วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

หยุด “ด่วน”

หยุด “ด่วน”
            การขับรถออกจากกรุงเทพฯบนถนนสายเอเชีย ในตอนบ่าย ๆ เป็นการขับรถที่มีความสุขพอสมควร รถราไม่เยอะ ถนนหลายช่องทาง และค่อนข้างจะเรียบ แต่ก็ไม่วายที่จะเห็นรถหลายคันขับขี่ด้วยความเร็วที่สูง อาจจะรีบเร่งไปทำธุระ อาจจะรีบกลับไปให้ถึงเป้าหมาย ในระหว่างขับก็ยังมีบ้างบางคนที่นึกจะแซงนึกจะเลี้ยวก็ตัดสินใจโดยไม่ได้เปิดไฟขอทาง หรือเป็นเพราะรถที่ทันสมัยขึ้นสามารถทำความเร็วได้มากขึ้น หรืออาจจะเป็นความใจร้อนของผู้คนวันนี้ ที่ดูเหมือนทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกเวลานาทีมีแต่ความรีบเร่ง ด่วนจี๋มีอยู่ในทุกลมหายใจ หรือว่า เราช้าเกินไป คงไม่ใช่ เพราะอย่างน้อยเราก็เดินทางถึงเป้าหมายในเวลาที่ตั้งใจไว้อย่างไม่มีปัญหาใด ๆ 



ปัญหามักเกิดขึ้นกับทุกคนได้เสมอ อันนี้ย่อมเป็นสัจธรรม เพียงแต่ว่าเมื่อมีปัญหา เรามีปัญญาเกิดขึ้นหรือเปล่า สำหรับชายหนุ่มหญิงสาววัยที่กำลังเติบโตขึ้นเพื่อรับช่วงต่อในสังคม มักจะพบเจอกับปัญหาในการอยู่ร่วมกันระหว่างเพื่อน หรือกลุ่มสังกัด ความไม่เข้าใจกันนำไปสู่ความขัดแย้ง และก่อให้เกิดความตึงเครียดคิดมากติดตามมา บางคนก็ด่วนตัดสินใจทำอะไรลงไปด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบ ยิ่งในสังคมทุกวันนี้ที่เรามักมิค่อย “หยุด” ใช้ความคิดไต่ตรองใคร่ครวญเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยสติกันสักเท่าไร อะไรที่เห็นที่ได้ยินเข้าสู่ประสาทสัมผัสก่อน ก็มักจะเชื่อแบบหมดใจ อะไรที่เกิดขัดใจ เราก็มักโต้กลับด้วยกายสัมผัสทันที ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ในยุคที่มีกระแสความใหม่ล่าสุด ข่าวด่วน ข่าวเร็ว ข่าวลือ กระพือในทุกนาทีจนไม่มีเวลาให้หยุดคิดพินิจพิจารณา ว่ามาก็ว่าตามกัน จึงกลายเป็นอุปนิสัย “ด่วนด่า” “ด่วนแสดงภูมิ” “ด่วนโชว์” โดยเพียงแค่อ่านหรือเห็นแค่คำโปรยหัวข้อ ที่สุดก็“ด่วนตัดสิน”คนอื่นบนพื้นฐานแห่งความฉาบฉวย สิ่งเหล่านี้คือการสร้างและปลูกฝังความเครียดสู่กันและกันแบบไม่รู้ตัว
“จะทำอย่างไรอยู่ดี ๆ ก็ถูกต่อว่า”  เด็กสาวคนหนึ่งถามขึ้นในวันที่เธอร้องไห้และเครียดหนักกับปัญหาของการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น สำหรับเธอ...นี่อาจจะเป็นปัญหาใหญ่โตถึงขั้นโลกแถบจะระเบิด แต่สำหรับเรา...ผู้ที่เกิดมาก่อนมองเห็นว่าเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เดี๋ยวมันก็ผ่านเลยไป 
“แล้ว...เราเป็นอย่างที่เขากล่าวหาหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็ไม่จำเป็นต้องพูดแก้ต่างแก้ตัวอะไรอย่าไปต่อล้อต่อเถียงให้เลี่ยงเบี่ยงตัวออกมา” และอีกหลายคำปลอบโยนเพื่อให้อารมณ์ขุ่นข้องได้ลดลงบ้างถึงแม้ว่าเธอผู้นั้นจะไม่ยอมเล่ารายละเอียดของเรื่องที่เกิดขึ้นทำให้ต้องเสียน้ำตา เพราะกลัวว่าผู้ใหญ่จะไปลงโทษเพื่อนร่วมกลุ่ม อย่างน้อยนี่ก็เป็นสิ่งงดงามเล็ก ๆ ที่งอกเงยขึ้นในหัวใจที่ไม่ยอมจะทำร้ายคนอื่นด้วยการกล่าวโทษกันไปมา เพราะถ้าทำแบบนั้นรังแต่จะยิ่งสร้างปัญหาโดยไม่รู้จบ การเลือกที่จะนิ่งแบบเสียน้ำตาคนเดียวก็เป็นจุดเริ่มต้นของความเมตตา
 คำถามสุดท้าย “แล้วถ้าเพื่อนมาขอโทษล่ะจะยอมยกโทษให้หรือเปล่า” เธอตอบทันที “ค่ะ” การให้อภัยหยุดทุกอย่างลงได้จริง ๆ และรอยยิ้มก็ปรากฏบนหน้า เธอคงได้พบกับสันติและผ่านวันเวลาที่ทุกข์โศกลงไปได้บ้าง ทำให้คิดถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง



นกสองตัวทะเลาะกันอยู่บนต้นไม้ ต่างก็ไม่ยอมซึ่งกันและกัน ยิ่งทียิ่งมีเสียงดังและสีหน้าของมันทั้งคู่ต่างแดงกล่ำ และเหตุการณ์ก็ยิ่งรุนแรงขึ้น นกฝั่งซ้ายจึงคว้าเอาอะไรสักอย่างขว้างใส่นกฝั่งขวา 
เมื่อสิ่งที่มันปาไปถูกนกฝั่งตรงข้าม มันตกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่มันปาไปนั้นก็คือไข่ฟองสุดท้ายที่เหลืออยู่ในรังของมัน...ถึงตรงนี้จึง “นก” เลยทั้งคู่ (นก : คำสแลงที่หมายถึง อด )
ใช่หรือไม่ ยามที่เราประสบกับเรื่องราวต่าง ๆ เราต้องรู้รับมือด้วยความสงบนิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่ต้องเจอกับปัญหาหรือเรื่องความขัดแย้ง จะต้องมีสติระงับอารมณ์ให้ได้ อย่าได้มุทะลุหรือเลือดร้อน เพราะมันไม่ก่อเกิดประโยชน์อันใด และจะทำให้เรื่องราวยิ่งแย่ลง สุดท้ายยิ่งจะเพิ่มเติมความเจ็บปวดและความสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ในสังคมวันนี้ที่มีความเครียดจากภาวะปัจจัยภายนอกมากมาย แตกต่างกันไปของแต่ละคนที่มักพบเจอปัญหาด้วยกันทั้งนั้น บางคนไม่ยอมปล่อยวางให้จิตใจว่างเว้นลงบ้าง มีแต่ความขุ่นมัว และแยกแยะไม่ออกเอาปัญหาจากที่หนึ่งมาลงอีกที่หนึ่ง เพราะความเร่งรีบเร่งรวยรวบรัดตัดความให้ประสบความสำเร็จโดยเร็วกระมัง กระทั่งไม่มีเวลามองสิ่งรอบกายด้วยใจ ฟังด้วยจิต คิดเอาเอง แล้วก็ด่วนทำในสิ่งที่มีอารมณ์ชักนำ จากนกตัวเดิม ที่ทะเลาะกับเพื่อนพอกลับมาบ้านก็เป็นดังนี้
นกตัวผู้ออกไปเก็บผลไม้มาเก็บไว้ที่รัง อีกกำชับไม่ให้ใครมาขโมย แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงหน้าแล้ง ผลไม้ที่มันหามา ก็เริ่มเหี่ยวเพราะถูกแดดดูดเอาน้ำไปเสียหมด
วันหนึ่ง มันสังเกตว่าปริมาณของผลไม้เริ่มลดน้อยลง มันคิดว่านกตัวเมียขโมยกิน ด้วยความโมโห มันจึงจิกนกตัวเมียตายไปด้วยความโกรธ
และแล้วฝนก็ตกติดต่อกัน 3 วัน 3 คืน ทำให้ผลไม้ที่เหี่ยวแห้งในรัง กลับเต่งตึงอิ่มน้ำดังเดิม เมื่อนกตัวผู้เห็นดังนั้น จึงรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง “ไม่น่าเลย เราไม่น่าเข้าใจผิดเลย!”




ใช่..คนเรามักชอบ “ตัดสิน” ผู้อื่นจากมุมมองและจริตของตนเป็นที่ตั้ง แต่..บางที “สิ่งที่เห็นและสิ่งที่ได้ยินมา” กับ “สิ่งที่เป็นและสิ่งที่เกิดขึ้น” อาจจะไม่ใช่ที่เราคิดเสมอไป อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใคร มองให้ครบทุกมุมทุกด้าน ทุกมิติ ทุกคนย่อมมีดีเป็นของตัวเอง เราควรที่จะต้องหัดมองด้วย “ใจ” ใจที่ขาวสะอาดในการจะตัดสินคนอื่น ที่ไม่โอนเอนเพราะ “อคติ” โลกก็จะน่าอยู่ เราก็จะเป็นที่พักที่พึ่งแก่กันและกัน นี่คือสันติสุขที่กำลังรอคอยเราอยู่...

ไม่มีความคิดเห็น: