วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2566

ชอบแบบไหน ?

 

ชอบแบบไหน ?

                             >>> ทำชีวิตให้ง่ายขึ้น ชอบสังคมแบบไหน ก็สร้างแบบนั้นขึ้นมา <<<

ในสังคมการทำงานเรามักจะประสบพบเจอคนสองประเภท พวกแรก คือ ทำงานขยัน แต่มักไม่ค่อยได้รับคำชื่นชมหรือได้รับรางวัล ก้มหน้าก้มตาทำไป ประจบสอพลอไม่เป็น อะไรทำได้ก็ทำอะไรที่ต้องฝืนทำก็ไม่รับปาก แต่จะใช้ความพยายามที่จะทำให้ได้ ประเภทที่สอง ก็ตรงกันข้าม คือทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่ชอบเสนอหน้า เอาหน้า พูดจาดี เก่งต่อหน้าหัวหน้า เอาเข้าจริง คือ ของปลอม และเชื่อหรือไม่คนพวกนี้มักได้ดีในช่วงระยะแรกหรือช่วงที่ความจริงยังไม่ปรากฏ ที่สำคัญเป็นอะไรไม่รู้มันเหมือนกันค่อนโลกที่หัวหน้า เจ้าของบริษัท มักหลงเชื่อ หลงชื่นชม ให้ตำแหน่งกับคนประเภทหลังนี้เสียด้วย

แล้วเราชอบคนจำพวกไหน? ในเชิงทฤษฎีส่วนมากชอบคนจำพวกแรก แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ เกือบทั้งร้อยเลือกคนจำพวกหลัง เพราะเราล้วนแต่ชอบให้คนมาเอาใจ เราล้วนแต่ชอบมีบริวารล้อมหน้าล้อมหลังกันทั้งนั้น แต่ผู้เจริญแล้วย่อมเรียนรู้ที่จะใช้คนทั้งสองจำพวกให้เป็นตามกาลเทศะ และให้คุณค่าทั้งสองพวก ถ้าเราต้องการสร้างสิ่งแวดล้อมแบบไหน เราก็ควรเรียนรู้ที่จะเป็นแบบนั้นจะได้หล่อหลอมให้เราเติบโตขึ้นในลักษณะนั้นเสียก่อน


หากเราสร้างสังคมให้มีแต่เสียงติเตียนสังคมนั้นก็จะเต็มไปด้วยคนที่ชอบโทษคนอื่น หากเราไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของคนรอบข้าง ก็จะกลายเป็นคนชอบหาเรื่องกัน อยู่ในที่ที่มีความอิจฉาตาร้อน จะกลายเป็นคนชอบต่อต้านคนอื่น แต่ถ้า...เราร่วมกันสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยใจที่ให้อภัย เราก็จะมีชุมชนคนที่มีจิตใจอดทน อยู่ท่ามกลางกำลังใจ จะกลายเป็นคนมองโลกในแง่บวก รู้จักซาบซึ้งน้ำใจคนอื่น เราก็จะได้สังคมแห่งความกตัญญูรู้คุณ รู้จักแบ่งปัน จะได้เพื่อนฝูงที่มีน้ำใจ มีความซื่อสัตย์ สร้างความเป็นมิตร จะได้รับการใส่ใจจากคนรอบข้าง สร้างความสงบสุข ก็มีจิตเมตตา มาสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับสังคมของเรา มีจริยธรรมและจิตใจที่งดงาม เพื่อเป็นความสุขนิรันดร์ แบบนี้เราไม่ชอบหรือ....????

วันเสาร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2566

สุขจากการไม่คาดหวัง

 

สุขจากการไม่คาดหวัง

>>> การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยคาดหวังผลไว้ มักจะสร้างความผิดหวังตามมาเสมอ >>>

ตอนเด็ก ๆ เราล้วนมีโลกสวยงาม เห็นคนรอบข้างเป็นคนดี อยากจะโตขึ้นเป็นแบบนั้นบ้าง เราล้วนมีคนที่อยากเลียนแบบหลายต่อหลายคน เมื่อคนเหล่านั้นสนใจเรา พูดคุยด้วยแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ไม่เรียกร้องอะไร ความสุขในตอนเด็ก  เป็นความสุขที่แทบจะไม่มีปัจจัยเรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องผลประโยชน์อันใดมาเกี่ยวข้อง พอโตขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น รู้ถึงจิตใจคนมากขึ้น แต่ความสุขกลับลดน้อยถ้อยลงไป ยิ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้คน เห็นความมืดในใจคนในแทบทุกวงการ ความสุขเรามันอยู่ไหน???

ใช่หรือไม่ เรามักเอาความสุขของราไปยึดโยงกับคนอื่น พอเริ่มหันกลับมาสร้างความสุขจากใจเราเอง ก็คงยังมีทุกข์อยู่บ้าง เพราะเราเอาความสุขไปผูกกับเงินและการงานมากเกินไป หลายครั้งมีคนแนะนำเราเสมอ ๆ ว่า ลองทำใจว่าง ๆ ทำเรื่องเงินให้เป็นเรื่องเล็ก ๆ มีเงินก็สุขได้ ไม่มีก็สุขได้ มองหาสิ่งดี ๆ ในทุกเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะเราแก้ไขอะไรในอดีตไม่ได้ ที่สำคัญทำวันนี้ให้ดีที่สุด

 



NAZIM HIKMAT กวีเอกคนหนึ่งของตุรกีได้ขอให้ Abidin Dino เพื่อนของเขาซึ่งเป็นจิตรกรที่รู้จักกันดีของตุรกี ให้ช่วยวาดภาพแห่งความสุข Abidin Dino เลยวาดภาพของครอบครัวแห่งความสุขมาให้ ชื่อ “ความสุข” เป็นภาพของสมาชิกในครอบครัว ที่นอนเบียดเสียดกันในเตียงหัก ๆ แถมหลังคารั่ว ในห้องพักโทรม ๆ แต่ทุกคนล้วนมีรอยยิ้มบนใบหน้า ภาพวาดนี้กลายเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมาก

สุขเกิดจากการที่เราพอใจกับสิ่งที่เรามี ไม่คาดหวังเกินตัว ทุกข์ก็เกิดจากการที่เราพยายามแสวงหาในสิ่งที่เราไม่มี และก็หวังมากเกินไปนั่นแหละ สุขเกิดจากการที่เรามองเห็นจากสิ่งที่เรามีทุกข์เกิดจากการที่เราไปพยายามมองเห็นสิ่งที่คนอื่นมี แล้วนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตนเองไม่มี ความสมดุลของทุกข์และสุขจึงต่างกันตรงนี้ ฉะนั้นแล้วมันจึงอยู่กับเราเอง ต้องหาความพอดีของเราให้เจอ หาความพึงพอใจ ของเราเองให้พบ แล้วเราจะได้คำตอบว่า แท้จริงแล้วชีวิตของเราเต็มไปด้วยความสุข เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ และความสุขส่วนมากอยู่บนความเรียบง่ายอย่างแท้จริง ยิ่งหยุดตามหา ยิ่งได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการ  เวลามีทุกข์ก็จะไม่ทุกข์มาก เช่นกันในเวลาสุขก็อย่าไปคิดว่ามันจะสุขตลอดไป เรามีชีวิตเพื่อเรียนรู้โลก ได้มองสิ่งสวยงาม แล้วก็ทำเรื่องที่สวยงามตามวิถีชีวิตเรา สร้างประโยชน์ให้คนอื่นบ้างโดยไม่ต้องหวังผลใด ๆ ถึงเวลาเราก็ต้องจากโลกนี้ไป จะเอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ นอกจากความดี

ความสุขไม่ได้เกิดจากการไร้ทุกข์ แต่เกิดจากการยอมรับทุกข์ เห็นสิ่งดีรอบตัว หยุดกังวลกับสิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้ เอาเข้าจริง สุขจากการให้ นี่คือ ความสุขที่แท้จริง ไม่ใช่การกอบโกยใส่ตัว รู้จักมองคนอื่นด้วยแววตาที่ชื่นชม รู้จักมอบรอยยิ้มให้คนอื่นด้วยความจริงใจ รู้จักพูดชื่นชมให้คนอื่นมีกำลังใจ เพราะเมื่อใดที่เราส่งผ่านสิ่งดี ๆ ส่งผ่านกำลังใจดี ๆ มอบและแบ่งปันให้ผู้อื่น เราก็พบกับความสุขแล้ว ความรักอย่างหนึ่งที่เรามีต่อคนอื่นนั้น คือ การแบ่งปันเพื่อให้คนอื่นมีความสุข เมื่อให้สิ่งใดกับคนอื่นไปสิ่งนั้นย่อมส่งผลสะท้อนกลับ เรามอบความสุขให้ใคร ใจเราย่อมได้รับสุขนั้นทันทีเรายื่นมีดดาบให้ใคร ใจเราย่อมเต็มไปด้วยของมีคม ที่หันมาทิ่มแทงตัวเราเอง ความสุขเป็นเรื่องที่สร้างไม่ยาก แต่เราไม่อยากจะสร้างกัน เพราะทุกสิ่งที่เราทำมันเต็มไปด้วยความคาดหวัง....

วันเสาร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2566

*** ไม่น่าเชื่อ!!!***

 

 

 *** ไม่น่าเชื่อ!!!***

>>> ในยุคที่ความเจริญด้านวัตถุเติบโตขึ้น แต่ด้านจิตใจกลับยิ่งเลวร้ายลง <<<

ยังมีเรื่องแบบนี้อยู่อีกหรือในยุคนี้ เป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาหลังจากได้อ่านข่าวเหตุการณ์ยิงตำราวจในงานเลี้ยงบ้านกำนัลต่อหน้าเพื่อนตำรวจยี่สิบกว่าคน แสดงให้เห็นว่า วันนี้คนเรายังตกหลุมพรางแห่งอำนาจเงินกันอยู่  ใครมีเงินก็มีบารมี  ใครมีบารมีย่อมยิ่งใหญ่กว่าใคร ๆ เช่นนั้นหรือ เรายังนับถือเงินเป็นพระเจ้า หลายคนจึงทำทุกอย่างเพื่อพบพระเจ้าจอมปลอมนี้ พลีกายพลีใจรับใช้นาย ทั้ง ๆ ที่ เรามีคำสอนขององค์ศาสดาในทุกศาสนา ที่สอนให้เรามีจิตใจอ่อนโยน ระมัดระวังตนอย่าตกเป็นทาสของเปลือกภายนอกที่ทำให้เราลุ่มหลง แต่วันนี้เรากลับทำสิ่งที่ตรงข้าม โลกภายในของคนเรา ไม่เปลี่ยนเหมือนกับสิ่งอื่นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว


ใช่หรือไม่ การถ่อมตัวในการใช้ชีวิตมันไม่ใช่แค่ทัศนคติ แต่คือหลักปรัชญาสำหรับการใช้ชีวิต ไม่ว่าเราจะมีชื่อเสียงมากขนาดไหน มีอำนาจมากแค่ไหน ร่ำรวยเท่าไร ก็ควรที่จะอ่อนน้อมถ่อมตัว ถ้าไม่อย่างนั้น มันก็จะทำให้ต้องพบเจอกับปัญหาไม่วันใดก็วันหนึ่ง คนที่รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตัวก็จะกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในที่สุด บุคคลที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะทำงานอะไร ทำการอะไร ก็จะได้รับการยอมรับง่ายขึ้น ถ้ารู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ตรงกันข้ามคนที่โอ้อวดบารมี ไม่วันใดวันหนึ่งก็ต้องพบกับจุดจบอย่างไม่คาดคิด

คนเราไม่ได้อยู่ค้ำฟ้ เราไม่ได้แข็งแรงเสมอไป เราไม่อาจจะครอบครองตำแหน่งไว้ได้ตลอดกาล สักวันหนึ่งเราจะต้องลงจากบัลลังก์ การรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักกาลเทศะจะทำให้เราเป็นผู้มีบารมีอันเป็นที่รัก คำว่า “อยู่ให้เขารัก จากให้เขาคิดถึง” ยังคงใช้ได้ตลอดกาล นี่คือสิ่งที่เราทุกคนบนโลกต้องเรียนรู้และปฏิบัติ เป็นตำนานให้คนจดจำ แม้ในวันที่ไม่มีตำแหน่ง อย่าให้คนสาปส่งในวันที่หมดอำนาจเลย เพราะสวรรค์-นรก อยู่ตรงนี้นี่แหละ ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ

วันเสาร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2566

อานุภาพของคำพูด

 

อานุภาพของคำพูด

>>> คำพูดง่าย ๆ หนึ่งคำ สำคัญอยู่ที่ว่า ได้ก่อเกิดประโยชน์ต่อผู้ฟังมากน้อยเพียงใด <<<

ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของเรา มักเริ่มมาจากคำพูดที่ฟังแล้วขัดหู ขัดใจ คำพูดที่ทำให้จิตใจว้าวุ่น หดหู่ แต่ก็มีหลายจังหวะชีวิตที่เราได้รับคำพูดที่ดี ๆ ที่ชื่นชมเราอย่างจริงใจ เป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตให้เดินก้าวต่อไปอย่างร่าเริงและเข้มแข็ง ใช่หรือไม่ เราทุกคนก็รู้ว่าคำพูดที่ส่งเสริมกันมักจะทำให้เกิดพลังที่ดี แต่เรามักทำในสิ่งตรงข้ามกันเพราะความอิจฉา เพราะอคติที่จะเอาชนะกัน เพราะความดื้อรั้น ไม่สนใจใส่ใจใครทั้งนั้น ต่างก็ก่อมลพิษทางจิตใจกันและกันไม่หยุดหย่อน เราจึงมีสังคมที่เต็มไปด้วยความตรึงเครียด


ความล้มเหลวและความสำเร็จของคนเรา อาจจะมาจากคำพูดเพียงคำเดียว คำพูดหนึ่งประโยคที่มีประโยชน์ ดีกว่าคำพรรณนามากมายที่ไร้แก่นสาร มีผู้คนมากมายที่กลายเป็นบุคคลแห่งประวัติศาสตร์เพียงเพราะคำพูดเพียงแค่ประโยคเดียว ดังเช่น เดล คาร์เนกี้ นักพูดผู้มีศิลปะในการพูดและสร้างแรงบันดาลใจ เปลี่ยนคนหลายล้านคนให้มีคุณค่ามากขึ้น มันเริ่มมาจากตอนที่คาร์เนกี้เป็นเด็ก ที่ซนมาก ๆ เมื่อเขาอายุได้ 9 ขวบ พ่อก็พาแม่ใหม่เข้าบ้าน (ปัญหาแม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยงเป็นเหมือนกันทั้งโลก) พ่อของเขาบอกกับแม่เลี้ยงคนใหม่ว่า

“หวังว่าคุณจะระวังเด็กแสบคนนี้ให้ดี เขาทำให้ผมกลัดกลุ้มมาก ไม่แน่นะ พรุ่งนี้เช้าเขาอาจเอาก้อนหินปาใส่คุณ หรือทำอะไรร้าย ๆ กับคุณก็เป็นได้!”

แต่สิ่งที่แม่ใหม่ปฏิบัติต่อ คาร์เนกี้ นั้นเกินกว่าที่ คาร์เนกี้และพ่อของเขาคาดคิดไว้มากมายนัก แม่ใหม่ได้แต่อมยิ้ม และเดินเข้ามาลูบหัวของเขา จากนั้นก็สำรวจเด็กชายตัวน้อย แล้วก็หันไปพูดกับสามีว่า

“คุณผิดแล้วค่ะ เขาไม่ใช่เด็กแสบอะไรเลย แต่เขาเป็นเด็กที่แสนฉลาด เพียงแต่ว่าเขายังไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถที่แฝงอยู่ในตัวเขาเท่านั้นเอง”


เมื่อเด็กชายตัวน้อยได้ยินแม่ใหม่พูดถึงเขาอย่างนี้ น้ำตาของคาร์เนกี้ก็ไม่อาจเก็บอั้นไว้อีกต่อไปได้ เด็กชายปล่อยให้น้ำตาหลั่งไหลออกมาตามที่หัวใจมันเรียกร้อง เพราะคำพูดของแม่ใหม่ประโยคนั้น ได้เชื่อมสัมพันธภาพระหว่างเธอและคาร์เนกี้ให้สนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น และก็เพราะประโยคนั้นของเธอ ทำให้คาร์เนกี้ได้จุดประกายพลังในการตั้งความมุ่งมั่นขึ้นในหัวใจ และเพราะคำพูดของเธอประโยคนั้น ทำให้คาร์เนกี้ได้เสริมสร้างผู้คนให้ประสบผลสำเร็จในชีวิตมากมายทั่วโลก

แค่เพียงหนึ่งพาทีดี ๆ ที่เราพูดไป สร้างร้อยล้านกำลังใจให้มี พูดคำดี ๆ สักประโยคหนึ่งแก่ผู้คนรอบข้าง จะทำให้ชีวิตที่กำลังอับเฉาแห้งแล้งได้ชุ่มฉ่ำหัวใจ เพียงคำให้กำลังใจก็ทำให้หัวใจที่อ่อนล้าใกล้หมดแรงได้มีพลังฮึกเหิมลุกขึ้นก้าวต่อไป ในเมื่อคำพูดมีอานุภาพได้ขนาดนี้ เหตุใดเราไม่พูดสิ่งที่ดีๆต่อกันเล่า? หันกลับมาพูดคำดี ๆ ให้มาก พูดคำร้าย ๆ ให้น้อย คิดก่อนแล้วค่อยพูด เพื่อสร้างโลกให้สดใส ใยไปคิดอะไรให้ใหญ่โตเกินตัว....

วันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2566

ความปกติที่หายไป

 

ความปกติที่หายไป

 

 

>>> บางทีเราก็กำลังแบกก้อนหินวิ่งไปบนถนนชีวิตอย่างไม่รู้ตัว <<<

วันหนึ่งเมื่อขับรถออกจากซอยแถวบ้าน เป็นถนนค่อนข้างเล็ก พอให้รถสวนกันได้พอดี แต่แล้ว...มอเตอร์ไซต์คันหนึ่งที่ขับขี่อยู่ข้างหน้า ก็จอดกลางถนนเพื่อหยิบโทรศัพท์มา แล้วก็เลื่อนไปมา โดยมิหลบเข้าชิดขอบถนน โดยมิได้ใส่ใจว่าจะมีรถตามมาหรือไม่??? จนต้องบีบแตรเตือน ก็หันมาเหมือนจะต่อว่าเราซะงั้น อีกหนึ่งเหตุการณ์ ในขณะนั่งรอการเรียกพบหมอในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น คนนั่งถัดไปก็หยิบโทรศัพท์มารับสาย โดยเปิดลำโพงแล้วก็พูดคุย ยิ่งทีก็ยิ่งเสียงดังขึ้น ทั้ง ๆ ที่บริเวณนั้นก็มีป้ายว่า “งดการใช้เสียงดัง”  เช่นกันในรถเมล์ก็มักจะเจอกับคนแบบนี้อยู่บ่อย ๆ ที่คุยโทรศัพท์ด้วยการเปิดออกลำโพง แล้วก็พูดเสียงดังให้เท่ากับเสียงลำโพงที่เปิด โดยมิได้สนใจว่าจะรบกวนคนข้าง ๆ หรือไม่ บนรถไฟฟ้าเด็กวัยรุ่นเปิดเพลงฟัง เปิดดูคลิป แบบว่าโลกนี้คือบ้านฉัน มารยาทง่าย ๆ เริ่มหายไปจากสังคม


สิ่งหนึ่งที่เริ่มเห็นว่าความปกติของสังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจนเราไม่รู้ตัวว่ามันเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไร ก็คือ รายการบันเทิง ละคร ต่าง ๆ มักจะใช้คำหยาบและการแสดงที่สุดโต่งกันมากขึ้น ยิ่งประเภทผ่านสื่อโซเชี่ยลยิ่งหยาบ ยิ่งเปิดเผยเรื่องเพศ เรื่องบนเตียง แสดงความใคร่กันออกมาอย่างโจ่งครึ่ม ยิ่งใครทำได้ชัดเจน ยิ่งใครสุดหยาบสุดถ่อยยิ่งเรียกคนดูได้เยอะ เรียกว่าทำให้สุดโต่งถึงจะดีถึงจะดัง สื่อชอบ คนเสพชอบ เป็นเรื่องบันเทิง เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ความแรง ความหยาบมีมากขึ้น ยิ่งมีคนดูมากยิ่งได้เงิน ทำคลิปสั้น ๆ ให้แปลกเข้าไว้ เรียกแขกเรียกไลค์ สื่อสร้างมาเพื่อทำกำไร อะไรที่ทำเงินนั่นแหละคือสิ่งที่สื่อทำ เป็นเราเองที่ไปเสพแบบนั้น แล้วเริ่มแปลกแยกจากตัวตนที่แท้จริง สังคมเริ่มชาชิน มีอารมณ์ที่แปรปรวนชวนหันไปทางรุนแรงกันมากขึ้น บางครั้งเราก็เครียดโดยไร้สาเหตุ เพราะเราเสพสิ่งเหล่านี้กันเกินขนาด


บางทีในขณะที่เราอ่านข่าวสาร อ่านกระทู้เพื่อหาสิ่งที่มีประโยชน์ ก็มักเจอกับประเด็นที่ไม่น่าจะได้เจอ เช่น เอาเรื่องส่วนตัว เรื่องในครอบครัว มาหาคำตอบจากสาธารณชน จนบางครั้งก็มักตั้งคำถามกับตัวเองบ่อย ๆ ว่า นี่เรายังปกติอยู่ใช่ไหม???  หรือว่าความปกติมันหายไปไหน ความปกติคืออะไร แต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน เป็นเราเองนี่แหละต้องหาเวลาค้นหาความเป็นปกติสุขของเราให้พบ อย่าให้เกินเกณฑ์

และหนึ่งในปัญหาของเรื่องความสุข คือ การที่มันได้กลายเป็นเรื่องให้ผู้คนหมกมุ่น ที่จะแสวงหาความสุข จนกลายเป็นสิ่งเสพติด เที่ยวหาการแนะนำสั่งสอนจากบรรดา กูรู ไลฟ์โค้ช ช่วยพัฒนาตนเอง เป็นหนทางที่จะทำให้ชีวิตดีและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เกิดเป็นอุตสาหกรรมความสุขขึ้นมามากมาย ความปกติสุขกลายเป็นธุรกิจทำเงิน เพราะเราไม่รู้จักทั้ง ๆ ที่มันก็อยู่กับเรา ความปกติสุขเป็นสิ่งที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ไม่มีวันจบสิ้น พวกเราต่างก็ติดกับ และเสพติดกับคำสอนของเหล่ากูรู หรือหนังสือสอนการแสวงหาความสุขเหล่านี้ เพื่อไล่ล่าตามหาความสุขอย่างไม่ปกติ..

ฝึกดูแลอารมณ์เราให้เป็น แน่ล่ะทุกคนย่อมมีอารมณ์ได้ แต่ต้องไม่ทำให้พาไปสู่การทำบาปทำความเลว แล้วถ้ามันเลยเถิดก็ไม่มีใครมารับผิดชอบแทนเรา เครียดเอง บ้าเอง สื่อ สังคมโซเชี่ยลก็ไม่มาช่วย เป็นเราเองที่ต้องดูแล หันมาใส่ความปกติกันบ้าง หยุดความสุดโต่ง ลดความหยาบ เพิ่มความละอาย มีความสุภาพอ่อนโยนในหัวใจ อย่าเอาความปกติสุขของเราไปแลกกับกิเลสของคนอื่น ต้องมองว่าความปกติของเรานั้นยังมีค่าอยู่เสมอ อย่าเสียเวลาไปกับความไม่ปกติเลย แล้วเราจะได้สังคมปกติสุขคืนมา เราอาจเป็นห่วงความสุขส่วนตัว แต่ก็ต้องพึงระลึกเอาไว้ว่า เราจะไม่สามารถมีความสุขได้หากคนรอบข้างไม่มีความสุข เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการพึ่งพากันและกันได้