อนของคนอื่นก็ช่วยขัดเกลาความรู้สึกของเราให้ละเอียดขึ้นเช่นกัน ความอ่อนโยนและความรักอย่างจริงใจต่อสิ่งต่าง
ๆ นำมาซึ่งความงดงามของทุกสรรพสิ่ง
ในทุกวันนี้
เราพยายามดำเนินชีวิตคล้อยตามกระแสของสังคมจนไม่มีเวลาให้กับสิ่งต่าง ๆรอบตัว ลองทำชีวิตให้ช้าลงบ้างในบางช่วงเวลาเราก็จะเห็นความงดงามของสิ่งที่มีอยู่ตรงหน้าเรา
เปิดใจและกล้าปฏิเสธความเชื่อหรือกระแสสังคมบ้าง รู้จักจับจังหวะชีวิต
จริงใจกับชีวิต เสียสละบ้าง ยอมรับผิดแม้จะต้องเสียหน้าและถูกหยามหยันบ้าง
เพื่อรักษาความดีงามตราบใดที่เรายังไม่จริงใจกับตัวเอง เราก็ยังไม่สามารถมีชีวิตที่ละเอียดอ่อนได้
และไม่มีทางสัมผัสความอ่อนโยนที่แท้จริงถ้าอยากจะให้ชีวิตเป็นสุขและได้เห็นความงดงามของโลกนี้ก็อย่าทำให้ใจแข็งกระด้าง
ดื้อดึง ดันทุรัง แต่จงมีจิตใจอ่อนโยน พร้อมรับฟัง พร้อมเรียนรู้
พร้อมแก้ไขปรับปรุงชีวิตตลอดเวลา
“คนที่สุภาพอ่อนโยนก็เป็นสุข เพราะเขาทั้งหลายจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก”
มัทธิว 5:5
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น