วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เรือนน้ำ

เรือนน้ำ

ตั้งใจว่าจะนำบันทึกจากการแสวงบุญรอบนี้มาฝากอีกสัก 2-3 ตอน แต่เห็นน้องน้ำที่เที่ยวตามหาพี่ทรายในเมืองหลวง จนเตลิดเพลิดเพลินแวะเที่ยวที่นั่นที่นี่จนเกือบจะครบทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ตามมหาวิทยาลัย วัดวาอารามและห้างสรรพสินค้าแล้ว ต้องขอบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับน้องน้ำนองไว้ ณ โอกาสนี้...

น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งนี้มีเรื่องหลายเรื่องให้ขบคิด มีหลายสิ่งให้แสวงหาคำตอบ แต่ก็มีหลายคำถามผุดขึ้นแบบไม่ปรารถนาที่จะได้คำตอบ เราจะเห็นว่าในประเทศของเรามีคนเก่งๆ มีความสามารถมากมาย ผู้สันทัดเรื่องน้ำที่เคยแอบอยู่ในซอกหลืบ ก็ออกมาบอกกล่าวคาดการณ์อย่างเที่ยงตรง แต่ก็มักไม่ได้รับการสนองตอบมากนัก ประมาณว่า เก่งแต่ไร้อำนาจจัดการ คนที่จัดการก็ไม่เก่งพอที่จะใช้คนเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ เราจึงเห็นน้ำจำนวนมหาศาลพร้อมกับมวลอคติของผู้คนก้อนมหึมา ถาโถมเข้าใส่เมืองหลวง ต่างคนต่างทำต่างคนต่างคิดว่าเก่ง ทำงานเพื่อบำรุงสุขของตนและพวกพ้อง จนเกิดการขัดกันไปกันมา...

แต่สำหรับผู้คนทั่วไป คนเล็กๆ ประชาชนคนธรรมดา กลับมีด้านมุมที่งดงามในยามน้ำล้น จิตใจคนไทยอีกมากมายที่ยังไม่ล้นไปด้วยความเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ เงินบริจาค สิ่งของช่วยเหลือล้นหลาม น้ำมาแต่ขาดน้ำกิน(ไม่น่าเชื่อ) คนไทยก็ไม่ทิ้งกัน ต่างคนต่างช่วยเหลือกันและกัน ต่างคนต่างหยิบยื่นมิตรจิตมิตรใจให้กันอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมเมืองมาก่อน จิตอาสาของคนหนุ่มสาวส่องแสงเจิดจ้า อุดมการณ์คนเดือนตุลารุ่นใหม่เบ่งบาน บ้านใกล้เรือนเคียงที่ร้อยวันพันปีมิเคยเอื้อนเอ่ยวจีใดๆให้กัน ยามนี้เห็นหน้าไถ่ถามยิ้มแย้มให้กัน หรือว่าน้องน้ำมาคราวนี้เพื่อให้เราหวนคืนสู่วิถีไทย ...

การต้องอพยพออกจากบ้านเป็นเรื่องเจ็บปวด เป็นเรื่องที่ยากยิ่งจะทำใจ แต่ถึงที่สุดเมื่อหยุดน้ำไม่ได้ก็ต้องยอมลาจาก ก็ยังมีอีกหลายคนไม่ยอมจากบ้านไปไหน เฝ้ากอดเสาเรือน นอนกลางหลังคา ยินยอมรับสภาพ ทำไมหรือ!!!! เข้าใจได้ไม่ยากสำหรับคนทำมาหากิน สิ่งที่ใฝ่ฝันมาทั้งชีวิต คือ การได้มีบ้านสักหลัง ที่ต้องก้มหน้าก้มหลังทำงานหามรุ่งหามค่ำก็เพื่อกู้และผ่อนบ้าน บางคนต้องผ่อนไปอีก 30 ปี คาดคำนวณแล้วอายุครบ 60 กว่าได้เป็นเจ้าบ้านตัวจริง ฉะนั้นแล้ว...บ้านจึงเป็นหยาดเหงื่อ เป็นแรงกายทั้งหมดที่ทุ่มเทมาตลอดชีวิต แล้วอยู่ๆใครก็ไม่รู้ เป็นแขกแปลกหน้าที่ไม่ปรารถนาจะเชื้อเชิญก็มาเยี่ยมเยือนก็เข้ามาถึงในบ้าน เขียนป้ายแขวนไว้หน้าบ้าน ห้ามน้ำเข้า ก็ไม่อ่านไม่ฟัง ดื้อรั้นเข้ามาจนได้ แล้วใครก็ไม่รู้ มาตะโกนว่า ให้ออกจากบ้านโดยด่วน ให้แปลงร่างเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน ช่างไม่รู้อะไรกันบ้างเลย บ้านนี้คือชีวิตนะ จะขออยู่แม้ว่ามันจะกลายเป็นเรือนน้ำก็จำยอม...

ในขณะที่เราเคยเห็นข่าวต่างประเทศ คนต่างแดน คนสหรัฐฯ คนญี่ปุ่น เวลาเกิดภัยธรรมชาติ ภาครัฐจะคำนวณได้ก่อนล่วงหน้าหลายวันและประกาศให้ย้ายที่อยู่อาศัย มีการจัดระบบขนส่ง รถราติดบนถนนยาวเป็นเวลาหลายๆวัน ประชาชนก็เก็บข้าวของปิดบ้าน และมีวิธีที่จะทำให้พายุก็ดี น้ำก็ดี ทรายก็ดี ไหลผ่านบ้านไปอย่างไม่มีอันตรายหรือได้รับความเสียหายน้อยที่สุด ขโมยขโจรก็ไม่มี ความปลอดภัยในทรัพย์สินมีสูง การยึดติดกับวัตถุก็น้อย นั่นเขาไม่ได้ฉลาดกว่าเรา แต่เขาเรียนรู้และปลูกฝังวิธีการรับมือมาตั้งแต่เด็กๆ มีสอนในห้องเรียนเป็นเรื่องเป็นราว และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ วิถีชีวิตของประเทศเหล่านั้น เขาให้ราคาคนสำคัญกว่าราคาบ้าน ใช่หรือไม่ เรารับเอาวัฒนธรรมวัตถุนิยมจากประเทศเหล่านี้มา แต่อีกมุมหนึ่งเราก็ไม่เคยศึกษาเลยว่าวัตถุเหล่านั้นมันเป็นเพียงสิ่งที่หาใหม่ได้ เรากลับรับมาแล้วกอดวัตถุไว้จนแน่น และตั้งราคาไว้สูงจนเทียบเป็นราคาทั้งชีวิตของเราไป ...

บ้านเป็นเพียงวิมานหาใช่เป็นวิหาร ชีวิตจิตใจคนต่างหากคือวิหารที่ควรจะเยียวยารักษา บ้านเรือนที่จมน้ำกู้ใหม่ได้ไม่ยาก แต่จิตใจที่จมลึกลงไปในความโลภนี่สิเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่จะกู้กลับคืนมาได้ บ้านเรือนน้ำนองอาจจะอยู่กับเราอีกไม่กี่วัน แต่ถ้าลองให้อคติ ความโลภ ท่วมใจแล้ว ทั้งชีวิตก็มิอาจกอบกู้ได้ หลังน้ำลดขอให้ความดีงามที่เริ่มกันมานี้ผุดขึ้นในใจทุกคน แล้วก็อย่าหลงลืมบทเรียน สิ่งที่สวยงามที่เกิดขึ้น ชีวิตคือการเรียนรู้ และจงวางใจในพระเจ้าเสมอจงอย่ากลัวสิ่งใด ...

ขอจบด้วยบทความ มองน้ำท่วมในด้านสร้างสรรค์ โดย อาจารย์ระพี สาคริก เป็นอีกหนึ่งข้อคิดบันทึกไว้ในปีที่น้องน้ำตามหาพี่ทรายที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในเมืองฟ้าอมรแห่งนี้...

เธอที่รักทุกคน

ความจริงแล้วสิ่งที่มันเกิดขึ้นทุกวันนี้ ถ้าเธอหวนกลับไปมองสู่อดีต ฉันพูดไว้นานแล้วว่า

เหตุการณ์ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา ก็เพราะคนไทยหลงอยู่กับความสบาย จนกระทั่งรากฐานจิตใจอ่อนแอ เห็นอะไรที่มิใช่ของตัวก็อยากได้ คอรัปชั่นก็เต็มบ้านเต็มเมือง เศรษฐกิจย่ำแย่ก็แก้ไม่ตก การจัดการศึกษาก็ไม่ได้ทำให้คนเป็นมนุษย์ ถ้าฟังเสียงจากภายนอก ต่างชาติเขาพูดกันว่าคนไทยไม่รู้จักความยากลำบาก

ความจริงน้ำท่วมครั้งนี้ ถ้าเธอไม่ใช่คนลืมง่าย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ มันก็เกิดไม่น้อยไปกว่านี้เว้นไว้แต่ว่าคนไทยสมัยนั้นไม่ได้สร้างวัตถุมากมายเหมือนปัจจุบัน จึงไม่เดือดร้อนเช่นทุกวันนี้ ฉันจำได้ว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ น้ำมันท่วมถึงชั้นที่สองของบ้าน แต่คนไทยก็ยังอยู่กันได้ถึงหนึ่งเดือนเต็มๆ ขณะนั้นฉันมีอายุ ๒๑ ปี แต่ทุกวันนี้เรากลับทำลายธรรมชาติ ภูเขาหินปูนลูกใหญ่ๆ ในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี และที่ปากช่อง เป็นต้น หายไปเยอะ เปลี่ยนไปเป็นตึกสูงๆ

แม้แต่มหาวิทยาลัยก็มีการก่อสร้างกันอย่างเอิกเกริก การศึกษาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมนี่เองที่ได้ทำลายจิตใต้สำนึกของมนุษย์ ทำให้สังคมแย่ลงไปทุกที ยิ่งแก้ไขก็ยิ่งตกต่ำ ไม่อย่างนั้นคงไม่เกิดการจัดการศึกษาทางเลือกการศึกษาที่จัดให้คนนั่งอยู่ในตึกสบายๆ แล้วจะหวังให้ลูกศิษย์จบไปแล้ว ลงทำงานติดดินมันก็คงเป็นไปได้ยาก ยิ่งกว่านั้นตัวผู้ใหญ่เองซึ่งเป็นผู้บริหารก็เช่นกัน หากรักแต่จะประชุมอยู่แต่ในตึกอยู่ในห้องแอร์ลูกศิษย์จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างไร

เพราะถ้าหัวไม่ส่าย หางมันจะกระดิกได้อย่างไร

ฉันคิดว่าน้ำท่วมครั้งนี้มันน่าจะสอนให้เธอทั้งหลาย รู้จักอดทน เพราะถ้าเธอต่อสู้กับใจตนเองไม่ได้ แล้วจะไปสู้กับอะไรที่ไหน ฉันขอฝากเรื่องนี้เอาไว้ให้เธอกลับไปนอนคิด ฉันไม่รู้ว่าเหตุการณ์แบบนี้ มันจะเกิดขึ้นอีกสักกี่ครั้ง ถึงจะช่วยให้เธอรู้จักตัวเองดีขึ้น และไม่ไปทำลายธรรมชาติ เช่นเดียวกับเรื่องความพอเพียงที่พูดกันแต่ปาก หากไม่รู้จักทำ มีแต่การพูดกันไปต่างๆนานา โดยหาจุดจบได้ยาก ฉันอายุ 90 ปีแล้ว ฉันขอเป็นกำลังใจให้เธอทุกคนได้เรียนรู้กับความยากลำบากและอดทนทำงานหนัก เพราะการทำงานหนักคือความสุขที่แท้จริง

ขอให้ชีวิตจงมีความสุขเพราะการทำงานให้แผ่นดิน โปรดอย่าคิดว่าการทำงานให้แผ่นดินนั้นจะต้องทำให้กับส่วนรวมเสมอไป แม้แต่การประกอบอาชีพอย่างดีที่สุดโดยมีความซื่อสัตย์สุจริตก็ถือได้ว่าคือการทำงานให้แผ่นดินเช่นกัน

http://astore.amazon.com/konkhangwat04-20

ไม่มีความคิดเห็น: