วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เรียน (เลียน) คำสอนพ่อ ๒

เรียน (เลียน) คำสอนพ่อ ๒

บทที่ ๒ ความพอดี
“ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้น จะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ
เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับสูงขึ้น ตามต่อกันไปเป็นลำดับ ผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน” (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๐)



ตลอดเกือบหนึ่งเดือนที่เราคนไทยต่างตกอยู่ในภาวะแห่งการสูญเสีย ต่างก็เศร้าโศกในการจากไปของพ่อหลวง แต่เพราะด้วยกิจการดีที่พระองค์ท่านได้ทรงทำไว้นั้นกำลังเจริญงอกงามออกดอกผล คนในชาติแปรงความสูญเสียเป็นเสียสละ มอบน้ำจิตน้ำใจใฝ่ดีต่อกัน การให้มากมายจนท่วมท้องสนามหลวง เป็นประวัติการณ์ที่คนให้มากกว่าคนรับ จนถึงกลับต้องบอกกล่าวเน้นย้ำคำสอนพ่อในเรื่องความพอดี ความพอเพียง คำสอนนี้จึงเกิดผลทันทีอย่างไม่มีการเกี่ยงงอน แอบหวังลึก ๆ ว่าเราเลียนแบบพระองค์ เรียนคำสอนพระองค์ท่าน ให้กลายเป็นรากฐานของคนไทยนับจากวันนี้จนตลอดไป สังคมเราจะน่าอยู่แม้ในวันที่ไม่มีพ่อคอยสอนแล้ว
พูดถึงความพอดีเรามักจะคิดถึงการดำเนินชีวิตทางด้านเรื่องการเงิน ๆ ทอง ๆ การสร้างความร่ำรวยมาเป็นอันดับแรก และสิ่งที่นึกถึงควบคู่กันไปนั่นก็คือ “ความทะเยอทะยาน” ซึ่งเราทุกคนมีเหมือนกันหมด จะต่างกันก็คงเพียงแค่ใครจะมากใครจะน้อยกว่ากัน เป็นความทะเยอทะยานที่อยากจะนำพาชีวิตไปสู่จุดที่สูงสุด ดีที่สุด จนบางครั้งก็กลายเป็นกิเลสที่ทำให้คนเราอยากได้อยากมีเมื่อได้แล้ว มีแล้ว ก็อยากได้ อยากมีอีก ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีความพอดีในชีวิต ไม่สมบูรณ์แบบสำหรับชีวิตเสียที แทนที่ความทะเยอทะยานจะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนให้ชีวิตเดินทางไปถึงเป้าหมาย นำพาเราไปสู่ความสำเร็จของชีวิต กลับกลายเป็นสิ่งที่คอยทิ่มแทงชีวิตให้ทุกข์ทรมาน ให้เจ็บปวด ต้องดิ้นรนแสวงหาอยู่ร่ำไป
หากเราไม่ยึดติดอยู่กับความสะดวกสบายมากนัก ใช้ชีวิตธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่สามารถมีความสุขในชีวิตได้ มีชีวิตที่เรียบง่าย กินอาหารแต่ละมื้อได้อย่างอิ่มหนำ มีห้วงเวลาที่ได้อยู่ ได้ท่องเที่ยวเกี่ยวก้อยกับคนที่เรารัก ได้ทำอะไรดี ๆ สังสรรค์กับครอบครัว ทำให้คนในครอบครัวมีความสุข และไม่ต้องใช้ชีวิตด้วยการเร่งรัด รีบร้อน วัน ๆ มีแต่เหนื่อยกับเฉื่อยเท่านั้น
อีกหนึ่งความพอดีในขั้นของชีวิตภายใน หลายคนก็ไม่รู้จักความพอดี  จึงมักทำอะไรที่ขาด ๆ เกิน ๆ หาตรงกลางไม่ได้ ทำดีก็เกินเหตุ จะพูดคุยตักเตือนก็มากไปจนน่ารำคาญ เอาเรื่องบางเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นธุระมาเป็นธุระ แล้วก็ทิ้งในเรื่องสำคัญ ๆ ไป ไม่เคยแยกแยะว่าตรงไหนคือระดับของความเหมาะสม ซึ่งหมายถึงเหมาะสมสำหรับตัวเองและเหมาะสมสำหรับผู้อื่นด้วย ความไม่พอดีลักษณะนี้คือการไม่รู้จักกาลเทศะ ความพอดีแบบนี้เป็นการขัดเกลามนุษย์ ให้รู้จักความเหมาะความควร


คนเราจะเสาะหาความพอดีพบและดำเนินชีวิตด้วยความพอดีได้นั้น ต้องมีความอ่อนน้อมและความรอบคอบ ความอ่อนน้อมทำให้ไม่ลำพอง ไม่โอ้อวด ไม่ถือโทสะเพื่อเอาชนะคะคาน อวดเบ่ง หรืออวดเก่ง หรือจ้องแต่จะแข่งขันกันอย่างบ้าคลั่ง ส่วนความรอบคอบนั้นจะรู้ได้ว่าจะไม่ทำอะไร ที่มากล้นเกินไป รู้ที่รู้ทางรู้กาลเวลา ไม่ถือเอาใจของตัวเองเป็นสำคัญ

ไม่ว่าจะทำอะไร ความพอดีเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ความพอดีคือ ไม่มาก ไม่น้อยไม่วุ่นวาย ใช่หรือไม่ การยกฐานะจากยากจนให้มั่งมีนั้นทำได้ไม่ง่าย บางคนตลอดชีวิตนี้อาจจะทำไม่สำเร็จ แต่การยกระดับใจให้มั่งมีนั้นทำได้ทุกคน เมื่อมีความมุ่งมั่นจะทำจริง คนรู้จักพอไม่ใช่คนเกียจคร้าน และคนเกียจคร้านก็ไม่ใช่คนรู้จักพอ ความพอดีมีอยู่ในความวางใจพระเจ้าทุกกรณีนั่นเอง...

ไม่มีความคิดเห็น: