วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เลิกเสพติดตัวเอง

เลิกเสพติดตัวเอง
แต่ก่อนนั้นเราคิดว่าเราสามารถที่จะดูแลร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการเลือกที่จะบริโภคสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์ และโรคภัยจะไม่มีทางมากล้ำกรายเราได้ แต่ก่อนเคยคิดว่าการพบแพทย์และการเข้าโรงพยาบาลคือการเสียเวลาและเสียเงินทอง เพราะเสียดายเงินที่หามา บางทีมีความคิดอคติด้วยซ้ำว่าการรักษาสมัยใหม่ไม่ได้ช่วยอะไรได้ในวันที่เจ็บป่วย แต่แล้ว...ในวันที่ต้องมานั่งเฝ้ารอคอยคนข้างกายหน้าห้องผ่าตัด ณ เวลานั้น การรอคอยและความเชื่อใจในแพทย์คือสิ่งเดียวที่ทำได้ ได้เห็นการทำงานของคณะแพทย์และพยาบาลที่ดูแลอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ทำให้อคติที่มีมามลายหายไป เข้าใจการทำงานของโรงพยาบาลมากขึ้น ยิ่งเมื่อได้พูดคุยกับคนที่ร่วมชะตาความเจ็บป่วยในช่วงเวลาแบบนี้ด้วยแล้ว ยิ่งเข้าในโลก การพบเจอกันก่อเกิดมิตรภาพได้เพื่อน ได้รับรู้ความทุกข์เดือดร้อนของคนอื่นมากขึ้น ความเย่อหยิ่งทะนงตัวลดน้อยลง น้อมรับความไม่เที่ยงของชีวิตได้ง่ายขึ้น และที่สุดได้สัมผัสช่วงเวลาแห่งความรักผ่านทางผู้คนคุ้นเคย คุ้นชินมากขึ้น

น้ำดืมที่ค่อยๆ หมดลง ระหว่างการรอคอย
  ในขณะที่เฝ้ารอ ถึงแม้จะเคยเป็นคนที่ไม่ชอบรอคอยอะไรนานๆ หมดความอดทนได้ง่าย แต่สำหรับครั้งนี้ความอดทนในการรอคอยเป็นความหวังที่งดงามที่สุด
ในขณะที่เฝ้ารอนั่งคิดว่า แม้จะมีเงินทองมากก็ไม่ดีเท่ากับการมีชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ แม้ใครต่อใครจะบอกว่าการมีเงินเยอะๆ จะทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น และทุกคนก็ได้รับการปลูกฝังมาจนรุ่นลูกรุ่นหลาน เวลาของชีวิตเกือบทั้งหมดจึงสูญไปกับการหาและเก็บเงินเก็บทอง ซึ่งเป็นเครื่องการันตีถึงความปลอดภัย (อาจจะไม่ใช่) เป็นที่มาของการแก่งแย่งแข่งขัน และเป็นที่มาของค่านิยมว่า ทุกคนจะต้องร่ำรวยให้ได้ จึงจะเรียกว่า “ประสบความสำเร็จ” เมื่อทุกคนพร้อมใจกันตกลงไปร่วมในกระแสธารนี้แล้ว ทุกคนจึงก้มหน้าก้มตาหาเพื่อตัวเอง ครั้นหลายคนมีสิ่งสะสมมากพอแล้ว ก็คิดว่าเก่งชาญฉลาดเหนือผู้อื่น สังคมวันนี้จึงเป็นสังคมที่เราเสพติดตัวเองกันมากเกินไป
ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ อดีตวิศวกรองค์การนาซ่า เคยถามตัวเองว่า เมื่อเดินทางไปถึงขอบจักรวาล เกิน 450 ล้านปีแสง ถ้าถึงตรงนั้นแล้วจะได้อะไรขึ้นมา
ภาพ : https://c2.staticflickr.com/8/7666/17123240849_14b0883f48_b.jpg
ก่อนที่เราจะใช้เหรียญบาททุกวันนี้ เราเคยอยู่กันแบบ “Gift Economy” มาก่อน ใครมีอะไรเหลือเกินความต้องการก็แบ่งปันกัน ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องแลก จนถึง 9,000 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อสังคมขยายตัว มนุษย์มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น จึงพัฒนามาเป็นระบบ “Barter” โดยใช้เมล็ดพันธุ์พืช ปศุสัตว์ เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน เรื่อยมาถึง 700 ปีก่อนคริสตกาล เงิน จึงกำเนิดบนโลก เมื่อจีนและอินเดียเริ่มผลิตเหรียญทองและเงินเพื่อความสะดวกในการแลกเปลี่ยน เพราะระบบ “Barter” ไม่สามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนได้หากความต้องการทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน อีกทั้งสิ่งของที่ใช้แลกเปลี่ยนก็อาจมีการเสื่อมสลายจนไม่สามารถเก็บสะสมไว้ได้ จากนั้นเงินได้ออกเดินทางอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย จนเกิดเป็น “Bill of Exchange” สมัยยุโรปกลางตามความเจริญรุ่งเรืองทางการค้า ธนบัตร ใบแรกของโลกในจีน สมัยราชวงศ์ซ่ง จนถึงวันวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
ไมเคิล มัวร์ ผู้กำกับรางวัลอะคาเดมี่ เคยถามตัวเองว่า “What is the price that America pays for its love of capitalism?” ก่อนจะทำสารคดี Capitalism: A Love Story จนพบต้นตอของความล่มสลายที่เกิดจากเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ยอมพังประเทศตัวเองและโลกใบนี้เพื่อกำไรสูงสุดนักการเมืองคอรัปชั่นแก้กฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและบริษัท บนความเสียหายของประชาชน และบ่อนการพนันอันดับหนึ่งของโลกที่ชื่อวอลล์สตรีท
และสิ่งที่คนอเมริกันต้องจ่ายเพื่อแลกกับความรักในทุนนิยม ก็คือประเทศถูกบริหารในรูปแบบบริษัทมากกว่าชาติ เพื่อ ผลตอบแทนสูงสุด ของ ผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นเหล่ามหาเศรษฐีจำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ในขณะที่หลายแสนชีวิตตกงาน ไม่มีที่อยู่ ไม่เหลือเงินออม ระบบการศึกษาที่สอนให้คนมองมิติเศรษฐกิจสำคัญที่สุด และคนที่มีความสามารถต่างเลือกที่จะทำงานกับองค์กรโลภมากกว่าสร้างสมดุลกับสังคมหรือ เงินจะเดินทางมาไกลเกินกว่าแค่เพื่อ ความสะดวกในการแลกเปลี่ยน
Misereor เป็นองค์กรการกุศลยุโรปที่คอยช่วยเหลือเด็กทั่วโลก พอเศรษฐกิจยุโรปพัง เงินบริจาคก็ลดลง เพราะคนต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทีมงานเลยต้องทำให้คนเห็นความจำเป็นอย่างเป็นรูปธรรม เลยสร้างกล่องรับบริจาคดัดแปลงจาก Interactive Billboard ทันทีที่หยอดเหรียญ 2 ยูโร ผู้บริจาคจะเห็นการเดินทางของเงินเพื่อสร้างสิ่งดีๆ จากจุดหยอดเงินสู่โปรเจ็กต์ดีๆ อย่างสาธารณสุขในอินเดีย เกษตรยั่งยืนในอาฟริกา พลังงานหมุนเวียนในไลบีเรีย เมื่อถึงปลายทางกล้องที่ซ่อนอยู่ใน billboard จะเก็บภาพผู้บริจาคและขออนุญาตโพสต์ในเฟซบุ๊คเพื่อชวนคนบริจาคด้วยไวรัลหรือการบอกต่อ ภายในไม่กี่วันตู้บริจาคนั้นตู้เดียวได้เงินบริจาคถึง 2,000 ยูโร จนกลายเป็นข่าว
เรามีเวลาหาเงิน แต่ไม่มีเวลาให้กับคนที่เรารักหรือเปล่า? เราทิ้งความฝันและยอมทำงานที่เราเกลียด เพื่อจะได้มีเงินไปซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นกับชีวิตหรือเปล่า? ผ่านไปกว่า 2,700 ปี เงินก็ยังคงเป็นสิ่งสมมติที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อความสะดวกไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่พระเจ้า ไม่ใช่ปีศาจ คนต่างหากที่กำหนดเส้นทางเดินของมันว่าจะเป็นสิ่งที่มีอำนาจบงการชีวิตคนและโลกใบนี้ หรือจะเป็นไปเพื่อให้เราช่วยเหลือกันได้สะดวกขึ้น (จากหนังสือ Heart Sell !)

              สิ่งหนึ่งที่เราจะทำได้เพื่อให้เรามีความสุขอย่างแท้จริงนั่นคือการเลิกเสพติดตัวเองลงบ้าง ละทิ้งตัวเองกันบ้าง มองให้ไกลจากตัวเองบ้าง แล้วเราจะเข้าใจผู้อื่น เราจะใส่ใจกับคนรอบข้างได้ง่ายขึ้น แม้ว่า “เงิน” จะเปลี่ยนโลกมาอย่างยาวนาน แต่ความรักและความเมตตานั้นไม่เคยเปลี่ยนโลกนี้ให้เลวร้ายลงเลย..

ไม่มีความคิดเห็น: