บนความเปราะบาง
ในวันนี้เรามีความรวดเร็วและความก้าวหน้า มีสิ่งประดิษฐ์ที่จะเอื้ออำนวยความสะดวกสบายเกิดขึ้นมาใหม่
ๆ แทบทุกวัน ดูเหมือนว่า ชีวิตของผู้คนจะดีงาม แต่เอาเข้าจริงทุกซอกทุกมุมโลก ต่างก็ประสบพบเจอปัญหาที่คล้าย
ๆ กัน เป็นเหมือนกับดักทางจิตวิญญาณที่นำพาให้ชีวิตภายนอกดูสบายภายในกลับย่ำแย่
โดยเฉพาะในสังคมเมือง ที่เฟื่องฟูด้วยเครื่องไม้เครื่องมืออำนวยความสะดวก กลับมีผู้คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นและส่งผลให้เกิดการทำร้ายชีวิตตัวเอง
เพียงสัปดาห์เดียวเราพบเห็นการจบชีวิตด้วยตัวเองของเด็กวัยรุ่นหลายราย
บางคนถึงขั้นถ่ายทอดวิธีการไปยังจุดจบของชีวิตให้คนอื่นได้ดู ต้องการประชด
ต้องการสร้างความสะใจก่อนลาจากโลก ใช่หรือไม่ สมัยนี้ผู้คนเปราะบางทางจิตวิญญาณเหลือเกิน
คงเนื่องมาจากความรู้สึกโดดเดี่ยวในโลกที่เต็มด้วยผู้คน หาคนรับฟังความคิดได้น้อยเต็มที
มีแต่ต่างคนต่างจับจองความคิดของตัวเองไว้อย่างแข็งขัน และไร้พื้นที่ส่วนรวมที่จะร่วมกันพูดคุย
รับฟัง เราต่างขับไล่ผู้คนออกจากตัวเราโดยไม่จำเป็น และเลือกที่จะเป็นคนที่
“หมกมุ่นอยู่กับตนเอง” ยิ่งทำให้ผู้คนเปราะบางมากขึ้น
เพราะไม่มีอะไรคอยทำให้ผ่อนคลายความรู้สึกที่อยากตอบสนองต่ออารมณ์ส่วนตัว
และไม่มีอะไรที่จะทำให้รู้สึกได้ถึงจังหวะหรือถึงพื้นที่ที่ควรจะหยุดสิ่งที่ตนปรารถนาได้แล้ว
ผู้คนในสังคมจึง “เปราะบาง” และเกิดคดีที่มาจากการระเบิดของอารมณ์ดิบส่วนตัวมากขึ้น
“หัวร้อน” ทุกสิ่งเรามิได้กระทำเพื่อส่วนรวมนอกจากส่วนตัวล้วน ๆ
ในวันนั้น *** “การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม โดยการขึ้นหลังลานั้นมีความหมายมากกว่าสุนทรพจน์ยาว
ๆ พระองค์แสวงหาพระอาณาจักรแห่งสันติภาพและอาณาจักรแห่งความยุติธรรมสำหรับทุกคน
มิใช่อาณาจักรที่สร้างขึ้นบนความรุนแรงและการกดขี่ข่มเหง การขึ้นบนหลังลาซึ่งพระองค์ทรงปรากฏต่อสายตาผู้จาริกแสวงบุญ
เป็นเหมือนประกาศกที่นำระเบียบใหม่แตกต่างมาให้ตรงข้ามกับระเบียบที่บรรดานายพลทหารโรมันบังคับใช้
พวกเขาขึ้นบนหลังม้าที่ใช้ในสงคราม....ชาวโรมันมิได้ชื่นชมการกระทำของพระองค์เลย
เราไม่ทราบผลของการกระทำที่เป็นสัญลักษณ์เช่นนี้ของพระเยซูเจ้าท่ามกลางฝูงชนมากมายนี้
อย่างไรก็ตาม การเสด็จเข้าเมืองแบบ “ต่อต้านชัยชนะ” ที่ผู้คนชายหญิงโห่ร้องสนับสนุนพระองค์
กลายเป็นการล้อเลียนที่สามารถทำให้จิตใจฝูงชนเร่าร้อนขึ้น การกระทำของพระเยซูเจ้าต่อหน้าสาธารณชนเช่นนี้ซึ่งประกาศต่อต้านอาณาจักรด้วยสันติ
ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้พระองค์ถูกตัดสินประหารชีวิต”
ในวันนี้ แม้ว่าผู้คนในสังคมจะเปราะบางมากขึ้นเพราะหา “พื้นที่รวมกัน”
ไม่พบ ทั้ง ๆ ที่เราต่างยังโหยหาพื้นที่ที่จะเข้ามามีส่วนสร้างสรรค์อยู่ แต่เรากลับถูกทำให้เชื่อว่าอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวนั้นปลอดภัยที่สุด
เอาเข้าจริงเราก็รู้แล้วว่า ความต้องการพื้นฐานของเราอย่างหนึ่ง ก็คือ
ต้องการสร้างสัมพันธภาพ แต่ว่าสิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ได้อย่างที่ควรจะเป็น
ก็คือ ความละอายใจและความกลัว ที่มักมาจากความคิดที่อยู่ลึก ๆ ว่า “ฉันยังไม่ดีพอ”
หรือ “ฉันไม่มีคุณค่าพอ”จึงกลัวเสมอ เมื่อจะต้องเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใครสักคน
ฉะนั้นแล้วทำเช่นไรเล่าเราถึงจะทำให้ผู้คนยอมรับในคุณค่าของตัวเองในพื้นที่ส่วนรวม
ต้องให้เกียรติกัน เคารพต่อกัน
การให้ที่มีค่าที่สุดคือการให้ค่าแก่ทุกคนที่เรารู้จัก บนความเปราะบางที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่ที่เราไม่เคยเห็นคุณค่ากัน
เรากระทำต่อกันด้วยการวัดระดับทางตำแหน่งหน้าที่
เราใช้บรรทัดฐานทางสังคมเพื่อยกตนให้เหนือผู้อื่น และบีบให้คนทั้งหลายจนมุม
แล้วเราก็มีชัยชนะอย่างโดดเดี่ยว นี่มิใช่คุณค่าที่แท้จริง
แต่ยิ่งกลับเพิ่มความเปราะบางต่อไปยิ่งทียิ่งมากขึ้น
ในวันนั้น พระเยซูเจ้าให้คุณค่าที่ล้ำค่าแก่สานุศิษย์ทุกคน***
“พระเยซูเจ้าทรงลุกขึ้นและทรง “ล้างเท้าบรรดาสานุศิษย์”
ในเรื่องนี้พระเยซูเจ้าทรงกระทำเพื่อมอบแบบอย่างแก่ทุกคนและทำให้พวกเขาทราบว่า
ผู้สานต่องานของพระองค์จะต้องดำเนินชีวิตด้วยท่าทีแห่งการรับใช้ซึ่งกันและกัน
“จงล้างเท้าของกันและกัน” .... พระองค์ทรงย้ำหลายครั้งว่า
“ผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่ จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น
และผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นคนที่หนึ่งในหมู่ท่าน ก็จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ทุกคน”
พระเยซูเจ้าทรงกระทำให้เห็นชัดเจนในเรื่องนี้
ด้วยการล้างเท้าบรรดาสานุศิษย์ของพระองค์ พระองค์ทรงแสดงพระองค์เป็นผู้รับใช้และทาสของทุกคน
ในไม่กี่ชั่วโมง พระองค์จะสิ้นพระชนม์ ถูกตรึงกางเขน
ในความทรมานที่ถูกกำหนดไว้สำหรับพวกทาส”
***(หนังสือ พระเยซูเจ้าในประวัติศาสตร์ เขียนโดย คุณพ่อโฮเซ อันโตนิโอ
ปาลา แปลโดย เซอร์มารีย์ หลุยส์ พรฤกษ์งาม)
ในวันที่เราต่างพบเจอกับความเปราะบาง
ด้วยเพราะเรากักขังจิตวิญญาณของเรามิให้มีความอ่อนน้อม
มิให้ยอมที่จะออกจากตัวตนของเรา เราต้องไม่กลัวที่จะเดินออกจากกำบังที่เราซ่อนเร้นอยู่เพื่อก้าวออกมาเผชิญหน้า
พร้อมหน้ากันในพื้นที่ส่วนรวม อาจจะมีบ้างบางครั้งที่ต้องเจ็บปวด
แต่เมื่อเรายอมอดทน ยอมรับผู้อื่น ยอมเป็นผู้รับใช้มิใช่เป็นเพียงผู้รีบใช้
เราก็จะมีความเข้มแข็ง และที่สุดเราต้องช่วยกันดูแล ใบอ่อนที่เริ่มผลิช่อใบ
อย่าปล่อยให้พวกเขาเปราะบางจนร่วงหล่นลงพื้นดินก่อนวัยอันควร รับฟังพวกเขา
ส่งเสริมพวกเขา ให้คุณค่าอย่าผลักดันพวกเขา แล้วเราจะได้พื้นที่ที่เรียกว่า “อาณาจักรสวรรค์”
เพิ่มขึ้นในสังคม...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น