วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2565

การรอคอยที่ยาวนาน

 

การรอคอยที่ยาวนาน

>>>  ในห้วงยามปกติ ทำงานที่เรารักเราชอบ เวลาแต่ละสัปดาห์ผ่านไปรวดเร็ว

ในห้วงอารมณ์ที่เบื่อ เหงา เครียด เวลาดูจะช้าลง ๆ

ทุกการรอคอยมีความหวังที่เราหวังอยู่เสมอ แม้จะยาวนานเราก็พร้อมคอย<<<

บนตึกสูงของโรงพยาบาลกลางเมือง นั่งรอคอยคนคุ้นเคยในห้องพัก กลับมาหลังการผ่าตัด เวลาผ่านไปแต่ละนาทีดูเชื่องช้ากว่าทุกวัน ทั้ง ๆ ที่เวลาก็เดินตามปกติอย่างซื่อสัตย์ทุกวินาที  แต่ ณ ตอนนี้มันดูจะนานแสนนาน และยืดยาดเสียเหลือเกิน อ่านหนังสือก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง นั่งเขียนบทความนี้ในขณะที่เฝ้ารอ นึกถึงบทกลอนในนิตยสาร  a day ชื่อว่า ‘Time Is’ ของ Henry van Dyke (1852-1933) นักเขียนและนักประพันธ์ชาวอเมริกัน โดยพรรณนาถึงความหมายและมุมมองที่หลากหลายต่อกาลเวลา ซึ่งถูกนิยามจากความรู้สึกของผู้คนที่ตกอยู่ในภวังค์อารมณ์บางอย่าง ถือเป็นหนึ่งในบทกลอนที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในบรรดาผลงานทั้งหมดของเขา

Time is …

 Too slow for those who Wait, (เวลาช่างเชื่องช้าสำหรับผู้ที่รอคอย)

Too swift for those who Fear, (รวดเร็วเกินตามทันสำหรับผู้หวาดเกรง)

Too long for those who Grieve, (เนิ่นนานเต็มทีสำหรับผู้เศร้าโศก)

Too short for those who Rejoice, (ย่นย่อชั่วครู่สำหรับผู้ชื่นชมยินดี)

But for those who Love, Time is not. (แต่สำหรับผู้มีความรัก เวลานั้นเป็นอนันต์)


เวลาของแต่ละคนจึงไม่เคยเท่ากัน และเวลาก็เป็นสิ่งมีค่าเกินกว่าจะถูกปล่อยทิ้งให้สูญไปเปล่า ๆ การรอคอยคนที่สำคัญที่สุดในชีวิต รอคอยอย่างมีจุดหมาย และมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยม ทำให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเอง เพื่อสำรวจ เพื่อไตร่ตรอง ถึงการมีลมหายใจร่วมกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี การรอคอยเพียงครึ่งค่อนวันจึงไม่ใช่เรื่องอะไรที่จะลำบากลำบน แม้แต่ละนาทีจะผ่านไปอย่างเชื่องช้าตามความรู้สึกของเรา ณ ตอนนี้

เวลาจะเร็วจะช้า มิได้อยู่ที่ตัวของเวลาเลย หากอยู่ที่ภาวะอารมณ์ ความรู้สึกของเรา ฉะนั้นแล้ว สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การควบคุมอารมณ์ ควบคุมความรู้สึกของเรา เพื่อทำให้วันเวลาแห่งชีวิตเรามีคุณค่า เวลาแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน ขึ้นกับคุณภาพการเจริญชีวิตของเราแต่ละคน ยิ่งเรามีความรักมากเท่าไหร่ ย่อมทำให้เวลาที่เรารอคอยนั้นมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นเท่านั้น ความรักจะนำพาทุกอย่างให้ดำเนินไปตามจังหวะเวลาอย่างลงตัว แม้จะช้าลงบ้างก็มิได้ทำให้สูญเสียความหมายลงไป


ใช่หรือไม่ มีการรอคอยบ่อยครั้งนำมาซึ่งความหวังดี ๆ ความหวังในความสุข
บ่อยครั้งนำมาซึ่งความตั้งใจอันดี 40 วันมหาพรตดูเหมือนจะยาวนาน เป็นการเฝ้ารอคอยการกลับคืนชีพอย่างรุ่งเรือง แต่ระหว่างทางที่ต้องผ่านความทุกข์ ผ่านการทดลอง ผ่านการผจญ นี่จึงเป็นเสมือนการจำลองชีวิตของเรา ที่กว่าจะพบความสุขแต่ละครั้ง เราตั้งหน้าตั้งตารอคอยอย่างไร? ระหว่างทางนั้นเราประสบพบเจอปัญหามากน้อยเพียงใด? ชีวิตจริงเป็นเช่นนั้น วนลูปกลับไปกลับมา ในแต่ละครั้ง บันทึกความทรงจำที่ดีงาม ทำให้ชีวิตเราเข้มแข็งขึ้น ทำให้จิตวิญญาณพัฒนาเติบโตขึ้น อย่าให้ทุกการรอคอยที่ยาวนานกลายเป็นความสูญเปล่า

ไม่มีความคิดเห็น: