เรียน (เลียน)
คำสอนพ่อ ๓
บทที่ ๓ ความรู้ตน
“เด็ก
ๆ ทำอะไรต้องหัดให้รู้ตัว การรู้ตัวอยู่เสมอจะทำให้เป็นคนมีระเบียบ
และคนที่มีระเบียบดีแล้ว จะสามารถเล่าเรียนและทำการงานต่าง ๆ ได้โดยถูกต้องรวดเร็ว
จะเป็นคนที่จะสร้างความสำเร็จและความเจริญให้แก่ตนเองและส่วนรวมในอนาคตได้อย่างแน่นอน”
(พระบรมราโชวาท
พระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ประจำปี ๒๕๒๑)
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายครั้งหลายหนที่เปิดโทรทัศน์
ได้รับชมรายการพิเศษที่นำภาพยนตร์เกี่ยวกับพ่อหลวงผู้คืนสู่ฟากฟ้า
ที่ทำให้ปวงประชาอยู่ดีมีสุข จนทำให้น้ำตาคลอหน่วยโดยไม่รู้ตัว ทั้ง ๆ
ที่ไม่เคยพบเคยเห็นกับตา แต่ภาพทรงจำเหล่านั้น นำมาซึ่งความคิดถึงในความดีงามของพระองค์มากมาย
จนถึงกับหลั่งน้ำตามาแบบไม่รู้ตัว ใช่หรือไม่ บางสิ่งบางอย่างในชีวิตมักเกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว
ทั้งในแง่ดีงามและในด้านเสื่อมทราม
ถึงตรงนี้แล้วทำให้ต้องนำคำพ่อสอนในเรื่อง
“ความรู้ตน” มาไตร่ตรองกับชีวิตจริงของเราในปัจจุบัน ที่มากมีสิ่งต่าง ๆ เอื้อให้เรามักทำอะไรลงไปแบบไม่รู้ตัว
ด้วยความเห็นแก่ตัว การรู้ตนรู้ตัวนั้นต้องได้รับการฝึกฝนฝึกหัดจึงจะเกิดขึ้น
ส่วนความเห็นแก่ตัวนั้นจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ มีแต่เราต้องหัดต้องคอยกำราบปราบให้มันสงบสุข
เพื่อให้ชีวิตเราเจริญวัฒนายิ่งขึ้น
การรู้จักตนคือ
การเข้าใจความรู้สึกของตนเองและจุดมุ่งหมายของชีวิตทั้งระยะสั้นและระยะยาว รู้จักจุดเด่นจุดด้อยของตนเองอย่างไม่ลำเอียงเข้าข้างตนเอง
มีความเข้าใจตนเองในระดับหนึ่ง การรู้จักฐานะที่ตนเองเป็นอยู่
การประพฤติตนให้เหมาะสมกับฐานะของตน การปฏิบัติหน้าที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่ก้าวล่วงสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่น
เป็นการเคารพในศักดิ์ศรีของตัวเอง สิ่งเหล่านี้เมื่อได้รับการฝึกฝนบ่อย ๆ
ก็จะทำให้ใจเราเปิดกว้างยอมรับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
การรู้จักตนเองยังรวมไปถึงการรับรู้และรู้จักความสามารถของตัวเราเองด้วย
รู้ว่าเราเป็นคนอย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เก่งอะไร ไม่เก่งอะไร เมื่อรู้ตัวก็จะไม่โอ้อวด
โชว์เก่งเหนือผู้อื่น และที่สำคัญเราต้องรู้อารมณ์ของตนเอง การรู้จักตนทำให้เราเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้นและสามารถระงับความโกรธได้
ในการที่ได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดของคนอื่น
มีจิตใจที่รู้จักให้อภัยเมื่อได้รับการขอโทษอย่างจริงใจ
รู้จักระงับความโกรธไม่ให้เตลิดระเบิดใส่ผู้อื่น
ใช่หรือไม่
จากเหตุการณ์ที่โด่งดังในเรื่องการไม่ยอมลดราวาศอก
เห็นสิ่งของ(รถมินิ)สำคัญกว่าชีวิตคน บูชาวัตถุจนหลงลืมตัว
ปล่อยให้ไฟแห่งความโมโหครอบงำ จนนำชีวิตเดินไปสู่ไฟที่กลับมาเผาไหม้ตัวเอง หลายคนที่ปล่อยให้ชีวิตไปผูกพันกับปัจจัย
รู้และรักแต่สิ่งภายนอก จนลืมที่จะเรียนรู้ภายในตัวเอง
หลงคิดว่าโลกนี้คือพื้นที่ของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่โลกนี้ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง
ยิ่งในยุคปัจจุบันเรามีกระจกวิเศษที่คอยจะสะท้อนให้เราเห็นภาพตัวเองในวันที่เราหลุดจากความเป็นตัวเองจนควบคุมตัวเองไม่ได้
เราจึงถูกสื่อสมัยใหม่มาควบคุมแทน
นี่เป็นการปรับสมดุลย์เพื่อไม่ให้คนเราถลำลึกมากไปกว่านี้ บางทีสื่อสมัยใหม่ก็มีประโยชน์ที่ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น
รู้จักแบบต้องเจ็บช้ำเสียด้วย
ผู้ที่รู้จักตนเองฝึกใจตนให้มีความมุ่งมั่นแต่ยืดหยุ่นได้
เรียนรู้เข้าใจและเข้าถึงตนเอง จึงเข้าใจผู้อื่นและเข้าใจโลก คนที่รู้จักตนเองไม่ใช้ชีวิตแบบเห็นแก่ตน
และไม่เอาแต่ใจตัวเองจนเดือดร้อนตนเองและคนรอบข้าง การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมของคนหมู่มากนั้น
ย่อมมีความแตกต่างของแต่ละปัจเจกเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่รู้จักตนเองมักจะให้ความสำคัญและให้คุณค่ากับตนเองและผู้อื่น
ผู้เข้าใจตนเองจะทบทวนตนเอง
หาทางทุกวิธีที่จะเรียนรู้ความชอบ ความถนัด บุคลิก
พฤติกรรมของตนโดยให้เวลาในการใช้เวลาอยู่กับตนเอง ฟังเสียงภายใน มโนสำนึกวิเคราะห์สิ่งต่าง
ๆ เพื่อสำรวจตน การรู้จักตนเองต้องใช้ความกล้าตัดสินใจ กล้าเลือก กล้าเรียนรู้
กล้าทำในสิ่งที่บางครั้งเป็นการเปลี่ยนแปลง มีความแตกต่างแต่ถูกต้องและรอบคอบที่สุดเมื่อรู้ตนย่อมต้องรู้เข้าใจผู้อื่นด้วย
การเข้าใจผู้อื่น
คือความสามารถรับรู้อารมณ์ผู้อื่น เข้าใจถึงมุมมองทัศนคติของผู้อื่น
เป็นความรู้สึกแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นี่จึงจะทำให้เราก้าวไปสู่ความสำเร็จอีกระดับหนึ่งซึ่งไม่มีอะไรมาวัดค่าได้
นอกจากความอิ่มเอมเปรมปรีดิ์ หากเรารักและคิดถึงพ่อหลวงของเรา เพียงนำคำสอนง่าย ๆ
เหล่านี้ไปฝึกปฏิบัติ ความผาสุกของคนในชาติก็จะบังเกิดขึ้น
แล้วเราจะก้มกราบกันได้อย่างงดงาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น