มากไปก็หนัก
น้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงนำความทุกข์ยากลำบากมาให้หลายคนหลายชีวิต
ในขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งน้ำจิตน้ำใจคนไทยทั้งชาติที่ออกมาช่วยเหลือกัน แม้จะมีการสาดใส่กันด้วยวาทกรรมต่าง
ๆ บ้าง ก็ถือเสียว่าเป็นสีสัน สร้างความตระหนักรู้
ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนสังคมแห่งความเมตตา แปลงความริษยาเป็นกรุณาเผื่อแผ่กัน
สร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน เรื่องตัวเลขเงินทองก็อย่าไปให้ความสำคัญกันมากนัก
เพราะจะทำให้การช่วยเหลือกลายเป็นการแช่งเหลือไปเสีย
ชีวิตผู้คนยังต้องดำเนินเดินหน้ากันต่อไป
หลังจากน้ำลดก็ต้องช่วยกันฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่และจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบกันต่อไป
ภาพ : อินเตอร์เน็ต |
ในขณะเดียวกันก็มีเหลือบส่วนเกินเล็ก
ๆ น้อย ๆ ที่พอเห็นยอดเงินบริจาคแล้วเกิดกองกิเลสใหญ่ตาโต รีบฉวยโอกาสเปิดบัญชีปลอม
สวมรอยคนดังหวังเม็ดเงินบุญ ใช้ความฉลาดในกลโกงหลอกลวงผู้อื่น
เอาความเดือดร้อนมาหากิน คนเหล่านี้ในจิตใจมีแต่เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ
โดยไม่สนใจใยดีต่อเรื่องของความเป็นคนสักเท่าไร!!! ใช่หรือไม่ ในกระแสสังคมในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาสร้างพื้นฐานผู้คนให้สะสม
กอบโกย แล้วเรียกมันว่า “ความมั่นคงในชีวิต” เมื่อเราต่างคนต่างเก็บกักของส่วนรวมจนกลายเป็นของส่วนตัว
ในนามของความเห็นแก่ตัวนั่นเอง ได้อ่านบทความหนึ่ง น่าสนใจที่จะนำมาไตร่ตรองถึงวิถีชีวิตของเราสอดคล้องกับคำสอนในวันนี้
ภาพ : อินเตอร์เน็ต |
นายสำราญเก็บขยะขายตั้งแต่หนุ่มจนแก่
ก่อนตายเขียนพินัยกรรมยกเงินเก็บสองแสนบาทให้ลูก
นายกนกทำงานบริษัทมาตั้งแต่หนุ่ม
เมื่อเกษียณมีเงินเก็บหนึ่งล้านกว่าบาท
เขาส่งทรัพย์สินต่อให้ลูกสองคน
นางนงเยาว์เปิดโรงงานผลิตปลาหมึกกระป๋อง
กิจการใหญ่ขึ้นมีบ้านห้าหลังรถยนต์สิบคัน
ก่อนตายก็เขียนพินัยกรรมส่งต่อทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่มีให้ลูกหลาน
การส่งทรัพย์สินต่อให้ลูกหลาน
เป็นระบบที่มนุษย์สร้างไว้มานานแสนนาน
กติกาของเราคือทำงานสะสมทรัพย์สินให้เต็มที่
เมื่อตายก็ส่งต่อทรัพย์สินที่ดินให้ลูกหลาน ได้ทำให้รู้สึกว่าคุ้มแก่การลงแรงทำงาน
ดังนี้จึงเป็นภาพปกติที่เห็นพ่อแม่จำนวนมากก้มหน้าก้มตาหาเงิน
เก็บเงินให้ลูก จะว่าไปแล้ว ระบบนี้ใช้ตัณหาเป็นแรงขับเคลื่อน
ตัณหาในที่นี้มิได้หมายความในเชิงร้าย
แค่หมายถึงว่าใครทำงานมากกว่าก็ได้มากกว่า เคยสังเกตไหมว่า
เมื่อเราย้ายเข้าบ้านใหม่หรือห้องเช่าใหม่ กินเวลานานเท่าไรที่เปลี่ยนจากห้องว่างเป็นห้องที่มีข้าวของเต็มแน่น
ส่วนใหญ่ไม่นานเพราะเป็นสัญชาตญาณของเรา คนเราเกิดมาก็เริ่มสะสม จนกลายเป็นนิสัย
สัตว์จำศีลเก็บอาหารเท่าที่ต้องกินตลอดฤดูหนาว
แต่มนุษย์สะสมทรัพย์สินเงินทองมาก ๆ
ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้มากขนาดนั้นจนมันกลายเป็นความรู้สึกทางจิตวิทยามากกว่าความจำเป็น
ยิ่งมีเงินทองมากยิ่งอุ่นใจ เคยถามตัวเองไหมว่า
เราต้องการทรัพย์สินเงินทองมากเท่าไรจึงจะรู้สึกปลอดภัย? เราต้องการความปลอดภัยมากจนมันกลายเป็นนิสัยงกหรือไม่?
และบางครั้งมีเงินมาก ๆ แล้วเหนื่อยกว่าเดิม! ยิ่งมีสมบัติมากก็ยิ่งมีห่วงผูกคอมากเท่านั้น
กลายเป็นชีวิตที่รุงรัง
สมมุติว่านายสำราญ นายกนก
นางนงเยาว์ อยู่คนเดียวไม่มีญาติมิตร ไม่มีผู้รับมรดก
บางทีพวกเขาอาจเดินชีวิตช้าลง ถ้าหากการไม่มีห่วงทำให้เรารู้สึกพอเพียงง่ายกว่า
เราอาจลองลดห่วงโดยมองว่าการมอบสมบัติให้ลูกหลานมากเกินไปอาจทำร้ายพวกเขามากกว่า
ทรัพย์สินพันล้านหมื่นล้าน
ก็ไม่ได้ทำให้คนคนหนึ่งเป็นคนพิเศษขึ้นมา ถ้าใช้มันไม่เป็น
หรือให้เงินทองใช้เรา กลายเป็นทาสของมัน ดังนั้น ทัศนคติว่าต้องมีมากกว่าคนอื่น
อาจเป็นการสร้างโซ่ตรวนมาพันธนาการวิญญาณตัวเอง แน่ละมันย่อมมิใช่เรื่องเลวร้ายที่จะมีสมบัติพัสถานมาก
หรือร่ำรวยล้นฟ้า แต่หากไม่สามารถอยู่เหนือความรวย
ชีวิตก็ต้องเหนื่อยกับการแบกของหนักตลอดเวลา เราไม่จำเป็นต้องทิ้งทุกอย่าง
เพียงแต่อยู่เหนือทรัพย์สินเงินทอง เป็นเจ้านายมัน ไม่ใช่เป็นทาสมัน
เมื่อห้องของหัวใจว่างจากตัณหา ก็ไม่เป็นทุกข์
การปล่อยวางทางวัตถุต้องเริ่มที่ปล่อยวางทางจิต
แต่ไม่ง่าย เราเลือกพ่อแม่ไม่ได้ เลือกสีผิว ประเทศ ไม่ได้
แต่เราเลือกที่จะเดินแบกของหนักหรือเดินแบบตัวเบาสบายไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ได้ (บางส่วนจากหนังสือ 1
เปอร์เซ็นต์ของความเป็นไปได้ - วินทร์
เลียววาริณ)
ภาพ : อินเตอร์เน็ต |
เงินทองมีความจำเป็นสำหรับทุกคน
แต่ต้องใช้จ่ายตามความเหมาะสม เพื่อส่งเสริมความดีความงาม ความซื่อสัตย์ในชีวิต ถ้าเราซื่อสัตย์ต่อตัวเองเราก็จะซื่อสัตย์ต่อสรรพสิ่งในโลกนี้
ทรัพยากรเป็นของส่วนรวม ต้องรู้จักใช้รู้จักนำ การฉกฉวยและสะสมเก็บไว้ให้นอนนิ่ง
ๆ ไม่ก่อประโยชน์กับใครก็ถือว่าคดโกงต่อโลก
นอกจากจะกลายเป็นเชื้อโรคเป็นเนื้อร้ายที่กัดกินจิตวิญญาณให้เสียไป
ความมีเมตาตาต่อกัน การไม่เอาเปรียบกัน ไม่คดโกง ไม่คิดกลหลอก ไม่สะสมให้มาก
ไม่ต้องแบกให้หนักเกินตัว เราก็สามารถเดินทางไปไหนต่อไหนด้วยความสุข
แม้จะมีทุกข์ขวางทางเราก็ก้าวข้ามผ่านไปด้วยความเบิกบาน เบาบาง สำราญใจเป็นยิ่งนัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น