วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ชาวเราหลบมาพึ่งถ้ำ


ชาวเราหลบมาพึ่งถ้ำ


สิ่งที่ทุกคนคาดหวังมักจะผิดหวัง เป็นความจริงแท้ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอ ๆ เฉกเช่นกับคณะท่องเที่ยวของเราในครั้งนี้ ที่ทุกคนต่างตั้งอกตั้งใจรอคอยด้วยความหวังว่าจะขึ้นบอลลูนเพื่อชมเมืองคัปปาโดเกีย แต่แล้วระหว่างทางไปยังเมืองนี้ไกด์ท้องถิ่นก็แจ้งว่า รัฐบาลประกาศว่าพรุ่งนี้ (วันกำหนดเวลาที่เราแจ้งไป) สภาพอากาศทิศทางลมไม่เอื้ออำนวยในการนำบอลลูนขึ้น กิจกรรมการท่องเที่ยวนี้รัฐบาลเป็นผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียว เพื่อความปลอดภัย ฉะนั้นเมื่อมีประกาศแบบนี้ทุกสิ่งย่อมต้องเป็นไปตามนั้น และเพื่อไม่ให้การท่องเทียวที่นี่เงียบเหงาเกินไป จึงมีโปรแกรมเสริมเพิ่มเติมมาให้ คือ การนั่งรถวิบากขึ้นเขา เยี่ยมชมถ้ำที่ผู้คนในสมัยก่อนใช้เป็นที่พักหลบภัย รถแต่ละคันเตรียมพร้อม โดยมีเสียงเพลงดังลั่นเปิดปลุกให้ใจคึกคักในยามเช้า แล้วเมื่อรถออกตัวเท่านั้นแหละความวิบากก็เกิดขึ้น อาหารเช้าที่เพิ่งทานอิ่มถูกกระแทกย่อยสลายโดยพลัน ทางธรรมดาว่าขับลำบากแล้ว เหล่าบรรดานักขับยังขับปีนป่ายขึ้นเนินให้รถตะแคง จวบจนมาถึงจุดชมวิว ภาพข้างหน้าลบล้างความเสียวไส้ให้มลายหายไป


คัปปาโดเกีย คือเมืองมรดกโลก สภาพภูมิศาสตร์ของเมืองนี้เต็มไปด้วยถ้ำที่เกิดจากเถ้าลาวาของภูเขาไฟที่ปะทุเมื่อหลายล้านปีก่อนคริสตกาลและเกิดการทับถมเป็นแผ่นดินชั้นใหม่ขึ้นมา ถูกกระแสน้ำ แดด ลม ฝน หิมะ กัดเซาะกร่อน แผ่นดินนี้นับแสนล้านปี กลายเป็นภูมิประเทศที่มีรูปร่างประหลาดแปลกตาน่าพิศวง เป็นรูปทรงแท่ง กรวยคว่ำ ปล่อง กระโจม โดม ดูประหนึ่งดินแดนในเทพนิยาย ชนพื้นเมืองเรียกว่า ปล่องไฟนางฟ้า ที่สำคัญ เมืองนี้มีความสำคัญกับคริสตศาสนาและนักบุญเปาโลเป็นอย่างมาก นี่เป็นเมืองที่นักบุญเปาโลหนีมาหลบภัยในถ้ำใต้ดินหลังถูกเนรเทศออกจากกรุงเยรูซาเล็ม ขณะเดียวกัน คัปปาโดเกียยังเป็นเมืองแรก ๆ ที่นักบุญเปาโลก่อตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นด้วย เราจะพบเห็นเมืองนี้ได้ในหนังสือกิจการอัครสาวก (2:9)


พูดถึงถ้ำที่นักบุญเปาโลหนีมาหลบภัย ถ้ำนี้เป็นถ้ำใต้ดินลึกลงไปประมาณ 85 เมตร (มีทั้งหมด 11 ชั้น) ซึ่งต่อมา คริสตชนกลุ่มแรกที่นักบุญเปาโลตั้งขึ้น ได้ใช้ที่นี่เป็นฐานหลบภัยเวลาพวกโรมันมาเข่นฆ่า ภายในถ้ำ มีทุกสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตทั้งกายและจิตวิญญาณ พูดถึงฝ่ายกาย ที่นี่มีห้องนอน (แต่ไม่ได้นอนแบบดีๆนะครับ เป็นการนอนแบบหลบภัย) นอกจากนี้ ยังมีห้องครัว ห้องเก็บอาหาร ห้องนวดแป้งใช้ทำขนมปัง และห้องผลิตเหล้าองุ่นไว้ดื่มเวลามีงานเลี้ยงและใช้ในพิธีมิสซา ส่วนฝ่ายจิตวิญญาณ ถ้ำนี้มีโบสถ์ใช้ถวายมิสซา เป็นโบสถ์ที่สร้างในศตวรรษที่ 1 โดยมีก้อนหินที่นำมาเป็นพระแท่นวางอยู่ตรงกลาง และมีกำแพงที่มีรอยไม้กางเขนจารึกอยู่เพื่อบอกว่านี่คือโบสถ์ด้วย ความมหัศจรรย์ที่ทำให้อึ้งก็คือคนโบราณเก่งมากๆ ขุดถ้ำลงไปถึง 85 เมตรเพื่อเป็นหลุมหลบภัย แถมขุดห้องใต้ดินต่างๆให้เชื่อมกันหมด เรียกได้ว่า เป็นพระพรที่พระเจ้ามอบให้ในการหลบภัยจากการเบียดเบียนศาสนาอย่างแท้จริง


นอกจากถ้ำใต้ดินแล้ว เมืองคัปปาโดเกียยังมีพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งชื่อว่า “เกอเรเม่” พิพิธภัณฑ์นี้เป็นถ้ำบนดิน (ต่างจากถ้ำนักบุญเปาโลที่เป็นใต้ดิน) ถ้ำเหล่านี้เป็นที่อยู่ของคริสตชนยุคแรกเริ่ม สมัยศตวรรษที่ 1-4 ตอนที่ศาสนาคริสต์ยังเป็น “ของต้องห้าม” ในอาณาจักรโรมัน คริสตชนมากมายหนีมาหลบภัยจากการเบียดเบียนในที่แห่งนี้ แต่พอศตวรรษที่ 4 เป็นต้นไปที่ “จักรพรรดิคอนสแตนติน” กลับใจมาเป็นคริสตชนและประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาทางการของอาณาจักรโรมัน ถ้ำเหล่านี้จึงกลายมาเป็นโบสถ์คาทอลิกและอารามนักบวชที่มีนักบุญชื่อดังหลายองค์มาพำนักในที่แห่งนี้


โบสถ์ในถ้ำที่ดังๆก็คือโบสถ์แอปเปิ้ล (APPLE CHURCH)และโบสถ์งู (SNAKE CHURCH)สาเหตุที่ชื่อโบสถ์แอปเปิ้ล เพราะสมัยนั้นมีต้นแอปเปิ้ลขึ้นอยู่ข้างๆ คนจึงเรียกแบบนี้ ส่วนโบสถ์งู มีที่มาจากภาพวาดบนฝาผนังที่เป็นรูปนักบุญจอร์จ (เซนต์ จอร์จ องค์อุปถัมภ์ของอังกฤษ) ขี่ม้าเอาหอกแทงมังกร แต่คนสมัยนั้น มองไม่ออกว่านี่คือมังกร พวกเขาคิดว่างู จึงเรียกง่ายๆว่า โบสถ์งู ทั้งสองโบสถ์ดังมากจนทุกคนที่มาเยือนต้องเข้าไปดู เพราะจิตรกรรมภาพวาดเกี่ยวกับคริสตศาสนานั้นงดงามมาก ภาพเหล่านี้วาดกันตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 และคงอยู่ถึงปัจจุบัน   ขอบคุณข้อมูล #PopeReport


ในขณะที่เยี่ยมชมถ้ำ เห็นถึงความลำบากของผู้คนในสมัยก่อนที่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ และคิดหาหนทางทำถ้ำให้เชื่อมโยงกันได้ มาร่วมกันสวดภานา นั่นเพราะความเชื่ออันแข็งแกร่ง ความศรัทธาที่เข้มข้น แล้วเราผู้อยู่ในยุคที่เพียบพร้อมด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกสบาย ไม่ต้องหลบซ่อนเร้นความเชื่อความศรัทธา สิ่งเหล่านี้กลับถูกเก็บใส่ถ้ำในใจและปิดตายด้วยก้อนหินขนาดใหญ่ เราจึงไม่ค่อยรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้คือชีวิต เราจึงมาเข้าร่วมพิธีกรรมแบบพอให้เป็นพิธี จึงไม่ได้รับจิตวิญญาณความเชื่อที่แท้จริงกลับไปใช่หรือเปล่า....ความลำบากมักนำมาซึ่งความเข้มแข็ง

ไม่มีความคิดเห็น: