วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2567

อยู่กับจุดที่เรายืน

 

อยู่กับจุดที่เรายืน

>>> จุดที่เรายืนอยู่อาจจะไม่เห็นอีกด้านหนึ่ง เผื่อใจในมุมมองอื่นไว้บ้าง <<<

บ้างก็ว่าเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกันจึงเป็นที่มาของความขัดแย้ง แต่อีกมุมหนึ่งมันนำมาซึ่งการพัฒนา บ้างก็ว่าหากทุกคนคิดเห็นเหมือนกันหมด โลกนี้คงเต็มไปด้วนสันติสุข อีกด้านก็มองว่าโลกคงไร้สีสัน โลกนี้เต็มไปด้วย “คน” ที่ปะปนกัน คละเคล้ากันไปมา ตีกันบ้าง ดีกันบ้าง สร้างสรรค์จรรโลงโลกให้งดงาม ความแตกต่างบางทีก็แค่เรายืนกันคนละที่ มองกันคนละมุม มีฐานะคนละแบบ พอดีไปพบภาพ ๆ หนึ่ง เห็นแล้วต้องหยุดคิดพิจารณา ความเป็น “คน” ของเรา ที่เคยยึดติดกับความคิดตัวเอง ที่เคยไม่ยอมใคร เพราะคิดว่าเราถูก เราเก่ง เราเจ๋ง สุดท้ายก็เจ้ง ความคิดพลันสลาย ยิ่งเมื่ออ่านข้อความประกอบภาพนี้ยิ่งตระหนักถึงความแตกต่างและมุมมองที่เราควรจะมีต่อทุกสรรพสิ่งให้มากขึ้น หาใช่ในมุมมองของเราหรือมองในจุดที่เรายืนอยู่เท่านั้น

หนูขโมยข้าวของคน คนว่ามันเจ้าเล่ห์!! มนุษย์ขโมยน้ำผึ้งของผึ้ง กลับบอกว่ามนุษย์ขยัน !! งูไม่รู้ว่าตนมีพิษร้าย...คนก็ไม่รู้ว่าตนมีความผิด...

สิ่งใดมีประโยชน์ต่อเรา ล้วนเรียกว่าดี..สิ่งใดไม่มีประโยชน์ต่อเรา ล้วนเรียกว่าเลว..เมื่อคุณเดินถนน รังเกียจรถ...เมื่อคุณขับรถ รังเกียจคนเดินถนน

เมื่อคุณทำงาน...รู้สึกว่าเจ้านายใช้อำนาจ งกเกิน เมื่อคุณเป็นเจ้านาย...รู้สึกว่าคนงานไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีประสิทธิภาพ

เมื่อคุณเป็นลูกค้า ก็ว่าพ่อค้ารุนแรง เมื่อคุณเป็นพ่อค้า ก็รู้สึกว่าลูกค้าจู้จี้เกิน ที่จริงแล้ว เราล้วนไม่ผิด

ที่ผิด คือ ที่ยืนเราต่างกัน  ดังนั้นแล้ว ถูกกับผิดก็เป็นเพียงหัวข้อไม่จริงแท้ จุดยืนต่าง มุมมองปัญหาย่อมต่าง ย่อมมีข้อสรุปแตกต่างกันไป ตามพื้นฐานและสภาพแวดล้อมของแต่ละทุกสรรพสิ่งทุกสรรพเรื่องราวในโลกไม่มีความสมบูรณ์ เป็นเพียงยืนคนละจุด ลองสละตัวตน ความเห็นของเราเข้าร่วมในความรู้สึกคนอื่น ใจเขาใจเราดูบ้าง ก็จะทำให้การดำเนินชีวิตของเรามีความสุขมากยิ่ง


ในยุคสมัยใหม่ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล เราสามารถที่จะรับรู้ได้ง่าย และแน่นอนข้อมูลที่เรารับรู้ เราเห็น เราอ่าน เราได้สัมผัสแรกสุด เราก็มักจะยึดสิ่งนั้นว่าเป็นสิ่งที่เชื่อถือ ตัวอย่างง่าย ๆ ในเรื่องสุขภาพ  ต้องทานนั่นทานนี่จะทำให้เราแข็งแรงสมบูรณ์ เราก็ปฏิบัติติตาม มาวันหนึ่งก็พบเจอข้อมูลอีกด้านหนึ่งซึ่งดูจะขัดแย้งกัน เราก็มักมีคำถามในใจว่า อันนี้มั่วหรือเปล่า ไปพบคุณหมอ ก็บอกอีกแบบหนึ่ง ตกลงจะต้องทำตัวอย่างไรดี
? ถ้าเรายึดข้อมูลใดข้อมูลหนึ่ง เราก็จะไม่มั่นใจในการที่จะรับประทาน ที่สุดบทสรุปก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวเรานั่นเองที่จะรับรู้ว่า อันไหนถึงจะเหมาะสมกับเราที่สุด ข้อมูลที่ต่างกันอาจจะทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้นได้

วันนี้เราสมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล ทั้งสองท่านนักบุญล้วนมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัที่เป้าหมาย คือ การทำให้คำสอนของพระเยซูเจ้าเข้าไปในชีวิตของคริสตชนอย่างสมบูรณ์ นักบุญเปโตรวางรากฐานพระศาสนจักรให้แข็งแรงที่กรุงโรม เป็นศูนย์กลางมาจนถึงปัจจุบัน ท่านนักบุญเปาโลออกไปทุกที่ที่ห่างไกล และตั้งกลุ่มคริสตชนที่นั่นที่นี่ หากจะเปรียบพระศาสนจักรเป็นต้นไม้ใหญ่ นักบุญเปโตรทำให้รากแก้วแข็งแรง เพื่อให้ลำต้นเจริญเติบโตมั่นคง ท่านนักบุญเปาโลดูแลกิ่งก้านสาขา เพื่อให้ต้นไม้ใหญ่นี้เป็นร่มเงาให้คนได้มาพักพิง ทั้งสองท่านมีจุดยืนที่แตกต่างกันที่มิเคยแตกแยกจากองค์พระคริสตเจ้าเลย แน่นอนเราจำเป็นต้องมีจุดยืนในความเชื่อของเรา แต่เราก็ต้องไปยืนในจุดของคนอื่นด้วย เพื่อทำให้ความเชื่อของเราเจริญเติบโตขึ้น  โดยมิต้องไปขัดแย้งกับผู้อื่น เพราะนั่นมันไม่ใช่หนทางสร้างสันติในชีวิตเรา.....

วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ลืมตื่น

 

ลืมตื่น

>>> หนึ่งชีวิตที่เกิดมามีค่าอยู่ในตัวเอง ไม่มีใครเกิดมาอย่างไร้ค่า <<<

ในชีวิตที่ผ่านมา เรามักเจอเหตุการณ์บางอย่าง หรือหลาย ๆ อย่าง มันเกิดขึ้นกับเรา ราวกับว่าได้ถูกทำซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนคลิปสั้น ๆ ในโลกโซเชี่ยลที่เวียนวนกลับไป-มา หลายเที่ยว เพียงแต่ว่า..เหตุการณ์นั้น ๆ อาจต่างเวลา และวาระกัน เช่น การตื่นนอน หลายครั้งหากร่างกายอ่อนล้าอ่อนแอเราก็มักจะนอนหลับยาว ๆ บางทีนาฬิกาปลุกดังก็ยังไม่ได้ยิน “ลืมตื่น” พอรู้ตัวว่าตื่นก็ตกใจกลัว หรืออาจจะเป็นเหตุการณ์ที่ตื่นมาแล้วงงงวยว่า วันนี้วันอะไร เราต้องไปทำอะไรที่ไหน อย่างไร ???


ชีวิตคนเราก็เหมือนกับ “สายน้ำ” ที่ไม่เคยไหลย้อนกลับมาได้ สายธารแห่งชีวิต ดำเนินไปข้างหน้าเรื่อย ๆ เราไม่อาจจะรู้ได้เลยว่าวินาทีต่อไปจะมีอะไรเกิดขึ้นกับเราบ้าง วันพรุ่งนี้ เดือนหน้า
, ปีหน้า หรือปีต่อ ๆ ไปจะมาถึงหรือเปล่าก็ไม่รู้ หากเรายังหลับใหล หลงลืม ไม่ยอมตื่น ชีวิตเราก็มักจะเต็มไปด้วยความกลัว ทำวินาทีนี้ วันนี้ ที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ให้ดีที่สุดเพื่อที่ว่า หากเวลาแห่ง..สุดท้ายมาถึง เราจะไม่รู้สึกเสียใจหรือหวาดกลัวอะไรเลย พร้อมที่จะเผชิญพายุ แม้จะเวียนวนกลับมาโถมใส่เราครั้งแล้วครั้งเล่า

ใช่หรือไม่ อ่อนแอไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจ และความเข้มแข็งก็ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต หาจุดกึ่งกลางให้เจอ แล้วก็ซื่อตรง ไม่หวั่นไหว โอนเอน ไม่กลบเกลื่อน จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าโลกจะเป็นเช่นไร เราก็ต้องใช้ชีวิตต่อไป มีบ้างเบื่อ ๆ เหนื่อย ๆ อยากหายไป อยากหนีไปอยู่ในที่สบายใจ นอนเล่นไปเรื่อยเปื่อย ไม่มีเวลาต้องตื่น แต่เอาเข้าจริงไม่ง่ายขนาดนั้น มีแต่จิตใจที่เข้มแข็งเท่านั้น ผ่านวันเวลาไปให้ได้ กินให้อิ่ม นอนให้หลับ และตื่นขึ้นมาพร้อมพระพรในวันใหม่อย่างสดชื่น แค่นี่แหละชีวิตที่เป็นพระพรของพระเจ้า.....

วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ทำไปเพราะอะไร

 

ทำไปเพราะอะไร

>>> บางเวลาเราก็ทำอะไรลงไป ตามที่เคยทำมา โดยไม่รู้ว่าทำไปทำไม..?<<<

ความคุ้นชินในวิถีชีวิตของเรานั้นมีมากมาย บางคนตื่น ไปทำงาน กลับบ้าน นอน ตื่นอีกแล้ว วนหลูปอยู่เช่นนี้ เป็นปกติวิสัย ยิ่งในยุคสมัยที่เราพากันเสพติดมือถือ ว่างไม่ได้ต้องหยิบมาเปิด รูดขึ้นรูดลง เปิดแอพนั่นแอพนี่ ใช้อยู่ไม่กี่แอพ เป็นวัน ๆ วน ๆ อยู่เช่นนั้น มีชีวิตเหมือนเครื่องอัตโนมัติ ทำแบบเดิม ๆ ใครทำอะไรกันเราก็ทำตาม ซ้ำยังไม่เคยคิดว่า “ทำไปเพื่ออะไร” หากเรามีสติ ใช้พระจิตนำทางบ้าง ใช้ชีวิตแต่ละวันแบบรู้ว่าทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร ให้ความเคยชินเป็นสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นมา อย่าดำเนินชีวิตแบบอัตโนมัติ เพราะชีวิตเราเป็นของประทานจากพระเจ้า เราควรใช้อย่างมีเป้าหมาย และมีสำนึกอยู่ตลอดเวลา

มีเด็กหญิงตัวน้อยคนหนึ่งดูแม่ของเธอเตรียมปลาเพื่อทำอาหารเย็น แม่ของเธอตัดหัวปลาและหางปลาออกแล้ววางลงในถาดอบ

เด็กหญิงถาม “ทำไมคุณแม่จึงตัดหัวปลาและหางปลาออกคะ”

คุณแม่คิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วตอบว่า “แม่ทำแบบนี้มาตลอดเป็นแบบที่คุณยายทำจ๊ะ”

เด็กหญิงยังไม่พอใจกับคำตอบจึงไปเยี่ยมคุณยายแล้วถามคำถามเดียวกัน คุณยายครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วตอบว่า “ยายก็ไม่รู้จ๊ะ แม่ของยายก็ทำแบบนั้นมาตลอด”

เด็กหญิงและคุณยายจึงพากันไปเยี่ยมยายทวดเพื่อค้นหาว่าเธอจะรู้คำตอบหรือไม่ ยายทวดครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วพูดว่า

“เพราะถาดสำหรับอบของยายทวดมันเล็กเกินกว่าจะใส่ปลาทั้งตัวได้จ๊ะ”

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า บ่อยครั้งเราก็ทำ ๆ ไปอย่างนั้นแหละ ใช่หรือไม่ เราคริสตชนบางทีเรามาวัดร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์ เราก็มักมาเวลาเดิม ๆ มานั่งในที่เดิม ๆ ถือว่าเป็นที่ประจำของเรา เสร็จแล้วก็กลับบ้านจำอะไรไม่ได้เลยว่า คุณพ่อเทศน์เรื่องอะไร พระวาจากล่าวถึงเรื่องอะไร เรามาวัดเพื่อมาหรือเปล่า (ทำตามพระบัญญัติ) เรามาวัดแล้วเราได้อะไรบ้าง???  เรามาทำไม เราลองตั้งคำถามแล้วลองหาคำตอบดู เหมือนเด็กหญิงคนนี้ที่พยายามหาคำตอบ...


เป็นเรื่องง่ายที่จะทำบางสิ่งบางอย่างต่อเนื่องไปเพียงเพราะนั่นคือวิธีที่ทำมาโดยตลอด เราจึงไม่กล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ ความเคยชินมันเลยเหมือนเครื่องพันธการ เป็นเหมือนโซ่ที่คอยฉุดรั้งเราอยู่ตลอดเวลา หากเราลองหาคำตอบให้เจอ เราจะกล้าก้าวทำในสิ่งใหม่ในวิถีแบบเดิม เราจะพบว่าบางครั้งชีวิตเราก็ไม่ควรเลียนแบบเส้นทางของผู้อื่น เราควรเชื่อในพระพรของเราที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดที่ผู้คนกำหนดไว้ ทำให้ชีวิตเราเป็นพื้นที่ที่ดีงาม เป็นพื้นดินที่สมบูรณ์ เพื่อให้พระวาจาของพระเจ้าเติบโตขึ้น และเป็นร่มเงาให้คนอื่นได้พักพิงบ้างในบางครั้งบางคราว ด้วยการเริ่มต้นใส่ใจในการกระทำกิจกรรม พยายามตั้งคำถาม ไตร่ตรองก่อนนอนว่า “สิ่งที่เราทำไปวันนี้เพื่ออะไร ได้อะไรที่ดี ๆ มาบ้าง” ที่สุดแล้ว เราต้องยึดมั่นว่า สิ่งที่เราทำนั้นเพื่อเพิ่มพูนพระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า หาใช่ทำเพื่อโอ้อวดตัวตนของเรา แล้วเราจะได้เป็นคริสตชนคนของพระเจ้าอย่างแท้จริงมิใช่สิ่งปลอมแปลงแฝงเร้นอยู่ในพระศาสนจักร….

วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2567

พ่อพระแม่พระ

 

พ่อพระแม่พระ

>>> เราเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะรักษาสถาบันครอบครัวไว้ จงภาคภูมิใจในสิ่งนี้ <<<

การเปลี่ยนแปลงในทุกองคาพยพกำลังเข้ากัดเซาะเข้าไปในทุกอณูของสังคม วิถีการดำเนินชีวิตเริ่มเปลี่ยนไปแบบไม่รู้ตัว สังคมผันแปรไปตามกระแส ความเป็นอยู่ กรอบ กฎ กติกา ทุกอย่างผิดเพี้ยนไปจากเดิมโดยมิทันตั้งตัว ไม่เว้นแม้แต่ความเป็นครอบครัวคาทอลิก ใช่หรือไม่ แม้ว่าเรายังมีพิธีกรรมให้ยึดเกาะ เพื่อให้เราปฏิบัติ แต่...ในบางครั้งบางเวลา เราก็ทำกันไปตามความเคยชิน มาวัดก็มาโดยมิได้มีอะไรไปขัดเกลาจิตวิญญาณ เราละเลยการร่วมกันสวดภาวนา ต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างดำเนินชีวิตกันไป ไม่มีการสั่งสอน อบรมบอกเล่าความเชื่อ (เพราะเด็กไม่ฟัง) จนทำให้ความงามของคาทอลิกห่างหายไป

พระสันตะปาปา เคยตรัสไว้ว่า “บ่อยครั้ง ครอบครัวต้องพบกับความยากลำบากในการหาเวลามาสวดภาวนาพร้อมกัน แต่พ่อยังอยากขอร้องพ่อแม่ให้รู้จักสอนลูก ๆ ให้สวดภาวนา สอนพวกเขาให้ทำเครื่องหมายสำคัญมหากางเขน มันแย่นะที่พ่อต้องเห็นเด็ก ๆ ที่เป็นคาทอลิก แต่ทำเครื่องหมายสำคัญมหากางเขนไม่เป็น! ฉะนั้น หน้าที่ของพ่อแม่อย่างพวกท่านคือสอนลูกให้ทำเครื่องหมายสำคัญมหากางเขนให้ได้”

วันนี้สังคมไทยมีครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น การหย่าล้าง การเลิกลา กลายเป็นสิ่งปกติ การแต่งงาน จนกระทั่งการมีลูกดูจะเป็นเพียงแฟชั่นเอาไว้โอ้อวดกันในโลกโซเชี่ยล แท้จริงแล้ว การเกิดมาของเด็กคนหนึ่งนั้น เป็นเสมือนการที่พระมาบังเกิดอยู่ท่ามกลางพวกเรา และเพื่อให้เด็กน้อยนั้นบริสุทธิ์ผุดผ่อง ศาสนาคริสต์คาทอลิกของเราก็มีพิธีกรรมล้างบาป (บาปกำเนิด) เพื่อให้เป็นลูกพระเจ้าอย่างแท้จริง ในพิธีกรรมล้างบาปยังมีสิ่งหนึ่ง ที่เราควรจะร่วมมือกันรักษาไว้นั่นคือ เรื่องของพ่อทูนหัว แม่ทูนหัวในศีลล้างบาป พ่อทูนหัว ( God father พ่อพระ )  แม่ทูนหัว (Godmother แม่พระ) และลูกทูนหัว ( Godchild ลูกพระ )

พ่อทูนหัวหรือแม่ทูนหัว คือ ผู้ที่เป็นพยานในการรับศีลล้างบาปของเด็ก และเต็มใจที่จะช่วยเหลือในการสอนคำสอน คอยอบรม ดูแล ลูกทูนหัวทางจิตวิญญาณตลอดจนการดำเนินชีวิตของลูกทูนหัวให้เติบโตสู่โลกกว้าง ใช้ชีวิตตามที่สังคมต้องการ การเลือกพ่อ แม่ ทูนหัวให้กับลูก ๆ ของคนที่เป็นพ่อกับแม่ จะเลือกจากเพื่อนสนิท หรือ เป็นบุคคลที่ครอบครัวไว้ใจ เป็นบุคคลที่ประพฤติดีที่จะเป็นแบบอย่างให้กับลูกของเขาได้ ไม่เพียงด้านศาสนา แต่ในทุกมิติของสังคมด้วย แต่หลายครั้งเราก็เลือกเพียงเพื่อให้มีคนมาเป็นให้เท่านั้น...

บางทีเราอาจจะหลงลืมหน้าที่การเป็น พ่อพระ แม่พระ เพราะคิดเพียงรูปแบบภายนอกของพิธีกรรม มาล้างบาปจบแล้วก็จบเลย มิได้คอยช่วยดูแลลูกพระร่วมกับพ่อแม่จริงของเด็กคนนั้น ซึ่งนั่นเท่ากับว่า เราก็ละเลยพระด้วยเช่นกัน ถามว่ายุคสมัยเปลี่ยน วิถีของผู้คนก็เปลี่ยน เราจะทำแบบเดิมกันอยู่ไปทำไม??? ให้กลายเป็นสิ่งโบราณเต่าล้านปีขวางโลกอยู่ได้ หาใช่เช่นนั้นไม่ วิธีการเปลี่ยนได้ แต่เนื้อหายังต้องคงอยู่ เราเชื่อในพระได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง เราไว้ใจในพระเจ้าได้ แม้เราจะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย แล้วเราก็ยึดมั่นในความเป็นพ่อพระ แม่พระได้ ท่ามกลางกระแสสังคมยุคใหม่ ดูแลใส่ใจกันได้ โดยไม่ต้องมานั่งสั่งสอนกันตัวต่อตัว พูดคุยเรื่องความดีงามได้มิใช่สั่งสอนตามตัวหนังสือ เป็นที่ปรึกษาได้โดยไม่ต้องชี้นิ้วนำทาง ปรับเปลี่ยนการเป็นพ่อแม่ทูนหัวไปตามยุคสมัย เราจะเป็นพ่อพระแม่พระตลอดไป หาใช่เพียงหนึ่งวันในวันที่มาทำพิธีกรรมล้างบาปเท่านั้น แต่คงเป็นอยู่ตลอดไปตามพระประสงค์ขององค์พระเยซูคริสตเจ้า....

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2567

บนโต๊ะอาหาร

 

บนโต๊ะอาหาร

>>> รสชาติบางทีมิได้อยู่ที่อาหาร แต่อยู่ที่ผู้ร่วมทานอาหารกับเรา <<<

ครอบครัวจะอบอุ่นดูได้จากการร่วมวงกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา ความสุขจะเกิดจากการได้กินได้คุยได้หัวเราะได้ซึมซับความดีความงามในช่วงจังหวะเวลานั้น บ้านไหนที่ต่างคนต่างกิน ตัวใครตัวมัน ความสัมพันธ์ก็ดูจะเปราะบาง มีแต่ความห่างเหินเข้าแทนที่ จนกลายเป็นความเฉยชา ไม่ค่อยจะรับรู้ความรู้สึกห่วงหาอาทรต่อกัน ซึ่งสังคมวันนี้ก็ผลักดันให้เราเป็นเช่นนี้เสียด้วย จะเป็นด้วยเวลาที่ไม่ตรงกัน จะเป็นด้วยเราต่างมีโลกส่วนตัวกันมากขึ้น จะเป็นด้วยเพราะเรากินข้าวไปและก็คุ้ยเขี่ยมือถือไป ไม่สนใจกัน ต่างคนต่างมีวิถีทางใครทางมัน นี่คือ บนโต๊ะอาหารของคนยุคใหม่ เราหลงลืมความ “เป็นอยู่” ของคนตรงหน้า

เรานัดเจอเพื่อนฝูงหรือใครสักคน ก็มักจะนัดกินข้าวด้วยกัน อาจจะเจอกันที่คาเฟ่ กินอาหารว่าง ก็ถือว่าเป็นโต๊ะอาหาร ในบางครั้งการนัดกันแบบนี้ก็กลายเป็นเรื่องทางธุรกิจ และหาช่องทางเพื่อผลประโยชน์ที่จะมีต่อกัน โต๊ะกินข้าวเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย  แต่แก่นแท้คือความสัมพันธ์


หากเราหันกลับมาพิจารณาให้ดี ใช่หรือไม่ บนโต๊ะอาหารนอกจากอาหารแล้วมักมีเรื่องราวให้ชิมให้อิ่มหนำสำราญใจ การกินข้าวหม้อเดียวกัน การกินกับข้าวชามเดียวกัน มันมีความหมายของสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งอยู่ไม่น้อย เป็นเสมือนการได้ร่วมทุกข์สุข ที่ก่อให้เกิดพลังหนุนนำ มีกำลังใจ ที่จะดำเนินชีวิตต่อไป เป็นการเพิ่มพลังได้ดีกว่าสารอาหารที่เราทานลงไป การแบ่งปันประสบการณ์เป็นอะไรที่แสนพิเศษ ก็เริ่มจากโต๊ะอาหาร

พระเยซูเจ้าก็ใช้โต๊ะอาหารนี่แหละ มอบพระวรกายและพระโลหิตผ่านทางขนมปัง (เนื้อ)และเหล้าองุ่น (น้ำ) ให้เป็นชีวิตนิรันดร์มาจนถึงเราทุกวันนี้ บางทีเราอาจจะเริ่มสร้างสวรรค์บนแผ่นดินง่าย ๆ โดยเริ่มจากโต๊ะอาหารในบ้านของเรา มอบความสุข มอบเรื่องราวดี ๆ ให้กัน อย่ามัวแต่กินที่นี่แล้วคุยกับที่โน่นกันอยู่เลย อยู่บนโต๊ะอาหารทั้งกายและใจ แล้วความสุขจะกลับคืนสู่บ้าน สู่สังคมเรา นะครับพี่น้อง