วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557

คนเราก็แปลก

คนเราก็แปลก
ในยุคที่เรามีเครื่องมือสื่อสารที่นำสมัย สามารถตอบสนองกับความต้องการของผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลายเป็นว่า คนที่นำมาใช้กลับไม่ค่อยจะได้รับประสิทธิผลสักเท่าไรนัก เทคโนโลยีที่มีทำให้คนอยู่กับตัวเองมากขึ้น สร้างโลกส่วนตัวโดยมโนว่าเป็นโลกทั้งใบ ครอบครองความเก่ง ยึดโยงความฉลาดไว้เพียงผู้เดียว แน่ล่ะ เมื่อคิดคนเดียว อยู่คนเดียว ก็ย่อมต้องเก่งคนเดียวอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง อันโลกเรานี้มีผู้คนแตกต่างกันมากมาย ขนาดพี่น้องท้องเดียวกัน ก็ใช่ว่าจะคิดจะทำอะไรไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด ในวันนี้ทุกคนกำลังต้องการจะทำเหมือน ๆ กัน คือ ต้องการอยู่คนเดียวโดยไม่หวังพึ่งพาใคร ไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นผู้คนต่างยึดโยงพื้นที่ส่วนตัวกันอย่างเหนียวแน่น ...
ภาพ : อินเตอร์เน็ต
นอกจากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว เรายังมีสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย แต่ก็ดูเหมือนว่ายิ่งสะดวกขึ้นเรากลับมีความโลภอยากได้มากยิ่งขึ้น ไม่เคยพอใจกับสิ่งที่มี ไม่เคยอยู่กับสิ่งที่เป็น ไม่ค่อยนิ่ง กายสบายแต่จิตใจคนวันนี้ไม่สงบ ผู้คนไม่ค่อยมีสติ มักใช้อคตินำทางชีวิต ความสับสนวุ่นวายจึงเกิดขึ้น  ลีโอนาโด ดาวินชี นักปราชญ์แห่งอารยธรรมตะวันตก ผู้ที่เป็นทั้งจิตรกร นักปั้น นักพฤกษศาสตร์ บิดาแห่งศิลปะและกายวิภาคศาสตร์ ได้กล่าวไว้เป็นปรัชญาสำคัญในการดำรงชีวิตว่า คนส่วนใหญ่มักจะ
ภาพ : อินเตอร์เน็ต
มองแต่ไม่เห็น (You look, but you don’t see)
ฟังแต่ไม่ได้ยิน (You listen, but you don’t hear)
กินแต่ไม่ได้ลิ้มรส (You eat, but you don’t taste)
สัมผัสแต่ไม่รู้สึก (You touch, but you don’t feel)
พูดแต่ไม่ได้คิดก่อนที่จะพูด (You speak, but you don’t think)”
มองแต่ไม่เห็น : ทุกๆวันเราตื่นขึ้นมามองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เอาเข้าจริงเรากลับมองไม่เห็นความงดงามของวันใหม่ ซ้ำร้ายมีบ้างบางคนมองไม่เห็นคนที่อยู่ข้างกาย คนที่อยู่ใต้ร่มชายคาเดียวกับเรา ตื่นมาก็ต้องรีบ ๆ ทำภารกิจส่วนตัว ต่างคนต่างไป รีบ ๆ เร่ง ๆ เดินทางไปให้ทันเวลาเข้างาน ทำงานก็แข่งกันมองไม่เห็นความสำคัญของกันและกัน อยู่ร่วมกัน ทำงานด้วยกัน แต่ทำเป็นมองไม่เห็นกัน ความสุขจึงไม่บังเกิดขึ้น
ฟังแต่ไม่ได้ยิน : เรามักจะเกิดอาการหงุดหงิดเมื่อเราพูด เราบอกใครคนใดคนหนึ่งแล้วเขาทำเป็นหูทวนลม ทำเป็นไม่ได้ยิน ทำเป็นเมิน เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับเราได้เสมอ เมื่อเกิดแล้วก็จะทำให้เราโมโห เพราะดูเหมือนว่าเราด้อยค่าไป หรือถ้าย้อนมองกลับไป เขาอาจจะไม่ต้องการปะทะกับเรา ไม่อยู่ในสภาวะที่จะฟัง เราก็เช่นกันที่มีบ้างบางครั้งบางหนที่ต้องทำเป็นไม่ได้ยินกับบางเรื่องเพื่อความสบายใจ แต่ที่สุดแล้วหนทางที่ดี เราต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย
กินแต่ไม่ได้ลิ้มรส : การกินของเราในทุกวันนี้ เรากินเพื่อกิน กินเพราะถึงเวลากิน ทั้ง ๆ ที่ การพัฒนาของโลกสมัยใหม่ทำให้เรามีอาหารการกินที่ดีมากมาย แต่ด้วยเพราะความรีบเร่ง จำเจ ก็กิน ๆ มันไปอย่างนั้น ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์เสียเท่าไร หรือถ้าถึงเวลาที่จะต้องกินเพื่อลิ้มรสจริง ๆ ก็ต้องเลือกร้านหรู ๆ บรรยากาศเลิศ ๆ ที่จะทำให้การกินนั้นเต็มไปด้วยความสุข กินเสร็จจ่ายเงินเสร็จวันต่อไปก็กินไปแบบแกลน ๆ เหมือนเดิม
สัมผัสแต่ไม่รู้สึก : ในภาวะที่เราต้องอยู่ท่ามกลางข่าวสารที่มีให้เสพจนเห็นเรื่องโหดร้าย กลายเป็นเรื่องชินชา เราสัมผัสได้ว่าโลกนี้ สังคมวันนี้ มีความเจ็บปวด มีความทุกข์ยากแสนเข็ญอยู่ไม่น้อย แต่เราก็ไม่ได้รู้สึก อิน กับเรื่องราวเหล่านั้นมากนัก เพราะความถี่ที่มีให้เห็น ให้ดูมันมากเกินไป ดูจนเห็นเป็นเรื่องปกติ เช่น ความทุกข์ยากของชาวอิรัก ชาวซีเรีย  ชาวยุโรปที่เป็นเฉลยถูกตัดศีรษะ โดยกลุ่ม ISIS ใช่หรือไม่ ในวันนี้ ความรู้สึกสงสารหายไปจากหัวใจผู้คนค่อนโลก
พูดแต่ไม่ได้คิดก่อนที่จะพูด : การพูดที่ไม่คิดมักนำมาซึ่งความเข้าใจผิด นำไปสู่ความขัดแย้ง ถึงแม้เราจะมีเครื่องมือสื่อสารใช้กันเกือบทุกคน แต่เป็นอะไรกันก็ไม่รู้ มักคุยกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง อาจจะเป็นเพราะคนพูดก็จะพูดอย่างเดียว คนฟังก็ไม่สนใจฟัง เพื่อให้คนอื่นหันมาฟังก็เลยต้องพูดเรื่องร้าย ๆ พูดแรง ๆ ใส่อารมณ์ การพูดจึงเป็นปัญหาใหญ่ตั้งแต่ระดับผู้นำประเทศ จนถึงพ่อค้าแม่ขาย
มนุษย์ส่วนใหญ่มักทำอะไรโดยขาดสติ เหม่อลอย ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดต่ำลงอย่างมาก ดังนั้น ลีโอนาโด ดาวินชี จึงแนะนำวิธีฝึกสติอย่างง่าย ๆ คือ เมื่อมองสิ่งใดก็ตามให้ตั้งใจมอง เมื่อฟังให้ตั้งใจฟัง เมื่อกินจะต้องลิ้มรสอาหารนั้น สัมผัสสิ่งใดให้รู้ตัวว่ากำลังสัมผัสสิ่งใดอยู่ และก่อนจะพูดให้คิดพิจารณาก่อนทุกครั้งและให้พูดทีละคำฟังทีละเสียง
ภาพ : อินเตอร์เน็ต
          ครั้นเมื่อเรามีสติ มีสมาธิแล้ว เราก็จะได้เห็นโลกนี้งดงามมากยิ่งขึ้น จะมองเห็นคุณค่าของทุกผู้คน จะพร้อมรับฟังและพูดคุยในสิ่งดี ๆ ที่สุดแล้ว เราก็จะได้ยินเสียงจากจิตใจของเรา เสียงเรียกร้องภายในให้กระทำในสิ่งที่ดีงาม และเสียงตักเตือนเมื่อเราเริ่มเดินหลงทางไป เป็นการตอบสนองต่อเสียงภายใน เป็นการเตรียมพร้อม และรู้ตัวว่าอะไรควรทำไม่ควรทำในชีวิต เมื่อเป็นดังนี้ ชีวิตเราก็จะเกิดการพลาดน้อยลง ให้เวลากับการฟังเสียงภายในของเราบ้างในแต่ละวัน เพื่อลดความสับสนวุ่นวายในชีวิตของเรา ความสุขอยู่ไม่ไกล อยู่ที่เราพร้อมที่จะพบเจอหรือเปล่า

ไม่มีความคิดเห็น: