วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

หากเราไม่ช่วยกัน


หากเราไม่ช่วยกัน
ในยุคสื่อสารครองโลก สังคมเครือข่ายครองวิถีชีวิตผู้คน สังคมออนไลน์คือลมหายใจที่มิมีวันสิ้น ทุกนาทีเสพติดสัมผัสปลายนิ้ว ไม่มีเวลาเว้นวรรคพักใจแม้กระทั่งในวัดในวา ต้องหยิบ ต้องเปิด ต้องดู ต้องแสดงความคิดเห็น กลัวตกข่าวกลัวตกเทรนด์หรือกลัวถูกนินทาออนไลน์ ทุกคนกำลังถูกกลืนกินให้กลายเป็นนักวิจารณ์ นักวิพากษ์ ที่สามารถใส่ความเห็นได้ทุกเรื่องแม้กระทั่งในเรื่องที่ตัวเองไม่รู้เรื่องเลย การสื่อสารที่ทันสมัยกลายเป็นเครื่องมือรองรับจริตของผู้คน ผู้หลงใหลในความเป็นตัวตนของตัวเองจนล้ำหน้าเกินผู้อื่น คำหยาบคาย การแสดงความคิดด้วยอารมณ์สะใจ การเขียนที่ใส่ไปในอากาศที่ไร้ความรับผิดชอบจึงเกิดขึ้นมากมาย ที่ร้ายไปกว่านั้น ที่มีบ้างบางคนเสพติดการอ่านความเห็นแรงๆของคนอื่น แอบสะใจแต่ไม่แสดงออก หรือไม่ ก็เป็นประเภทยกถ้อยคำคมมากรีดเชือดเฉือนเพื่อนๆคนรอบข้าง ตีวัวกระทบคราดก็มีให้เห็นกันดาษดื่น
ยิ่งในช่วงนี้พระศาสนจักรคาทอลิกของเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน จากการที่สมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณ เบเนดิกต์ที่ 16 สละตำแหน่ง จึงมีผลทำให้ต้องมีการสรรหาผู้นำวิญญาณ ผู้ที่สืบสานตำแหน่งแห่งพระคริสต์คนใหม่ ทำให้เกิดข่าวคราวหลากหลายทะลักทลายออกมา จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง วิเคราะห์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา มีการคาดการณ์คาดเกร็งเล็งว่าน่าจะเป็นคนนั้นคนนี้ โดยที่ละเลยถึงกระบวนการเลือกนั้น ที่มิใช่เป็นการเลือกตามวิถีทางหลักการเลือกผู้นำประเทศทั่วๆไป แต่เปี่ยมล้นไปด้วยความศรัทธาและการดลบันดาลขององค์พระจิตเจ้า แน่ล่ะ...พูดแบบนี้คนที่มิใช่คริสตชนย่อมไม่เข้าใจ เพราะยากต่อจริตคนที่ชอบอะไรที่ง่ายๆ จำเป็นที่เราต้องอธิบายให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าใจว่า ความศรัทธานั้นมิอาจจะใช้คำตอบแบบหลักการทฤษฎีใดๆในโลกมาบอกกล่าว กว่าจะได้มาซึ่งบุคคลผู้สานงานพระคริสต์นั้น ต้องอาศัยการสวดภาวนา การร่วมเป็นหนึ่งกับพระเจ้า เป็นหนึ่งเดียวในหมู่คณะพระคาร์ดินัลทั่วโลก แล้วด้วยแรงศรัทธาพลังภาวนา จะส่งผ่านไปยังบรรดาพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิ์ในกระบวนการเลือกตั้ง (อายุไม่เกิน 80 ปี) จะนำมาซึ่งผู้ที่พระเจ้าเลือกสรร ขณะเดียวกันคริสตชนคนทั่วไป ก็ต้องร่วมเป็นหนึ่งด้วยการสวดภาวนาเพื่อการครั้งนี้ด้วย เพื่อเราจะได้เดินไปกับพระศาสนจักร เพราะเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรนี้
ใช่ในฐานะปัจเจก เราติดตามข่าว ติดตามสถานการณ์ แต่เราต้องไม่คล้อยตามและถูกจูงด้วยคำคาดการณ์ของคนไม่กี่คน ที่อาจจะมองเพียงสายตาและความเชี่ยวชาญตามประสามนุษย์ สิ่งที่สำคัญเราไม่ควรใช้จริตคิดไปเองไปประเมินผลแล้วใช้อารมณ์วิจารณ์งานของพระในครั้งนี้ อ่านข่าวติดตามข่าวได้ แต่อย่าติดกับดักทำให้เราสูญเสียศรัทธาที่ไว้วางใจในพระเจ้า และจะเป็นการดีมิใช่น้อยที่เราจะใช้ช่วงเวลานี้อธิบายความให้กับผู้คนเพื่อให้ทราบถึงแผนการงานสานศาสนาคริสต์ ภายใต้ร่มของพระศาสนจักรสากล 
วิธีการเลือกตั้งพระสันตะปาปานั้นมี 3 แบบคือ
1. เลือกโดยอาศัยแรงดลใจจากพระจิตเจ้า วิธีนี้ คือ ในวันแรกของการประชุม บรรดาพระคาร์ดินัลเลือกคนหนึ่งคนใด แล้วประกาศให้คนนั้นเป็นพระสันตะปาปาเลย โดยไม่ต้องมีการลงคะแนนเสียง แต่ถือเอาเสียงส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ วิธีนี้เรียกว่า Viva Voce
2.เลือกโดยอาศัยหลักการประนีประนอมกัน วิธีนี้เมื่อคะแนนมาถึงจุดที่เท่ากันจึงต้องใช้การเจรจาประนีประนอม และบรรดาพระคาร์ดินัลจะให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาก่อนหน้าแล้วจะมี 3 คน 5 คน หรือ 7 คน ก็แล้วแต่ เป็นตัวแทนเลือกพระสันตะปาปาในนามของคณะกรรมการนี้ถือเป็นเด็ดขาดที่ประชุมต้องยอมรับ
3.เลือกโดยอาศัยหลักการลงคะแนนลับ  วิธีนี้คือ วิธีที่ใช้มากที่สุดในประวัติการเลือกตั้ง พระสันตะปาปา และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ผู้ที่จะได้รับเลือกนั้นจะต้องได้ คะแนน 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด หากจำนวนสมาชิกไม่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ใน 3 ก็จะให้เพิ่มคะแนนเข้าไปอีกหนึ่งเพื่อให้ครบตามจำนวน และเมื่อการลงคะแนนแต่ละครั้งผ่านไป จะมีการเผากระดาษคะแนนทุกๆ สองครั้ง
เมื่อเลือกพระสันตะปาปาได้แล้ว พระคาร์ดินัลอาวุโสจะถามความสมัครใจว่าจะรับตำแหน่งพระสันตะปาปาหรือไม่ ถ้ารับก็ถือว่ากระบวนการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง ถ้าไม่รับก็จะมีการเลือกกันใหม่ ถ้าผู้ได้รับเลือกยอมรับตำแหน่งก็จะมีการถามว่า พระองค์จะใช้ชื่ออะไร จากนั้นก็จะประกาศให้ประชาชนทราบว่าเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ได้แล้ว
ก่อนและหลังในทุกขั้นตอนของการเลือกพระสันตะปาปานั้น บรรดาพระคาร์ดินัลจะร่วมกันถวายมิสซา ทำวจนะพิธีกรรม และสวดภาวนาของความสว่างจากองค์พระจิตเจ้าเสมอ เพื่อให้การเลือกสรรนั้นมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ในสายตาของคนทั่วไปอาจจะมองว่าไม่เห็นจะต้องยุ่งยาก แค่เปิดรับสมัครผู้ที่พร้อม และก็หาเสียง ประกาศนโยบาย ลงคะแนนเสียง ใครได้มากกว่าก็ได้รับเลือก แต่สำหรับผู้นำจิตวิญญาณของเรานั้น เราเชื่อว่า ผู้ที่ได้รับต้องผ่านกระบวนผ่านทางแห่งความเชื่อ และความศรัทธาร่วมกันของทุกคนในพระศาสนจักร อาจจะใช้เวลานานหรือไม่นาน ไม่ใช่ข้อจำกัด
หากว่าเราไม่ช่วยกันบอกเล่าปล่อยให้กระแสข่าวที่ไหลออกมาตามคำวิจารณ์ในสื่อที่ครองโลกแบบวันนี้ แล้วเราจะมีสิ่งใดที่ยึดโยงความเชื่อความศรัทธาของเราไว้ได้ ในขณะเดียวกันในช่วงเวลามหาพรตเช่นนี้ เราลอง ลด ละ น้ำใจของตัวเองด้วยการหยุดวิจารณ์ หยุดพูด หยุดบ่น ในเครือข่ายออนไลน์ลงบ้าง ให้เวลากับร่างกายและจิตใจได้สัมพันธ์กัน  เพื่อร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันเดินไปพร้อมกับพระศาสนจักร 

ไม่มีความคิดเห็น: