วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2558

รำพึงถึง..เรา ภาคที่ 1

รำพึงถึง..เรา  ภาคที่ 1
            วันนี้ขอนำบทความเก่าที่เขียนไว้ในปี พ.. 2549 มาแก้ไขปรับแต่งใหม่ ให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อรำพึงถึงทางกางเขนของเราร่วมกับพระเยซูเจ้าในระหว่างสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์


            
สถานการณ์ที่ 1 การตัดสินผู้อื่น (ปีลาตตัดสินประหารชีวิตพระเยซูเจ้า)
​            ไม่มากก็น้อยเราย่อมเคยตัดสินผู้อื่นเพียงจริตส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อความอยู่รอดในสังคมของตน ทั้ง ๆ ที่ย่อมรู้ดีว่า คนที่ถูกตัดสินอยู่นั้นไม่มีความผิด ยิ่งสังคมวันนี้เราตัดสินกันบนโลกออนไลน์ พิพากษาทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้จัก ต่างคนต่างตัดสินผู้อื่นอย่างไร้จิตสำนึก เราก็ไม่ต่างกับปิลาต... ก่อนที่เราจะตัดสินผู้อื่น ควรที่จะศึกษาถึงเบื้องหน้าเบื้องหลัง คำนึงถึงความยุติธรรมและคิดถึงวันที่พระเยซูเจ้า ถูกตัดสินประหารชีวิตจากปิลาต
สถานการณ์ที่ 2 การแบกรับความผิด (ชอบ) (พระเยซูเจ้าทรงรับแบกกางเขน)
            เป็นธรรมดาของเราที่ไม่อาจยอมรับความผิดกันอย่างง่าย ๆ จะปกป้องตัวเองโดยทันทีเมื่อถูกกล่าวหาและใส่ร้าย การโต้เถียง โยนความผิดไปให้ผู้อื่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ความรับผิดชอบจึงเป็นมโนสำนึกที่เรามีเพื่อยกระดับจิตใจ องค์พระเยซูเจ้า ที่น้อมรับแบกกางเขน เพื่อไม่ให้เกิดการโต้เถียง ทะเลาะ จนอาจจะกลายเป็นสงคราม รับผิดไว้แต่เพียงผู้เดียว การน้อมรับความผิดที่เรากระทำไปยิ่งใหญ่กว่าการเรียกร้องหาความยุติธรรมกันแบบลอยๆ



สถานการณ์ที่ 3 การหกล้มเป็นหนทางนำไปสู่ความเข้มแข็ง (พระเยซูเจ้าทรงหกล้มครั้งแรก)
            การผิดพลาดเป็นเรื่องปกติวิสัย แต่การแก้ไขเป็นเรื่องที่มนุษย์ผู้ประเสริฐสมควรกระทำ เมื่อเราผิดพลาดเราต้องลุกขึ้นและก้าวเดินต่อ บนเส้นทางสายชีวิตเรานี้ บ่อยครั้งความเข้มแข็งก็เริ่มต้นจากการล้ม เมื่อพระเยซูเจ้าหกล้มครั้งแรก กางเขนก็ล้มทับ ใช่หรือไม่พระองค์ก็ใช้กางเขนพยุงกายยืนลุกขึ้นเดินหน้าต่อไป
สถานการณ์ที่ 4 หัวใจของความเป็นแม่ (พระเยซูเจ้าทรงพบปะพระมารดา)
            ผู้หญิง ความเป็นแม่ สัญลักษณ์ของความอ่อนโยน ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไรในสายตาของคนอื่น แม่คนนี้รักลูกเสมอยอมที่จะตายแทนได้ แต่ในทุกวันนี้ผู้หญิงหลายคนไร้หัวใจของความเป็นแม่ ความอ่อนโยนหายไปจากหัวใจแม่ โลกนี้จึงดูอ่อนแอ ความเหนื่อยยากและความทุกข์ตรมของโลกนี้จะถูกหัวใจแม่หลอมละลายเผาไหม้ให้กลายเป็นความเข้มแข็ง มั่นคงตลอดไป
สถานการณ์ที่ 5 ช่วยกันแบ่งเบาความทุกข์ของผู้คนด้วยการเอื้ออาทร (ซีโมนช่วยพระเยซูเจ้าแบกกางเขน)
            สังคมโลกเต็มไปด้วยความตรึงเครียด ไม่ยอมลดราวาศอกกันไม่มีเมตตาต่อกัน หากเราให้ความช่วยเหลือกันบ้างในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ รู้จักให้และน้อมรับคำชี้แนะบ้าง ความทุกข์ของผู้ทุกข์ทนหวังเพียงแต่ต้องการใครสักคนรับฟัง เป็นที่ระบายเท่านั้น ในวันนี้ก็ยังหายากเต็มที เห็นซีโมนแล้วก็คิดถึงสังคมไทย ที่เคยเป็นสังคมแห่งการเอื้ออาทร วันนี้เป็นเช่นไรลองคิดดู
สถานการณ์ที่ 6 ขอแค่ผ้าเช็ดหน้าที่ยื่นให้กัน (นางเวโรนีกาเช็ดพระพักตร์พระเยซูเจ้า)
            มีบางสิ่งบางอย่างหล่นหายไปจากสังคม การ ให้หาไม่พบ จริงหรือไม่ บางทีความทุกข์ ความเศร้า ความโศกอาจจะได้รับการบรรเทาได้ด้วยเพียงสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ คนที่กำลังจมดิ่งอยู่ในห้วงทุกข์มีเพียงหยดน้ำ ย่อมดีใจกว่าการที่ได้รับเงินทอง คนที่เราจดจำได้มิมีวันลืม ย่อมเป็นคนที่ผ่านมาพบและหยิบยื่นความช่วยเหลือแม้เพียงสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับเรา และเราล่ะ เคยไปอยู่ในความทรงจำของใครบ้างบนเส้นทางชีวิตสายนี้
สถานการณ์ที่ 7 ไม่มีใครเจ็บปวด ผิดหวัง ล้มลงเพียงแค่ครั้งเดียว(พระเยซูเจ้าทรงหกล้มครั้งที่สอง)
            คนที่ล้มลงน้อยครั้งใช่ว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าคนที่ล้มแล้วลุก ลุกแล้วล้ม ซ้ำไปมาหลายรอบ ความล้มเหลวในชีวิตมักมีบทเรียนบทสอนให้กับชีวิตเสมอ ไม่มีผู้คว้าชัยคนไหนที่ไม่มีบาดแผล ชีวิตต้องไม่อยู่บนความประมาท อย่าระเริงบนความสำเร็จจนลืมวันที่เคยล้มลง
สถานการณ์ที่ 8 ความทุกข์ของเรามีคุณค่าเสมอ(พระเยซูเจ้าทรงตรัสบรรเทาทุกข์หญิงชาวเยรูซาแล็ม)

            ความทุกข์ของคนเรามักมีความเข้มแข็งเป็นรางวัล คนที่ผ่านความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสมาย่อมมีหัวใจแห่งความเมตตา เข้าใจผู้อื่นและมีความห่วงใยให้ผู้อื่นเสมอ วันนี้ความเห็นแก่ตัวครองโลก ตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างแก่งแย่งชิงเด่นชิงดัง ไม่มีเวลาที่จะปลอบโยนกัน เราจึงเมินคุณค่าความทุกข์ทั้งของตัวเองและผู้อื่น (ต่อภาค 2 สัปดาห์หน้า)

ไม่มีความคิดเห็น: