กว่าจะถึงซึ่งเส้นชัย
กระแสหลักของโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ได้ปลูกฝังค่านิยมเรื่องการมุ่งสู่ความสำเร็จของชีวิตด้วยความรวดเร็ว เร่งรัด
รีบเร่ง โดยใช้ตรรกะของการแข่งขันเป็นตัวช่วย
และใช้ระดับของทรัพย์สินเป็นเกณฑ์ชี้วัด ทำให้ชีวิตของผู้คนทุกคนตื่นมาพร้อมกับความเร่งรีบ
เพื่อแย่งชิง วิ่งลงแข่งขัน จนลืมมองดูว่าเรารีบวิ่ง
แข่งขันกับใครและเพื่ออะไรกันแน่...
ทุกชีวิตเกิดมาบนโลกย่อมต้องมีหนทางและเส้นชัยเป็นของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น
แต่ในระหว่างทางอาจจะไปวิ่งบนทางของคนอื่นบ้าง อาจจะล้มบ้าง อาจจะทุกข์ท้อบ้าง
แต่หากว่าเรามีจุดหมายปลายทางเส้นชัยอยู่ที่ความสงบสุขอันเป็นนิรันดร์แล้วไซร้
ทุกวันเวลา ย่อมคือพระพร เป็นหน้าที่เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เรามิได้ถูกสร้างมาเพื่อความพ่ายแพ้
แท้จริงเราถูกสร้างมาเพื่อสู่ชัยชนะกันทุกคน แน่ล่ะ...ความสำเร็จบางครั้งก็ต้องแลกมาด้วยน้ำตา
หยาดเหงื่อ แรงใจ แรงกาย และอื่น ๆ อีกหลายอย่างในชีวิต บนหนทางนี้มีอุปสรรคมากมาย
แต่ก็คงไม่เท่ากับอุปสรรคที่เกิดจากตัวเราเอง หากเราเอาชนะจิตใจของตนเองได้
เราย่อมภาคภูมิใจในความสำเร็จในวันที่เราไปถึงซึ่งเส้นชัย แม้ว่าในสายตาคนอื่น เราอาจจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ตามมาตรฐานจริตกระแสโลกก็ตาม
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2511 ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศเม็กซิโก“อัควารี” ลงแข่งขันในประเภทวิ่งมาราธอนระยะทางกว่า
40 กิโลเมตร ซึ่งจะเริ่มสตาร์ทจากในสนามกีฬา
และจากนั้นก็วิ่งออกไปตามเส้นทางนอกสนาม
ก่อนที่จะวิ่งรอบสุดท้ายในสนามกีฬาอีกครั้งหนึ่ง
หลังการแข่งขันสิ้นสุดลงมีการมอบเหรียญให้กับคนที่ได้ เหรียญทอง
เหรียญเงินและเหรียญทองแดง ผู้ชมเริ่มทยอยเดินออกจากสนามไม่มีใครรู้ว่าการแข่งขันนั้นยังไม่สิ้นสุด
เพราะนักกรีฑาคนสุดท้ายเพิ่งเข้าสู่สนาม เวลาตอนนั้น 1ทุ่มตรง
“อัควารี” วิ่งฝ่าความมืดอย่างกระโผลกกระเผลก
ขาข้างขวาโชกเลือด ต้องพันด้วยผ้าพันแผล เขาวิ่งด้วยอาการเหนื่อยหอบ ความเร็วของเขาช้ากว่าการเดิน
แต่ “อัควารี” ก็ยังวิ่ง..วิ่ง และวิ่ง…จนถึงเส้นชัยเขาได้รับเสียงปรบมือดังลั่นจากผู้คนน้อยนิดที่ยังเหลืออยู่ในสนาม
ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งถาม “อัควารี” หลังจากที่เขาเข้าเส้นชัย
“ทำไมคุณถึงไม่เลิกวิ่ง ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า ไม่มีโอกาสชนะ”
คำตอบของ “อัควารี” กลายเป็นประโยคอมตะที่มีคนกล่าวถึงจนทุกวันนี้
“ประเทศของผมไม่ได้ส่งผมมาแค่ให้ออกวิ่ง แต่ส่งผมมาเพื่อวิ่งให้สำเร็จ”
ทุกก้าวของ “อัควารี” นอกจากความเจ็บปวดจากบาดแผลที่ขา
“อัควารี” ก็คงรู้อยู่แล้วว่าเขาโดนคู่แข่งทิ้งห่างไกลเพียงใด
และคงมีคำถามในใจมากมายว่าเขาจะทนเหนื่อยและเจ็บต่อไปเพื่ออะไร
เพื่อพ่ายแพ้อย่างนั้นหรือ ???
บางครั้งความทุกข์ ความยากลำบากในชีวิต
อาจจะทำให้เราถึงความสำเร็จช้าลงไปบ้าง แต่ที่สุดแล้วมักจะมีผลดี
เพราะว่าความอดทนต่อความยากลำบากจะทำให้เกิดความเข้มแข็ง นักบุญเปาโลบอกว่า “ความทุกข์ยากเล็ก
ๆ น้อย ๆ ในโลกนี้ ไม่อาจจะเปรียบเทียบกับศักดิ์ศรีอันยิ่งใหญ่ในสวรรค์ได้เลย”
นักบุญเปโตรกว่าจะตั้งพระศาสนจักรให้มั่นคงได้ ท่านต้องผ่านความทุกข์
ความเหนื่อย การท้อแท้ และความตายอย่างทรมาน ซึ่งดูเหมือนว่าพ่ายแพ้แล้ว
แต่ที่ไหนได้ พระศาสนจักรกลับเจริญเติบโตมั่นคงจวบจนถึงทุกวันนี้ จากบุรุษผู้ไล่ล่าหาความสำเร็จต้องมาตกม้าเกือบตาย
ทุรนทุรายต่อสู้ในวันที่ตาบอด
และรอดพ้นด้วยความเมตตารักอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูคริสตเจ้า
ท่านนักบุญเปาโลจึงเลือกเดินทางของตนโดยไม่สนต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์
ออกไปทุกที่เพื่อสอนให้หัวใจผู้คนเต็มเปี่ยมไปด้วยรัก แม้จนตัวตาย
ท่านทั้งสองมิได้เคยคิดถึงความมีชื่อเสียงเกรียงไกรอันใด ทำตามสิ่งที่ท่านได้รับมอบหมายด้วยหัวใจ
สำคัญสุด พวกท่านนั้นชนะตัวเองได้ก่อน
จากนั้นจึงพยายามพาทุกคนให้สู่ทางสำเร็จโดยมุ่งสู่องค์พระคริสตเจ้าด้วยจิตใจที่งดงาม
วิถีชีวิตของท่านทั้งสอง สอนให้เรารู้ว่าขอเพียงแค่ว่าเรามีความยึดมั่นในความดี
ความพยายาม และความถูกต้อง เราจะมีความสุขในความพยายามนั้นแล้ว
ปัญหาและอุปสรรคที่เราต้องผ่านพบต้องเจออยู่ทุกครั้ง มันย่อมเป็นเพียงอุปสรรคเล็ก
ๆ ของชีวิต เราไม่ได้ถูกส่งมาให้ออกมาเดินเล่นบนโลก
หากแต่เราต้องออกเดินไปสู่ความสุขให้ได้บนโลกนี้พร้อมๆกับคนรอบข้าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น