วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

บนความฉาบฉวย

บนความฉาบฉวย
            ในโลกที่เต็มไปด้วยการสื่อสารสมัยใหม่ ข้อมูลข่าวสารไหลหลั่งดั่งกับสายฝนที่ไม่มีวันหยุดโปรยลงมา ทุกวินาทีมีความเปลี่ยนแปลง รับรู้เรื่องราวข้ามโลกในเสี้ยวนาที ด้วยความรวดเร็วเช่นนี้  จึงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องเกิดการแข่งขันเพื่อให้บริการข่าวสาร การบริการจึงกลายเป็นธุรกิจเชิงเศรษฐกิจ วัฒนธรรมใหม่เกิดขึ้นตามมา ใครเร็วกว่าในการให้บริการ ย่อมส่งผลต่อยอดกำไร ใช่หรือไม่ เมื่อต้องการความรวดเร็วก็ย่อมต้องเกิดความหละหลวม ละเลย ใส่สีสันเอามันเข้าว่า เบี่ยงเบนประเด็นหรือจุดประเด็นเติมเชื้อไฟให้ลุกโชน เพียงหวังยอดคนอ่านคนชมเพียงเท่านั้น นี่เป็นความฉาบฉวยของสำนักข่าวบางสำนักในโลกยุคปัจจุบัน
            การใส่ใจการคัดกรองตรวจสอบความถูกต้อง ถูกละเลย ความอ่อนด้อยทางด้านศีลธรรม ความลึกซึ้งเชิงคุณค่าในความดี ความงามของชีวิตหล่นหายไปในจรรยาบรรณของอาชีพนักการสื่อสาร บวกกับความมักง่ายในการแปลภาษาหนึ่งสู่อีกภาษาหนึ่ง ด้วยการใช้เทคโนโลยีตัวช่วยสมัยใหม่ให้แปลงภาษา เพียงต้องการความรวดเร็วให้ไวกว่าสำนักอื่น ความผิดเพี้ยนจึงเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน และเพื่อให้เกิดความสะใจจุดไฟใส่ประเด็น จึงได้มีการนำถ้อยคำแปลงสารเหล่านั้นมาสรุปแบบรวบลัด ผู้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ จึงกลายเป็นผู้รับรู้ข่าวสารมือสอง มือสาม ไปโดยปริยาย
           
ภาพ  :  อินเตอร์เน็ต
ประจวบกับการอ่านของหลายคนที่ไม่ได้ฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ที่เรียกกันว่า “อ่านหนังสือไม่แตก” เห็นเพียงหัวข้อข่าวก็หลงเชื่อในข้อมูลข่าวสารนั้นแล้วก็ยึดมั่นว่านั่นคือความจริง แต่ความจริงแล้ว นี่คือ เหยื่ออันโอชะของระบบการแข่งขันบนระบบธุรกิจการสื่อสาร และแน่นอนในสังคมออนไลน์สังคมเครือข่าย ที่พร้อมรับความรวดเร็วมีไม่น้อยเลยที่ปรารถนาจะเป็นหนึ่งในการแสดงออกถึงความคิดความเห็นของตัวเองบนหน้ากระดานสาธารณะ หลายครั้งหลายคนจึงไม่ได้อ่านให้จบครบถ้อยขบวนความ ไม่ได้อ่านให้แตกฉาน ไม่ได้วิเคราะห์แต่กลับใช้การวิจารณ์เอามันเอาสะใจ ได้แสดงออกถึงอารมณ์เอาไว้ก่อน ซึ่งหลายครั้งกลับกลายเป็นผลเสีย กลายเป็นการแสดงถึงความไม่รอบคอบ และความน่าอายในการไม่รู้จริงแล้วนำไปกระเดียด
            ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่องค์สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส เสร็จสิ้นภารกิจนายชุมพา ในการเสด็จเยือนประเทศศรีลังกาและฟิลิปปินส์ พระองค์ได้ประทานสัมภาษณ์แก่นักข่าวบนเครื่องบินกลับไปยังกรุงโรม เป็นเวลาถึง 56 นาที มีหลายเรื่องหลายหัวข้อที่สำคัญ ๆ แต่หลายสำนึกข่าวเลือกที่จะพาดหัวข้อข่าวเรื่องการมีลูกมาก และลามไปถึงการการคลุมกำเนิด ที่เป็นจุดแข็งของพระศาสนจักรคาทอลิก ทั้ง ๆ ที่คำสัมภาษณ์นั้นย้ำถึงความรับผิดชอบของความเป็นพ่อแม่ ลองดูการพาดหัวข่าวในสื่อออนไลน์ “โป๊ปชี้ คาทอลิกที่ดีไม่จำเป็นต้องมีลูกมาก”  อีกสำนักข่าวหนึ่ง “โป๊ปแนะคาทอลิกที่ดีไม่ควรมีลูกมากเหมือนกระต่าย” แท้จริงแล้วเนื้อหาข่าว คือ

            นักข่าวถามสมเด็จพระสันตะปาปาว่า : “ลูกมากไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือพ่อแม่รับผิดชอบที่จะเลี้ยงหรือเปล่า”
            พระสันตะปาปา: “การเปิดรับชีวิตที่จะเกิดมาคือเงื่อนไขสำหรับศีลสมรส” พระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ทรงศึกษาเรื่องนี้เอาไว้ พระองค์ทรงปฏิเสธเรื่องการคลุมกำเนิด ... สิ่งนี้ ไม่ได้หมายความว่า คริสตชนต้องมีลูกคนเดียวนะ พ่อเคยดุผู้หญิงคนหนึ่งที่ตั้งครรภ์ลูกคนที่ 8 โดยที่เธอเคยผ่าท้องคลอดลูกมาแล้ว 7 ครั้ง! พ่อถามเธอไปว่า “นี่คุณต้องการให้ลูกๆ เป็นเด็กกำพร้าเหรอ คุณอย่าผลักภาระ(เลี้ยงลูก)ให้พระเจ้านะ” ผู้เชี่ยวชาญกล่าวไว้ว่า ครอบครัวหนึ่งมีลูก 3 คนกำลังดี แต่สิ่งที่พ่ออยากเน้นย้ำคือความรับผิดชอบของคนเป็นพ่อแม่ ขอโทษนะ บางคนคิดว่าการเป็นคาทอลิกที่ดี เราต้องแพร่พันธุ์ให้เหมือนกระต่าย มันใช่เหรอ? ไม่เลย  เราต้องเป็นพ่อแม่ที่มีความรับผิดชอบต่างหาก ( แปลโดย : PopeReport)
            ในความฉาบฉวยของยุคสมัยใหม่โลกที่ฉาบด้วยเปลือกและฉกฉวยหาประโยชน์ใส่ตน เป็นตัวเร่งให้เกิดความขัดแย้งของผู้คน ทำให้เราต้องระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้น หากเราหลงกลไปกับความฉาบฉวย โดยไร้ภูมิต้านทาน เราก็จะกลายเป็นเหยื่ออันโอชะ หลงเชื่อในเรื่องผิด ๆ แล้วนำเรื่องเท็จไปบอกต่อ นำไปแบ่งปันแถมใส่จริตของตนเข้าไปอีก นี่จึงเป็นการส่งเสริมความฉาบฉวยให้เบ่งบานมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เราทำได้ นั่นคือ ต้องเสริมความแข็งแกร่งในจิตสำนึก อ่านอะไรก็อ่านอย่างละเอียดใช้มโนสำนึก (พระจิตเจ้า) ชี้ทางว่าอะไรถูกอะไรผิด ความเร่งรีบอาจจะทำให้ไปถึงที่หมายได้โดยเร็ว แต่ก็อาจจะทำให้พลาดความงาม ความดี และชีวิต ระหว่างทางได้

ไม่มีความคิดเห็น: