สิ่งใดดูเหมือนมีค่า
ภาพ : อินเตอร์เน็ต |
หากสังเกตดูดีๆบทความที่ “คนข้างวัด” เขียนในระยะหลังๆ มักจะเป็นเรื่องราวของความพยายามที่จะรู้จักอยู่กับสิ่งที่ตัวเองมี
ตัวเองเป็น โดยไม่ตะเกียกตะกายไขว่คว้าหาเพื่อมาสะสม เสริมบารมีให้กับตัวเองมากเกินความจำเป็น
ซึ่งหลายครั้งก็เกรงว่าผู้อ่านจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกชอบแอนตี้สังคมหรือเปล่า
หรือเป็นพวกอนุรักษ์สุดขั้ว พวกไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือคิดว่าเป็นพวกฤษีชีไพรในเมืองหลวง
แท้จริงแล้วสิ่งที่นำมาแบ่งปันนั้นไม่ใช่เรื่องของการปฏิเสธเรื่องเงินทอง
หรือเรื่องความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่พยายามที่จะแบ่งปันโดยสอดแทรกให้เห็นว่า ถ้าอะไรมันมากไป
เกินพอดี มันก่อให้เกิดกิเลสเกิดความโลภ แล้วก็ชักนำความเห็นแก่ตัวออกมา
แล้วเมื่อคนเราถึงจุดเต็มล้นของความเห็นแก่ตัวแล้ว อะไรก็ฉุดไม่อยู่ จุดเต็มล้นนั้นก็คือ
จุดที่แม้แต่มโนธรรมเตือนตนยังไม่อาจจะเป็นกำแพงด้านสุดท้ายได้นั่นเอง
ด้านหนึ่งการพูดถึงเรื่องนี้บ่อยๆ ก็เป็นสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือที่ตักเตือนตัวเอง
ไม่ให้ไหลหลงเข้าไปในกระแสที่เทิดทูนวัตถุนิยมสุดโต่ง เพียงแต่พยายามเรียนรู้ที่จะอยู่
และรู้จักใช้วัตถุภายนอกเพื่อให้ชีวิตไม่ลำบากจนก่อให้เกิดทุกข์ขึ้นในจิตใจ
ในการดำเนินชีวิตจริง หากเราไม่มีสติ
ปล่อยให้ความโลภ ความหลง เข้าครอบงำ ต่อให้มาเข้าวัดเข้าวา
สวดภาวนาวันละหลายชั่วโมง ฟังมิสซา สักร้อยรอบพันรอบ ธรรมะ หรือข้อคิดดีๆ พระวาจาอันทรงคุณค่าของพระเจ้าก็มิอาจจะล่วงล้ำเข้าไปในจิตใจเราได้
พอเสร็จกิจศรัทธาก็กลับไปอยู่ในวังวนของการเห็นเงินทองเป็นเรื่องสำคัญที่สุดอยู่ดี
และพยายามทำทุกวิถีทางให้ได้มา แล้วเมื่อไม่ได้ตามเป้า
ไม่ได้ดังหมายก็เครียด ก็ทุกข์ เมื่อทุกข์แล้วก็พาลพระ หาได้พบพระในทุกข์นั้นไม่
แล้วทำไมเราต้องเอาทุกข์นั้นมาใส่ตัวเราด้วย ทั้งๆที่พระองค์ไม่ได้ทรงโยนทุกข์มาให้เราสักหน่อย
ใช่...บางคนอาจจะมองว่าหากเราไม่ขวนขวาย
เราก็จะกลายเป็นคนที่เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น
เป็นคนที่ไม่พัฒนาตามศาสตร์ของทุนนิยม ที่นิยามการพัฒนาคือการก้าวหน้าไปเรื่อยๆ
แต่สำหรับคนที่อิ่มสุขและสามารถพัฒนาความเจริญทางกายภาพแบบอย่างมีคุณภาพไปได้พร้อมๆกันนั้น
นั่นเป็นเพราะเขารู้จักจัดการบริหาร ให้ทุกอย่างหลอมรวมกันอย่างสอดประสาน มีสมดุล รู้จังหวะครรลองของชีวิต
ไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป และพยามยามลดความเห็นแก่ตัวเพื่อเพิ่มให้ผู้อื่น
หญิงชราผู้หนึ่งกำลังเอามือสองข้างบิดกันไปมาราวกับว่าต้องการขัดมันให้ขึ้นเงาเริ่มพูดกับเจค็อบ
แต่ก็คอยหันหลังไปมองว่ามีคนกำลังฟังนางพูดอยู่หรือเปล่า
“ฟังนะพ่อหนุ่ม”
เจค็อบอมยิ้มเมื่อได้ฟัง “ข้าอยากจะถามอะไรท่านสักหน่อย
ข้าได้ยินท่านพูดเรื่องความตาย และข้าก็กำลังจะตายในไม่ช้านี้ ข้ามีเงินเยอะ
และถ้าท่านฉลาดจริงล่ะก็ ทำไมไม่ลองบอกข้าล่ะว่า ข้าจะเอาเงินไปกับข้าด้วยได้ยังไง”
ความโลภโมโทสันฉายชัดในเสียงอันแหบเครือและฟังดูร้ายกาจของนาง
เจค็อบ ได้แต่มองนางนิ่งอยู่
คราวนี้เสียงของนางยิ่งบาดหูมากขึ้นเพราะทนรอไม่ได้
“ว่าไงล่ะ
ว่าไง ข้าจะเอาอะไรไปฝั่งนั้นได้บ้าง”
“ก็ทุกอย่างที่มีค่าไง”
เจค็อบ ตอบประหนึ่งว่านี่คือสิ่งที่ทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว
ความโลภของนางยิ่งฉายชัดขณะที่นางตะโกนถาม “เอาไปยังไง..ยังไง”
เจค็อบ ตอบเบาๆ เรียบๆ ว่า “ในความทรงจำ”
“ความทรงจำเหรอ”
หญิงชราทวนคำอย่างงงงัน “ความทรงจำมันเอาความร่ำรวยไปด้วยไม่ได้นี่”
ดวงตาอันแน่วแน่ของ เจค็อบ ตรึงหญิงชราไว้
“นั่นก็เป็นเพราะท่านลืมไปหมดแล้วว่าอะไรคือสิ่งที่มีค่า” (จากหนังสือ
เจค็อบคนทำขนมปัง โดย โนอาห์ เบน ชี แปลโดย ฐิติมา สุทธิวรรณ)
เรื่องสั้นๆเรื่องนี้จี้ใจดำได้ดีจริงๆ
ถ้าถามว่า เราจำได้ไหมว่าอะไรเป็นสิ่งมีค่ามากที่สุดในชีวิต คำตอบอาจจะมีหลากหลาย
ในหลายคนที่ตอบ คำตอบอาจจะบอกว่า สิ่งที่มีค่านั้นอาจจะหาใช่เพื่อตัวเราไม่
เช่น บางคนตอบว่า ลูกๆนั้นเป็นสิ่งมีค่า จริงหรือ ...แล้ววันนี้เราเห็นคุณค่าในตัวลูกๆหรือยัง
หรือเห็นเป็นสิ่งที่เราลงทุนไปเพื่อให้พวกเขาไปถอนทุนคืนในภายภาคหน้า
ความคิดแบบนี้มีมามากขึ้นในสังคม ที่ถูกปลูกฝังว่าเราต้องกลายเป็นคนเหนือกว่าคนอื่น
โดยลืมว่าเหนือกว่าต้องเหนือแบบมีคุณค่า ลึกลงไป คือการลืมที่จะให้ค่ากันและกัน
สังคมโลกจึงวุ่นวายไม่ห่างหายไปเสียที ในยุคที่ทุกคนต่างมีความเห็นแก่ตัว
ทำอะไรก็ต้องมีผลประโยชน์เคลือบแฝงเช่น เราต้องกลับมามองคุณค่าในตัวเราเองให้เจอก่อน
แล้วจึงจะให้ค่ากับผู้คนรอบข้างได้
ท่านนักบุญหลุยส์
กษัตริย์ที่เราฉลองในวันนี้ เป็นคนที่เห็นคุณค่าในตัวเอง
ใช้ในสิ่งที่ตัวเองมีอย่างล้นเหลือ ออกไปให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ เป็นกษัตริย์ที่มิได้มุ่งหวังชัยชนะเพื่อเพิ่มอำนาจ
แต่ใช้บารมีแผ่เมตตา ต่อผู้ทุกข์ทน มีความดีเป็นกระบี่ต่อสู้กับความยากไร้ของปวงประชา
ดาบนั้นมิได้ยื่นออกไปเพื่อห้ำหั่นใครเลย นี่ใช่หรือไม่ สิ่งที่มีค่าที่สุดของชีวิตบนโลกนี้ที่เกิดมาหาใช่เพื่อตัวเอง
แต่เพื่อความสุขของผู้อื่น แล้วสิ่งที่มีคุณค่าของเราก็จะถูกเก็บอยู่ในความทรงจำของเราเอง
ของคนรอบข้างอย่างมิมีวันลืมเลือน เหมือนเรามาระลึกถึงท่านนักบุญหลุยส์ในทุกๆปีเช่นนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น