วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ไม่ใช่ชุดที่สวมใส่

ไม่ใช่ชุดที่สวมใส่
ปัญหาหนึ่งของคนยุควัตถุนิยมอย่างเราๆท่านๆ คือ การหาชุดใส่ไปตามงานต่างๆ โดยเฉพาะบรรดาคุณผู้หญิง ที่ต้องเที่ยวตามซื้อตามตัด เพื่อให้เข้ากับงานที่ได้รับเชิญ จนอาจจะกลายเป็นปัญหาระดับชาติไปเลย โดยมีคำว่า “กาลเทศะ” เป็นตัวกำหนด แต่ก็มีไม่น้อยที่ไม่ได้คำนึงถึง “กาลเทศะ” ขอเพียงแค่คิดว่าชุดที่ใส่นี้ต้องดูเลิศหรู ดูสะดุดตา ให้คนมองแล้วเหลียวหลังเป็นอันใช้ได้ ทำไปทำมาเลยกลายเป็นแฟชั่นที่ต้องหาต้องซื้อชุดใหม่ๆใส่ไปในทุกๆงาน จนตู้เสื้อผ้าไม่มีที่เก็บ (แต่ตู้เย็นตู้กับข้าวกลับว่างเปล่า)  และที่แปลกสักหน่อย ตรงที่เวลามาเข้าวัดเข้าวา เรากลับไม่ค่อยคำนึงถึงชุดที่สวมใส่กันเสียเท่าไหร่ คงไม่มีใครว่าหรอก เพราะจริงๆแล้ว พระเจ้าก็คงไม่ได้ดูแค่ชุด แค่เครื่องแต่งกายที่เราสวมใส่ แต่พระองค์ดูที่หัวจิตหัวใจเราต่างหากว่า เชื่อ รัก วางใจในพระองค์ และแสดงออกมา แค่ไหนเพียงใด

เคยคิดเล่นๆเหมือนกันว่า บางครั้งเราก็ไปนำวัฒนธรรมของต่างชาติ ต่างเมืองมาใช้ โดยเอา “กาลเทศะ” ของเขามาใช้กับสิ่งแวดล้อมของเรา กลายเป็นจริตของสังคม ประเทศไทยเมืองร้อน แต่ชุดที่สุภาพ คือ ต้องใส่สูทผูกไทด์ บางครั้งที่จัดงานร้อนแทบเป็นลมก็ยังต้องใส่เพื่อความเรียบร้อย บ่อยไปที่เห็นหลายคนใส่สูทเดินกลางถนนกลางแดด จนเหงื่อไหลไคลย้อยแถมด้วยกลิ่นตัว แต่ก็นั่นแหละเมื่อสังคมส่วนรวมยึดแนวนี้แล้ว จะทำเป็นแหวกแนว เดี๋ยวจะหาว่ามันทำตัวแปลกแยกอีก อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจในแต่ละงานของแต่ละคน สิ่งที่ได้นำมาเขียนเรื่องชุดที่สวมใส่นี้ เพราะจะนำมาเปรียบเทียบว่า คนเราในวันนี้ เราให้ความสำคัญกับเรื่องภายนอกมากจริงๆ เราเสียเวลากับเรื่องเครื่องแต่งกายมากกว่าสิ่งใด เราใช้มาตรฐานวัดคนจากชุดที่สวมใส่ เราดูและคัดสรรที่จะคบกันเพียงเปลือกนอกที่เห็น เราเลือกเสวนากับคนที่ดูดีเพียงเครื่องแต่งกาย เราเคยไหม...ที่จะนั่งคุยกันด้วยความใส่ใจ เรียนรู้หัวใจของกันและกัน 
ใช่หรือไม่ ชุดที่สวมใส่ไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ทั้งหมดว่าคนๆนั้นจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป ก็พอที่จะเห็นอยู่มากมาย หลายคนเป็นโจรในเครื่องแบบ เป็นคนโกงในชุดหรู เป็นคนไม่ซื่อสัตย์ในชุดสวยงาม ชุดที่สวมใส่เป็นเพียงสิ่งหนึ่ง ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แยกแยะสาขาอาชีพ เพื่อให้เกียรติคนในชุดนั้น โลกมีคนและมีความหลากหลาย การใช้ชุด ใช้เครื่องแบบจำแนกแยกแยะ เพื่อให้ง่ายต่อการติดต่อสื่อสารกัน แต่วันนี้เรากลับเอาชุด เอาเครื่องแบบที่สวมใส่มาเป็นเกราะป้องกัน มาเป็นเครื่องมือเพิ่มมูลค่าคน และก็ไปยึดติดกับมัน นำมาเป็นสิ่งสำคัญให้ต้องไขว่คว้าและแสวงหา จนหลงลืมไปว่า แท้จริงแล้ว เราวัดความเป็นคนเป็นมนุษย์จากไหนกัน มีบทกลอนสวยงาม เป็นคำสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่สื่อออกมาได้อย่างชัดเจนว่า เรามนุษย์นั้นสิ่งที่ต้องยึดถือ คือ ใจ สิ่งที่ต้องอยู่คู่ความเป็นคนคือ มโนสำนึก
เป็นมนุษย์
ก่อนจะเป็นอะไรในโลกนี้
ทั้งเลวทรามต่ำดีถึงที่สุด
ก่อนจะสวมหัวโขนละครชุด
คุณต้องเป็นมนุษย์ก่อนอื่นใด
คุณจะต้องรู้จักการเป็นมนุษย์
ไม่ใช่ชุดเครื่องแบบที่สวมใส่
ไม่ใช่ยศตำแหน่งแกร่งฉไกร
หากแต่เป็นหัวใจของคุณเอง
ใจที่มีมโนธรรมสำนึก
ใจที่รับรู้สึกตรึกตรงเผง
ใจที่ไม่ประมาทไม่ขลาดเกรง
ใจที่ไม่วังเวงการเป็นคน
เมื่อนั้นคุณจะเป็นอะไรก็ได้
เป็นผู้น้อยผู้ใหญ่ได้ทุกหน
มโนธรรมสำนึกรู้สึกตน
ต้องตั้งตนให้เป็น คือ เป็นมนุษย์!
(เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์.   พฤ ๑๓/๑๑/๕๑)
ยุคสมัยที่เรายกย่องเชิดชูความร่ำรวย ตำแหน่ง ยศ และชุดที่สวมใส่มากกว่าคุณงามความดีที่พึงกระทำต่อกัน จึงทำให้ใจเราไม่นิ่ง ไม่สงบ มีแต่ความอยากได้ใคร่มีมิมีที่สิ้นสุด และเมื่อยิ่งหายิ่งเหนื่อย ยิ่งวิ่งเข้าใกล้ก็เหมือนยิ่งห่างไกลออกไปเรื่อยๆ ได้ตำแหน่งนี้ ยศนี้ เงินเท่านี้ ก็ไม่เพียงพอ อยากได้และอยากได้อีกอยู่ร่ำไป เป็นเหมือนกับการซื้อเสื้อผ้าแล้วนำมากองอยู่ในตู้ให้เต็มโดยมิเคยหยิบฉวยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ใช้เพียงครั้งเดียวและก็ทิ้งกองไว้ให้เก่าให้ไร้ค่าไปตามกาลเวลา 

ใช่หรือไม่ หากเรามีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ ที่รู้จักผิด รู้จักสำนึก รู้จักอภัย รู้จักขอโทษและรับโทษตามกรอบกติกาที่มี ไม่ว่าเราจะสวมใส่ชุดอะไรผู้ที่พบเห็น ผู้คนที่เกี่ยวข้องย่อมให้ความเคารพนับถือ เราเป็นแบบนี้หรือไม่ วันนี้สังคมเราเลือกที่จะวัดคนเพียงแค่เครื่องแบบแค่เครื่องหมายภายนอก ที่นำมาซึ่งความโลภ ความหลง จนทำให้เราหลงทางเดินกันอย่างมากมาย ถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมาปรับเปลี่ยน ปลุกจิตสำนัก สร้างมโนธรรม ให้รู้จักผิด ถูก ด้วยจิตใจ โดยอาศัยพระจิตเจ้า ฟังเสียงภายในให้เป็น แล้วเดินตามเสียงนั้น เราจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เราร่วมเดินทางไปพร้อมๆกันในวันพระเจ้าเช่นนี้ แล้ววันนั้นเราจะมีอาภรณ์ที่งดงามสวมใส่กลับไปหาพระบิดาเจ้าของเรา

ไม่มีความคิดเห็น: