วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

แดนดินถิ่นลี้ภัย


แดนดินถิ่นลี้ภัย
ในบางช่วงชีวิต บางสิ่งบางอย่างถูกจับวางให้พอเหมาะพอสมกับวันเวลา หลังจากฉลองปัสกาได้มีโอกาสเดินทางมายังตุรกี ดินแดนที่หลบภัยของเหล่าสาวกและแม่พระ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ บรรดาอัครสาวกมีความเข้มแข็งขึ้น มีการตั้งชุมชนกลุ่มคริสตชนจนทำให้ถูกพวกโรมันไล่ล่าตามราวี นักบุญเปาโลกลับใจจากนักไล่ล่า กลายเป็นผู้ถูกตามล่า ท่านนักบุญมีพื้นเพเป็นคนเมืองทาร์ซัส เมืองหนึ่งในตุรกีปัจจุบัน จึงทำให้ท่านคุ้นเคยพื้นที่ และนี่จึงเป็นดินแดนที่ท่านใช้หลบหลีก ซ่อนกาย และจัดตั้งชุมชนไว้มากมาย แน่นอนยังมีผู้ที่ต้องหนีการไล่ล่าอีกหลายคน นักบุญจอห์นคือหนึ่งในนั้น และด้วยพันธกิจที่ได้รับมอบหมายให้เป็นลูก ดูแลพระนางมารีย์ให้ปลอดภัยที่สุด ท่านนักบุญจึงมุ่งตรงมายังดินแดนแถบนี้

วันที่สองของการเดินทางในถิ่นตุรกี มีโอกาสมายืน มาเยือนในเมืองเอเฟซุสของจริง หลังจากที่เคยได้ยิน “จดหมายจากนักบุญเปาโลถึงชาวเอเฟซัส” เอเฟซุสเป็นหนึ่งในเมืองโบราณที่มีความสำคัญทางคริสตศาสนา เมืองนี้เคยเป็นที่อยู่ของชาวโยนก จากกรีกอพยพเข้ามาสร้างเมือง ซึ่งรุ่งเรืองขึ้นในศตวรรษที่ 6 ก่อนพระเยซูเจ้าบังเกิด ต่อมาถูกรุกรานเข้ายึดครองโดยชาวเปอร์เซียและกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช ภายหลังเมื่อโรมันเข้ามาครอบครองมีการสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ และก็ได้สถาปนาเมืองนี้เป็นเมืองหลวงเขตการปกครองแถบเอเชียรองจากกรุงโรม คริสตชนที่นี่ในยุคแรก ๆ มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก แต่ก็เปิดเผยตัวเองไม่ได้ ใช้สัญลักษณ์บอกต่อกัน ถ้าเปิดเผยตัวเองว่าเป็นคริสตชน จะถูกฆ่าทันที นอกจากนี้ ภายในเมืองเอเฟซุส ยังมีสถานที่ที่เป็นวัดของคริสตชนยุคแรกเริ่มด้วย โดยมีหินสมัยศตวรรษที่ 1-3 ตั้งตรงกลางเพื่อเป็นพระแท่นถวายมิสซา


ได้เห็นซากปรักหักพังของเมืองที่ยิ่งใหญ่ ได้ฟังถึงต้นกำเนิดการปกครองแบบโรมันที่มีระบบรัฐสภาต้นแบบการปกครองส่วนใหญ่ของโลกนี้แล้ว ใช่เลยไม่มีอะไรที่ยืนยงคงมั่นตลอดกาลจริง ๆ ทำให้ในใจต้องอ่อนโน้มถ่อมตนลง หาไม่แล้วเราก็คงเหลือเพียงซากร่างที่ไร้ความหมาย เมืองที่เคยรุ่งเรือง เมืองที่คิดว่ายิ่งใหญ่มีระบบระเบียบอย่างดี มีอารยะที่เฟื่องฟู ก็มิอาจจะสู้ความชิงดีชิงเด่นของผู้คนได้ในทุกยุคทุกสมัยก็เป็นดังเช่นนี้ เดินทางจากเมืองโบราณท่ามกลางสายฝนโปรยปรายลงมา เหมือนกับว่าเรามาที่นี่เพื่อให้เห็นความยิ่งใหญ่ด้วยใจที่อ่อนน้อมลง
ในวันต่อมาเรายังวนเวียนอยู่แถว ๆ เอเฟซุส ด้วยการมาเยือนบ้านแม่พระที่บ้านหลังนี้ นักบุญจอห์น อัครสาวก ได้พาแม่พระหลบภัยจากการเบียดเบียนของพวกโรมันที่กรุงเยรูซาเล็มและหนีมาพักที่นี่ บ้านนี้สร้างด้วยหินทั้งหลัง ระยะทางจากเยรูซาเล็มมาเอเฟซุสค่อนข้างไกลพอสมควร คาดว่า แม่พระและนักบุญจอห์นน่าจะเดินทางมาด้วยเรือและเดินเท้าขึ้นเขามาสร้างบ้านหลังนี้ 


ในขณะที่ยืนรอแถวเพื่อเข้าไปในบ้าน (เข้าไปครั้งละไม่กี่คน) มีโอกาสได้อธิบายบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของแม่พระและความกล้าหาญของผู้หญิงคนหนึ่งให้กับผู้ร่วมคณะที่เกือบ 90 % มิใช่คริสตชนได้เข้าใจ หลายคนเชื่อว่าแม่พระเสด็จขึ้นสวรรค์ ณ บ้านหลังนี้ แต่ก่อนเดินทางมา ได้รับข้อมูลแบบเจาะลึกจากน้องที่เขียนบทความใน Pope Report ว่า นักบุญจอห์นพาแม่พระมาหลบภัยที่บ้านหลังนี้ช่วงสั้น ๆ จากนั้น ก็กลับไปอาศัยอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม และแม่พระได้เสด็จขึ้นสวรรค์ที่เยรูซาเล็ม สถานที่ที่แม่พระเสด็จขึ้นสวรรค์ตั้งอยู่บนภูเขามะกอก นอกตัวเมืองเยรูซาเล็ม ปัจจุบันสถานที่นี้เป็นโบสถ์อยู่ภายใต้การดูแลของพระศาสนจักรกรีกออโธด็อกซ์แห่งเยรูซาเล็ม (มีการขุดหลุมศพเพื่อพิสูจน์ ปรากฏว่าเป็นหลุมเปล่า )


บ้านนี้เป็นสถานที่ที่รัฐบาลตุรกีให้ความเคารพเป็นอย่างมาก หากใครได้มาเยือนจะพบว่า มีทหารถือปืนตรวจอยู่ตลอด ไกด์ท้องถิ่นบอกว่า “นี่เป็นบ้านของแม่พระมารีอา (เขาให้เกียรติมากถึงกับใช้คำว่า MOTHER MARY) มารดาของพระเยซูซึ่งเป็นหนึ่งในศาสดาของอิสลาม ดังนั้น ชาวมุสลิมให้เกียรติท่านทั้งสองมากๆ บ้านแม่พระมารีอาเปรียบได้กับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พวกเราให้ความเคารพด้วยการจัดการรักษาความปลอดภัยอย่างสมเกียรติ” ชาวมุสลิมมาแสวงบุญที่บ้านแม่พระเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันที่เราไปตรงกับวันอาทิตย์พอดีจึงมีผู้คนมากมาย รถติดเป็นแถวยาว

ที่นี่ยังมีน้ำดื่มที่มาจากแหล่งน้ำโบราณจากศตวรรษที่ 1 ให้ดื่มและอาบ ผู้ป่วยหลายคนหายป่วยจากโรคร้ายหลังจากมาดื่มน้ำที่นี่ หลักฐานที่ปรากฏคือไม้เท้าและรถเข็นที่วางไว้ เพื่อเป็นหลักฐานให้เรามีความเชื่อ นอกจากนี้ พระสันตะปาปา 4 พระองค์เคยเสด็จมาเยือนบ้านหลังนี้ คือ สมเด็จพระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 (ค.ศ.1986) สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ( ค.ศ.1967), สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 (วันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ.1979 )และสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 (วันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ.2006)
ใช่หรือไม่ ในโลกนี้มีที่หลบภัยได้มากมาย แต่ใจคนเรานี่แหละมักไม่ปลอดภัย แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ใจของเราเป็นที่ปลอดภัย เป็นที่หลบภัยของผู้อื่น เฉกเช่นแม่พระที่เคยหนีภัยมาหลบอยู่ที่แห่งนี้ แต่บัดนี้พระแม่คือที่หลบภัยของชาวเราทั้งหลายที่เข้ามาพึ่งท่านในทุกวันเวลา...

วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561

ในแดนดินถิ่นอื่น

ในแดนดินถิ่นอื่น
มีความตั้งใจและเคยได้พูดคุยกับเพื่อนรุ่นน้องกับรุ่นพี่ว่า หากมีโอกาสเราทั้งสามคนจะร่วมกันเดินทางตามรอยในเส้นทางการแพร่ธรรมของนักบุญเปาโล โดยมีประเทศตุรกีเป็นหนึ่งในนั้น แต่จนแล้วจนรอดด้วยภาระหน้าที่ของแต่ละคน จัดสรรเวลาไม่ตรงกันเสียที (สักวันหนึ่งเราจะทำเรื่องนี้ให้เป็นจริงจงได้) และด้วยจังหวะส่วนตัวที่พอเหมาะพอดีมีคนชวนให้ร่วมกับคณะทัวร์ท่องเที่ยวไปยังตุรกี จึงตกลงจะร่วมไปด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการสำรวจครั้งแรก


แล้วก็มาถึงเมืองอิสตันบูลในยามเช้าตรู่ คณะจึงได้แวะรับประทานอาหารเช้าล้างหน้าล้างตาในโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองแห่งนี้ หลายคนเข้าใจว่า อิสตันบูลคือเมืองหลวงของตุรกี แต่ความจริงแล้ว เมืองหลวงของตุรกีคือ “อังคารา”หรือกาลาเทีย กรุงอิสตันบูลเดิมชื่อคอนสแตนติโนเบิล (Constantinople) เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล ปัจจุบันเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศตุรกี ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบบอสฟอรัสทำให้อิสตันบูลเป็นเมืองสำคัญเพียงเมืองเดียวในโลก ที่ตั้งอยู่ในสองทวีปคือทวีปยุโรป (ฝั่ง Thrace ของบอสฟอรัส) และฝั่งทวีปเอเชีย (ฝั่งอนาโตเรีย) จึงมีสถาปัตยกรรมอันงดงามผสมผสาน และเป็นเมืองแห่งการขนส่งคมนาคมที่สำคัญ จึงไม่แปลกอะไรเลย !!! ที่นี่รถติดไม่แพ้กรุงเทพมหานครของเรา


จุดหมายแรกที่ชมคือ “มัสยิดสีน้ำเงิน” (BLUE MOSQUE) สถานที่ซึ่งพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 เสด็จเยือนเมื่อปี 2006 เนื่องจากสีฟ้าของกระเบื้องอิซนิคล้ายดอกไม้ต่าง ๆ บนกำแพงชั้นใน ถือว่าเป็นมัสยิดใหญ่ที่สุดในตุรกี แต่ช่วงนี้ปิดปรับปรุง จึงไม่มีโอกาสชมความสวยข้างในได้แต่เพียงยืนชมความงามภายนอกเท่านั้น จากนั้นก็ข้ามถนนมายังพระราชวังทอปกาปีเป็นที่ประทับของบรรดาสุลต่านนานกว่า 3 ศตวรรษ ภายในมีห้องท้องพระโรง มีครัวขนาดใหญ่สำหรับคนกว่าสี่พันคนที่เป็นข้าราชบริพารในสมัยนั้น มีการจัดสวนที่สวยงาม ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ที่สำคัญในนี้มีไม้เท้าของโมเสสที่ยกขึ้นทำให้ทะเลแยกเพื่อนำชนอิสราเอลออกจากประเทศอียิปต์ ศาสนาอิสลามกับคริสต์นั้นมาจากต้นกำเนิดเดียวกัน เป็นพี่น้องร่วมท้องพ่อแม่เดียวกัน ที่ต่างก็แยกย้ายไปมีครอบครัวเป็นของตัวเอง เราจึงมีความเชื่อมโยงสายสัมพันธ์เดียวกันมาตั้งแต่นมนาน หลายครั้งหลายหนคนเราก็ลืมรากเหง้าตรงนี้ รบราเข่นฆ่ากันเพียงเพื่อให้สิ่งที่เรานับถือมีชัยชนะ ลองคิดดูคนที่เป็นพ่อแม่จะเศร้าใจเพียงใดที่เห็นลูกหลานทะเลาะกันเพียงเพื่อแย่งชิงให้พ่อแม่เป็นของตัวเองฝ่ายเดียว


จากนั้นวกกับมาฝั่งตรงข้ามมัสยิดสีน้ำเงินมายืนเข้าแถวรอนานทีเดียวเพราะมีคนมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก ที่นี่คือ วิหารฮายา โซเฟีย” (บางคนเรียก “วิหารเซนต์ โซเฟีย” ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่ผิด!) นี่คืออดีตวิหารซึ่งเป็นศูนย์กลางของพระศาสนจักรออโธด็อกซ์แห่งคอนสแตนติโนเปิ้ล และยังเคยเป็นโบสถ์คริสต์ที่ใหญ่สุดในโลกด้วย ความมหัศจรรย์ของวิหารนี้คือสร้างในสมัยอาณาจักรไบเซนไทน์ ตั้งแต่ ค.ศ. 360 นับตั้งแต่นั้นจนถึง ค.ศ. 1453 วิหารนี้เป็นของคริสต์คาทอลิกและคริสต์ออโธด็อกซ์ กระทั่ง ค.ศ.1453 พวกอ็อตโตมานเข้ายึดอาณาจักรไบเซนไทน์ จึงได้เปลี่ยนวิหารนี้ให้เป็นมัสยิดของมุสลิม อ็อตโตมานไม่ได้ทำลายโครงสร้างของโบสถ์นี้ พวกเขาแค่ทำลายรูปโมซาอิคล้ำค่า รูปพระเยซูกษัตริย์แห่งสากลจักรวาล ด้วยการโบกปูนทับ แต่พอ “มุสตาฟา อตาเติร์ก” เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐตุรกีในค.ศ. 1931 เขาได้ออกคำสั่งให้กระเทาะปูนเหล่านั้นออก ปัจจุบัน วิหารแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ศาสนสัมพันธ์ระหว่างคริสต์และอิสลาม ภายในนั้น มีทั้งรูปพระเยซู แม่พระ นักบุญต่าง ๆ ร่วมกับภาษาอาหรับที่มีชื่อของพระอัลเลาะห์และท่านศาสดามุฮัมมัดชื่อ “โซเฟีย” หลายคนคิดว่าองค์อุปถัมภ์ของวิหารต้องเป็นนักบุญโซเฟียแน่ ๆ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น ชื่อ “ฮายา โซเฟีย” เป็นภาษากรีก แปลว่า “ปรีชาญาณศักดิ์สิทธิ์”  ต่างหาก


จากนั้นก็เดินมายังจัตุรัสสุลต่านอะห์เมต หรือ ฮิปโปโดรม (Hippodrome) สนามแข่งม้าของชาวโรมัน เขาว่ากันว่าตรงนี้เคยเป็นศูนย์กลางของเมืองเก่า เพื่อใช้แสดงกิจกรรมต่าง ๆ ปัจจุบันเหลือเพียงพื้นที่ลานกว้าง มีเสาโอเบลิสก์  3 ต้น ที่สร้างในอียิปต์แต่ถูกนำมาไว้ในอิสตันบูล ครึ่งวันแรกกับการเดินท่องชมเมืองเก่า กับสภาพร่างกายที่เหนื่อยล้ากับการนั่งเครื่องบินยาวกว่าสิบชั่วโมง เล่นเอาหลายคนเริ่มโรยรา เมื่อเสร็จสิ้นอาหารมื้อเที่ยงเราก็เริ่มมีเรี่ยวแรง ที่จะนั่งรถต่อไปยังเมืองชานัคคาเล่ อีกราว ๆ 3 ชั่วโมง เพื่อให้ทั้งรถบัสและคณะพวกเราขึ้นเรือเฟอร์รี่ข้ามไปแวะชมม้าเมืองทรอย หนึ่งในตำนานอันเลื่องลือที่โฮเมอร์ได้ประพันธ์ไว้ในมหากาพย์

ในแดนดินถิ่นอื่นเราเห็นอะไรมากมาย ดินแดนแถบนี้มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ ตั้งคำถามก่อนที่วันรุ่งขึ้น ที่จะเข้าสู่เมืองที่ท่านนักบุญเปาโลและสาวกมาตั้งชุมชนความเชื่อว่า พวกท่านเดินทางยาวนานแสนนาน อดทนต่อสภาพอากาศและต้องหลบหลีกการไล่ล่าได้อย่างไรกัน เพราะความเชื่อหมดหัวใจ เพราะศรัทธาอย่างสุดใจ จึงมิอาจมีอันใดหยุดยั้งการประกาศและยืนยันความรักต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ แล้วเรามีหัวใจแห่งความเชื่อความศรัทธาเพียงเท่าใดหนอ....

วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2561

คนสุดท้าย


คนสุดท้าย
โลกที่อยู่ ณ วันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนชนิดที่เราแทบไม่รู้ตัวเลย  ว่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันการเงินต่างแข่งกันออกมายกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินต่างธนาคาร โอนข้ามสาขา ข้ามจังหวัด เพราะเตรียมรับมือกับการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ ยุคไร้เงินสด อีกไม่นานเราจะใช้โทรศัพท์จ่ายค่าโน่นนี่นั่นกันแบบสบาย ๆ โดยไม่ต้องกรีดกราย ไปถึงสาขาธนาคาร ไม่ต้องเปลืองค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าเสียเวลานั่งรอคิวอีกต่อไป หลายคนก็เห็นว่าทุกสิ่งดูมันง่ายขึ้น แต่อีกหลายคนก็บอกว่าสิ่งเหล่านี้กำลังทำให้การมีชีวิตชีวา การพูดคุยเห็นหน้าเห็นตาของผู้คนหมดไปจากวิถีปกติ บ้างก็ว่าชีวิตคือการปรับตัวหาไม่แล้วเราก็จะกลายเป็นสิ่งตกยุคเก่าล้าสมัย คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง กลายเป็นคนสุดท้ายที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง

ภาพ : อินเตอร์เน็ต

การปรับตัวรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับสิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างเข้าใจ และใช้ให้เป็นประโยชน์ในบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่เราต้องติดตามเรียนรู้ นับวันช่องว่างของการเปลี่ยนแปลงยิ่งทียิ่งถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ในอีกมุมหนึ่ง สิ่งเหล่านี้สอนให้เราเข้าใจว่า อย่าไปยึดติดกับความสำเร็จในวันวาน อย่าไปหลงกับความรู้จนไม่ยอมรับรู้เรื่องราวอื่นใด อย่าคิดว่าความฉลาดของเราในวันนี้จะเป็นที่หนึ่งตลอดกาล ทุกสรรพสิ่งคือพลวัตที่มีมาอย่างต่อเนื่อง หากเราหลงติดกับดักแห่งความอวดรู้และยโสในความคิดของเราเอง เราอาจจะไม่สามารถอยู่อย่างมีความสุขได้ จมอยู่กับสิ่งเดิม ๆ แล้วที่สุดก็จะกลายเป็นคนด้อยค่า ใช่หรือไม่ คนเราทุกคนย่อมมีวันเป็นฮีโร่และวันที่เป็นคนโง่งม ย่อมมีวันที่ขึ้นสูงสุดและร่วงหล่นจนต่ำตมก็ได้ คนแรกจะกลายเป็นคนสุดท้าย ส่วนคนสุดท้ายก็จะกลายเป็นคนแรก
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นสามารถยึดประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ได้เกือบทั้งหมด แต่แล้วช่วงปลายสงคราม กองทัพญี่ปุ่นหลายกองพ่ายแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ถึงกระนั้นทหารญี่ปุ่นก็ยังคงทำการรบอย่างทรหดต่อไป เนื่องจากทุกคนเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วญี่ปุ่นจะเป็นผู้ชนะ ร้อยตรีฮิโระ โอโนดะ คือหนึ่งในทหารที่ประจำอยู่บนเกาะลูบังของฟิลิปปินส์ ได้รับคำสั่ง ให้นำทหารอีก 3 นาย ไปปฏิบัติภารกิจสอดแนมข้าศึกในป่า และมีหน้าที่ซุ่มโจมตี กดดัน เพื่อประวิงเวลาของกองทัพสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ทหารทั้ง 4 ออกปฏิบัติภารกิจอยู่นั้น อเมริกาก็ได้ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ทำให้ญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้ในที่สุด จักรพรรดิฮิโรฮิโต จึงออกพระราชโองการให้กองทัพญี่ปุ่นทุกกองวางอาวุธและถอนกำลังออกจากจุดประจำการทุกแห่งและเตรียมตัวกลับประเทศอย่างเร่งด่วน

ภาพ: อินเตอร์เน

เมื่อร้อยตรีฮิโระ กลับมายังฐานที่มั่นกองทหารแล้วก็ไม่พบใคร จึงเข้าใจว่าทหารฝ่ายศัตรูได้เข้าโจมตีพรรคพวกจนต้องถอยหนีออกจากเกาะ เขาและพรรคพวกจึงตัดสินใจกลับเข้าป่า เพื่อทำการสู้รบต่อไปโดยไม่รู้เลยว่าสงครามจบลงแล้ว และไม่มีใครออกตามหาพวกเขาเนื่องจากเข้าใจว่าทั้งหมดเสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจ พวกเขาต้องอาศัยนอนในถ้ำ หาของป่ากินตามมีตามเกิด และลอบฆ่าชาวบ้านที่คิดว่าเป็นศัตรู หลายปีต่อมาได้มีเครื่องบินทิ้งใบปลิวบนเกาะ แจ้งว่าสงครามโลกยุติแล้ว และญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ เขาก็ยังไม่เชื่อ และเข้าใจว่าเป็นแผนการหลอกให้พวกเขาออกไปติดกับทั้งหมดจึงยังคงปักหลักอยู่ในถ้ำกลางป่าลึกต่อไป
เวลาผ่านไป จากหลายปีเป็นสิบปี และจำนวนปีก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทหารในหน่วยของเขา เสียชีวิตไปทีละคนสองคนจากความเจ็บไข้ได้ป่วยและไม่มียารักษาโรค จนเหลือเขาเพียงผู้เดียว แต่เขาก็ยังยึดมั่นในปณิธานจะไม่ยอมแพ้แก่ทหารศัตรูอย่างเด็ดขาดโดยไม่รู้ว่าสงครามได้ยุติไปนานแสนนานแล้ว และโลกภายนอกได้เปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด
จนกระทั่งวันหนึ่ง นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งได้พบเขา ทั้งคู่คุยกันถูกคอและทำให้เขาได้รู้ความจริงว่าสงครามจบไปนานแล้ว และทางการญี่ปุ่นอยากให้เขาออกมาปรากฏตัวซะที แต่กระนั้นร้อยตรีฮิโระโอโนดะ ก็ยังแคลงใจไม่หาย ในปี 1974 หลังจากที่สงครามผ่านมา 30 ปีเขาจึงยอมจำนน สิ่งที่เหลือติดตัวมีเพียงเสื้อผ้าเก่าคร่ำคร่า ปืนเล็กยาวพร้อมกระสุน และดาบซามูไรอีกเล่มเดียวเท่านั้นทางการญี่ปุ่น ก็นำทหารกล้าคนนี้กลับคืนสู่มาตุภูมิ เขาได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่เทียบเท่าวีรบุรุษที่สุดเขาก็มิอาจจะปรับตัวเข้ากลับสังคมคนญี่ปุ่นในยุคใหม่ได้ กลายเป็นโรคซึมเศร้า และในปี 1980 เขาย้ายไปอยู่ประเทศบราซิลแล้วจบชีวิตที่นั่นอย่างเงียบ ๆ
อย่าจมอยู่กับความสำเร็จและภาคภูมิใจในวันวาน อาจจะทำให้เราไม่ก้าวหน้าไปไหน ในโลกนี้ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่มีชัยชนะใดที่ถาวร ไม่มีใครจะครอบครองตลอดกาล สิ่งที่มีค่าสำหรับชีวิตในทุกยุคทุกสมัยนั่นคือความดี ความเมตตา และความรัก สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะเป็นนิรันดร์ หากมีอุดมการณ์ใดในโลกจะคงอยู่ได้ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ และจะไม่มีคำว่าสุดท้ายสำหรับสามสิ่งที่กล่าวมา..

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561

ในทางแคบนั้น

ในทางแคบนั้น
ในชีวิตเมืองถึงแม้จะมีถนนหนทางมากมายเพียงใด ก็มิอาจจะทำให้การเดินทางไปไหนมาไหนรวดเร็วได้ดังใจนัก เพราะจำนวนรถที่วิ่งที่ใช้ถนนนั้นมีมากขึ้นทุกวัน และเมื่อเป็นเช่นนี้เราก็มักที่จะต้องหาทางลัด ซอยเล็กซอยน้อยเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เช่นเดียวกับการมาที่วัดเซนต์หลุยส์ของเรา ที่ต้องผ่านถนนสาทร ซึ่งถือว่าเป็นถนนที่สาหัสสายหนึ่งของการจราจร ซอยที่จะพอช่วยลดเวลารถติดได้จึงเป็นซอยแคบ ๆ ที่ผ่านมาทางสุสาน ผ่านมัสยิดมาทะลุข้างหน้าโรงเรียน ACC ออกเซนต์หลุยส์ซอย 2 ข้างโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เรียกว่าผ่านเกือบจะทุกศาสนาเลยทีเดียว ในช่วงหนึ่งของทางนั้น ถนนจะพอดิบพอดีกับรถยนต์ ต้องขับด้วยความระมัดระวัง ใครที่ใช้ซอยนี้เป็นครั้งแรกก็อาจจะหวาดเสียวสักเล็กน้อย แต่สำหรับผู้ใช้ประจำก็จะสามารถขับผ่านได้อย่างคล่องตัว ในทางแคบ ๆ แบบนี้ แม้จะลำบากแต่หากผ่านมาได้จะช่วยลดเวลาไม่ต้องขับผ่านถนนสาทร นี่เป็นข้อดีแต่ข้อเสียคือเป็นการเดินรถทางเดียว หากมีรถมอเตอร์ไซต์หรือผู้ไม่คุ้นชินทางขับสวนไปนี่คือเรื่องใหญ่และจะเสียเวลาเพิ่มขึ้น เพราะกว่าจะหาวิธีหลบหลีกกันได้ และถ้าเป็นคนแถวนั้นก็จะรู้จังหวะการให้ทางกัน



อีกเส้นทางหนึ่งซึ่งสัญจรใช้เดินเท้าเข้าออกจากบ้านเป็นประจำเพื่อมาซื้อของและมาขึ้นรถสาธารณะ เป็นตรอกแคบ ๆ แม้จะเดินสวนทางกันต้องมีการเบี่ยงตัวหลบหลีกเช่นกัน ในครั้งแรกที่รู้จักทางแคบ ๆ นี้ เวลาเดินก็รู้สึกหวาดกลัวอยู่เหมือนกัน แต่ต่อเมื่อเราใช้เป็นประจำความรู้สึกเหล่านั้นก็หายไป มีแต่ความคุ้นชินและรู้สึกว่าเป็นทางที่สะดวกที่สุด ทางแคบ ๆ ทั้งสองที่ใช้เป็นประจำนี้ เป็นทางที่นำมาสู่เป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น ถึงแม้จะเป็นทางลัด แต่ก็จะมีความยากลำบากสักหน่อย ต่างจากความคิดของคนสมัยใหม่ที่มักชอบใช้ทางลัดและต้องเป็นทางสบายด้วย คนรุ่นใหม่จึงถูกปลูกฝังให้ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองสะดวกสบาย โดยไม่คำนึงถึงด้วยซ้ำว่าจะได้มาอย่างไร ไม่สนใจหากลำบากหน่อยก็เปลี่ยนทาง เอาทางที่สบายง่ายที่สุดเป็นตัวตั้งต้น


หลายครั้งมีคนรู้จักที่เป็นครูบาอาจารย์ มีเรื่องมาบ่นมาเล่าให้ฟังว่า สมัยนี้มีความลำบากในการสอนเด็ก ๆ มากโข เพราะบรรดาผู้ปกครองมักจะสอนลูกหลานในสิ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ครูสอน จนทำให้เด็กนั้นเคยชิน ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งที่ทำ หนำซ้ำยังมีคนคอยให้ท้าย เรื่องแบบนี้เป็นเหมือนกันในทุก ๆ ที่ มีตัวอย่างหนึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศไต้หวัน
หลายปีก่อนในรั้วโรงเรียน มีการลักขโมยรถจักรยาน สุดท้ายคนขโมยถูกจับได้ ปรากฏว่าเป็นลูกรักลูกหวงสุดชีวิตของผู้ปกครอง นักเรียนคนนั้นหลังจากคืนรถจักรยานไปแล้ว ทางโรงเรียนก็เชิญผู้ปกครองและนักเรียนมานั่งคุยกัน จุดประสงค์หลักเพียงต้องการสั่งสอนให้สติแก่นักเรียนคนนั้น แต่พ่อของนักเรียนกลับพูดว่า
ที่บ้านไม่ได้ขาดแคลนเงินทอง เด็กมันซน อยากลองอะไรที่มันตื่นเต้นเร้าใจเล่น ทางโรงเรียนกรุณาอย่าได้ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ทำลายศักดิ์ศรีและความเชื่อมั่นของนักเรียนเปล่าๆ และจะทำให้เด็กรู้สึกมีปมด้อย
พ่อของเด็กคงจะคิดว่า เหตุการณ์แบบนี้ ถ้าเกิดจากคนมีเงินฐานะดี มันเป็นแค่เรื่องสนุกสนานมากกว่า ไม่ใช่เรื่องของการลักขโมย ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย
ตอนหลังเมื่อเด็กคนนี้เรียนจบ ทำงานได้ไม่กี่ปี ก็ได้ข่าวว่าฐานะอู้ฟู่อย่างรวดเร็ว ขับรถหรู ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย สุดท้ายโดนจับที่อินโดนีเซียด้วยข้อหาแอบขนยาเสพติด ถูกศาลที่นั่นตัดสินสั่งประหารชีวิต แต่ยังไม่ทันประหาร กลับถูกนักโทษด้วยกันรุมกระทืบจนบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในที่สุด แม้จะตายไปแล้ว แต่พ่อของเขายังคงกล่าวว่า ลูกของเขาเป็นคนดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เพียงเพราะลูกเขารักสนุก คะนองตามภาษาวัยรุ่น แค่อยากลองอะไรที่มันตื่นเต้นเร้าใจเล่น ก็เท่านั้นเอง



บ่อยครั้งเราก็ไม่เข้าใจว่าทางลัดบางทีไม่จำเป็นต้องแคบก็ได้ ทางแคบแม้จะเป็นทางลัดแต่ถ้ายากลำบากบางคนก็ไม่เลือกที่จะเดินไปในทางนั้น ในทางแคบที่แอบแฝงไปด้วยความยากลำบากนั้นมักจะทำให้เราถึงเส้นชัยปลายทางอย่างมีความสุข ใช่หรือไม่ ในทางกางเขนของพระเยซูเจ้าที่ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส เมื่อวันวานผ่านเลยไปกลับกลายเป็นความสุขและเปี่ยมไปด้วยสันติสุขอย่างแท้จริง แล้วในชีวิตเรา จะเลือกเดินทางลัดที่มุ่งแต่เพียงความสบายถ่ายเดียว หรือทางแคบที่ถึงจุดหมายอย่างภาคภูมิใจ ที่สุดต้องช่วยกันปลูกฝังจิตวิญญาณให้เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้มีหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความดี ที่มาจากการกระทำดีของพวกเขา หาใช่ ความดีที่คนอื่นหยิบยื่นให้ทำ ยัดเหยียดใส่ด้วยการให้ท้าย สังคมจะดีขึ้นเราต้องรู้จักที่จะสอนให้พวกเขามีน้ำอดน้ำทนและกล้ารับผิดชอบต่อทุกการกระทำ บางทีเดินในทางแคบเวลาสวนทางกันยังต้องรู้หลบรู้หลีก รู้จักให้ทาง ทางนั้นก็จะกว้างขึ้นในทันที