วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แชทเจน


แชทเจน
ระยะห่างของการพัฒนาการทางด้านการสื่อสารดูหดสั้นลงเรื่อยๆ มีสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาใช้อย่างไม่ขาดตอน ยังใช้สิ่งนี้ไม่คล่องสิ่งใหม่ก็เข้ามาแทน ยังใช้ประสิทธิภาพไม่ถึงร้อย ของใช้อันใหม่ก็จ่อจะให้เรียนรู้ วันนี้เลยลองรวบรวมการสื่อสารสมัยใหม่ที่นิยมใช้กัน ก็รู้สึกแปลกใจเหมือนกันว่า เรามีเครื่องอำนวยการสื่อสารมากมาย ใช้ง่าย แต่คนเรากลับพูดจากันไม่ค่อยจะรู้เรื่องและกลายเป็นเรื่องยากที่จะสื่อสารทำความเข้าใจกัน....
ลองเริ่มจากความนิยมใช้ E-mail ทำให้การเขียนส่งจดหมายหากันเลือนหายไป จากการตั้งตารอคอย เดี๋ยวนี้มีสิ่งวิ่งเข้าหาเรามากมายอย่างคิดไม่ถึง มีแต่ตั้งหน้าตั้งตาลบทิ้งขยะและกากดิจิตัล ที่พรั่งพรูออกมาในแต่ละวัน..
 และเพียงแค่ไม่กี่ปีมานี้คนหลายสิบล้านคนได้รู้จักกับคำว่า แชท ได้เรียนรู้ที่จะใช้การแชทในการติดต่อสื่อสาร การแชท คือ การสนทนาหรือพูด เล่าเรื่องราวที่ไม่เป็นสาระ เป็นการพูดคุยกันทั่วไปไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายซ่อนเร้นอะไร เหมาะสำหรับคุยกันกับเพื่อนๆ แต่ไม่เหมาะสำหรับการสื่อสารที่จริงๆจังๆ จะได้ก็แต่ความรวดเร็ว ทันใจ
chat ย่อมาจากคำว่า chitchat ซึ่งแปลว่า ทักทายหรือพูดคุยกันเรื่อยเปื่อยไปตามเรื่อง “Chat” ในภาษาอังกฤษ แปลว่า สนทนาอย่างเป็นกันเอง ผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือทางโทรศัพท์หรือระบบไหนก็ได้ การแชทเป็นการคุยโดยใช้วิธีพิมพ์ข้อความลงไปเท่านั้น ไม่ได้ใช้เสียง แต่ว่าปัจจุบันก็มีบางโปรแกรมที่สามารถคุยเห็นหน้ากัน ได้ยินเสียงกัน ถ้าหากผู้ใช้ต่ออุปกรณ์เสริม กล้องเวบแคม หรือไมโครโฟ
และปรากฏการณ์ที่มีผลทำให้การแชทมีบทบาทมากขึ้นนั่นคือ การกำเนิดของ โทรศัพท์ BB บริษัท รีเสิร์ช อิน โมชั่น (Research in Motion หรือ RIM) เป็นบริษัทจากประเทศแคนนาดา เป็นผู้พัฒนาอุปกรณ์ไร้สายที่มีจุดเด่นในการ ส่งอีเมลถึงมือถือผู้ใช้ ทุกที่ ทุกเวลา โดยรู้จักกันในชื่อว่า แบล็กเบอร์รี่ (BlackBerry)” เปิดตัวเมื่อปี 1999   ระยะแรกเมื่อปี 2001 “แบล็กเบอร์รี่เป็นเพียงเพจเจอร์ (Pager) ขนาดเล็ก ที่ผู้ใช้แต่ละคนสามารถพิมพ์ข้อความรับ-ส่งหากันได้เอง โดยมีหน้าจอขาวดำ และ แผงปุ่มกดเหมือนแป้นพิมพ์ของคอมพิวเตอร์ แบล็กเบอร์รี่รุ่นแรกสำหรับรับ- ส่งอีเมล และเล่นอินเทอร์เน็ตบนมือถือ (WAP) ยังไม่สามารถโทรออกได้  แต่ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือแบล็กเบอร์รี่มีการพัฒนาไปมาก โดยจุดเด่นของมือถือนี้ก็คือ การมีแผงปุ่มกด ที่เป็นแป้นพิมพ์มาตรฐานเหมือนที่มีในเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อความสะดวกในการพิมพ์ข้อความยาวๆเพื่อส่ง อีเมลหรือแชทเป็นเวลานานๆ
และต่อมาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของการใช้งานสังคมเครือข่าย Social Network ในประเทศไทยอยู่ในอัตราที่สูงมาก จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น มีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ (Mobile Internet) เพิ่มสูงขึ้น ยอดขายของสมาร์ทโฟนเติบโตในระดับก้าวกระโดด (มียอดผู้ใช้มือถือมากกว่าจำนวนประชากร) ความนิยมของสมาร์ทโฟน กลายเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนบริการต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต และถูกเชื่อมโยงเข้าหากันผ่าน Social Network จึงเกิดพฤติกรรมการแบ่งปัน (เปิดเผย) การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารมากมาย จากแค่การแชทกันคุยกันเพียงไม่กี่คน วันนี้ผู้คนเริ่มแสดงออกมากขึ้น นำชีวิตส่วนตัวมาเปิดเผยมากขึ้น อยากรู้เรื่องราวและชีวิตส่วนตัวของคนอื่นมากขึ้น (สอดรู้สอดเห็น) และพฤติกรรมใหม่ล่าสุด ทุกคนล้วนอยากให้คนอื่นมาสนใจเรื่องของตัวเองมากขึ้น รอคอยการคอมเมนต์ ชอบแชร์รูป โพสต์สถานะว่าทำอะไร คิดอะไร หรืออยู่ที่ไหน มีการกด Like (ไม่กด Love)ล้วนแต่ตอบโจทย์พฤติกรรมของการแสดงออกของผู้ใช้ทั้งสิ้น
เมื่อมีการเปิดเผยเรื่องของตัวเองมากขึ้น เริ่มมีเพื่อน คนรู้จักมาให้ความสนใจมากขึ้น กลายเป็นพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เปิดเผยเรื่องของตัวเองที่เคยเป็นเรื่องส่วนตัว จนหลายครั้งผู้ใช้เริ่มแยกแยะไม่ออก เรื่องใดควรเปิดเผยหรือไม่ควรเปิดเผย ควรเปิดเผยกับใครและไม่ควรเปิดเผยกับใคร โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น ที่เป็นวัยต้องการแสดงออกอยู่แล้ว นี่จึงเป็นเวทีหลักของพวกเขาเลยทีเดียว เริ่มขาดความระมัดระวังในเรื่องของการแชร์เรื่องของตัวเอง ขาดความตระหนักถึงภัยอันตรายที่เกิดจากความรู้ไม่เท่าทัน มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง Facebook.com ได้พูดไว้ว่า โลกของความเป็นส่วนตัวได้หมดไปแล้ว
หลายคนรู้จักและใช้การติดต่อสื่อสารสมัยใหม่ได้อย่างแคล่วคล่อง ได้อย่างจัดเจน แต่เป็นเรื่องแปลกที่คนวันนี้กับพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง การสื่อสารมักขาดความชัดเจน หรือเราติดนิสัยการแชท ต้องสั้นๆแปลกๆ หรือคิดว่าคนอื่นเข้าใจเหมือนเรา เราจึงเห็นความขัดแย้งทางการดำเนินชีวิตของคนในยุคสมัยนี้มากขึ้น ขัดแย้งกับตัวเองและส่งผลต่อการขัดแย้งต่อผู้อื่น มีความจัดเจนแต่ไม่มีความชัดเจน ชอบเปิดโลกส่วนตัวให้คนอื่นเยี่ยมชม แต่กลับไม่ยอมเปิดใจรับความคิดผู้อื่น ชอบโชว์เรื่องไร้สาระ แต่ความดีงามกลับไม่ได้เคยถูกนำมาแสดงอย่างเปิดเผย เราแชทกันเป็นอาจินแต่ไม่ได้ยินความรักจากหัวใจของกันและกัน
การใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารสมัยใหม่อย่างชาญฉลาด ต้องรู้จักนำมาใช้เพื่อพัฒนาทั้งชีวิตกายและชีวิตจิต แม้จะแชทกันแทบตายแต่ถ้าหัวใจไม่มีให้กัน มันก็แค่มายา แม้จะสนทนากันทุกวัน แต่การรังสรรค์ความดีงามไม่เคยมี แล้วสิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมคุณค่าจิตวิญญาณได้อย่างไร??? และในเมื่อมันมีให้ใช้ก็ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างความชัดเจนในข่าวดี เพิ่มพูนความดี ทวีความรัก พร้อมพรักให้กับทุกคนที่สื่อสารกับเราได้สิ่งเหล่านี้กลับไป และสิ่งที่ดีๆสิ่งที่มีคุณค่าก็จะยังเหลืออยู่ในชีวิตเรามากกว่า12กระบุงเป็นแน่แท้...

ไม่มีความคิดเห็น: