วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558

รอยแผลเก่า

รอยแผลเก่า
            ชื่อบทความนี้อาจจะเหมือนหนังละครเก่ายอดฮิตของคนไทย แต่สิ่งที่เป็นรอยแผลเก่ากำลังจะถูกเปิดออกใหม่สด ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกในวันนี้ ที่ดูเหมือนว่าโลกของเรายังก้าวไม่พ้นความดิบเถื่อน ชอบแก้ปัญหาความต่างด้วยการสร้างรอยแค้นเคืองกันมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และสิ่งที่แตกต่างอันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สามารถนำมาจุดไฟแห่งความโกรธเคืองได้อย่างดีนั่นคือหนีไม่พ้นเรื่องศาสนา เป็นที่แปลกใจไม่น้อย ในเมื่อหลักศาสนานั้นมุ่งสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ใฝ่คว้าหาสันติสุข แต่ก็มีคนบางกลุ่มบางคนที่นำหลักธรรมไปหาเรื่องสร้างความแค้นเคือง จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่กำลังลุกลาม แผลเก่าแผลนี้จึงถูกเปิดให้เจ็บช้ำกันอีกหน
          
ภาพ: อินเตอร์เน็ต
         เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีคนร้ายใช้ปืนไรเฟิลบุกยิงสำนักพิมพ์การ์ตูนเสียดสีรายสัปดาห์ ชาร์ลี เอ็บโด ในกรุงปารีส ฝรั่งเศสทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 12 ราย เพราะไม่พอใจที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนศาสนาอิสลาม จากนั้นเหตุการณ์ก็บานปลายมีการไล่ล่าคนร้ายที่กำลังหลบหนี มีการจับตัวประกัน จนถึงขั้นฆ่าตัวประกันไปหลายราย ที่สุดคนร้ายทั้งหมดก็ถูกวิสามัญฆาตกรรม
            เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความวิตกให้กับหลายฝ่ายว่าอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงในประเทศต่าง ๆ เนื่องด้วยเพราะคนบางกลุ่มจะนำเอาเรื่องของศาสนามากล่าวอ้างเพื่อสร้างความชิงชังให้เกิดขึ้นในหัวใจของผู้คน ซึ่งไม่เป็นผลดีเอาเสียเลย ใช่หรือไม่ความเชื่อความศรัทธาในองค์ศาสดานำมาซึ่งคำสั่งสอนที่งดงาม ที่นำมาขัดเกลาจิตใจให้อ่อนละไม หาใช่นำมาเป็นสิ่งยั่วความชั่วของกิเลสตน จนทำให้เกิดความแค้นเคือง แน่ล่ะ บนความแตกต่างทางวัฒนธรรมก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องแยกแยะให้ออก บางประเทศมีการเปิดกว้างในทุกเรื่อง หากว่าเรื่องไหนทำให้เราเดือดเนื้อร้อนใจก็ฟ้องร้องให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ใช้อาวุธสงครามเป็นเครื่องตัดสิน ซึ่งไม่มีอยู่ในคำสอนของศาสนาใด ๆ เลย ในอีกด้านหนึ่งของบางวัฒนธรรม การเคารพเทิดทูนในศาสนานั้นถือว่าเป็นสิ่งสูงสุด ไม่สามารถที่จะนำมาเป็นสิ่งล้อเล่นล้อเลียน หากคนทั้งโลกใฝ่ใจที่จะเคารพความต่าง เรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกัน โดยไม่ถือจริตแห่งชนชาติ สังคมโลกที่ถูกเชื่อมด้วยการสื่อสารก็จะเป็นสังคมแห่งการให้อภัยกันได้
ภาพ: อินเตอร์เน็ต
          คงจะเป็นเรื่องยากสำหรับมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายแห่งจริตตน ความคิดเป็นของตัวเอง ของกลุ่มใครกลุ่มมัน แล้วยึดมั่นถือมั่นอย่างมั่นคง กลุ่มคนที่มีความคิดที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อเรียกร้องสันติก็มีอยู่ไม่น้อย ที่ประเทศไนจีเรีย เมืองบากา ก็ถูกกองกำลังติดอาวุธอิสลาม ในนามของกลุ่ม “โบโกฮาราม” บุกกราดยิงผู้คน มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย สภาพเมืองบากาในตอนนี้ถูกทำลาย นี่ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่นำศาสนามาเป็นธงหลัก นำพาให้ผู้คนหลงเชื่อ มีด้วยหรือ ? คำสอน หลักธรรมใดที่สอนเรื่องการเข่นฆ่า คือสิ่งถูกต้อง
            และในขณะโลกกำลังปั่นป่วน มีการนำความต่างของศาสนามาเป็นเครื่องมือเพื่อมุ่งสู่ชัยชนะ จนขาดหลักยึดว่า โดยแท้จริงแล้ว เราควรจะทำเยี่ยงไร สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ซึ่งได้เสด็จมายังประเทศศรีลังกาและฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 12-19 มกราคมนี้ พระองค์ได้ตรัสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “มันเป็นโศกนาฏกรรมอย่างต่อเนื่องในโลกของเราที่สังคมจำนวนมากต้องทำสงครามกันเอง การไร้ความสามารถที่จะประนีประนอมความแตกต่างและการไม่ลงรอยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเก่าหรือเรื่องใหม่ ก็ได้ทำให้เกิดความตึงเครียดต่อชาติพันธุ์และศาสนาต่าง ๆ ตามมาด้วยการปะทุของความรุนแรง เป็นเวลานานหลายปีที่ศรีลังกาเป็นที่รู้จักเกี่ยวกับความน่ากลัวของความขัดแย้ง และในตอนนี้ ประเทศแห่งนี้กำลังแสวงหาการรวบรวมความสงบและการรักษาบาดแผลที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่งานที่ง่ายเลย        ที่จะเอาชนะมรดกแห่งความขมขื่นของความอยุติธรรม ความเป็นศัตรูกัน และความไม่ไว้ใจกันที่ถูกทิ้งไว้จากความขัดแย้ง สิ่งนี้สามารถบรรลุได้ด้วยการชนะความชั่วด้วยความดีเท่านั้น (โรม 12:21) และโดยการปลูกฝังคุณธรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการคืนดีกัน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และสันติภาพ กระบวนการของการเยียวยารักษายังจำเป็นต้องมีการแสวงหาความจริง การแสวงหานี้ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์จากการเปิดแผลเก่าที่เกิด แต่มันเป็นวิธีการที่จำเป็นต่อการส่งเสริมความยุติธรรม การเยียวยารักษา และความสามัคคีกัน”
Pope Report

            “เมื่อใดที่ประชาชนรับฟังกันและกันด้วยความสุภาพและเปิดใจ เมื่อนั้น คุณค่า ค่านิยม และความปรารถนาที่พวกเขาแบ่งปันกันก็จะปรากฏเด่นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ความหลากหลายไม่ใช่ภัยคุกคาม แต่เป็นบ่อเกิดของความอุดมสมบูรณ์(ของชาติ) เป็นหนทางนำไปสู่สันติ การคืนดี และความเป็นพี่น้องกันในสังคม จะกลายเป็นเรื่องที่เห็นได้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น” (Pope Report)

ไม่มีความคิดเห็น: