วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558

บทเรียนกลางบึงบัว

บทเรียนกลางบึงบัว
            ด้วยความที่ติดอกติดใจในสถานที่ใหม่ที่เพิ่งพบเจอมาครั้งเมื่อหลงทางกลับบ้าน จึงทำให้เกิดการเดินทางมาเยี่ยมเยียนอีกครั้งหนึ่ง ให้ได้อิ่มเอิบอุรา เพราะครั้งที่หลงทางมาเป็นเวลายามเย็นจึงชื่นชมบรรยากาศได้ไม่เต็มที่  ครั้งนี้ด้วยความแม่นยำในเส้นทางและด้วยว่าระยะทางไม่ไกลจากสาทรสักเท่าไรนัก ในยามบ่ายวันอาทิตย์จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมกับภารกิจเช่นนี้ คลองมหาสวัสดิ์ คือที่หมายปลายทาง คลองที่ยังมีชุมชนสองฟากฝั่งข้าง ที่อุดมสมบูรณ์ การล่องเรือในคลองแห่งนี้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิตคนริมคลอง

            และด้วยความที่เป็นคนริมเจ้าพระยามาแต่อ้อนแต่ออก การนั่งเรือตามลำคลองเป็นเหมือนการคืนสู่วันคืนอันเก่าก่อน สายลมอ่อน ๆ ละอองน้ำกระเด็นสัมผัสใบหน้า ความชุ่มฉ่ำกลางสายแดดที่แผดร้อน สิ่งเหล่านี้นำความสุขมาเติมเต็มให้วันเวลามีคุณค่ายิ่งขึ้น คุณลุงคนขับเรือที่มิได้เป็นเพียงคนพาไปตามจุดต่าง ๆ เท่านั้น ยังได้อธิบายความให้กระจ่าง ในสิ่งที่ได้พาไปเรียนรู้ ทั้งการปลูก การดูแลดอกกล้วยไม้ที่สวน การทำขนมผลผลิตประจำท้องถิ่น การปลูกบัว มีการพายเรือไปอยู่ท่ามกลางบัวในบึงขนาดใหญ่
            ทันทีที่เห็นบึงบัวใหญ่ที่เต็มไปด้วยดอกบัว และใบบัวอันงดงาม แรกเห็นนั้นทำให้นึกถึงชื่อเด็กน้อยผู้คุ้นชินนามว่า "บัวบูชา" เพราะคุณลุงได้อธิบายไว้ว่าบัวที่เห็นนี้คือบัวบูชา บัวที่นำไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เด็กหญิงที่เห็นมาตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ วันนี้เริ่มเติบโตขึ้นสวยงามตามวัย ท่ามกลางความรัก ความหวังของคนรอบข้าง ว่าเด็กน้อยคนนี้จะเติบโตขึ้นเป็นคนดีคนหนึ่งของสังคม เฉกเช่นบัวที่เติบโตขึ้นมารับแสงและพร้อมพลีตนให้เป็นเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใช่หรือไม่ สรรพสิ่งสร้างล้วนเกิดมาเพื่อสิ่งอื่น คนอื่นด้วยกันทั้งนั้น นี่คือจุดสูงสุดของการดำเนินชีวิต
           
ในขณะที่นั่งในเรือกลางบึงบัว เสียงอธิบายเรื่องบัวที่ต้องอาศัยในโคลนตมในการเจริญเติบโตนั้น ทำให้คิดถึงสัจธรรมที่ผ่านทางคำสอนของท่านติช นัท ฮันห์ ที่ว่าไว้ "ความทุกข์นั้นเหมือนโคลนตมเราสามารถใช้โคลนตมเพื่อปลูกดอกบัวให้เติบโต เธอไม่สามารถปลูกดอกบัวบนหินอ่อนเธอต้องปลูกดอกบัวในโคลนตมถ้าไม่มีโคลนตม ก็ไม่มีดอกบัวถ้าไม่มีความทุกข์ ก็ไม่มีความสุขที่แท้จริง"   "คนเราก็เหมือนกับดอกบัว เกิดขึ้นมาจากโคลนตมแล้วก็พยายามดิ้นรนจนพ้นน้ำ เมื่อเบ่งบานขึ้นมาก็กลายเป็นสิ่งที่เขานำไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นำไปถวายพระ"
            หน้าที่หลักของเรานั้นคือการสร้างคุณค่าของตนเองให้มากขึ้น ให้มีความดีสูงขึ้น จนในที่สุดก็สามารถที่จะหลุดพ้นจากรากเหง้าความเห็นแก่ตัวของตัวเอง ไปสู่จุดมุ่งหมายที่ดีที่สุดและพร้อมที่จะให้ความดีที่เราสร้างขึ้นนี้ เป็นเครื่องบูชาแด่พระผู้สร้าง
            ในสมัยโบราณ ชาวอียิปต์นิยมดอกบัวมาก ถึงกับประดิษฐ์เป็นลายหัวเสาในงานสถาปัตยกรรม แม้ภาพสลักภาพเขียนตามผนังก็มีภาพสตรีถือดอกบัว และทำท่ายื่นดอกบัวให้กัน แสดงว่าแต่ก่อนคงอุดมสมบูรณ์มาก แรงบันดาลใจที่ได้รับจากดอกบัวจึงทำให้เกิดแบบอย่างทางศิลปะการประดิษฐ์ดอกบัวในงานศิลปะปรากฏในอินเดียมากที่สุด แล้วแพร่สะพัดมาทางประเทศเอเชียตะวันออกทั้งหมด หรืออาจจะประจวบเหมาะกับที่แผ่นดินบริเวณนี้มีบัวนานาพันธุ์ก็อาจเป็นได้ ดังนั้นดอกบัวจึงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย คุณลุงยังอธิบายต่อว่า คนส่วนใหญ่มักจะนำดอกบัวตูมใกล้จะบานไปบูชาพระ ไม่มีใครนำดอกบัวบานแล้วไปบูชา คงเกรงว่าจะโรยเร็ว  ซึ่งเป็นเหมือนดอกไม้แรกแย้ม" หมายถึงความสดชื่นแจ่มใส ที่สร้างโลกให้งดงามน่าอยู่ ถ้าบัวดอกไหนไม่ได้ถูกนำไปบูชาพระ ไม่นานก็เบ่งบานแล้วก็โรยราไป อย่างไร้ความหมาย

           
ในวันที่วิถีชีวิตให้เราต้องบูชาเงินและสิ่งสารพัดที่เอื้ออำนวยความสะดวกแก่เรา ยิ่งมีมากยิ่งเป็นที่เคารพนับถือ เราจึงหันหนีที่จะเรียนรู้ถึงการหลุดพ้นจากความทุกข์ และดูเหมือนว่าพร้อมที่จะกระโจนเข้าใส่โคลนตมและยินดีที่จะคลุกคลีอยู่กับมัน ไม่น้อมรับพัฒนาให้เป็นดอกบัวที่พ้นน้ำ ซ้ำร้ายยังกลัวว่าจะถูกเด็ดไปถวายบูชาแด่พระเจ้าก่อนดอกอื่นอีกด้วย ครั้นเมื่อเกิดกลัว จึงหาสิ่งภายนอกมาเป็นเกราะคุ้มกัน ใช้ชีวิตให้คุ้มค่าตามแบบอย่างของกระแสโลก ไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อมอบถวายแด่พระเจ้าด้วยจิตวิญญาณของความดี  ใช่หรือไม่ ดอกบัวงามยามพ้นน้ำฉันใด ชีวิตที่สมบูรณ์ย่อมเป็นชีวิตที่หลุดพ้นเพื่อมอบให้ผู้อื่นฉันนั้น เราทุกคนล้วนเป็นบัวที่อยู่ในบึง และทุกคนย่อมมีค่าในตัวเองเสมอ เพียงแต่ว่า เมื่อถึงวันเวลาเรานำอะไรเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้าเล่า เงินทองหรือ ความสดใสแห่งจิตวิญาณ สิ่งไหนที่ควรค่าเพื่อมอบถวายในวิหารอันศักดิ์สิทธิ์

ไม่มีความคิดเห็น: