วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ชื่อนั้น....

ชื่อนั้น....
หะแรกที่เปิดประตูบ้านในตอนเช้า ลมวิ่งปะทะเข้าใส่อย่างแรงผิดจากวันอื่นๆ ในความแรงลมนั้นมีความเย็นยะเยือกผสมมาด้วย อากาศในเมืองหลวงเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลง อยู่ที่ประมาณ 18-21 องศา อากาศเย็นๆลงในยามเช้า ทำให้หลายคนชื่นชอบถึงกับเปรยขึ้นว่า “อยู่นานๆได้ไหม” กลัวว่าจะหนาวอยู่เพียงวันสองวัน  เพราะเราไม่ค่อยพบเจออากาศเย็นในฤดูหนาวมาหลายปีแล้ว หรือเจอก็แค่เพียงไม่กี่วัน ก็ไม่รู้ว่าปีนี้จะเป็นเหมือนเดิมหรือเปล่า เพียงผ่านมาทักทายแล้วก็หายจากไป ใช่ว่าแต่ที่เมืองหลวงเท่านั้น ในต่างจังหวัดหลายแห่ง อากาศก็หนาวเย็นลง ทำให้หลายคนไม่สบายล้มป่วยลง ในกรุงเทพฯเราชอบอากาศประมาณนี้ที่ไม่หนาวมากจนเกินไปนัก แต่ก็เอาแน่เอานอนกับอากาศไม่ได้ เพราะอากาศเริ่มผิดเพี้ยนไปมาก ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยเราเท่านั้น อย่างในประเทศอียิปต์ก็มีหิมะตกลงมาในกรุงไคโรในรอบ 112 ปีทีเดียว ที่เวียดนามก็มีหิมะตกลงมาอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

เราอยู่ในเมืองร้อนก็เลยรู้สึกตื่นเต้นกับอากาศหนาว เหมือนกับคนยุโรปที่พอเจอแสงแดดก็แห่กันวิ่งออกมาตากแดด เราชอบไปเที่ยวที่ที่เป็นเมืองหนาวเพราะดูแปลกตา ต่างไปจากที่เราเป็นอยู่ คนเมืองหนาวก็ชอบมาเที่ยวนอนอาบแดดในบ้านเมืองเรา กลายเป็นวิถีดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน แต่กลับโหยหาสิ่งที่ไม่คุ้นชินและไม่จำเจ เมื่อถึงตรงนี้ก็นึกถึงความแตกต่างระหว่างสองฝากฝั่งโลก โดยเฉพาะเรื่องการตั้งชื่อ คนตะวันตกไม่ค่อยใส่ใจกับเรื่องชื่อมากมายนัก ซึ่งต่างจากทางฝั่งเอเชียชาวตะวันออก ที่มีวัฒนธรรมของการตั้งชื่อคน ที่ต้องมีความหมาย ตั้งให้เป็นมงคล แม้กระทั่งเมื่อเติบโตขึ้น เห็นว่าชื่อที่พ่อแม่ญาติพี่น้องตั้งให้นั้นดูจะไม่ดี ไม่เป็นมงคล ขัดๆกับการดำเนินชีวิต ก็มีการเปลี่ยนชื่อเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปตามแนวทางนั้นให้ได้ดี แม้แต่ในสมัยของพระเยซูเจ้า (พระเยซูเจ้าเป็นชาวเอเชีย เพราะประเทศอิสราเอลอยู่ในเอเชีย)พระองค์ก็เปลี่ยนชื่อให้อัครสาวกหลายคน เช่น “ซีมอน” เปลี่ยนมาเป็น “เปโตร” เพื่อสื่อถึงความแข็งแกร่ง เพื่อให้เป็นรากฐานของพระศาสนจักร
ทุกสิ่งที่อุบัติในโลก อย่าว่าแต่ชื่อที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย กระทั่งชีวิตจิตใจ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสมมติ ประโยชน์จากชื่อที่เป็นสิ่งสมมตินี้ อย่างน้อยก็บอกนิสัยใจคอพอได้อยู่ หลายคนมักจะฝึกฝนอุปนิสัยตามชื่อของตน ยิ่งค่านิยมในสังคมไทย เรื่องชื่อ เรื่องนามสกุล มีความหมายอย่างยิ่ง ต้องตั้งให้สัมพันธ์กับเกิดวันไหน แต่เสียดายในปัจจุบันนี้เราเอาเงินทองเป็นตัวตั้ง วัดค่าความดีที่ความรวย คนมักไม่เข้าใจถึงการตั้งชื่อ หลงกันเพียงเพื่อว่าถ้าเปลี่ยนแล้วจะร่ำจะรวยเพียงเท่านั้น ก็เลยแห่กันไปเปลี่ยนชื่อจริง เปลี่ยนนามสกุล หรือบางคนถึงกลับเปลี่ยนทั้งชื่อจริง นามสกุลและชื่อเล่นก็เปลี่ยนไปด้วย เนื่องมาจากมีโหรทักมาว่า ชื่อไม่ดี รวมตัวเลขกันแล้วไม่เป็นมงคล ควรจะเปลี่ยนชื่อเพื่อให้ชีวิตนั้นดีขึ้น ซึ่งมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยอมเปลี่ยนชื่อพียงเชื่อว่า เปลี่ยนชื่อแล้วจะรวยขึ้น ชีวิตจะดีขึ้น จะเหนื่อยน้อยลง แต่ถ้าหากเปลี่ยนแล้วเรายังทำตัวเหมือนเดิม ยังขี้เกียจ ยังไม่กลับตัวกลับใจจะมีประโยชน์อะไรเล่า ถ้าเปลี่ยนชื่อแล้วพยายามทำชีวิตให้เป็นไปตามแนวทางของชื่อที่ได้ตั้งนั้นต่างหาก ที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น สาระสำคัญน่าจะอยู่ตรงนี้มากกว่าแต่จะมีสักกี่เล่าเข้าใจ
แม้แต่ในยุคสมัยที่เราใช้การตลาดนำหน้าทุกเรื่อง ไม่ว่าจะการตลาดของคนตะวันตกตะวันออกต่างใช้แนวทางเดียวกันในการสร้าง Brand (ยี่ห้อ) ที่ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สินค้าหลายอย่างที่เจ๊งก็เพราะเรื่องชื่อก็มีมาก ที่รวยเพราะชื่อก็มีเยอะ ต้องยอมรับว่า วิธีการตั้งชื่อ Brand ในปัจจุบัน เปลี่ยนไปตามกระแสโลก นักธุรกิจรุ่นใหม่มีความสนใจเรื่องการตั้งชื่อมากขึ้น

ถ้าจะตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเขาจะมีกฎการตั้งชื่อให้ประสบความสำเร็จไว้ว่า ไม่ควรเกิน 6 ตัวอักษร ออกเสียงแล้วไม่เกิน 3 พยางค์ ทางที่ดีที่สุดควรออกเสียงแค่พยางค์เดียวนอกจากนี้ยังมีเรื่องของ ตัวอักษรที่เขานิยมนำมาตั้งชื่อ Brand จะมีประมาณ  5 ตัวอักษร ดังนี้ “a k h s t m” เพราะว่าเขามีความเชื่อที่ว่าตัวอักษรที่นำมาตั้งชื่อ จะมีความหมาย  เช่น ตัวอักษร a ถือเป็นอักษรตัวแรกของภาษาอังกฤษ คำว่า แรกเป็นความหมายที่ดีมาก หมายถึงความเป็น ที่หนึ่ง อักษร k มีความหมายคือ king เป็นตัวอักษรที่แสดงความแข็งแกร่งและความเป็นผู้นำ ความเป็นผู้นำย่อมมีผลดีในทางธุรกิจมาก 
H เป็นอักษรที่ทำให้เรานึกถึงคำสองคำ คือ happy กับ hero คำสองคำนี้มีความหมายที่ดีทั้งคู่   S มีความหมายคือ super แสดงถึงความแข็งแกร่ง มั่นคง อาจเป็นไปได้ที่เราเห็นตัวอักษร s “ซื้อใจลูกค้าทั่วโลกมาแล้ว จากหน้าอกของ super hero ของเราที่มีนามว่า “superman”  (บางส่วน จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯธุรกิจ)
วันเวลาและอากาศ กระแสสังคมเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แล้ววิถีชีวิตเราล่ะเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม หรือเรามัวแต่คอยที่เปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล โดยใช้ค่านิยมการตลาดมาใช้กับชีวิต เพียงหวังเปลี่ยนเปลือก เพียงหวังให้ดูเด่น ดูดี ดูเท่ดูเก๋ แต่ไม่เคยทำในสิ่งดีๆ  ชีวิตที่ผ่านมาก็คงผ่านไปแบบไร้ค่า ชื่อนั้นมันบ่งบอกความเป็นเรา หากเราเห็นว่าชื่อนั้นสำคัญต่อเรา เราต้องเข้าให้ถึงแก่นของชื่อเรา และชื่อเสียงเราจะตามมาเอง คนจะจำชื่อเราได้นั้น ย่อมมาจากสิ่งที่เราได้กระทำมิใช่หรือ.....
พระเยซูเจ้าทรงเป็นตัวเอย่างในการดำเนินชีวิตตามชื่อของตน เพราะพระองค์ทรงช่วยเราให้รอดพ้นจากบาป คำว่า “เยซู” มาจากคำในภาษากรีกคือ “เยซุส” Ιησους [Iēsoûs] ซึ่งมาจากการถ่ายอักษรชื่อ Yeshua [เยชูวา] ในภาษาแอราเมอิกหรือฮีบรูอีกทอดหนึ่ง คริสตชนอาหรับเรียกเยซูว่า “ยาซูอฺ” ตามภาษาซีเรียก ส่วนชาวอาหรับมุสลิมเรียกว่า “อีซา” ตามอัลกุรอาน ความหมายคือ “ผู้ช่วยให้รอด” เป็นชื่อที่ใช้กันมากในหมู่ชาวยิวตั้งแต่สมัยโยชูวาเป็นต้นมาภาษาละตินแผลงเป็นเยซูส ภาษาโปรตุเกสแผลงต่อเป็นเยซู ภาษาไทยทับศัพท์ภาษาโปรตุเกสมาจนทุกวันนี้ (วิกิพีเดีย)


ไม่มีความคิดเห็น: