วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

มึนเมือง

มึนเมือง
         
   ท่ามกลางผู้คนมากมายในเมืองหลวง ผ่านไปมาบนทางเดินสัญจร หญิงชาย วัยรุ่น คนทำงาน ดูเหมือนช่างมีสีสัน มีชีวิตชีวาเสียเหลือเกิน แต่เมื่อเดิน ๆ ไปในท่ามกลางหมู่มวลชนคนเมืองกลับรู้สึกว่า ช่างโดดเดี่ยวเสียนี่กระไร ต่างคนต่างไปมุ่งสู่ยังที่เป้าหมาย เดินไปมาเหมือนร่างที่ไร้วิญญาณ เหมือนคนที่ง่วงนอน ดูมึน ๆ งง ๆ หรือว่าแท้จริงแล้วเมืองใหญ่แห่งนี้เป็นเมืองมายา ที่มีภาพอย่างหนึ่ง ความจริงเป็นอีกแบบหนึ่ง  หรือว่าเมืองแห่งนี้มีความขัดแย้งกันในตัวของมันเองอยู่ตลอดเวลา
            สภาพในเมืองการก่อสร้างมีให้เห็นทุกวัน ตึกรามบ้านช่อง คอนโดฯ อาคารสูงใหญ่ตระหง่านมีให้เห็นทุกพื้นที่ทั่วกรุง หรือว่า คนในเมืองยังต้องการที่อยู่อาศัยกันอีกมาก จากสถิติประชากรตามทะเบียนราษฎร์มีประชากร 5,676,765 คน (..2556) หากรวมประชากรแฝงกรุงเทพฯมี 8,839,022 คน หรือประมาณ 14% ของประชากรทั้งประเทศ และหากนับรวมประชากรที่เดินทางจากปริมณฑลโดยรอบที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และชาวต่างชาติ จะพบว่ามีประชากรในกรุงเทพฯมากกว่า 10 ล้านคน ที่อยู่อาศัยถูกสร้างมาเพื่อรองรับความต้องการของผู้คนที่มากมาย จะใช้เพียงแนวราบจึงไม่เพียงพอ ที่อยู่อาศัยแนวสูง (คอนโดฯ) จึงได้รับความนิยม แล้วคนที่ไร้ที่อยู่มีจำนวนมากน้อยเท่าไร คนที่ยังต้องเช่าที่ซุกหัวนอนมีอีกเท่าไร? เป็นสิ่งที่สถิติมิสามารถจะบอกได้

            เมื่อพูดถึงจำนวนผู้คนในเมืองหลวงที่เดินกันขวักไขว่ ยิ่งไม่ต้องมองลงไปในท้องถนนเลย สภาพ "รถติด"เป็นสิ่งที่คู่กับชีวิตเมืองมาตลอด ติดไม่มีวันหยุด เสาร์อาทิตย์ยังไม่เว้นว่าง ยิ่งช่วงนี้ ราคาน้ำมันลดลง จำนวนรถบนท้องถนนดูจะเพิ่มมากขึ้น สถิติที่อาจสะท้อนภาพดังกล่าวได้ คือ ปริมาณการใช้รถยนต์ผ่านระบบทางด่วนที่เข้า-ออกพื้นที่กรุงเทพฯ มีมากถึง 1.6 ล้านคันต่อวัน (.. 2556) กรุงเทพฯ มีจำนวนรถยนต์จดทะเบียนใหม่  8 ล้านคันในปี 2557 และในปีนี้เพียงสองเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมามีรถจดทะเบียนใหม่แล้ววันละ 2,954 คัน
           
ว่ากันว่าการขับรถในกรุงเทพฯนี้คือบ่อเกิดแห่งบาปโมโหโกรธา การด่าทอและการสบประมาทเลยทีเดียว ถึงแม้จะใจเย็นสักเพียงใดก็ตาม ต้องมีสักครั้งหนึ่งที่ต้องผจญกับการคุกคามของปีศาจในนามของความฉุนเฉียวโมโห ในชั่วโมงเร่งด่วนก่อนทำงานและหลังเลิกงานคือช่วงหฤโหดของคนมีรถ ในขณะเดียวกันมีอีกหลายล้านคนต่างต้องยืนชะเง้อคอยรถเมล์ รถไฟฟ้า รถสาธารณะ ที่อัดแน่นไปด้วยผู้คนพลเมือง แต่จำต้องขึ้นไปสูดดมอากาศร่วมกันในนั้น ขึ้นไปจับจองพื้นที่เล็กๆให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วทำหน้ามึน ๆ ยึดครองไว้ให้ตลอดรอดทาง
            และแล้วเมื่อมีพื้นที่ก็จำต้องสร้างแลนด์มาร์คทันที เข้าสู่โลกส่วนตัว หยิบโทรศัพท์มือถือพูดคุยแบบไร้เสียงไปยังคนที่อยู่ห่างออกไป บ้างก็ดูหนังฟังเพลงไม่สนใจผู้คนรอบข้าง ประชากรในกรุงเทพมหานครใช้โทรศัพท์มือถือร้อยละ 85 ซึ่งสูงกว่าภาคอื่น ๆ ลองคิดดู หากเรามีผู้คนอาศัยในเมืองนี้เป็นตัวเลขกลม ๆ สักสิบล้าน เกือบทุกคนต่างมีพื้นที่เล็ก ๆ ของตัวเองบนฝ่ามือ ยามเมื่อเดินทางไปไหนมาไหนมีสิ่ง ๆ นี้เป็นเพื่อนร่วมทาง นั่งในรถยามรถติดก็หยิบก็เปิด พอไฟเขียวบางครั้งก็ยังไม่รู้ตัว เป็นเหตุให้รถติดสะสม คนเดินทางเท้าถึงแม้ว่าจะมีการจัดระเบียบ ร้านค้าแผงลอยหายไป แต่คนเดินมัวแต่ก้ม ๆ อ่านไลน์ ไลค์เฟส พิมพ์แชท คนเดินตามก็เดินไปไม่ได้ เกิดสะดุด เบียดเสียด เกิดอาการหมั่นไส้โมโหต่อว่าใส่กัน

            เราจึงอยู่กันแบบมึน ๆ ในความเป็นเมืองได้ลดคุณค่าของความเป็นคนลงไปมาก บนหนทางวิถีชีวิตเมืองทำให้เราคิดว่าเต็มไปด้วยความทุกข์ ผู้คนไม่ค่อยมีความสุข แต่ทำไมผู้คนยังต้องการที่จะมีชีวิตในเมือง แน่ล่ะ เพราะในเมืองสามารถตอบสนองแสวงหาเครื่องอำนวยความสะดวกได้ง่ายกว่า เพราะคนส่วนใหญ่ยังคิดว่าความสะดวกนำมาซึ่งความสุข แม้ว่าจะมึน ๆ กับสังคมเมือง แต่ในหัวใจของเราทุกคนมีความรักและความเมตตาต่อคนอื่นด้วยกันทั้งนั้น เพราะด้วยปัจจัยภายนอกที่บีบรัดจึงไม่สามารถที่จะแสดงออกมาได้

           
       ใช่หรือไม่ ความรักและเมตตาย่อมนำมาซึ่งความสุขความสงบความสามัคคีและตราบเท่าที่ทุกคนมีสิ่งเหล่านี้เป็นทุนอยู่ในหัวใจ ความวุ่นวายการแก่งแย่งชิงดีกันลุแก่อำนาจย่อมไม่อาจจะตั้งอยู่ได้ เราไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ว่า การที่จะใช้ชีวิตในเมืองนั้นมีความยากมากขึ้น การที่จะใช้ชีวิตในสังคมเมืองได้อย่างมีความสุขนั้น ต้องรู้จักการจัดสรรเวลาให้เป็น ใช้จ่ายอย่างสมดุลเท่าที่จำเป็น และมองโลกในเเง่ดีอยู่เสมอ หากใช้ชีวิตถูกทางจะสร้างสุขในสังคมเมืองได้ไม่ยาก คิดดี คิดในทางสร้างสรรค์เพื่อความสุขของตนเองและผู้อื่น

ไม่มีความคิดเห็น: