หน้าที่มีไว้ให้ทำไม่ใช่ให้ท้อ...
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสไปร่วมประชุมเตรียมงาน
“เจริญ” พุทธะในเสียงเพลง เนื่องในโอกาสถวายพระเกียรติ
รำลึก บูชาแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช แม้ว่าพระองค์จะทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้ว งานนี้ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป ในวันนั้นมีพระเลขาฯได้เล่าเรื่องต่างๆเกี่ยวกับพระจริยวัตรของพระองค์ท่าน
มีเรื่องหนึ่งท่านเล่าว่า คนเรามักชอบบ่นว่า “เหนื่อยๆ ยุ่งๆ”
พระสังฆราชทรงเคยพูดว่า แล้วที่เหนื่อยนะใครเป็นคนกำหนดหล่ะ
ก็เราต้องการเป็นต้องการมี เราล้วนเป็นคนเขียนบทให้เราแสดงทั้งสิ้น
หากเราไม่อยากเหนื่อยก็หยุดทำหยุดมีแค่นี้เอง ในฐานะคริสตชนคนที่แปลกที่สุดในที่นั้น
ก็อดคิดถึงคำพูดของพระเยซูเจ้าไม่ได้ว่า “เราจะกังวลทำไมถึงวันพรุ่งนี้” และ “ถ้าเหนื่อยนักหยุดพัก
เข้ามาพักพิงในพระองค์” แต่ส่วนใหญ่เวลาเราเหนื่อยเรามักจะบ่น
จะเกี่ยงให้คนอื่นทำแทน ในเมื่อทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นหน้าที่ที่เรากำหนดขึ้นมาเองก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งนี้
เหนื่อยก็พักบ้าง โดยมิต้องบ่นออกมา มีตัวอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับเรื่องนี้
ณ
ป่าใหญ่แห่งหนึ่ง มีครอบครัวกระต่ายครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ในโพรงไม้ใหญ่ใกล้ ๆ
กับธารน้ำเล็ก ๆ กระต่ายครอบครัวนี้นับได้ว่าเป็นผู้มีความสำคัญกับป่าไม้แห่งนี้มาก
เพราะกระต่ายผู้เป็นพ่อ มีตำแหน่งเป็นถึงที่ปรึกษาด้านสุขภาพให้แก่สิงโตเจ้าป่า
ส่วนกระต่ายผู้เป็นแม่ก็ต้องไปประชุมหารือกับกลุ่มแม่บ้านสัตว์ป่าเป็นประจำ
ด้วยเหตุนี้ทั้งพ่อและแม่กระต่ายจึงต้องออกไปทำงานนอกบ้านทุกวัน
และจำต้องทิ้งให้ลูกน้อยทั้งสอง คือ กระต่ายพี่สาวกับกระต่ายน้องชาย
เล่นกันอยู่ในบ้านตามลำพังสองตัว
อยู่มาวันหนึ่ง
พ่อกระต่ายสังเกตเห็นว่าบ้านโพรงกระต่ายของตนไม่ค่อยเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่าที่ควร
จึงยกเรื่องนี้มาพูดคุยกับแม่กระต่ายก่อนเข้านอนว่า “เธอว่าไหมจ๊ะแม่กระต่าย
เดี๋ยวนี้บ้านของเราไม่ค่อยเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนแต่ก่อนเลยนะ การที่เธองานยุ่งมากอย่างนี้ทำให้ฉันนึกอะไรขึ้นมาได้
แลดูลูก ๆ ของพวกเราสิ เขาทั้งสองเติบโตมากแล้ว
แต่เรายังไม่เคยสอนให้ลูกเรารู้จักทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นบ้างเลย
ฉันว่าน่าจะเป็นการดีนะ หากเราจะสอนให้ลูก ๆ ทำงาน โดยเริ่มจากงานบ้านของเราเอง”
พ่อกระต่ายเสนอความเห็น “เป็นความคิดที่วิเศษมาก แต่ลูก ๆ ของเราไม่เคยทำงาน
เขาจะทำได้ดีหรือจ๊ะ”
“เขาคงทำได้ไม่ดีนักหรอก
และคงจะสร้างความเหนื่อยหน่ายให้แก่เรามากทีเดียวในตอนแรก
แต่นั่นยิ่งทำให้เราต้องมอบหมายงานและสอนการทำงานที่ถูกต้องแก่เขา
หากไม่เริ่มเสียแต่ตอนนี้ เขาก็จะทำอะไรไม่เป็นเลยเมื่อโตขึ้น
ใครจะอยากได้คนทำอะไรไม่เป็นไปร่วมสังคมด้วยหล่ะ จริงไหม” พ่อกระต่ายกล่าว
เช้าวันรุ่งขึ้น
แม่กระต่ายจึงเรียกลูกทั้งสองมาพูดคุยในเรื่องดังกล่าว
กระต่ายพี่น้องไม่เคยทำงานบ้านทั้งคู่ และรู้ว่าเป็นงานที่เหนื่อยมากทีเดียว
อย่างไรก็ตาม กระต่ายทั้งคู่ก็รักและเชื่อฟังพ่อแม่กระต่าย
จึงคิดว่าถ้าพวกตนทำงานบ้านก็จะช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้าของพ่อกับแม่ได้
ดังนั้น ทั้งคู่จึงรับปากแม่กระต่ายว่าจะช่วยทำงานบ้านทุกอย่างแทนแม่
กระต่ายพี่น้องช่วยทำงานที่แม่กระต่ายมอบหมายได้สามวัน
ต่างคนต่างก็รู้สึกว่าตนเองทำงานมากกว่าอีกคนหนึ่ง
จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้นอย่างรุนแรง ต่างฝ่ายต่างจับผิดกันและกัน
จนไม่มีเวลาทำงานบ้าน
บรรยากาศในบ้านเริ่มเศร้าหมอง
เพราะมีแต่เสียงเกี่ยงงานกันจากลูกทั้งสอง วันหนึ่ง
แม่กระต่ายจึงเรียกลูกกระต่ายเข้ามาพูดคุยในเรื่องนี้ “เราเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน
เราต้องรักและช่วยเหลือกัน ไม่ใช่แบ่งงานกันทำโดยไม่เหลียวแลคนอื่น
นี่คือบ้านของเรา ลูกคือลูกของพ่อแม่ และลูกสองคนเป็นพี่น้องกัน เราทุกคนช่วยกันทำงานเพราะเรารักกัน
ไม่ดียิ่งกว่าหรือ”
แม่กระต่ายหันมาพูดกับลูกกระต่ายน้องว่า
“ลูกไม่ต้องทำงานหมดทุกอย่าง พี่กระต่ายจะช่วยลูกทำงานทุกอย่าง เพราะพี่รักลูก
และไม่อยากให้ลูกทำงานเหนื่อยเกินไป ลูกเองก็จะช่วยพี่เขาเช่นกัน จะไม่มีใครคิดว่า
ใครต้องทำงานมากกว่าใคร แต่ลูกต้องคิดว่า
จะทำอย่างไรจึงจะช่วยแบ่งเบาภาระของพี่หรือน้อง ไม่ให้เหนื่อยเกินไปมากที่สุด
ถ้าลูก ๆ เปลี่ยนวิธีคิดและปฏิบัติได้อย่างนี้
งานของลูกก็จะเสร็จเรียบร้อยดีทั้งสองคน”
กระต่ายพี่น้องมองหน้ากันครู่หนึ่ง
แล้วกระต่ายพี่สาวก็พูดขึ้นว่า “ก็ได้จ้ะแม่ ลูกจะลองทำงานโดยคิดแบบนั้นดูก็ได้
เพราะลูกก็ไม่อยากทะเลาะกับน้องนักหรอก” แม่หันไปหาน้องชาย
“ลูกก็เต็มใจที่จะลองดู”
กระต่ายน้องชายตอบ “ดีแล้วลูก” แม่กระต่ายกล่าวพลางโอบกอดลูกทั้งสอง “เราจะปฏิบัติตามวิธีใหม่นี้
คือ ให้เราช่วยกันทำงานเพราะความรัก ไม่ใช่เพราะถูกบังคับ
ความรักนั้นจำเป็นสำหรับครอบครัวเรามากที่สุด จำไว้เถิดลูกรัก”
ลูกกระต่ายพากันหัวเราะ
เป็นเรื่องดีทีเดียวสำหรับครอบครัวกระต่ายที่ได้ยินเด็กทั้งสองหัวเราะอีก หลังจากนั้นกระต่ายพี่น้องก็ปฏิบัติตามความคิดของแม่กระต่าย
และรู้สึกว่าวิธีนี้ช่วยให้พวกเขาทำงานได้สำเร็จเรียบร้อยทั้งยังรักษาความสุขในครอบครัวไว้ได้อีกด้วย {ตัดตอนมาจาก www.manager.co.th}
เราไม่จำเป็นต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อช่วยคนอื่นตลอดเวลา
แต่ให้ปฏิบัติหน้าที่ส่วนของตนเองให้ดีที่สุด จากนั้นจึงหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ผู้อื่นด้วยหัวใจรักที่จะช่วย
เมื่อเราเลือกที่จะมี จะเป็น ในแบบของเราแล้ว หน้าที่บทบาทและอาชีพที่เราเลือกมาเอง
เราต้องสานต่อไปโดยไม่ต้องบ่นว่า “เหนื่อย” โดยไม่ “เกี่ยงงาน”
เพียงเท่านี้สังคมที่เราอยู่ก็จะเริ่มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เหนื่อยนักก็พัก แล้วเดินต่อไป
อย่ามัวแต่พร่ำบ่น เพราะจะไม่มีอะไรดีขึ้นจากการบ่นว่า “เหนื่อย” ยิ่งบ่นยิ่งเหนื่อยเปล่าๆ..