วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ใช้ทุกข์สร้างทางทาน

ใช้ทุกข์สร้างทางทาน
เห็นความทุกข์ของชาวนาทั่วประเทศ ที่ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องจำนำข้าวแล้ว รู้สึกสงสารจับใจ เขาปลูกข้าวให้เรากิน แต่...พวกเขากลับไม่มีอะไรจะกินและไม่ว่าทุกข์ของชาวนานั้นจะเกิดจากระบบทุนนิยมที่เอาประโยชน์จากพวกเขา โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงทำหรือเกิดจากความโลภมากของคนบางกลุ่ม เราต้องมีสำนึกร่วมกันว่าถ้าไม่มีชาวนาเราก็ไม่มีข้าวจะกิน ด้วยความหวังว่า คงอีกไม่นานจากนี้ ความทุกข์ของพวกเขาควรได้รับการเยียวยา เพื่อว่าเราจะได้พึ่งพาอาศัยผลงานจากหยาดเหงื่อของพวกเขาเลี้ยงชีพให้พวกเราต่อไป
ภาพ : อินเตอร์เน็ต
นอกจากความทุกข์ของชาวนาที่มองเห็นแล้ว เราแต่ละคนต่างก็มีความทุกข์เป็นของตัวเองทั้งนั้น สุดแล้วแต่ว่าเราจะบริหารความทุกข์นั้นอย่างไร จะว่าไปแล้ว ความทุกข์ของบางคน นำมาซึ่งแรงบันดาลใจ ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ มีไม่น้อยคนที่ใช้ความทุกข์ของตนสร้างความสุขให้กับผู้อื่นอีกเป็นจำนวนมาก ยิ่งหากเรามัวแต่จมอยู่ในกองทุกข์ก็ยิ่งเพิ่มทุกข์มวลรวมให้เกิดขึ้นกับสังคม 
แต่...ในสังคมยุคใหม่ที่ต่างคนต่างทุกข์ไม่ค่อยที่จะสนใจกันและกัน ความคิดสร้างสรรค์ และการเสริมสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมนั้นห่างไปหมด มีแต่ทำทุกอย่างเพียงหวังความสุขส่วนตัวเอามาใส่ตัว กลัวความสุขปลอมๆของตัวจะหลุดลอย เลยต้องเหนี่ยวรั้งไว้อย่างสุดกำลัง ใช้พลังทั้งหมดโอบกอดสุขนั้นไว้แต่เพียงผู้เดียว เราจึงรู้สึกโดดเดี่ยวท่ามกลางผู้คนมากมาย เราจึงเหมือนคนบ้าที่ก้มหน้าก้มตา พูดคุย นั่งจิ้มเครื่อง แล้วก็ยิ้มไปยิ้มมาอยู่คนเดียว ท่ามกลางคนแปลกหน้า ที่ผ่านไปผ่านมา เหมือนเป็นวิญญาณ สายลม ไม่เคยอยู่ในสายตา ใช่หรือไม่ เราต่างล้วนหลอกตัวเองว่ามีความสุข แต่ลึกๆแล้วเรานั้นทุกข์แสนทุกข์
คนสมัยหนึ่งทุกข์เพราะเรื่องขาดแคลนปัจจัยต่อการดำรงชีวิต จึงคิดค้นเพื่อนำพาให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัย แต่คนสมัยนี้ทุกข์เพราะอยากมี จึงหาทางดิ้นรนไขว่คว้า นำพาชีวิตไปสู่ความทุกข์ยิ่งขึ้น แต่ไม่ว่าวันนี้วันโน้นวันไหน หากเรารู้จักที่จะถากถางทางทุกข์ ให้เป็นถนนที่น่าเดิน ชีวิตเราย่อมเกิดมามีค่าเสมอ
ภาพ : อินเตอร์เน็ต
ดาสราฐ แมนจิ เกิดมาในครอบครัวคนงานที่ยากจนในหมู่บ้านกัลลอร์ ใกล้อำเภอคยา ในแคว้นมคธ ประเทศอินเดีย เขามีภรรยาชื่อ ฟังกานี เดวี ทั้งคู่อยู่กันมานานจนกระทั่ง วันหนึ่งเดวีได้เสียชีวิตลง เพราะขาดหมอ และการรักษา เนื่องจากเมืองที่ใกล้หมู่บ้านที่สุด อยู่ห่างไป 70 กิโลเมตร ( 43 ไมล์) ทำให้หมอมาไม่ทัน
ด้วยเหตุผลนี้ ดาสราฐ จึงมีความต้องการที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อไม่ให้คนอื่นๆ ในหมู่บ้านต้องประสบกับเรื่องเศร้าใจเช่นเดียวกับที่เขาเจอ จึงเริ่มขุดเจาะภูเขาที่บดบังหมู่บ้านกับความเจริญข้างนอก ภูเขานั้นมีความยาว 360 ฟุต ( 110 เมตร) , ความลึก 25 ฟุต (7.6 เมตร) และความกว้าง 30 ฟุต ( 9.1 เมตร ) เพื่อจะสร้างถนนผ่านภูเขา ในเทือกเขา Gehlour เขาทุ่มเททำงานนี้ทั้งวันและคืน ในยามป่วย หรือ เหน็ดเหนื่อยเกินไปก็หยุดพักบ้าง และทำมาตลอด 22 ปี ตั้งแต่ปี 1960 -1982 ถนนแห่งความหวังเดียวของคนในหมู่บ้านก็เสร็จลุล่วง
สิ่งที่ ดาสราฐ ทำนั้น ช่วยลดระยะทางระหว่างที่เดิมต้องใช้ระยะทางไกลถึง 75 กิโลเมตร เหลือแค่เพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น ดาสราฐ ได้ถึงแก่ชีวิตเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ปี 2007 รัฐบาลได้เป็นผู้ประกอบพิธีศพให้ในฐานะที่เขาเป็นผู้เสียสละและทำประโยชน์เพื่อมวลชน เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่มีความเพียรพยายามอย่างอุกฤษฏ์ เพราะใช้มือขุดเจาะหินออกไปยาวถึง 360 ฟุต กว้าง 30 ฟุต นั่น ไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปจะสามารถทำได้ 

เรื่องของเขาสะท้อนให้ผู้คนในเมืองหันมาสนใจถึงความทุกข์ยากลำบากของคนชนบทบ้าง เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป ซึ่งก่อนหน้านั้นเรื่องของ ดาสราฐ ช่างเศร้าเสียนี่กระไร เขาทำการสร้างถนนจนสำเร็จ แต่ผลงานกลับไม่ได้รับการยอมรับ ไม่มีรางวัลใดๆ ตอบแทนจากสังคม จนกระทั่งเขาได้ตายไป เมื่อเทียบกับรัฐบาลอินเดียใช้เงินหลายล้านรูปีเพื่อการตกแต่งบ้านของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ มากกว่าจะตัดถนนเพื่อชาวบ้าน และแม้จะผ่านมาหลายปีแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้มาพัฒนาอะไรให้เรา เช่นนี้แล้วเราควรจะจดจำใครมากกว่ากัน
ในปี 2556 รัฐบาลแคว้นมคธ ได้เสนอชื่อ ดาสราฐ แมนจิ ให้เข้าชิงรางวัลปัทมาศรี (Padma Shree award) สำหรับการบริการสังคมดีเด่น

เชื่อว่า ดาสราฐ ไม่ได้ทำเพื่อหวังรางวัลอะไร แต่เขาทำเพราะไม่ต้องการเห็นคนอื่นต้องรับทุกข์เหมือนเขา เขาบริหารทุกข์อย่างสร้างสรรค์ แน่ล่ะ คงมีไม่น้อยที่เห็นเขาทำเช่นนั้นอาจจะคิดว่าเขาบ้าไปแล้ว ที่จะขุดภูเขาด้วยมือเปล่าๆ แต่แล้ว... ด้วยความพยายาม แรงบันดาลที่เกิดจากความรักต่อภรรยา นำมาซึ่งความสำเร็จที่ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเองเลย และในวันนี้อย่างน้อยคนทั่วโลกก็ชื่นชมเขา นับถือเขาในฐานะมนุษย์ที่เกิดมาทำประโยชน์ต่อผู้อื่น เกิดมาอยู่บนโลกอย่างมีคุณค่า แล้วเราวันนี้ เรามีค่าต่อโลกนี้มากเพียงใด หรือ เรานำแต่ความทุกข์มาสู่โลก ทำให้โลกนี้หนักขึ้น คงไม่เป็นเช่นนั้นแน่ และไม่ว่าเรา จะสุข จะทุกข์อย่างไร จงรู้จักบริหาร แปลงให้เกิดแรงบันดาลใจ ทำให้สังคมที่เราร่วมกันเดินอยู่นี้ให้น่าเดินยิ่งขึ้น เดินไปสู่สวรรค์ด้วยกัน นี่จึงเป็นทางทานที่เราต้องใช้ความพยายามตลอดชีวิตช่วยกันถากถาง แม้จะต้องทำด้วยมือเปล่า...

ไม่มีความคิดเห็น: