วันเสาร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2567

หนึ่งวันพันเรื่อง

 หนึ่งวันพันเรื่อง

หนึ่งวันพันเรื่อง

>>> “การค้นพบครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต คือ การได้เผชิญหน้ากับตนเอง”

อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ <<<

อากาศยามเช้าๆ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูจะขมุกขมัวเสียเหลือเกิน บางวันฝนทำท่าว่าจะตกหรือบางทีอาจจะตกมาบ้างในบางที่ และเป็นธรรมดา เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง เราก็เห็นคนป่วยเป็นหวัดกันมาก คนป่วยในโรงพยาบาลก็ขวักไขว่ ว้าวุ่นกันไป การเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วเหมือนอากาศที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวเดี๋ยวฝน คนที่อ่อนแอไร้ภูมิก็มิอาจจะต้านทานได้ เฉกเช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกที่รวดเร็วทุกวินาที มีเรื่องราวหนึ่งวันพันเรื่อง  สามารถที่จะทำให้เราพลาดพลั้งเผลอไปได้ง่าย ยิ่งในโลกที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวลที่กังวานอยู่ในจิตใจของผู้คนตลอดเวลา ปีศาจในตัวเราก็พร้อมจะลุกขึ้น มาทำให้จิตวิญญาณเราซวนเซ เถลไถลไปไกลจากจุดยืนได้


หลายครั้งเราก็ตกอยู่ในสภาพ “รู้แต่ทำไม่ได้” พอเกิดเรื่องความวิตกกังวลก็มีความรู้วิธีลดความวิตกกังวล แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง หรือลองทำอยู่ แต่ก็ไปไม่รอด ใช่หรือไม่ สิ่งที่สำคัญมากกว่าวิธีการจึงเป็นความเข้มแข็งของจิตใจ เราจำเป็นต้องมีภูมิต้านทานที่ไม่กลัวและยอมแพ้กับอุปสรรคอะไรเลย เเม้ว่าเรื่องนั้นจะหนักหนาสาหัส เราต้องผ่านมันไปให้ได้ คนเราไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า เเละไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า เเม้ในวันข้างหน้าไม่มีเรา จะมีใครพูดถึงเราเช่นไร เราก็ไม่ได้ยินถึงมันอยู่ดี

ในความเป็นจริง ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากมนุษย์ได้สร้างขึ้นมา นิยามกันขึ้น สมมุติก็เป็นสิ่งแทนขึ้นมา อะไรจริง อะไรเท็จ ทุกอย่างล้วนถูกตั้งค่าขึ้นจากมนุษย์ทั้งสิ้น วันนี้เราเป็นอะไร วันข้างหน้าเราเป็นใคร ไม่สำคัญ เรารู้สึกเเค่ว่า เรามีความสุขกับอะไรเราก็เเค่ดำเนินชีวิตไปตามสิ่งนั้น เเล้วเราจะเติบโตขึ้น เพราะถ้าเรากังวลกับสิ่งที่มันยังมาไม่ถึง บางครั้งการที่เราละเอียดรอบคอบมากเกินไปกับมันทำให้เราไม่กล้าก้าวออกมาจาก Comfort zone เราอาจจะพลาด บางเรื่องราวที่สอนประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ให้กับเรา รอบคอบกับสิ่งที่เราดำเนินอยู่ อะไรจะเกิด ก็เเค่ปล่อยมันไป เเล้วตั้งหลักใหม่ ผ่านมันไปให้ได้ เเล้วเราจะเติบโตขึ้นทั้งใจเเละกาย

    ลาตัวหนึ่งแบกสัมภาระอันหนักอึ้งไว้บนหลัง 

หลีกทางไป เจ้าลาสกปรก” ม้าทหารตวาดไล่ด้วยเสียงอันดัง

ลาจึงหลีกทางให้ พลางเฝ้ามองดูม้าทหารผู้งามสง่าอยู่ในเครื่องประดับเต็มยศอย่างโก้หรูนั้นเยื้องย่างผ่านไป เมื่อย้อนมองดูตนเองแล้วลาก็ได้แต่นึกอิจฉาในลาภยศของม้าทหาร แต่ทว่า หลังจากม้าทหารได้รับบาดเจ็บในสนามรบและมิอาจออกสนามได้อีก

มันก็ถูกส่งมาทำงานหนักในไร่ในนา ต้องลากเกวียนที่บรรทุกสัมภาระหนัก ๆ ทุกวันอย่างตรากตรำ ลามองอดีตม้าทหารอย่างเวทนาและเข้าใจชีวิตได้มากขึ้น (นิทานอีสป)

เราล้วนต่างกลัวความเปลี่ยนแปลง กลัวความไม่สำเร็จ  กลัวการผิดหวัง กลัวคนไม่รักไม่นับถือ ยามมีชื่อเสียง มีอำนาจ มีทรัพย์สินเราก็ผยองพองขน ทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นจุดอ่อนที่หลอนหลอกเรา เหมือนเงาปีศาจที่ตามไปทุกที่และพร้อมที่ลุกขึ้นมาสิงสู่เรา ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้อยู่ว่าเรามีเทวดาประจำตัวอยู่แต่เป็นเราเองที่กักขังเทวดานั้นให้อยู่นิ่ง ๆ เพราะความหลงใหลในปีศาจที่น่าจะเย้ายวนมากกว่า เรามาปลุกเทวดาให้มาอยู่กับเรา ให้มาช่วยขับไล่ปีศาจในตัวตนของเราออกไป เพื่อเราจะได้มีภูมิ แม้ว่าวันหนึ่งเราต้องพบเจอเรื่องราวมากมาย ก็มิอาจจะทำอันตรายเราได้.....

วันเสาร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2567

ค้นหาสู่แสวงหา

 

ค้นหาสู่แสวงหา

>>> เป้าหมายของชีวิต ใช่การแสวงหาความสุข แต่อยู่ที่ ชีวิตมีความหมายเช่นไร<<<

            ความรู้มีล้นโลกและเราก็สามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน เพียงเราเข้ากูเกิล แล้ว “ค้นหา” สิ่งที่อยากรู้ ไม่นานเราก็จะกระจ่างขึ้น แต่...ใช่หรือไม่ เราไม่สามารถค้นหาความสุขในนั้นได้  โลกนี้ทุกคนต่างก็แสวงหาแต่ความสุข บ่อยครั้งคนที่ไม่พบความสุข ก็จะรู้สึกผิด ละอาย ทั้ง ๆ ที่ในชีวิตของพวกเขาอาจจะไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร ไม่ได้หิวโหย ไม่เจ็บป่วย ร่างกายแข็งแรงทุกอย่าง แต่ภายในใจของเขาเกิดสิ่งที่เรียกว่า “สุญญากาศทางจิตวิญญาณ” เกิดอาการสับสน งุนงง ไม่รู้ว่าชีวิตคืออะไร มีความหมายอย่างไร อยู่ไปเพื่ออะไร สงสัย ตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา แปลกแยก โดดเดี่ยว บ่นเบื่อ ตำหนิโลกรอบตัว เพราะไม่มีความสุข


จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของชีวิตไม่ใช่การแสวงหาความสุข แต่เป็นการแสวงหาความหมายของชีวิตต่างหาก คนเราไม่คิดเช่นนั้น ต่างก็คิดที่จะกอบโกยความสุขบนความฉาบฉวย บนความมีชื่อเสียง ในความเด่นความดัง และก็เกิดการยึดติด  ทำทุกวิถีทางไม่ให้ทุกข์ร้อน โดยลืมไปว่า ชีวิตในห้วงทุกข์นั้นก็มีความหมาย และดีไม่ดีมันจะสอนให้เรามองเห็นความหมายของชีวิตได้ชัดเจนยิ่งกว่า สังคมมักจะยอมรับว่าคนที่มีความรู้เป็นคนมีเป้าหมายชีวิต แต่ก็อีกนั่นแหละ ความรู้ที่ไม่มีการค้นหาความจริงนั้น ทำให้หลงติด เฉพาะสิ่งที่ตัวเองรู้ และการหลงติดก็จะปิดกั้น การแสวงหา ทำให้ตัวเองคับแคบ อะไรที่ผิดจากตัวเองรู้และตัวเองคิด จะปฏิเสธ จะต่อต้าน จะโต้เถียง เราเรียนรู้แค่ทฤษฎีในตำรา บ่อยครั้งก็ไม่ได้ทำให้เราฉลาดขึ้น เพราะยึดแค่ที่เห็นที่ฟัง ใครบอกก็ไม่เชื่อ รู้ทฤษฎีรู้ตำรา แต่ไม่ค้นหา คือ การขาดประสบการณ์ มักอวดอ้างการเป็นคนรุ่นใหม่ หยามหยันคนเก่าก่อน เมื่อวานย่อมมีเด็กน้อยจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นมาเป็นคนรุ่นใหม่ ไล่หลังไล่ล่าคนรุ่นวันนี้

โลกรอบตัวของเราดำเนินไปตามทางของมัน เราไม่สามารถเข้าไปควบคุมทุกเรื่อง สิ่งเดียวที่เราควบคุมได้แน่นอน ก็คือ จิตใจเราเอง ทัศนะคติของเรา ที่มีต่อเรื่องราวตรงหน้า เราจะมองมันอย่างไร แล้วตัดสินใจว่าจะเดินตามทางนั้น เพื่อแสวงหาความหมายที่แท้จริงของชีวิตหรือไม่ เหมือนชาวประมงบนชายฝั่งเมื่อครั้งกระโน้น.....

วันเสาร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2567

ใจคนเรา

 

ใจคนเรา

>>> ในสังคมกว้างใหญ่หากใจเราแคบ ย่อมพบแต่ความขมขื่น <<<

วันหนึ่งเรียกแท็กซี่กลับบ้าน พอนั่งไปได้สักพักก็ติดไฟแดง จังหวะนั้นเองได้ยินเสียงรถขอทางของรถพยาบาลดังขึ้น รถทุกคันก็ช่วยกันขยับชิดซ้ายขวา เปิดให้มีทางที่กว้างขึ้น เราก็หวังในใจว่ารถคันที่นั่งจะขยับตาม ใช่แล้วขยับ แต่...ขยับตัดหน้ารถพยาบล แล้วก็วิ่งนำอย่างรวด  เราก็ได้แต่อ้าว …  หมดคำจะพูด ใจบางคนก็คับแคบเห็นแก่ตัว   เขาคิดอะไรอยู่ถึงทำแบบนี้      นั่นแหละเป็นบทเรียนว่า เราจะต้องไม่ทำแบบนี้ เพราะทำไปมันไม่พบความสุขใจเอาเสียเลย


คุรุชาวอินเดียท่านหนึ่ง มีลูกศิษย์ที่มักเอาแต่พร่ำบ่นอยู่คนหนึ่ง วันหนึ่งท่านก็ได้สั่งให้ลูกศิษย์ไปซื้อเกลือมาจากตลาด เมื่อได้เกลือกลับมา ท่านจึงได้สั่งให้เขาหยิบเกลือหนึ่งกำมือใส่ลงไปในแก้วน้ำ จากนั้นก็ให้เขาดื่ม “รสชาติเป็นอย่างไร
?” คุรุถาม “เค็มจนขมขอรับ” พูดเสร็จก็บ้วนน้ำเกลืออกจากปากทันที

คุรุก็ได้สั่งให้เขานำเอาเกลือที่เหลือเทลงไปในบึงน้ำ สั่งให้เขาตักน้ำในบึงมาชิม “รสชาติเป็นอย่างไร?” คุรุถาม “รสชาติดีขอรับ” เขาตอบ “เจ้าได้รสเค็มของเกลือหรือไม่?” คุรุถาม “ไม่มีเลยขอรับ” ลูกศิษย์หนุ่มตอบอาจารย์

“ความทุกข์ในชีวิตคนเราเปรียบเสมือนเกลือถุงนี้ การรับรู้รสของเกลือนั้นอยู่ที่ภาชนะที่รองรับ หากเจ้าพบเจอกับความทุกข์ แล้วเอาแต่บ่น ก็ไม่ต่างอะไรจากการใส่เกลือลงไปในแก้วใบเล็ก เจ้าจึงรู้สึกทุกข์แสนสาหัส หากเจ้าเปิดใจให้กว้าง เป็นภาชนะใบใหญ่ แม้จะใส่เกลือมากมายลงไป เจ้าก็ไม่ทุกข์กับสิ่งที่เจอ เพราะภาชนะนั้นมันกว้าง” คุรุสบโอกาสชี้แนะลูกศิษย์  (นุสนธิ์บุคส์)

ใจคนเราเหมือนภาชนะ ใส่ความสุขไว้มาก ก็มีพื้นที่เหลือให้ความกลัดกลุ้มน้อยลง ใส่ความเรียบง่ายไว้มาก ก็มีพื้นที่เหลือให้ความซับซ้อนน้อยลง ใส่ความพอเพียงไว้มาก ก็มีพื้นที่เหลือให้ความทุกข์น้อยลงใส่ความเข้าใจไว้มาก ก็มีพื้นที่เหลือให้ความขัดแย้งน้อยลง ใส่ความอภัยไว้มาก ก็มีพื้นที่เหลือให้ความแค้นเคืองน้อยลง ใจเราจะเป็นแบบไหนเล่า.....

วันเสาร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2567

สิ่งแรกที่เห็น

 

สิ่งแรกที่เห็น

>>> อ่อนน้อมเหมือนดอกหญ้า แม้ดูว่าไร้ค่าแต่งดงาม <<<


คนเรามักจะจดจำคนที่เคยพบปะได้อย่างแม่นยำ จะมีอยู่สองอย่าง อย่างแรกพอเห็นก็เกิดความประทับใจ เห็นปุ๊บรู้สึกดีต่อใจปั๊บ กลับกัน อย่างที่สอง เห็นแล้วก็หมั่นไส้ และรู้สึกถึงแสงมืดมนทนพูดคุยให้เสร็จสรรพไป เราจะเลือกเป็นคนแบบไหนล่ะ แน่นอนอยู่แล้ว เราต่างต้องการให้ใครพบเห็นครั้งแรกแล้วต้องเกิดร่องรอยความประทับจิตประทับใจเป็นธรรมดา แต่ก็ต้องขึ้นอยู่ว่าในสถานการณ์นั้นเราได้แสดงตัวตนในรูปแบบไหนให้กับผู้คนที่พบเห็น ก็มีบ้างบางครั้ง แค่เห็นก็ไม่ถูกชะตา แค่เห็นก็หมดอารมณ์จะพูดคุย แต่สำหรับผู้เจริญแล้ว เราย่อมต้องแสดงความเป็นมิตรกับทุกคน แต่ก็อีกนั่นแหละ บางครั้งความที่เราคิดว่าตัวเองเก่งตัวเองดี จึงคิดเข้าข้างตัวเองว่า ทุกคนเมื่อพบเจอเราจะต้องประทับใจ เพราะความหลงใหลในตัวเอง จึงโอ้อวดออกมาโดยมิรู้ตัว

คุณพ่อผู้หนึ่งต้องไปประกอบพิธีในเมืองชนบทแห่งหนึ่ง เขาไม่เคยไปมาก่อนเลย พอลงจากรถไฟเขาก็ถามเด็กชายเล็ก ๆ คนหนึ่งว่า “ลูกเอ๋ย เจ้าจะบอกพ่อหน่อยได้ไหมว่า จะไปที่ทำการไปรษณีย์ทางไหน?” เด็กคนนั้นก็บอกให้  นักบวชก็ขอบใจเด็กและถามว่า “เจ้ารู้ไหมว่าพ่อคือใคร”

“ไม่ทราบฮะ” เด็กตอบ “พ่อคือ กาเบรียล ดอยล์ นักเทศน์ไงล่ะ  คืนนี้เจ้าจงมาฟังพ่อเทศน์นะ  แล้วพ่อจะชี้ทางไปสวรรค์ให้เจ้า” “ตายละ” เจ้าหนูตอบ “แค่ทางไปรษณีย์ท่านยังไม่รู้เลย  แล้วท่านจะรู้ทางไปสวรรค์ได้ยังไงกันฮะ” ….

เราจะชี้ทางสวรรค์ จะชี้ทางสุขให้กับคนอื่นได้อย่างไร? หากว่าเรามิได้แสดงออกถึงความรัก ความสุภาพ ความถ่อมตัวของเรา ไม่ว่าจะมีฐานะอะไร ก็อย่ามองข้ามคนอื่น อย่าอวดตัว เจียมเนื้อเจียมตัว ผู้คนจะรักใคร่ ยิ่งโอ้อวด ยิ่งไม่มีคนสนใจ คนที่มีความสามารถอย่างแท้จริง จะไม่ทำตัวเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่โอ้อวดให้ผู้คนรับรู้ แต่จะถ่อมตัวอย่างสุภาพ ทำตัวเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีใครรู้จัก เกิดเป็นคนเราต้องมีใจแห่งความเมตตา ใช้ชีวิตอย่างสบาย ๆ ใช้ใจในการทำสิ่งต่าง ๆ นี่คือการแสดงองค์พระคริสต์ในตัวเราอย่างจริงแท้