วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ไม่ต้องแย่ง…แบ่งกัน

 

ไม่ต้องแย่งแบ่งกัน

>>> หากวันหนึ่งเราได้ครอบครองชัยชนะ แต่ต้องโดดเดี่ยว ไม่เหลือใครเคียงข้าง

ชัยชนะจะมีความหมายอะไร >>>

สถานการณ์โลกร้อนแรงขึ้นทุกวัน จ่อว่าใครจะกดระเบิดร้ายแรงล้างโลกก่อนกัน ท่ามกลางสงครามที่ก่อตัวขึ้นจากการแย่งชิง จากการกล่าวอ้างในความชอบธรรม จากการแอบอ้างเพื่อมนุษยธรรม ที่สุดมันก็มาจากความเห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้น การคว่ำบาตร การกดดันทางด้านเศรษฐกิจ การตัดการส่งพลังงาน ต่างคนต่างคิดว่าใครจะเก่งกว่ากัน มันเป็นรากฐานของชีวิตผู้คนที่ถูกหล่อหลอมการแข่งขันแย่งชิงกันตั้งแต่เด็ก ๆ วันนี้ขอนำเสนอแนวคิดใหม่เพื่อปลูกฝังการหยุดแย่งชิง หันมาให้ความสำคัญกับการแบ่ง

“ครูก้า” กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ชวนคิด เรากำลังปลูกฝังให้เด็กแก่งแย่ง ชิงดีกัน ไม่แปลกที่เมื่อโตขึ้นมาทำงานข้าราชการแล้วก็เลื่อยขาเก้าอี้กัน หรือแม้กระทั่งการทำงานในองค์กรธุรกิจเอกชน ก็เลื่อยขาเก้าอี้กัน เพื่อจะแย่งตำแหน่งที่สูงที่สุด เพราะเราถูกปลูกฝังผ่านเก้าอี้ดนตรีกันมาตั้งแต่เด็ก แต่เราก็ยังเล่นกันอยู่ ครูก็ยังจัดเก้าอี้ดนตรีให้เล่น ครูก็ยังรู้สึกสนุกแล้วก็ลืมคนที่ถูกออกไป ตบมือให้คนชนะ


ครูก้าตั้งคำถามว่า “แล้วทำไมเราไม่เล่นเก้าอี้ดนตรีแบบเอาเก้าอี้ออก แต่ไม่เอาคนออก แล้วดูซิว่าเหลือเก้าอี้น้อยที่สุด แต่คนยังอยู่ครบ ทำได้ยังไงเด็ก ๆ ได้เล่นจริง ทำจริงแล้วที่โรงเรียนจิตตเมตต์  ครูก้าบรรยายภาพที่เห็นตรงหน้าว่า

น่ารักมาก ๆ เขาแก้ปัญหาว่าเก้าอี้มีอยู่ไม่กี่ตัว เราอยู่บนเก้าอี้สองตัวกับคนหกคนได้ยังไง หรือเรามีเก้าอี้หกตัวแต่อยู่กันทั้งห้องได้ยังไง มันมีวิธีเชื่อมต่อร่างกายกับเก้าอี้ยังไง ทำไมเราไม่เล่นแบบนี้ ถ้าเราเล่นแบบนี้เราปลูกฝังอะไร สิ่งที่เราอยากได้นั่นแหละ คือ ทุกคนรักกัน ช่วยเหลือกัน “แบ่งปัน” กับ “แข่งขัน” มันต่างอารมณ์กันมาก   จะแข่งกันเพื่อล้มโลกหรือจะแบ่งกันเพื่อร่วมโลกอย่างสันติ แบบไหนดีกว่ากัน ขอบคุณเรื่องราวงดงามจากโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย)

ไม่มีความคิดเห็น: